Skip to main content
sharethis

ดูสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในชุมชนคลองเตยและชุมชนนางเลิ้งที่หนักกว่าปี 2563 ในขณะที่ชุมชนพยายามในการควบคุมโรคเท่าที่ทำได้ ข้อกังวลที่มาจากข้อจำกัดทางการเงินและที่อยู่อาศัยก็ยังคงอยู่ ที่อาจทำให้การกักตัวแบบมีระยะห่างทำได้ยาก และส่งผลต่อการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

ประชาชนในชุมชนคลองเตยเข้ารับการตรวจเชื้อที่วัดสะพานเมื่อ 27 เม.ย. 2564

"ติดคนรวย ซวยคนจน" เป็นหนึ่งในวลีฮิตในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เมื่อหนึ่งในต้นตอการระบาดใหญ่จากแขกวีวีไอพีและสถานบันเทิงหรูเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. ดับฝันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ก่อนจะตามมาด้วยการระบาดใหญ่ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ตามระยะเวลาของการฟักตัวของไวรัสและการแสดงอาการของโรค

ท่ามกลางการแก้ไขปัญหาอย่างทุลักทุเลของภาครัฐ ทำให้ไม่ว่าจะในการระบาดครั้งใด ผลกระทบที่คนๆ หนึ่งจะได้รับจึงเกี่ยวพันอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่มาก การเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีจนเสียชีวิต การระบาดใหญ่ในชุมชนแรงงานข้ามชาติที่มีการอยู่อาศัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เรื่อยมาจนถึงการได้สิทธิไปนอนในโรงพยาบาลชั้นนำและการดูแลที่ดีของคนในวงการบันเทิงเป็นภาพที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ประหนึ่งจะตอกย้ำลิ่มร่องของความเหลื่อมล้ำให้เห็นเด่นชัดขึ้น

ความเหลื่อมล้ำที่อาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า "ใครจะได้มีชีวิตอยู่ ใครจะถูกปล่อยให้ตาย" ในสถานการณ์โรคระบาดนี้

ในวันที่การระบาดคืบคลานสู่ชุมชนคลองเตย ย่านชุมชนแออัดชื่อดังที่แน่นขนัดด้วยประชากรหลักแสนที่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อในชุมชนแล้วไม่ต่ำกว่า 30 คน และมีวงผู้มีความเสี่ยงสัมผัสสูงถึง 400 คน ยิ่งเป็นบททดสอบในการควบคุมโรคระบาดของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายใต้บริบทความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

การระบาดและความพยายามที่จะหยุดมัน

ช่วงเช้าวันที่ 27 เม.ย. พื้นที่ภายในวัดสะพานถูกแปรสภาพให้เป็นพื้นที่คัดกรองและตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนย่านคลองเตยโดยได้รับความร่วมมือจากกรรมการชุมชน กลุ่มประชาสังคมในพื้นที่อย่างกลุ่มคลองเตยดีจัง กลุ่มกระต่ายคลองเตย มูลนิธิดวงประทีป  กรมควบคุมโรคและกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่มีรถตรวจเชื้อพระราชทาน 2 คันตรวจเชื้อประชาชนที่วันนี้มากันราว 500 คน เต็มโควต้าการตรวจในวันดังกล่าว ผู้เข้าตรวจต้องลงทะเบียน รับ QR Code เพื่อตรวจผลผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ผู้ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตจะต้องให้หมายเลขโทรศัพท์ไว้กับเจ้าหน้าที่แทน

ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 28 เม.ย. พบผู้อาศัยในชุมชนคลองเตยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 73 คน เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลต่างๆ แล้ว 65 คน รอการส่งตัวเข้ารับการรักษาโดยกักตัวอยู่ที่บ้านอีก 8 คน (ที่มา: Plus Seven)

ประชาชนเข้าคิวรับการตรวจเชื้อที่วัดสะพาน

สมบัติ น้อยสัมฤทธิ์ อายุ 26 ปี อาศัยที่ชุมชนหลังสุเหร่า ล็อก 1 อาชีพขับจักรยานยนต์รับจ้างแถวศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ เล่าว่าต้องเข้ารับการตรวจเพราะมีผู้ติดเชื้อในบ้านถัดจากเขาไป 10 หลัง ซึ่งไม่ได้อยู่ห่างกันมากและต้องเดินผ่านบ้าน เขาพักอาศัยอยู่กับสมาชิกครอบครัวในบ้านที่ยังเอื้ออำนวยต่อการกักตัวได้อยู่หากมีอาการป่วย แต่ว่ารายได้ของเขาลดลงเยอะมากในช่วงโรคระบาด จากที่มีรายได้ 1,600-1,700 บาท ก็เหลือเพียงวันละ 2-3 ร้อยบาทเท่านั้น นอกจากการช่วยเหลือจากสิทธิประโยชน์ในบัตรคนจน เขาไม่ได้รับการช่วยเหลืออื่นจากนโยบายภาครัฐเลย ทั้งนี้

ตรงกันข้าม เกื้อกูล แป้นจันทร์ อายุ 48 ปี ครูโรงเรียนเอกชนที่เดินทางมาตรวจเชื้อพร้อมลูกสาวอีก 2 คน อาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกักตัวและเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ เธอเล่าว่าความสัมพันธ์ในชุมชนเปลี่ยนไปเมื่อมีการระบาด ตอนนี้ทุกคนก็กลัวและระแวงกันเอง สิ่งที่เธอกังวลคือยังมีคนในพื้นที่ที่ไม่ไปตรวจ และกังวลว่าจะมีการระบาดจากครอบครัวอื่นๆ โดยมีลูกเล็กเด็กแดงที่ไม่ได้ใส่หน้ากากเป็นพาหะ วันนี้ดีใจที่มีการเข้ามาตรวจเชื้อ อยากให้มีการคัดกรองกับทุกๆ บ้านและรักษาโรคกันได้ไวๆ และยังหวังว่าจะมีการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพโดยเร็ว 

"เราอยู่ในชุมชน เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน คุณก็ต้องมองพวกเราบ้าง เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราก็เลือกที่จะเป็นได้" เกื้อกูลกล่าว

สมพงษ์ ทองปราณีต อายุ 73 ปี ลูกจ้างชั่วคราวในบริษัทชิปปิ้ง อยู่ในชุมชนคลองเตยมากว่า 30 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ไปตรวจเชื้อที่วัดสะพานเนื่องจากพื้นที่ที่เขาอยู่อาศัยมีการติดเชื้อหลายคน เขามีหลานหนึ่งคนทำงานกวาดถนนใน กทม. แต่ไม่ได้ไปตรวจเชื้อในวันเดียวกันเพราะออกไปทำงานก่อน สมพงษ์ไม่มั่นใจว่าบ้านเป็นสถานที่ที่จะสามารถอาศัยแบบมีระยะห่างได้หรือไม่ เพราะแม้หลานจะพักชั้นสอง และตนจะนอนอยู่ชั้นหนึ่ง แต่ประตูและทางเดินก็ต้องผ่านพื้นที่ที่สมพงษ์หลับนอนอยู่ดี 

ปราโมทย์ อายุ 18 ปี หลานของสมพงษ์ที่อยู่ห่างไปสองซอยติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วพร้อมๆ กับเพื่อนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน พวกเขาเพิ่งจะมีรถมารับไปสถานพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ที่หนองจอกหลังจากรออยู่ที่บ้าน 3 วัน ปราโมทย์เล่ากับผู้สื่อข่าวว่าเขาไม่มีอาการป่วยใดๆ

ประชาชนเข้ารับการตรวจเชื้อที่รถตรวจเชื้อพระราชทาน

ในชุมชนยังมีอาสาสมัครชุมชนที่คอยอำนวยความสะดวกในเรื่องการจัดทำและขนส่งอาหารตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการระบาด โดยเป็นชาวชุมชนที่ทำงานบนความเสี่ยงในการติดเชื้อ

 

ขอกราบคารวะผู้คนธรรมดาสามัญ ดังเช่น พี่เจี๊ยบ พี่ติ๋ม พี่แต๋ม พี่จอย พี่จันทร์ พี่จิตร ป้าเชียร ป้าเสาร์ น้องใหม่...

Posted by Bussabong Wisetpholchai on Tuesday, 27 April 2021

 

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ หรือ "ครูประทีป" ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีปเล่าว่า พื้นที่ย่านคลองเตยแบ่งย่อยได้เป็น 43 ชุมชน มีประชากรราว 100,000 คน คนส่วนใหญ่ทำงานบริการ รับจ้าง ขับแท็กซี่ ก่อสร้าง แบกหาม ฯลฯ เป็นลักษณะงานที่ประทีปเปรียบเปรยว่าเป็น "เส้นเลือดฝอย" ของเมือง ตอนนี้แทบทุกชุมชนมีผู้ติดเชื้อกันหมดแล้วและมีการระบาดอย่างรวดเร็ว ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เธอยกตัวอย่างชุมชนพัฒนาใหม่ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 2 คนเป็น 32 คนในเวลาไม่กี่วัน บวกกับพื้นฐานอาชีพของชาวชุมชนที่ต้องออกไปสัมผัสผู้คนแล้วก็ยิ่งน่าเป็นห่วงหากยังไม่สามารถหยุดการแพร่เชื้อ

ประทีปเล่าต่อไปว่ามูลนิธิดวงประทีปได้รับแจ้งทางโทรศัพท์เมื่อราววัน 23-24 เม.ย. ว่ามีการติดเชื้อในพื้นที่คลองเตยแต่ไม่มีรถมารับ ทางมูลนิธิฯ ร่วมกับชุมชนพยายามร่วมมือกับภาครัฐเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยออกจากพื้นที่และชักชวนให้ครอบครัวผู้ป่วยกักตัวอยู่ในบ้าน ทางทีมงานจะจัดหาอาหารและน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งแอลกอฮอล์และน้ำยาทำความสะอาดไปดูแล แต่ปัญหาอยู่ที่การรับ-ส่งตัวเข้ารักษาต่อที่เป็นไปอย่างล่าช้า ผู้นำชุมชน วัดและองค์กรมูลนิธิจึงได้ระดมสมองกันแล้วจัดแจงแนวทางการควบคุมโรคระบาดที่กำหนดไว้กับกรมควบคุมโรคตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเมื่อปี 2563 แต่ยังไม่ได้ใช้ นำมาซึ่งการใช้วัดสะพานเป็นพื้นที่ตรวจเชื้อและรับรองผู้ป่วยติดเชื้อเพื่อรอส่งต่อให้โรงพยาบาล

สตรีผู้มารอตรวจเชื้อที่วัดสะพาน เธอเล่าว่าลูกๆ ที่มาด้วยจะยังไม่ได้รับการตรวจในวันดังกล่าว

ประทีปเล่าว่ามูลนิธิพยายามช่วยเหลือในส่วนของอาหาร แต่การช่วยเหลือเรื่องรายได้นั้นเป็นเรื่องที่ยาก ทำได้อย่างมากก็จ้างงานคนที่ตกงานมาช่วยกันแพ็คของและส่งอาหารเป็นรายวัน

"เราพยายามรวมเอาผู้คน และถ้าหากมีเสียงตามสาย แต่ละชุมชนก็น่าจะมีเสียงตามสายอยู่แล้ว ให้ประธานชุมชนเปิดเป็นศูนย์หรือ Line เข้ามา แล้วเชิญให้ชาวบ้านเข้า Line เพื่อแจ้งข่าว หรือจะหาเป็นศูนย์ให้เดินมาแจ้งเพื่อที่ผู้ไม่ถนัดทางเทคโนโลยีก็เดินมาได้ แต่ต้องใส่แมสก์ ใส่อะไรป้องกัน มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และในชุมชนก็น่าจะมี อสม. หรือ อสส. ที่จะร่วมกันช่วยระดมแรงกันเพื่อจะป้องกัน หยุดยั้งไม่ให้การแพร่เชื้อกระจาย" ประทีปกล่าว

ถึงเวลาวัดตอบแทนญาติโยม

"แ*งเอ๊ย จะรอดอยู่แล้ว" 

พระพิศาลธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดสะพานพูดแกมเสียดายในประเด็นการระบาดครั้งที่ 3 ที่หลุดมาจากสถานบันเทิงหรูมาถึงชุมชนคลองเตย อาคาร 9 ชั้นของวัดสะพานถูกใช้เป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วยเพื่อรอรถพยาบาลมารับตามแนวทางรับมือการระบาดตั้งแต่รอบแรก แต่ชุมชนคลองเตยยังเอาอยู่จนมาถึงระลอกที่ 3 ในวันที่มีการตรวจเชื้อ เจ้าอาวาสยังเปิดทำโรงทานแจกก๋วยเตี๋ยว ผลไม้และน้ำขิงให้กับผู้มาตรวจเชื้อด้วย

พระพิศาลธรรมานุสิฐเล่าว่าการใช้พื้นที่วัดครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้งในชุมชนที่ตามมาจากการติดเชื้อ และเอาเข้าจริงสิ่งปลูกสร้างในวัดก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในการจัดทำ การใช้ครั้งนี้ก็ถือเป็นการตอบแทนชุมชนด้วย ซึ่งพระทุกรูปก็ยินดี ถึงขนาดที่พูดว่าถ้าชาวบ้านป่วยได้ พระก็ร่วมป่วยกับเขา

"เวลาบ้านนี้ป่วย ไอ้บ้านข้างๆ ก็แอนตี้แล้ว หรือบางทีเขาอยู่กัน 5 คนแล้วป่วยคนหนึ่ง อีก 4 คนก็ไม่รู้จะไปไหนก็ต้องป่วยตาม ไอ้ 4 คนที่ป่วยตามระหว่างที่ไม่รู้ก็ออกไปข้างนอกไง"

"เคยเข้าไปในชุมชนมั้ย ห้องแค่นี้ (3-4 ต้นเสา ราวๆ 30-40 ตร.ม.) อยู่กัน 5 คน แล้วคิดดูว่าป่วยคนหนึ่งแล้วอีกสี่คนจะอยู่ตรงไหน ถ้าหากมียายติดเตียงล่ะ จะย้ายเขาไปไหนล่ะ แล้วตัวเองอยู่ก็เครียดว่าจะติดลูกติดหลานหรือเปล่า เราก็เลยเปิดพื้นที่ว่า เอ้า ไอ้นี่อยู่บ้านไม่ได้ กลัวติดลูก เอามานี่ ไอ้นี่อยู่ตรงนี้ชาวบ้านเขารังเกียจก็เอามานี่"

บ้านริมคลองที่ชุมชนคลองเตย

"เราคิดว่าตอบแทนบุญคุณชาวบ้าน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่ของฉันหรอก ฉันไม่ได้ทำธุรกิจ ฉันไม่ได้เป็นนายทุนเงินกู้ ฉันไม่ได้ไปเล่นหวยเล่นเบอร์อะไร นี่ก็เงินเขา (ชาวบ้าน) ทั้งนั้น ในเมื่อเขาเดือดร้อนมาก็ยินดีให้เขาใช้"

เนื่องจากมีแผนรองรับสถานการณ์การระบาดตั้งแต่ปีที่แล้ว พระเณรในวัดที่มีอยู่ 40 กว่ารูปก็ไม่ได้ตื่นตระหนก ก่อนหน้านี้วัดก็มีการปรับวิถีชีวิตใหม่ให้ปลอดภัยจากการระบาด เช่น ทำพื้นที่ให้โล่งโปร่ง ทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนหน้ากากอนามัยหลังบิณฑบาตร และทำวัตรอยู่ห่างๆ กันและสวดให้น้อยลง จนถึงตอนนี้ยังไม่มีพระติดเชื้อเลย 

"ถ้ามันไม่พอใช้จริงๆ ใช้กุฏิเจ้าอาวาสก็ได้เอ้า เอาเลยจะเข้าไปอยู่วันไหน ขอแค่ให้ลดความขัดแย้งในชุมชน" เจ้าอาวาสวัดสะพานกล่าว

นางเลิ้งยังต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก

ไม่ใช่ทุกชุมชนที่เข้าถึงการช่วยเหลือแบบที่ชุมชนคลองเตยได้รับ หันมาดูชุมชนย่านนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ชุมชนเมืองเก่าในพื้นที่พระนครก็มีการระบาดในชุมชนเช่นกัน แต่การควบคุมโรคและการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนั้นหนักไปทางช่วยเหลือตัวเองในชุมชน

สุวัน แววพลอยงาม ประธานชุมชนวัดแค 1 ใน 5 เขตชุมชนย่านนางเลิ้งเล่าว่าการระบาดครั้งนี้ถือว่าระบาดหนักกว่ารอบก่อนๆ ชาวชุมชนติดเชื้อมาจากที่ทำงาน ในวันที่ 27 เม.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อที่พอทราบคือ 6 คน ชุมชนก็ดูแลกันเอง หากว่าผู้อยู่อาศัยมีไข้ก็ให้กักตัว หากมีอาการอื่นขึ้นมาก็ให้ไปตรวจ แต่กระนั้นก็ยังมีกลุ่มผู้มีความเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับการตรวจ เดิมทีไม่มีรถมารับไปตรวจ แต่ว่าพอเป็นข่าวตามหน้าสื่อก็เริ่มมีรถเข้ามาบ้าง

สุวันเล่าว่าการช่วยเหลือมาจากการสนับสนุนในชุมชนเป็นส่วนมาก อย่างการวางแผนการกินการอยู่ก็ได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาดชุมชน คนที่ต้องกักตัวแล้วไม่มีรายได้ก็จะได้รับอาหารสามมื้อต่อวัน ตอนนี้มีราวๆ 20 คน ตกจำนวนอาหารอยู่ที่วันละ 60 กล่อง ตอนนี้มีกลุ่มภาคประชาชนอย่างกลุ่ม S O S และกลุ่มผักคนเมืองมาส่งอาหารสดและอาหารแห้งให้ ทางชุมชนก็จะกลับมาทำครัวกลางในวันศุกร์หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปิดชั่วคราวเพราะกลัวติดเชื้อ

ประธานชุมชนวัดแคเล่าว่าตอนนี้สถานการณ์ยังพอควบคุมได้อยู่เนื่องจากมี อสม. หลายคน และมีขนาดชุมชน 333 ครัวเรือนที่เป็นผู้อยู่อาศัยเก่าที่รู้จักกัน และยังมีผู้ประกอบการในตลาดนางเลิ้งที่พอจะขอความช่วยเหลือได้ ที่กังวลตอนนี้คือคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในชุมชนยังไม่ให้ความร่วมมือในการให้ไทม์ไลน์และไปตรวจ อยากให้ภาครัฐอย่างตำรวจหรือเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายดูแลเรื่องนี้ช่วยอีกแรง เธออยากให้เข้าถึงการช่วยเหลือของภาครัฐได้ง่ายกว่านี้ ที่เคยเป็นมาคือต้องถูกพูดถึงให้เป็นกระแสถึงจะเข้าถึงได้ง่าย อย่างเงินชุมชนเดือนละ 7,500 บาทที่จะขอเบิกซื้ออาหารกับเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายก็ต้องผ่านพิธีการเบิกจ่ายที่ยากลำบาก ต้องเขียนเป็นอย่างอื่นเพื่อมาเบิกซื้ออาหาร 

"มันเลยกังวลมาแล้ว พูดตรงๆ ตลาดก็ทำเอง ทรัพย์สินฯ (สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ในย่านนางเลิ้ง) ก็ไม่ได้มาดูแล ผู้นำชุมชนต้องซื้อเครื่องตรวจวัดเอง ทำเชือกกั้นเอง เขียนว่าห้ามผ่านเอง คือทำเองหมดเลย ไม่มีภาครัฐเลย" สุวันกล่าว

ประทีปแบ่งปันประสบการณ์การทำงานในพื้นที่คลองเตยว่าต้องมีการสื่อสารกับชาวชุมชน แต่เรื่องที่น่าห่วงคือปัญหาการขาดรายได้ของผู้ที่ต้องกักตัวที่อาจทำให้พวกเขาจำเป็นต้องออกไปทำงาน

"คนจำนวนมากเราไม่ทราบว่าใครติดหรือไม่ติด ใครที่ได้รับเชื้อมาแล้วเราไม่ทราบ ก็มีความกังวลอยู่ว่าลูกเด็กเล็กแดงที่อยู่ในบ้านเดียวกัน ตอนนี้ก็มีเด็กที่เป็นแล้ว 3 คน วันนี้ก็มีการตรวจ อาจจะต้องเจอกับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอีก เป็นห่วง เป็นกังวลว่าคนที่เป็นบางคนเขาก็ไม่มีรายได้ เขาก็ต้องออกไปทำงาน ก็คงไม่มีใครยอมอดตาย ตอนที่เขาออกไปทำงานนี่แหละก็จะเป็นการไปแพร่"

"จะทำยังไงล่ะ รัฐบาลอย่าเอาเงินไปแจกตรงโน้นตรงนี้เลย เอามาแจกตรงนี้แหละ แจกคนที่ติดเชื้อกับครอบครัวของเขา หยุดการแพร่เชื้อของเขาให้ได้ก่อน" ประทีปกล่าว

ช่องทางสำหรับผู้ที่ประสงค์จะส่งสิ่งของช่วยเหลือชาวชุมชนนางเลิ้งและคลองเตย

นางเลิ้ง: สุวัน แววพลอยงาม 0816229885 

คลองเตย: มูลนิธิดวงประทีป 34 ล็อค 6 ถนนอาจณรงค์ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม. 10110 ประสานงาน คุณเล็ก วันเพ็ญ 0983693493

หรือ น.ส นฤมล คำนนท์ 24/192 ซอยอาจณรงค์ 1 ถนนอาจณรงค์ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม.10110 โทร. 0815814738

หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 157-1-31123-8 ชื่อบัญชี 'ดนตรีเพื่อการแบ่งปัน - กองทุนเพื่อการศึกษา' 

ที่อยู่ Musicsharing บ้านเลขที่ 2 สุขุมวิท 62 แยก 8-3 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10260 โทร 0873564880 (นินจา)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net