Skip to main content
sharethis

สปสช. จัดเวที “ระดมสมองผู้บริหาร สปสช.” รุกขับเคลื่อน “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” กำหนด 7 ประเด็น ร่วมถกหารือ รวบรวมข้อคิดเห็น สู่การพัฒนาและปรับปรุง เน้นประชาชนเป็นเป้าหมาย    

8 มี.ค. 2563 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า ที่โรงแรมสวนสามพราน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดการประชุมผู้บริหาร สปสช. สัญจร (วาระพิเศษ) เรื่อง การจัดทำแผนขับเคลื่อนงานรองรับตามนโยบายเลขาธิการใหม่” โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี (ว่าที่เลขาธิการ สปสช.) นพ.จักรกริช โง้วศิริ, ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล, นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ผู้บริหาร สปสช. ทั้งจากส่วนกลาง และ สปสช. เขตเข้าร่วม เพื่อร่วมระดมสมองสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นเวทีของการระดมสมองผู้บริหาร สปสช. เพื่อขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปสช. ให้ก้าวไปข้างหน้า นำประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนและเรียนรู้เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งเรามาเดินถึงวันนี้ได้ ต้องบอกว่าเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก ทั้งในส่วนของตัวระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานฯ โดยเป็นผลจากที่เราได้ทำงานหนักร่วมกัน มีการตัดสินใจร่วมกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน ทั้งจากระดับส่วนกลางและระดับเขต ที่เป็นภูมิคุ้มกันองค์กร  แม้ว่าในการบริหารจะมีปัญหา มีอุปสรรค และมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง แม้แต่ภายในองค์กรกันเอง แต่ก็เป็นเรื่องปกติและเป็นวัฒนธรรมในทุกองค์กร 

“ภาพ สปสช. อดีตเราเคยถูกมองแง่ลบ เป็นหน่วยงานมีอิทธิพลจัดการงบประมาณ จ่ายชดเชยค่าหน่วยบริการ และมีการบริหารแบบสนธยา แต่จากที่เราทำงานอย่างหนักร่วมกัน วันนี้ทำให้ทัศนคติเหล่านี้เปลี่ยนไป ระบบบริหารจัดการ สปสช. ได้รับการยอมรับ หลายคนไม่เพียงเปลี่ยนจากลบเป็นบวก แต่ยังช่วยผลักดันในเรื่องต่างๆ ทำให้วันนี้ สปสช. ก้าวสู่องค์กรมหาชนกลุ่มที่ 1 และในยุคเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ จะเป็นยุคแห่งการก้าวไปข้างหน้า บนความไว้เนื้อเชื้อใจกัน มีความสมดุล เน้นสร้างความยั่งยืนและพัฒนา” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การบริหารองค์กร บุคลากรถือเป็นกลไกสำคัญที่สุด หากเรามั่นใจบุคลากรประกอบกับพัฒนาระบบบริหารจัดการให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ก็จะนำพาระบบและ สปสช. ก้าวไปข้างหน้าไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ Disruption โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เป็นโอกาสของการพัฒนาระบบและองค์กร เพียงแต่เราต้องมาทบทวนว่า โครงสร้างภายในองค์กรและสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนไปในวันนี้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกันอย่างไร จะมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างไร 

หัวใจสำคัญของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือการมีประชาชนเป็นเป้าหมาย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ต้องหันกลับมาดูว่าการทำงานวันนี้เราถอยห่างเป้าหมายนี้หรือไม่ โดยยึดกับหลักเกณฑ์ ดังนั้นจะต้องมีการรับฟังความเห็นมากขึ้น เน้นการมีส่วนร่วม พร้อมจัดการตอบสนองเชิงรุก ซึ่งกรณีการปรับระบบการเปลี่ยนหน่วยบริการที่ให้เกิดสิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะเป็นปัญหาร้องเรียนมานาน แต่กลับติดขัดหลักเกณฑ์ทั้งที่แก้ไขได้ ประกอบกับระบบที่แข็งตัวเกินไป แม้ว่าเราจะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีทันสมัย นอกจากนี้ยังต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ มาเป็นการใช้ข้อมูลพฤติกรรมในการพัฒนาระบบ รวมถึงการปรับปรุงระบบการตรวจสอบให้มีความเข้มแข็ง    

“4 ปีข้างหน้าจากนี้ ต้องทบทวนกันว่าเราจะทำงานกันแบบเดิมหรือไม่ ระบบที่เราทำอยู่วันนี้เป็นที่ยอมรับแล้ว แต่จะเดินหน้าอย่างไรนั้น วันนี้จะเป็นการระดมสมองเพื่อสิ่งเปลี่ยนแปลง เบื้องต้นจะเน้นปรับระบบบริการจัดการภายในก่อน โดยมุ่งเป้านโยบายที่การดูแลประชาชน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการกำหนด 7 ประเด็นในระดมสมอง ประกอบด้วย 1.นโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเชิงรุก 2.การเทน้ำหนักมุ่งมั่นดูแลประชาชนเชิงรุก 3.การบริหารการจ่ายและการตรวจสอบ 4.เทคโนโลยีสารสนเทศ 5.การกำกับติดตามและประเมินผล 6.การจัดซื้อจัดจ้าง และ 7.การบริหารทรัพยากรบุคลากร 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net