Skip to main content
sharethis

'เอฟทีเอ ว็อทช์' ถามรัฐบาลจะเดินหน้าเจรจา CPTPP เม.ย. 2564 นี้พร้อมไหม ย้ำหลายประเด็นอ่อนไหว พันธุ์พืชและยา ผลกระทบรุนแรง สภาเภสัชฯ ย้ำต้องทำกรอบเจรจาระบุประเด็นอ่อนไหว เจรจาไม่ได้ต้องไม่เข้าร่วม

31 มี.ค. 2564 หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ออกรายงานผลการศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTP) พร้อมข้อเสนอแนะส่งให้กับรัฐบาล มีรายงานข่าวว่าวันพุธที่ 7 เม.ย. 2564 นี้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี นายดอน ปรมัตรวินัย รองนายกและรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นประธาน จะประเมินความพร้อมของไทย ก่อนเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปเจรจาเข้าร่วมปลายเดือนเม.ย.นั้น ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) พร้อมด้วยทีมวิชาการตั้งโต๊ะแถลงข่าวถามถึงความพร้อมของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เน้นว่า ถ้าไม่พร้อมไม่ควรเจรจา ชี้รัฐบาลไม่มีงบประมาณปรับโครงสร้างเตรียมความพร้อมจะกระทบหนัก

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชี้ว่า ในการประชุมเตรียมการของหน่วยราชการและแบบฟอร์มเตรียมความพร้อมฯ โดยจัดกลุ่มเนื้อหาข้อบทเป็น 3 กลุ่มคือ สีเขียว ประเด็นที่ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ , สีเหลือง เป็นประเด็นที่ไม่มีในระบบปัจจุบัน มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญจะต้องมีการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ทั้งข้อมูล งบประมาณและเวลา และ สีแดง ประเด็นที่ม่มีในระบบปัจจุบัน หากมีการแก้ไขจะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งมีแรงกดดันให้ประเด็นต่างๆ ถูกจัดอยู่ในสีเขียว หรือเหลืองแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะลดความสำคัญของประเด็นอ่อนไหวซึ่งเป็นข้อถกเถียงอย่างมากในการประชุมชองคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตลอด 120 วันก่อนสรุปเป็นรายงาน เช่น เรื่องผลกระทบจาก UPOV 1991 กับการเข้าถึงยาและการเกษตร การเชื่อมโยงการขึ้นทะเบียนยากับการจดสิทธิบัตรที่จะทำให้มียาชื่อสามัญมาแข่งในตลาดได้ล่าช้าออกไป ความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการเมื่อไทยประกาศใช้มาตรการซีแอลและนโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองประชาชนด้านต่าง ๆ เป็นต้น นัยยะสำคัญที่น่าเป็นห่วงของกระบวนการนี้ คือ การทำให้รายงานผลกระทบจาก CPTPP ของรัฐสภามีน้ำหนักน้อยลง โดยอ้างว่า หน่วยงานรัฐสามารถเตรียมความพร้อมและปรับตัว เพื่อที่รัฐบาลจะดำเนินการขอเข้าร่วมความตกลง CPTPP แต่ไม่มีคำมั่นสัญญาเรื่องงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิรูปเพื่อรองรับ

"แบบฟอร์มแผนเตรียมความพร้อมและการปรับตัวฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเลขาฯ ของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แจกให้หน่วยงานรัฐกรอก แม้จะเป็นสีเหลือง ฝ่ายนโยบายและสำนักงบประมาณก็ไม่สามารถให้คำมั่นสัญญาได้ว่าจะมีงบประมาณในการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมหรือไม่ ซึ่ง กมธ.ย้ำว่า ต้องมีงบประมาณสนับสนุนในการปรับโครงสร้างมิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้มีความกังวลว่า กนศ. ไม่ได้นำข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP มาพิจารณาและปฏิบัติอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องกรอบการเจรจา ที่รัฐบาลต้องระบุให้ชัดเจนว่ามีประเด็นอ่อนไหวอะไรบ้างที่ต้องเจรจาไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบให้ได้ และต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน และถ้าเจรจาไม่ได้ ต้องหยุดการเจรจา และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการทำกรอบเจรจาที่สะท้อนประเด็นอ่อนไหวที่ว่า"

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า รายงานผลการศึกษาของกมธ.วิสามัญฯ ชี้ว่า การเข้าร่วม CPTPP นั้น “เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ถ้าประเทศไทยเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตร และจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลัง จากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV" ดังนั้นการเข้าร่วมในความตกลงดังกล่าวคือการเอาชีวิตของเกษตรกรรายย่อยไปแลกกับผลประโยชน์ที่บาง ภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์นั่นเอง

เฉพาะผลกระทบในกรณีเรื่องพันธุ์พืชนั้นส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ มากถึง 7 ประเด็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น 1) "สูญเสียประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ซึ่งหมายถึง การเปิดโอกาสให้โจรสลัดชีวภาพเข้ามาแย่งยึดทรัพยากรชีวภาพนั่นเอง 2) การให้ความคุ้มครองแก่ EDV (Essentially derived variety) ยังจะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นโดยอาจไม่สามารถทำตามวิถีของเกษตรกรที่มีมาแต่เดิมในการคัดเลือกเก็บพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะที่ต้องการที่เกิดขึ้นใหม่จากในแปลงปลูกมาปลูกได้ แค่เพียง 2 ประเด็นนี้ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าจะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรพันธุกรรมของประเทศและการพัฒนาสายพันธุ์ของเกษตรกรและชุมชนอย่างร้ายแรงมากขนาดไหน ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ การขยายอำนาจของบริษัทเมล็ดพันธุ์ออกไปครอบคลุมถึงผลผลิต (harvested material) และผลิตภัณฑ์ (products) ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนายาจากสมุนไพรด้วย นี่คือเหตุผลที่แม้แต่หน่วยงานราชการ 4 หน่วยงาน ซึ่งหากรวมกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกซึ่งกังวลกับกรณีอุปสรรคจาการพัฒนายาสมุนไพรแล้วจะกลายเป็น 5 หน่วยงานที่เห็นว่าประเทศไทยขาดความพร้อมในการเข้าร่วมความตกลงนี้

"ในขณะที่โลกกำลังอยู่ในห้วงเวลาของการทบทวนยุทธศาสตร์การค้าและการพัฒนาอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ดังจะเห็นได้จากสหประชาชาติกำลังดำเนินการจัดประชุมสุดยอดว่าด้วยระบบอาหารโลก (World Food Summit 2021) ในปีนี้ รัฐบาลควรระงับการเดินเข้าร่วมความตกลงซึ่งหวังประโยชน์ลม ๆ แล้งจากการค้าเล็ก ๆ น้อยนี้เสีย แล้วหันกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรชีวภาพทั้งในส่วนการวิจัยสาธารณะ และการเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยตลอดจนวิสาหกิจท้องถิ่นดังที่ปรากฎในข้อเสนอเกี่ยวกับด้านเกษตรกรรมและพันธุ์พืชของสภาฯ"

ทางด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดเผยว่า ทางสภาเภสัชกรรมได้ทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมผลิตยาและการเข้าถึงยาในประเทศในปัจจุบัน พบว่าอุตสาหกรรมขนาดเล็ก พึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก ในปี 2562 มีบริษัทที่มีขนาดตลาด 1,000 ล้านขึ้นไป เพียงร้อยละ 17 (21 แห่ง จาก 123 แห่ง) สัดส่วนการผลิตยาในประเทศ เมื่อเทียบกับ การนำเข้ายา จะเห็นว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากร้อยละ 69 ในปี 2530 ลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 29 ในปี 2562 และมีแนวโน้มการนำยาเข้าสูงขึ้นทุกปี และการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562-2590): ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่เพิ่มขึ้น มาจาก ราคายาสูงขึ้น ประเทศไทยพึ่งพิงยานำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสรุปดังนี้
1) ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท
2) อัตราส่วนการพึ่งพิงนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก ปัจจุบันร้อยละ 71 เป็นร้อยละ 89
3) มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท

จะเห็นว่า การพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ดังกล่าวจึงจัดเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"สภาเภสัชกรรม จึงขอเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จึงขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) (บทสรุปผู้บริหาร หน้า ง-1) ที่ระบุว่า “3) การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง”

ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า ทำไมรัฐบาลจะเอาให้ได้ เข้าร่วม CPTPP ให้ได้ เหมือนมีใครอยากได้ ๆ ทั้ง ๆ อยู่บนความเสี่ยงและความสูญเสี่ยของประเทศ เรื่องนี้ คณะกรรมการธิการวิสามัญฯ ที่สภาผู้แทนฯ แต่งตั้งให้ศึกษา ก็มีรายงานความเห็นเสนอต่อสภาฯ แล้วว่า ไทยยังไม่ควรเข้าร่วม ต้องเตรียมความพร้อม แต่เหมือนรัฐบาลจะดึงดัน

"ในประเด็นผลกระทบต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทางเครือข่ายฯ เรายืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เอาเข้าร่วมในการเจรจาความตกลง CPTPP เพราะมีแต่เสียกับเสีย และสนับสนุน กระทรวงสาธารณสุขที่มีข้อเสนอ ให้คงสีแดง ขอสงวนประเด็นมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าควบคุม ทั้งสถานที่ดื่มที่การขาย การส่งเสริมการขาย การโฆษณา เพื่อลดการเข้าถึงผู้บริโภคโดยง่าย และลดการสูญเสียจากผลกระทบต่างๆทางทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน แต่ CPTPP มุ่งเปิดการแข่งขันทางการค้า บริการ การขนส่ง CSR การส่งเสริมการขาย การโฆษณา ซึ่งจะเป็นอุปสรรค์ต่อมาตรการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ อย่างแน่นอน เพราะความตกลงใน CPTPP จะลดการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐลง แต่กลับเพิ่มอำนาจให้ นักลงทุนมากขึ้น สามารถเข้ามาแทรกแซง มาตรการนโยบายของรัฐที่มีอยู่แล้ว หรือที่จะมีมาตรการใหม่ๆในอนาคต ทำได้ยากหรือด้อยประสิทธิภาพลง รวมไปถึง เสี่ยงถูกฟ้องร้องผ่าน กลไกระงับข้อพิภาคระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกข้ามชาติที่มีอิทธิพลเหนือรัฐ และเราไม่มีความเชียวชาญเพียงพอ เสี่ยงที่จะจ่ายค่าโง่ซ้ำซากเหมือนที่ผ่าน ๆ มา เรื่องนี้เครือข่ายฯ จับตา และพร้อมเคลื่อนไหวคัดค้านร่วมเครือข่ายประเด็นอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ถ้ารัฐบาลยังคงดื้อดันจะขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP"

รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ ย้ำว่า ขอให้รัฐบาลเลิกอ้างว่าเป็นเพียงการลองไปเจรจา เพราะทางตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศย้ำหลายครั้งต่อ กมธ.ทั้งสภาและวุฒิสภาว่า หากแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมความตกลงแล้ว จะมาถอนตัวภายหลังโดยยกเหตุผลเจรจาผ่อนผันไม่สำเร็จ เป็นเรื่องที่ไม่ควร เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเล็ก ๆ ในเวทีโลก อีกทั้งจนถึงขณะนี้ CPTPP เป็นความตกลงที่มีแค่ 7 ประเทศที่เป็นภาคีที่ให้สัตยาบันแล้วเท่านั้น ไม่มีสมาชิกเก่าจะให้สัตยาบันเพิ่ม สมาชิกใหม่ที่ให้ความสนใจมีเพียงสหราชอาณาจักรที่ออกจากสหภาพยุโรปแล้ว จนทำให้บรรดาทูตของประเทศสมาชิก 7 ชาตินี้ต้องวิ่งล็อบบี้ให้ไทยเข้าร่วม

"ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ผิดคำพูดกับสาธารณชน รัฐบาลต้องทำตามคำแนะนำของสภา คือ ทำกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง"

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะหลักในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯที่ส่งถึงรัฐบาล ประกอบไปด้วย
1) ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน
2) รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาจากผลกระทบด้านลบ
3) การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมภาคีความตกลง
4) รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า

รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ฉบับเต็ม ดาวน์โหลดได้ที่ https://bit.ly/39vqC6x

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net