แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2563/64

7 เม.ย. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2563/64 รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2563 โดยให้ภาพรวมของห้าภูมิภาคและข้อมูลของแต่ละประเทศทั้งหมด 149 ประเทศ รวมทั้งระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศพม่าและในประเทศไทยด้วย 

รายงานชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็งในทุกมุมโลก สำหรับประเทศไทยมีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย เช่น การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ เสรีภาพในการแสดงออก นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ เป็นต้น 

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อธิบายสถานการณ์ภาพรวมของโลก โดยแบ่งอออกเป็นสามประเด็นหลักคือผลกระทบจากโควิด-19 และผลกระทบต่อสังคม ความรุนแรงเกี่ยวกับเพศและการปราบปรามผู้เห็นต่าง และการแสดงออกทางความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเผยให้เห็นสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมของแต่ละสังคม กลุ่มแรกที่ต้องพบเจอการเลือกปฏิบัติคือกลุ่มที่ทำงานด้านสาธารณะสุข เนื่องจากทำให้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและไม่ได้รับการคุ้มครองจากหลายๆ รัฐบาล ทั้งยังมีการใช้เครื่องมือออนไลน์สืบสวนโรคและใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ และยังมีผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยที่เดิมก็เข้าถึงทรัพยากรได้อย่างยากลำบากอยู่แล้ว รวมไปถึงจะเห็นมาตรการทางสุขภาพหลายๆ อย่างที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างที่ถูกนำมาปฏิบัติต่อคนที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติศาสนา  

"แม้จะเห็นความพยายามในความร่วมมือของหลายประเทศทั่วโลกในการจัดหาวัคซีนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเข้าถึงทางสาธารณสุข แต่ก็มีมาตรการของรัฐหลายประการที่ทำให้เกิดการกักตุนมาตรการทางการแพทย์ มีหลายประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือมาตรการเหล่านี้ โดยเราตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวมาตรการความร่วมมือในระดับพหุภาคีเหล่านี้ว่าควรจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

ฐิติรัตน์กล่าวเสริมว่า การระบาดของโรคโควิด-19 สืบเนื่องมาจนถึงเรื่องความรุนแรงทางเพศ ทำให้ผู้หญิงที่เป็นบุคลากรทางสาธารณสุขถูกเลือกปฏิบัติจากคนในครอบครัว สภาพการล็อคดาวน์ทำให้ผู้หญิงหลายๆ คนที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวอยู่แล้วต้องเจอความรุนแรงมากขึ้นไปอีก กระนั้นแล้ว ก็ยังเห็นพัฒนาการในทางบวกคือเรามีกฎหมายที่ต่อต้านการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเกิดใหม่ในหลายๆ ประเทศศ รวมถึงการสู้คดีในหลายๆ ประเทศก็มีพัฒนาการในเชิงบวก รวมไปถึงพัฒนาการด้านการผ่านกฎหมายที่ยกเลิกโทษอาญาของการทำแท้งในหลายๆ ประเทศ โดยประเทศไทยเองก็มีกฎหมายใหม่ที่ดูแลเรื่องการทำแท้งแล้วเช่นกันนี้

ประเด็นสุดท้าย ในระดับโลกที่เป็นประเด็นหนักหน่วงที่สุด คือเรื่องการปราบปรามผู้เห็นต่าง ส่วนนี้จะได้เห็นการเคลื่อนไหวการชุมนุมประท้วงมากมายในโลก ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยเยาวชน และได้เห็นการปฏิบัติโดยมาตรการของรัฐที่ใช้อาวุธเกือบตลอดเวลา และได้เห็นความพยายามของรัฐในการพยายามฟ้องคดีผู้ที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ ประเทศเช่นกัน 

"ประเด็นที่น่าจะเห็นได้ชัดที่สุดในภูมิภาคนี้คือเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากโควิด-19 เช่นกัน เช่น มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของโควิด-19 และจะได้เห็นสื่อมวลชนและบุคคลธรรมดาถูกจับ ถูกลงโทษ เชื่อมโยงกับโรคระบาดของโควิด-19 สถานการณ์โรคระบาดมันเน้นย้ำให้เสรีภาพทการแสดงออกถูกละเมิดและถูกจำกัดเข้าไปอีก ตลอดจนใช้สถานการณ์โรคระบาดถูกนำมาใช่เป็นข้ออ้างของความมั่นคงในหลายๆ ประเทศ" ฐิติรัตน์กล่าว 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วทำให้โลกเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งนี้ ในเมียนมาและในไทยก็มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้น ก้าวต่อไปในอนาคตของภูมิภาคนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเช่นกัน ในเมียนมา ความขัดแย้ง อาวุธ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพเมียนมาก็ยังมีอยู่ องค์กรด้านมนุษยธรรมก็ยังถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าช่วยเหลือ ซ้ำยังมีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมก็ยังจำกัดอยู่ ทั้งยังมีบรรษัทหรือภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลพม่าส่งผลให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลง ซ้ำร้าย กฎหมายที่ยังคงสร้างความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศก็ยังมีอยู่ แม้จะยังไม่มีคดีใดๆ เกิดขึ้นแต่ก็สร้างความหวาดกลัวให้ผู้เกี่ยวข้อง การที่เกิดสถานการณ์ต่างๆ มีองค์กรระหว่างประเทศที่แสดงเจตจำนงจะให้ความช่วยเหลือก็โดนปิดกั้น ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นเลย  

โดยปิยนุชยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงวิกฤติเสรีภาพการแสดงออกของเมียนมา จากการที่ประชาชนแสดงละครพื้นบ้านล้อเลียนการเมืองและโดนจับกุมคุมขัง รวมทั้งกวีที่ไปติดป้ายสถานที่ต่างๆ ก็โดนคดี บางพื้นที่โดนจำกัดไม่ให้เข้าถึงข้อมูล เว็บไซต์หลายแห่งก็ต้องปิดตัวลงจากการควบคุมของภาครัฐ 

"เช่น วันที่ 13 กุมภาพันธ์คือวันเด็กแห่งชาติของพม่า มีปืนใหญ่ตกลงในโรงเรียนจนมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บ และยังมีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กซึ่งกองทัพยอมรับเองว่ามีการข่มขืนกลุ่มโรฮิงญา ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้วและอย่างเป็นระบบต่อกลุ่มชาติพันธุ์จนเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น" ปิยนุชกล่าว

ด้านรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยอธิบายว่า 

"สำหรับประเทศไทย เรายังมีประเด็นเรื่องการอุ้มหาย เรื่องเสรีภาพการแสดงออกและผู้ลี้ภัย ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดมากว่ามีการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองอยู่มากถึง 779 ครั้ง และมีการบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่า 200 ครั้ง จะเห็นถึงความพยายามของประชาชนในการใช้สิทธิต่างๆ และมี พ.ร.ก. ฉุกเฉินเกิดขึ้นซึ่งดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้นับเป็นเวลาหนึ่งปี มีการปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยกฎหมายมากมาย ถึงแม้จะมีช่วงหนึ่งที่มีการล็อคดาวน์ เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2563 ก็มีกรณีคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกอุ้มหาย จนเยาวชนและผู้คนลงท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐดำเนินการหาความจริง จนกรณีคุณวันเฉลิมเป็นกระบอกเสียงให้กรณีการอุ้มหายอื่นๆ" ปิยนุชกล่าว 

และว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เข้ามาจัดการผู้ชุมนุม ที่ผ่านมาแม้จะพยายามชุมนุมอย่างสงบก็โดนจับกุมด้วยคดีต่างๆ เมื่อล่วงเข้าเดือนตุลาคม ก็เกิดเหตุการณ์ที่มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 110 โดยมีเยาวชนอยู่ด้วย โดยในปี 2563 เป็นปีแรกที่มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 โดนคดี 112 

นอกจากนี้ยังมีกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาอย่างยาวนาน ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยขอเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างมีอิสระ ต้องมีการเข้าถึงทนายความอย่างเหมาะสม และให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปตรวจสอบ และยืนยันว่าอยากให้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายผ่านและเป็นไปตามมาตรฐานสากล และต้องการให้มีการสืบค้นกรณีบุคคลสูญหายทุกกรณีอย่างมีประสิทธิภาพ อิสระและเป็นธรรม 

"และขอให้ยกเลิกคำสั่งต่างๆ ต่อคนที่เห็นต่างจากรัฐ เพราะประเทศไทยมีคำมั่นสัญญาต่อประชาคมโลกด้านนี้หลายข้อ อยากให้คำนึงถึงประเด็นนี้ด้วย รวมถึงการจับกุมคุมขังโดยพละการ โดยไม่อยากให้ใช้ศาลทหารกับพลเรือนด้วย" 

ปิยนุชกล่าว และว่า ขอเรียกร้องเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท อยากให้มีการพิจารณาว่าไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือในการจัดการเรื่องทางการเมือง ทั้งนี้ ต้องทำให้สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อยากให้แก้ไขข้อกำหนดที่ว่าให้บุคคลใดๆ สามารถฟ้อง ม.112 ต่อบุคลอื่นได้ รวมทั้งยกเลิกการตราโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด และขอให้ถอนข้อกล่าวหาใดๆ ต่อผู้ถูกจับกุมอยู่ในเวลานี้เพียงเพราะมีการใช้การแสดงออก และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมจากกรณีนี้ในทันที  

นอกจากการเปิดตัวรายงานประจำปี 2563/2564 แล้วยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในหัวข้อ “มองสิทธิมนุษยชนในรอบหนึ่งปีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” โดยมี พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดร.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพูดคุย และฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ 

โดย ดร.พัชร์ นิยมศิลป จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในปี 2020 เนื่องจากภายหลังจากการรัฐประหารปี 2014 ประเทศไทยก็ตกอยู่ภายใต้ระบอบทหาร และมีการใช้กฎ คสช. ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางจนกลายมาเป็นระบอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคือระบอบทหารผสมกับระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กลไกได้ไม่เต็มที่ ที่ผ่านมาในปี 2019 มีการเลือกตั้งทำให้เยาวชนเกิดการตื่นตัวในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ที่มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ทำให้เยาวชนระดับมหาวิทยาลัยลุกฮือขึ้น แต่การชุมนุมจำต้องยุบลงไปเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 จนเข้าเดือนกรกฎาคม 2020 ก็มีกลุ่มเยาวชนปลดแอกฟื้นการชุมนุมขึ้นมาที่ถนนราชดำเนิน และตามมาด้วยการชุมนุมมากมายหลายต่อหลายครั้ง 

การชุมนุมไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพราะเยาวชนไม่ชอบรัฐบาลนี้ แต่เป็นเพราะพวกเขาถูกกดมาเป็นเวลานาน 6-7 ปี อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อพิจารณาในการใช้ พ.ร.ก. นี้คือต้องมีเหตุฉุกเฉินและเป็นภัยที่เห็นได้ชัดต่อชาติจริงๆ ทั้งวิธีการ, กลไกปกติมันไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมากพอ 

"มีหลายประเทศที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรองรับโควิด-19 เช่นการล็อคดาวน์ ประเทศไทยเองก็มี พรบ โรคติดต่อซึ่งส่วนตัวคิดว่ามีอำนาจเพียงพอจะใช้ แต่รัฐบาลประกาศเหตุฉุกเฉินรอไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น ถ้าใช้กลไกกฎหมายปกติก็เพียงพอ" 

ดร.พัชร์กล่าว การใช้โควิด-19 เป็นเหตุในการใช้มาตรการฉุกเฉิน ข้อกังวลคือรัฐอาจใช้โควิด-19 เป็นข้ออ้างเพื่อละเมิดและจำกัดสิทธิผู้คน ทั้งยังมีการใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองบางอย่าง เช่น การเก็บข้อมูลมือถือจนล่วงละเมิดไปยังพรมแดนสิทธิส่วนบุคคล หรือใช้โควิด-19 เพื่อปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง ในประเทศไทย ปัญหาการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีสามปัญหาหลักๆ คือหนึ่ง เรื่องระยะเวลาซึ่ง ครม. ก็ต่อเวลาไปเรื่อยๆ, สอง เรื่องการรับผิดของเจ้าหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมทำเกินกว่าเหตุจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ โดยมีศาลยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบ คำถามคือมีประสิทธิภาพแค่ไหน และสาม หากมีการเลือกปฏิบัติ ใครเป็นคนตรวจสอบ ตัวละครที่หายไปจากบริบทของไทยเช่นการตรวจสอบโดยรัฐสภาทำได้แค่ไหน เห็นได้ชัดว่าฝ่ายค้านไม่มีบทบาทอะไรมากนักนอกจากขยายประเด็น องค์กรอิสระต่างๆ หายไปไหน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่เงียบหายไป หรือศาล มีเจตจำนงจะเข้ามาตรวจสอบเจตจำนงของอำนาจรัฐมากแค่ไหน  

กฎหมายฉุกเฉินถือเป็นยาแรง ในต่างประเทศอาจมีกรณีที่รัฐบาลประกาศกฎหมายออกมาก่อนแล้วค่อยไปผ่านกระบวนการรัฐสภา หรือออกกฎหมายใหม่เป็น พ.ร.บ. โควิดอย่างที่พบในสหราชอาณาจักร ซึ่งใช้เวลาพิจารณาเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ขณะที่บ้าเนราผ่านมาปีหนึ่งแล้วก็ยังไม่มี ทั้งนี้ ยังพบว่าการบังคับใช้ พรบ. และ พ.ร.ก. นั้นก็มีความแตกต่างกันในเชิงบังคับใช้ด้วย

"พ.ร.บ.โรคติดต่อมีเจตนารมณ์โดยเฉพาะ หากเราใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ คนนำคือกระทรวงสาธารณะสุขหรือบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกแบบมาเพื่อความมั่นคง คนนำจึงเป็นสายทหารหรือสายปกครอง" ดร.พัชร์กล่าวปิดท้าย 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่าตอนนี้ในภาคใต้ มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 63 ครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลา 15 ปี 9 เดือนแล้วไม่มีการเปลี่ยนนโยบายใดๆ รวมทั้งสถานการณ์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสามจังหวัดภาคใต้เป็นพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับร้ายแรงที่ต่างจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับโควิด-19 โดยเป็นการใช้เพื่อทดแทนกฎอัยการศึกช่วงปี 2548 เนื่องจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. กฎอัยการศึกในปี 2547 เมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยประกาศใช้กฎอัยการศึกหลังเหตุการณ์ปล้นปืน ก่อนจะโดนรัฐประหารปี 2549 กฎอัยการศึกจึงยังไม่ได้ถูกยกเลิกอย่างจริงจัง และเมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกประกาศใช้หลังร่างขึ้นเป็นครั้งแรกก็ใช้มาอย่างยาวนาน เท่ากับว่าสามจังหวัดภาคใต้มีกฎหมายฉุกเฉินซ้อนกันสองฉบับ นำมาซึ่งความเดือดร้อนเสียหายของประชาชน   

โดยพรเพ็ญขยายความว่า หลายๆ ครั้งจะพบว่า พัฒนาการของการใช้อำนาจของกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตรวจสอบได้ยากขึ้นเป็นลำดับ ระยะแรกๆ จะเห็นการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมแบบเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น หากเข้าไปเยี่ยมหรือขอพบ จะเห็นบาดแผล ร่องรอย วิธีการแรกๆ ที่ใช้คือจะพาบุคคลที่ถูกจับขึ้นรถกระบะมาให้เห็นว่ายังไม่หายไปไหน แล้วจะถูกห้ามเยี่ยมสามวัน เห็นบุคคลนั้นยืนอยู่บนกระบะ พ่อแม่พี่น้องที่ขอเยี่ยมหรือดูอา หรือคือการให้พร เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งมีการพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกกฎห้ามเยี่ยมสามวัน เมื่อได้มาทุกคนก็ได้เยี่ยมในวันแรก  

"ประเด็นการเยี่ยมก็มีปัญหา จะเยี่ยมแค่สองสามนาทีโดยไม่ให้โอกาสพูดภาษาถิ่นคือภาษามลายู และตั้งแต่รัฐประหารมาเวลาได้เยี่ยมก็ลดลงเรื่อยๆ สุดท้ายจะถูกสอบสวน จะได้คำสารภาพมาในวันที่หก เพราะวันที่เจ็ดต้องพาไปเจอแพทย์ มีการย้ายอำนาจการควบคุม คือการออกหมายขังตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งต้องขอจากศาล และในวันที่เจ็ดก็จะได้รับการปฏิบัติตัวที่ดีขึ้นกว่าวันที่ผ่านๆ มา ร่องรอยบาดแผลที่จะเห็นได้ก็น้อยลง ยิ่งปัจจุบันมีการใช้สิ่งที่มองไม่เห็นเช่น น้ำ อากาศ ควบคุมหรือบังคับให้ยืน ไม่เปิดโอกาสให้พบทนายความ" พรเพ็ญกล่าว 

ทั้งนี้ การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกมักจะเกิดขึ้นในลักษณะเรื่องความรุนแรง คือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีเหตุคุกคามรัฐ แต่การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก เมื่อประกอบรวมกันทำให้มีอำนาจในการจับกุมผู้คนไปสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำติดต่อกันได้ 37 วัน ตลอดจนถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารเจ็ดวัน พัฒนาการใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎอัยกายศึกตรวจสอบได้ยากขึ้นเป็นลำดับ 

"สิ่งที่ต้องคุยกันคือ กลไกตรวจสอบของภาคส่วนที่ไม่ใช้ทหารหรือฝ่ายความมั่นคงอ่อนแอลงเรื่อยๆ ในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งภาคประชาสังคมด้วย ตลอดจนเสรีภาพทางการแสดงออก" พรเพ็ญกล่าว  

ด้าน พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สามจังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีกฎหมายซ้อนทับหลายฉบับมาก สะท้อนความแปลกประหลาดในการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่ส่วนกลาง ตั้งแต่ยุค คสช. เกิดการทำให้ประเทศไทยทั้งประเทศเป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้จากการนำมาปรับทัศนคติหรือการเชิญตัว 6 ปี 10 เดือนเราอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษมาตลอด ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องปกติแต่เราบังคับใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้เสมือนเป็นปกติ หลังจากหนึ่งปีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วง 1 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลังประกาศเมื่อ 25 มีนาคม 2563 ช่วงแรกงดเว้นบังคับใช้ พ.ร.บ. ชุมนุม ต่อมามีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง รัฐบาลจึงพยายามกลับไปใช้เกณฑ์กฎหมายชุมนุมซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง ปัญหาคือเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้นก็มีการดำเนินคดีทั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปพร้อมๆ กัน หลังจากนั้นจึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงแทรกเข้ามา พื้นที่กรุงเทพฯ จึงมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินโควิดและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงประกาศใช้พร้อมกัน โดยเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ลักลั่นและสร้างความสับสนพอสมควร 

โดยทนายพูนสุขยกตัวอย่างกรณีวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาบริเวณทำเนียบรัฐบาล กรณีหมู่บ้านทะลุฟ้าที่ไปชุมนุมตั้งหมู่บ้านและโดนสลายการชุมนุม จะเห็นได้ว่าผู้ชุมนุมไม่มีพฤติการร้ายแรงและใช้เสรีภาพในการชุมนุม แต่ปัญหาคือในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจำกัดสิทธิในการชุมนุมได้ แต่คำถามคือเราอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินจริงหรือไม่ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างได้สัดส่วนหรือเปล่า จะพบว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ แต่เจ้าหน้าที่ไม่เคยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เลยไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการสลายชุมนุมหรือหลักการการใช้กำลังอื่นๆ การชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมอาจใช้ความรุนแรงทั้งขว้างหิน ขว้างขวดน้ำ เจ้าหน้าที่ต้องจัดการเฉพาะบุคคลนั้นไม่ใช่มองว่าผู้ชุมนุมทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

ในฐานะทนาย ช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงก็ทำงานยากลำยาก เช่น มีผู้ถูกนำตัวไปรับทราบที่ ตชด. การที่ตำรวจออกระเบียบ อ้างระเบียบที่จริงๆ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ว่าจะนำไปควบคุมตัวที่ไหนก็ได้ ผู้ถูกคดีจึงสุ่งเสี่ยงจะถูกอุ้มหาย เพราะการคุมตัวที่ ตชด. ทำให้ทนายความเข้าถึงลำบากมาก ทั้งยังมีการเลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมายนี้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังตัดอำนาจศาลปกครองไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อผู้เสียหายอย่างยิ่ง 

"การฟ้องคดีในศาลปกครองได้ ศาลปกครองถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐโดยเฉพาะ ทั้งกระบวนการก็ยืดหยุ่นมากกว่าการไปฟ้องศาลอาญาหรือศาลแพ่ง หลักในการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตัวผู้เสียหายต้องพิสูจน์ว่าโจทย์หรือเจ้าหน้าที่กระทำความผิด แต่ศาลปกครอง ตัวศาลจะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบและค้นหาพยานหลักฐาน เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายมากกว่าไปฟ้องศาลยุติธรรม" พูนสุขกล่าว 

ดร.พัชร์กล่าวเสริมว่า การขึ้นศาลปกครองไม่ต้องใช้ทนายความ และทำได้ง่าย แต่ถ้าไปขึ้นศาลยุติธรรมต้องใช้ทนายความที่มีตั๋วทนาย ต้นทุนจึงไปตกกับประชาชน ตลอดจนระยะเวลาในการรีวิว ศาลปกครองมีสอวงชั้นขณะที่ศาลยุติธรรมมีสามชั้น เป็นความแตกต่างระหว่างการนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองและศาลยุติธรรมมันจึงแตกต่างกันมาก 

ในช่วงท้ายตัวแทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้มอบรายงานและข้อเรียกร้องต่อทางการไทย โดยมี มาระตี นะลิตา อันดาโม ผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกล่าวว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศจะรับรายงานไปศึกษาต่อไป และต้องขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในการส่งเสริมการตระหนักรู้ให้กับคนในสังคม เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นของทุกคนไม่ใช่เฉพาะแค่ฝ่ายรัฐ หรือภาคประชาสังคม แต่เป็นของทุกคนจริง ๆ

"ปีที่ผ่านมามีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด- 19 มีการออกมาตรการต่าง ๆ นานา ทำอย่างไงถึงจะไม่ให้มีผลในเชิงลบต่อการรักษาสิทธิมนุษยชนของทุกคน และขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังเตรียมจัดทำรายงานกลไกการตรวจสอบและทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ Universal Periodic Review (UPR) ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาดูรายละเอียดต่อไป" 

 

เอกสารแนบ
รายงานประจำปี 2563/64 ในส่วนของภาพรวมเอเชีย-แปซิฟิก-ประเทศไทย-ประเทศเมียนมา.pdf 
รายงานประจำปีทั่วโลก 2563/64 ฉบับภาษาอังกฤษ-english.pdf
ข้อเรียกร้องแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อรัฐบาล (ภาษาไทย).pdf 
ข้อเรียกร้องแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อรัฐบาลไทย (ภาษาอังกฤษ).pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท