อัยการศาลอาญาธนบุรีสั่งฟ้อง “ตี้ พะเยา-จัสติน” ม.112 คดีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ ตี้ยื่นประกัน 2 แสนบาท แต่ศาลไม่ให้ประกันอ้างตี้ยังมีอีกคดีระหว่างสอบสวนเกรงหลบหนี
วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ พะเยา ขึ้นปราศรัยเรียกร้องปล่อยตัวเพื่อนนักกิจกรรมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 แฟ้มภาพ
27 เม.ย.2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าอัยการศาลอาญาธนบุรีในฐานะโจทก์มีคำสั่งฟ้อง “จัสติน” หรือ ชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมกลุ่มคณะราษฎรและวรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้” นิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเหตุที่ทั้งสองคนปราศรัยที่วงเวียนใหญ่เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2563 ทั้งนี้ศาลไม่ได้เบิกตัวชูเกียรติมาศาลในวันนี้
ด่วน! 16.39 น. ศาลอาญาธนบุรีมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว "ตี้" วรรณวลี ในคดี #ม112 #ม็อบ6ธันวา หลังยื่นหลักทรัพย์ 2 แสนบาท
ระบุว่าโจทก์คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว และจำเลยถูกกล่าวหาอยู่ระหว่างสอบสวนในข้อหาความผิดเดียวกันกับคดีนี้อีก หากปล่อยตัว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี pic.twitter.com/6Em80JBCOx
— TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (@TLHR2014) April 27, 2021
คดีนี้มีจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา
ศาลอาญาธนบุรีมีคำสั่งรับฟ้องและหลังศาลรับฟ้องศาลมีคำสั่งขังวรรณวลีระหว่างพิจารณาคดี จึงได้ยื่นขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เงินสด 200,000 บาท แต่ในเวลา 16.40 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้วรรณวลีประกันตัวโดยอ้างเหตุผลว่าโจทก์คัดค้านการประกันตัว อีกทั้งวรรณวลียังมีคดีอื่นในฐานความผิดเดียวกันนี้ที่ยังอยู่ระหว่างสอบสวนศาลจึงเชื่อว่าหากปล่อยตัวไปวรรณวลีจะหลบหนี
จากคำสั่งไม่ให้ประกันวรรณวลีในวันนี้ทำให้มีประชาชนที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีการเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 17 คนแล้ว โดยแบ่งเป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 10 คน และอคดีอื่นๆ อีก 7 คน
ในคดีนี้นอกจากชูเกียรติและวรรณวลีแล้วยังมีธนกร(สงวนนามสกุล) ที่ถูกดำเนินคดีร่วมด้วยแต่เนื่องจากยังเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี จึงถูกดำเนินคดีแยกไปเป็นอีกคดีหนึ่งในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยอัยการคดีเยาวชนฯ นัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องในวันที่ 24 พ.ค.2564
ก่อนหน้านี้ศูนย์ทนายความฯ เคยรายงานว่าคดีของพวกเขามาจากการปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มราษฎรฝั่งธน และฟันเฟืองธนบุรี ที่บริเวณวงเวียนใหญ่ โดยพนักงานสอบสวนได้บรรยายพฤติการณ์ของแต่ละคนว่า ชูเกียรติ ถูกกล่าวหาจากคำปราศรัยที่กล่าวถึงการใช้มาตรา 112 เพื่อปิดปากประชาชน เหตุในการแต่งตัวเหมือน “จัสติน” และข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ วรรณวลี ปราศรัยถึงตำแหน่งจอมทัพไทย หลักการเรื่องสถาบันกษัตริย์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเรื่องการรัฐประหาร ส่วนธนกรปราศรัยถึงการปกครองของไทยที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ รวมทั้งกล่าวถึงการรัฐประหารและเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศ
นอกจากคดีนี้ วรรณวลียังถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อีก 2 คดี(รวมเป็น 3 คดี) ได้แก่ การปราศัรยที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563 และโพสต์ภาพถือป้ายที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในที่ชุมนุมลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2563 ซึ่งในสองคดีนี้มีผู้กล่าวหาเป็นบุคคลทั่วไปเช่นเดียวกับคดีในวันนี้
ส่วนชูเกียรติยังมีคดีมาตรา 112 อีก 3 คดี(รวมเป็น 4 คดี) จากการปราศรัยในที่ชุมนุมต่างๆ 2 ครั้ง และการติดกระดาษบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในการชุมนุมที่หน้าศาลฎีกาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2564 ด้วย และขณะนี้เขาถูกขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.2564 และไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ล่าสุดพบเขาติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างอยู่ในเรือนจำ