Skip to main content
sharethis

ชวนจับตา 5 เม.ย. นี้ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะพิจารณาผลของคณะอนุกรรมการการเตรียมความพร้อมทั้ง 8 คณะ คาดว่า จะนำเสนอให้ รบ.ส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ปลายเมษานี้ 

4 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 เม.ย.64) เมื่อเวลา 14.49 น. เพจ FTA Watch ของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน โพสต์ถึงสถานการณ์ที่รัฐบาลพยายามผลักดันไทยเข้าร่วม CPTPP  หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกนั้น ในหัวข้อ "เข้าCPTPPกระทบกับคนทั้งชาติช่วยกันจับตา"

"ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม CPTPP และยังต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อม อุดจุดอ่อนด้านต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนทั้งด้านนโยบาย งบประมาณ และบุคลากร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหากจะตัดสินใจเข้าร่วม" นี่คือข้อสรุปของประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP ที่นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร 12 พ.ย. 63 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP เป็นข้อความที่ เพจ  FTA Watch เปิดขึ้น

จากนั้น  FTA Watch ไล่ลำดับเวลาการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความพยายามเข้า CPTPP ของรัฐบาล ดังนี้

  • 24 พ.ย.63 : คณะรัฐมนตรี รับทราบข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP มอบหมายให้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรัญมนตรีต่างประเทศไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานต่างๆแล้วกลับมารายงานครม.ใน 30 วัน
  • 5 ก.พ.64 : คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณา 4 ข้อเสนอกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฏรศึกษาเข้าร่วม CPTPP และตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน 8 ด้าน ได้แก่ เกษตรและพันธุ์พืช, การแพทย์และสาธารณสุข, การจัดซื้อจัดจ้างและรัฐวิสาหกิจ, การบริการการลงทุน, E-commerce, การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน, แรงงาน และ การเยียวยาผลกระทบ
  • 9 มี.ค.64 : คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามการจัดทำแผนงานการดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตั้ง 8 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน CPTPP รายประเด็น
  • 29 มี.ค. 64 : สภาเภสัชกรรมทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมผลิตยาและการเข้าถึงยาในประเทศในปัจจุบัน และที่จะเกิดผลกระทบหลังเข้าร่วม CPTPP ไทยจะต้องพึ่งพาการนำเข้ายาอ่จสูงถึงร้อยละ 89 ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท
  • 31 มี.ค. 64 : เอฟทีเอ ว็อทช์และภาคี แถลงข่าวคัดค้าน กนศ.จะเสนอครม.ให้เข้าร่วม CPTPP ย้ำหลายประเด็นอ่อนไหว พันธุ์พืชยา ผลกระทบรุนแรงต่อนโยบายสาธารณะ #ชี้ความไม่พร้อมของประเทศไทยทั้งการปฎิรูปโครงสร้างและงบประมาณ
  • 5 เม.ย.64 : คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะพิจารณาผลของคณะอนุกรรมการการเตรียมความพร้อมทั้ง 8 คณะ คาดว่า จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ปลายเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ การประชุม กนศ.จะมีขึ้นที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เวลา 9.00-12.30 น.

สำหรับ CPTPP นั้น เป็นข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าและบริการที่ตั้งต้นมาจาก Trans-Pacific Partnership หรือ TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่มีสมาชิก 12 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม และญี่ปุ่น ซึ่งไทยก็สนใจเข้าร่วม TPP อยู่ก่อนแล้ว โดยการเข้าร่วมมีข้อวิจารณ์ทั้งบวกและลบ โดยด้านบวกนั้น มองว่าจะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวและการลงทุนขยายตัว แต่ด้านลบนั้นจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เนื่องจากมีเนื้อหาหลายข้อที่ทำให้เกิดการผูกขาดสิทธิบัตรยาวนานขึ้น ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ต้องเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารตามมา เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net