Skip to main content
sharethis

รมว.ยุติธรรมปฏิเสธแนวคิด "คุกการเมือง" ไม่ใช่แนวคิดตนและยังไม่มีใครให้นโยบาย แต่ตอนนี้นักโทษเยอะต้องแยกไปหลายที่

สมศักดิ์ เทพสุทิน ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลไทย

9 มี.ค.2564 หลังจากเว็บไซต์ของสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานเมื่อช่วงสาย(10.07 น.) มีการรายงานข่าวประเด็นสร้างเรือนจำเฉพาะนักโทษการเมืองโดยอ้างอิงถึงสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการระทรวงยุติธรรม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดความแออัดหากมีการชุมนุมหรือมีญาติมาเยี่ยม

จากนั้นเดอะ รีพอร์ทเตอร์กลับรายงานว่าเมื่อ 12.53 น. สมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลในเรื่องนี้ว่า ไม่ใช่แนวคิดของตน ไม่มีการแยกประเภทของนักการเมือง ยังไม่มีใครให้นโยบายที่เกี่ยวข้อง แต่ในเวลานี้นักโทษเยอะต้องแยกไปอยู่หลายที่ แต่ญาติผู้ต้องขังหลายคนก็อยากให้อยู่ใกล้บ้าน ก็ต้องอธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นคนบริหารจัดการ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

รายงาน: ตามหานิยาม ‘นักโทษการเมือง’ และเสียงสะท้อนจากห้องขัง

ทั้งนี้ราว 10 ปีที่แล้วหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)มีการเสนอตั้งเรือนจำพิเศษสำหรับนักโทษคดีการเมืองขึ้นมาเมื่อปี 2554 ในชื่อสถานที่คุมขังชั่วคราวหลักสี่ ซึ่งอยู่ในบริเวณสโมสรตำรวจ หรือเดิมเรียกว่า โรงเรียนพลตำรวจบางเขน โดยเริ่มมีการใช้เมื่อเดือนมกราคมปี 2555 ทำให้เกิดการถกเถียงถึงนิยามของ "นักโทษการเมือง" ในเวลานั้นว่าผู้ต้องขังในคดีลักษณะใดบ้างที่เข้านิยามของนักโทษการเมือง

เมื่อเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ถูกตั้งขึ้นมากลุ่มผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ที่คดียังไม่สิ้นสุดและมีทั้งเหตุที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเริ่มถูกย้ายเข้าไปในเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ในช่วงต้นปี 2555 แต่ก็ผู้ที่ถูกขังในที่แห่งนี้ก็ไม่ได้รวมไปถึงผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112

หลังจากนั้นเรือนจำแห่งนี้ก็ถูกยกเลิกไปในเดือนกรกฎาคม 2557 ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้สองเดือน โดยทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในเวลานั้นให้เหตุผลว่าผู้ต้องขังที่เหลืออยู่ 22 คน เป็นผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาและมีการกำหนดโทษชัดเจนแล้ว อีกทั้งยังถูกพิสูจน์แล้วว่าผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ต้องขังคดีการเมืองแต่เป็นคดีอาญาทั่วไป จึงสมควรย้ายกลับเรือนจำตามภูมิลำเนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net