Skip to main content
sharethis

เลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ออกไปหลัง กมธ.เสียงข้างน้อย พลิกชนะโหวตมาตรา 9 ขอให้ประธานรัฐสภายืนยันเปิดประชุมครั้งหน้าต้องพิจารณาต่อในมาตรา 10

18 มี.ค. 2564 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อเวลา 15.00 น. ได้เข้าสู่วาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. เป็นประธาน พิจารณาแล้วเสร็จ

ในการพิจารณาที่ประชุมได้ใช้เวลาถกเถียงต่อสาระของร่างแก้ไข มาตรา 9 อย่างกว้างขวาง เนื่องจาก กมธ. ได้แก้ไข โดยเติมเนื้อหาให้ การทำประชามติ เป็นไปโดยเสรี และเสมอภาค จากเดิมที่กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมการดูแลการออกเสียง ให้เป็นโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น และมี กมธ.ฯ เสียงข้างน้อย เสนอความเห็นให้แก้ไข อาทิ นายชูศักดิ์  ศิรินิล กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ขอสงวนความเห็นให้เพิ่มเงื่อนไขว่าด้วยหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของการจัดให้มีออกเสียงประชามติ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, เมื่อกรณีที่ ครม.​เห็นสำควร, ตามกฎหมายกำหนด, กรณีรัฐสภามีมติว่ามีเหตุอันสมควร, กรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอ ครม.ให้ทำประชามติ ทั้งนี้เพื่อให้มีหลักประกันต่อการทำประชามติเรื่องที่เห็นสมควร
        
ทั้งนี้มีสมาชิกรัฐสภา อภิปรายสนับสนุนเพราะเห็นว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การออกเสียงประชามติสามารถทำได้จริง และเป็นไปอย่างกว้างขวางเพื่อประโยชน์ของประเทศ

อย่างไรก็ดีนายสุรชัย ชี้แจงว่าการกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดไว้ในกฎหมายอาจทำให้เกิดการตีความเพื่อจำกัดการออกเสียงประชามติได้ ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 กำหนดให้ ครม. จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ในกรณีที่มีเหตุอี่นสมควร ซึ่งข้อความที่ว่ากรณีที่มีเหตุอื่นอันสมควร เท่ากับว่าหากมีปัญหาอันมีเหตุสมควร กระบวนการออกเสียงประชามติจึงเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถตีความได้กว้างมากกว่าการกำหนดเงื่อนไข อย่างไรก็ดีในการรับฟังความเห็นของประชาชน ในกฎหมายระดับต่าง ๆ รองรับไว้ อาทิ การจัดรับฟังความเห็นเรื่องที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นต้น

หลังจากที่ที่ประชุมได้อภิปรายแสดงความเห็นในมาตราดังกล่าว กว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ปิดการอภิปราย และลงมติตัดสิน โดยเสียงข้างมาก 273 เสียง เห็นด้วยกับเนื้อหาที่นายชูศักดิ์เสนอ ต่อ 267 เสียง และงดออกเสียง 1

สำหรับเนื้อหาที่นายชูศักดิ์ เสนอนั้นมีสาระคือกำหนด 5 เงื่อนไข ต่อการทำประชามติ ได้แก่ 1.การออกเสียงที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ, 2. การออกเสียงกรณีเมื่อ ครม.เห็นว่ามีเหตุอันสมควร, 3.การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง, 4.การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้ชี้แจงเรื่องให้ ครม. ดำเนินการ และ 5. การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด นอกจากนั้นได้กำหนดรายละเอียดด้วยว่าห้ามออกเสียงประชามติเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้

ต่อมา มติชนออนไลน์ รายงานว่าเวลา 19.35 น. ที่ประชุมรัฐสภาได้เปิดอีกครั้งภายหลังที่พักประชุมเพื่อหารือเป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมง โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธาน กมธ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากการลงมติของที่ประชุมในมาตรา 9 โดยเพิ่มเติมรายละเอียดตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอ เมื่อ กมธ.ตรวจสอบรายละเอียดพบว่ามีผลกระทบอย่างน้อย 4 มาตรา คือ มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 14 และมาตรา 15 ซึ่งระหว่างการพักประชุม ก็ได้สอบถามกฤษฎีกา ได้ความว่ากฤษฎีกาขออนุญาตกลับไปทบทวนยกร่างตามรกระบวนการของกฤษฎีกา ซึ่งไม่อาจแล้วเสร็จในวันนี้ได้ อีกทั้งต้องตรวจสอบหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ด้วยเหตุผลความจำเป็นนี้ ขออนุญาตให้ประธานพิจารณาเลื่อนการประชุมเป็นคราวหน้าได้หรือไม่

จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม กล่าวว่าเนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมแล้ว ทำให้เราไม่สามารถประชุมได้อีก จึงมีทางคือ รอพิจารณาต่อในสมัยประชุมหน้าในเดือน พ.ค. 2564 หรือจะขอเปิดให้มีพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมวิสามัญอีกครั้ง เพื่อพิจารณาเฉพาะเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่างไม่ติดใจที่จะให้เลื่อนการพิจารณาออกไป แต่ขอให้เปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพราะถ้าหากรอให้เปิดสมัยประชุมทั่วไปในเดือน พ.ค. จะนานเกินไป และขอให้ประธานรัฐสภายืนยันว่าเมื่อเปิดประชุมในครั้งหน้าจะเป็นการพิจารณาในมาตรา 10 ต่อจากวันนี้ ไม่ใช่เป็นการเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติใหม่ ซึ่งนายชวนก็รับปากว่าจะเป็นการพิจารณาต่อจากวันนี้

จากนั้นได้อ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมวิสามัญ และประธานสั่งปิดการประชุมในเวลา 20.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net