Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีสหพันธรัฐไท 2 คดี คดีแจกใยปลิวขายเสื้อมีจำเลย 5 คน ศาลลงโทษข้อหาอั้งยี่จำคุกคนละ 3 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ให้ยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ส่วนอีกคดีใส่เสื้อดำไปเดินห้างศาลยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น

เมื่อวานนี้(27 เม.ย.64) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีเกี่ยวเนื่องกับสหพันธรัฐไทสองคดี

เสื้อที่มีสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท แฟ้มภาพ

ข้อความบนใบปลิวไม่ผิด แต่มีการรวมกลุ่ม

คดีแรกอัยการฟ้อง กฤษณะ, เทอดศักดิ์, ประพันธ์, วรรณภา และจินดา (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับในฐานความผิด “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 จากการที่จำเลยแจกใบปลิวและจำหน่ายเสื้อดำซึ่งมีสัญลักษณ์ธงสหพันธรัฐไท ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2561โดยศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563 ว่าจำเลยที่ 1-4 กระทำผิดตามมาตรา 209 วรรค 1 เป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 (เทอดศักดิ์) และที่ 3 (ประพันธ์) รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116

ศาลยกฟ้อง 2 จำเลยคดียุยงปลุกปั่นสวมเสื้อดำ 'สหพันธรัฐไท'

คดีนี้อัยการซึ่งเป็นโจทก์ในคดีได้อุทธรณ์ว่าจำเลยทั้ง 4 คน ยอมรับในชั้นซักถามของทหารหลังถูกคุมตัว โดยจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กสหพันธรัฐไทกับเรื่องลึกลับของทรราช” มีการลงข้อความและรูปภาพในลักษณะหมิ่นสถาบันกษัตริย์ นำใบปลิวที่มีข้อความเกี่ยวกับสหพันธรัฐไทไปแจกตามมหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าหากประชาชนทั่วไปพบเห็นอาจทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือเกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้ ส่วนจำเลยที่ 2-4 ก็รับว่าเป็นสมาชิกสหพันธรัฐและจำเลยที่ 4 ยังมีเสื้อที่มีสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท

จากพฤติการณ์ของจำเลยทั้ง 4 เห็นได้ว่าทั้งสี่ทำไปด้วยความมุ่งหมายเจตนารมณ์ขององค์กรหรือกลุ่มสหพันธรัฐไท เพื่อแสวงหาสมาชิกร่วมกลุ่มและอุดมการณ์ของตนคณะดังกล่าวยุยงปลุกปั่นให้สวมเสื้อดําหรือกล่าวให้ร้ายต่อสถาบันฯ ซึ่งหากมีประชาชนได้เข้าไปดูรับชม ย่อมส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือถึงขั้นที่ประชาชนอาจล่วงละเมิดต่อกฎหมายได้

ทั้งนี้จำเลยได้โต้แย้งคำอุทธรณ์ของอัยการว่า บันทึกซักถามของจำเลยทั้ง 4 นั้นถูกจัดทำขึ้นในค่ายทหาร ไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมด้วย จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว และไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกมาเบิกความรับรองเอกสาร จึงถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนจำเลยที่ 4 ไม่เคยติดตามและไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท และเสื้อยืดดังกล่าวก็ได้รับมาจากแม่ตอนไปเยี่ยมแม่ที่ประเทศลาว และได้รับการไหว้วานให้ส่งเสื้อตามรายชื่อที่ได้รับมาจากแม่โดยไม่ทราบว่าสัญลักษณ์บนเสื้อหมายถึงสิ่งใด และไม่รู้จักบุคคลในรายชื่อดังกล่าวทั้งจำเลยที่ 4 ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไทแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ไม่ปรากฎภาพวงจรปิดขณะแจกใบปลิวแต่อย่างใด

ส่วนความผิดเป็น “อั้งยี่” ก็ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้ง 4 ได้ติดต่อสื่อสารหรือวางแผนร่วมกับบุคคลที่จัดรายการยูทูปช่อง “ลุงสนามหลวง” โดยพลตรีบุรินทร์ ทองประไพ พยานโจทก์ ได้เบิกความตอบทนายว่า “ไม่มีเอกสารแสดงตัวตนว่าจําเลยที่ 1 ถึงจําเลยที่ 4 เป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไทและเป็นเครือข่ายของลุงสนามหลวงอย่างชัดเจน”

ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 4 มีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 (เทอดศักดิ์) และที่ 3 (ประพันธ์) รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 เนื่องจากข้อความในใบปลิวไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย

ข้อความที่ปรากฎในใบปลิว สติ๊กเกอร์ และเสื้อดำ อันเกี่ยวข้องกับองค์กรสหพันธรัฐไท เป็นเพียงแนวความคิดที่แตกต่างและสามารถวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลได้ แม้จะมีความแตกต่างกับระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบัน

ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยนำชุมนุม

ขณะที่คดีที่สองอัยการฟ้องว่าจำเลยสองคน ได้แก่ เทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) และประพันธ์ (สงวนนามสกุล) สวมเสื้อดำติดที่บริเวณหน้าอกด้านซ้าย พร้อมข้อความ “Federation” ไปที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

ศาลยกฟ้อง ม.116 จำเลยสหพันธรัฐไท ใส่เสื้อดำกิน KFC เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61

โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์แสดงให้เห็นว่า ในวันที่ 5 ธ.ค. 61 จำเลยที่ 1 สวมเสื้อสีดำ มีภาษาอังกฤษอยู่ด้านหน้าว่า “Thai Federation” และจำเลยที่ 2 ได้ใส่เสื้อสีดำ และริบบิ้นสีขาวแดงติดอยู่ที่เสื้อ บนศีรษะมีสัญลักษณ์สีขาว ไปที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ ขณะที่ประชาชนทั่วไปสวมเสื้อสีเหลือง จึงแสดงให้เห็นว่าทั้งสองเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท ไม่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสหพันธรัฐ

ทั้งนี้ คำเบิกความของ พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ประจํากองกํากับการ 5 กองปราบปราม ยังอธิบายอีกว่า ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ ได้เชิญชวนให้ผู้ฟังรายการ สวมเสื้อสีดำในวันที่ 5 ธ.ค. 61 ซึ่งในความเป็นจริงเป็นวันมงคลสำหรับประชาชนไทย

คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องข้อหามาตรา 116 เนื่องจากคำเบิกความของพยานโจทก์เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ ของพยานตำรวจและโจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานอย่างแน่ชัดว่าจำเลยเป็นคนนำการชุมนุม อันก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

ส่วนความผิดฐานอั้งยี่ ศาลวินิจฉัยเคยว่า จำเลยถูกฟ้องและมีคำพิพากษาไปแล้วเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.91/2563 (คดีแรก) แม้โจทก์จะฟ้องคนละเวลาแต่เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน การนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงต้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

หลังศาลอ่านคำพิพากษาทั้้งสองคดี จำเลยทั้ง 4 ถูกควบคุมตัวไปที่ห้องเวรชี้ ด้านญาติของญาติของกฤษณะ, เทอดศักดิ์ และวรรณภาได้ยื่นประกันตัวจำเลยระหว่างพิจารณาคดีในชั้นฎีกา กฤษณะและเทอดศักดิ์ยื่นประกันด้วยเงินสดจำนวน 100,000 บาท และ 40,000 บาท ตามลำดับ พร้อมเงื่อนไขขอติดกำไลข้อเท้าอิเลคทรอนิกส์ไว้ (EM) ด้านวรรณภา ยื่นประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ไม่มีญาติมาประกันตัวในวันนี้

ส่วนประพันธ์นั้น ถูกขังระหว่างพิจารณามาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว และไม่มีญาติมายื่นประกันตัวหลังศาลมีคำพิพากษาเมื่อวานนี้ด้วย

หลังการรอคอยของญาติกว่า 5 ชั่วโมง เวลา 16.22 น. ศาลมีคำสั่งส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวให้ศาลฎีกาพิจารณาคำสั่งให้ประกันตัวของจำเลยทั้ง 3 ทำให้ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางทันที โดยคาดว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งต่อคำร้องภายใน 2-3 วันต่อไป

อัยการฟ้อง นศ. ‘อั้งยี่-ยุยงปลุกปั่น’ คดีสมาชิก ‘สหพันธรัฐไท’ ศาลให้ประกัน

ทั้งนี้ยังคงมีผู้ที่ฟ้องเพิ่มขึ้นอีกจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท โดยเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 อัยการศาลจังหวัดนนทบุรียื่นฟ้อง มั่นคง (นามสมมุติ) นักศึกษาอายุ 21 ปี ต่อศาลจังหวัดนนทบุรีในฐานความผิดยุยงปลุกปั่นและเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 209 ตามลำดับ ในคดีที่มั่นคงถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับ “สหพันธรัฐไท” ร่วมกับมัธนา(นามสมมติ) ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งในคดี โดยอัยการระบุพฤติการณ์ว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันติดใบปลิวชักชวนประชาชนร่วมกันใส่เสื้อดำเพื่อต่อต้านสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลซึ่งถือเป็นการปลุกระดมที่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต

นอกจากคดีทั้งหมดที่กล่าวไปยังมีคดีที่ศาลยกฟ้องอีกสองคดีคือคดีที่กาญจนา (นามสมมติ) อายุ 68 ปี ข้าราชการบำนาญ ถูกกล่าวหาว่าได้แสดงธงสัญลักษณ์สีขาวแดงที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า จ.อุบลราชธานี แล้วถ่ายภาพเก็บเอาไว้ก่อนส่งภาพดังกล่าวต่อไปทางไลน์ โดยถูกสั่งฟ้องในข้อหาข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, เป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 คดีนี้ศาลเห็นว่าการใส่เสื้อดังกล่าวไปถ่ายรูปตามคำชักจูงไม่อาจระบุได้ว่าเป็นสมาชิก อีกทั้งไม่เข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่นและการส่งภาพสวมเสื้อส่งต่อทางไลน์ก็ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมาย

ส่วนอีกคดีที่แดนศักดิ์, “อัมพร” (นามสมมติ) และภานุ ถูกอัยการฟ้องต่อศาลอาญา รัชดาฯ เพราะสวมเสื้อดำไปบริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ตามการนัดหมายของกลุ่มสหพันธรัฐไท คดีนี้ศาลก็พิพากษาว่าการสวมเสื้อไม่ผิดและการฟังยูทูปรายการสหพันธรัฐก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยร่วมจัดรายการ

ที่ผ่านมามีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกสหพันธรัฐไทแล้วหลายคนรวมแล้ว 21 คน 10 คดี โดยคดีกลุ่มสหพันธรัฐไทนี่เริ่มขึ้นในช่วงกันยายนปี 2561 ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่รัฐบาลทหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังปกครองประเทศอยู่ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีการรณรงค์ใส่เสื้อดำติดสัญลักษณ์ธงที่มีสัญลักษณ์แถบสีขาวแดงนทำให้มีการติดตามจับกุมผู้ที่ขายและแจกจ่ายเสื้อดังกล่าว

จากนั้นในช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์ที่มีการรณรงค์ให้คนออกไปถือป้ายและถือธงสัญลักษณ์แถบขาวแดงตามที่สาธารณะทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดในวันที่ 5 ธ.ค.จนเกิดกรณีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามจับกุมดำเนินคดีและคุกคามไม่ให้สมาชิกออกมาแสดงออกในวันดังกล่าว

นอกจากคดีที่เกิดขึ้นแล้วยังมีกรณีที่บุคคลที่ถูกหน่วยงานความมั่นคงไทยระบุว่าเป็นแกนนำจำนวน 5 คนได้แก่ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ “โกตี๋”, วัฒน์ วรรลยางกูร, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง”, สยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” และกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยจากบทบาทวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของพวก ซึ่ง 4 ใน 5 ปัจจุบันล้วนแต่กลายเป็นผู้หายสาบสูญระหว่างลี้ภัยในลาว(มีเพียงวัฒน์ที่ได้เดินทางไปต่อประเทศที่สามและได้สถานะผู้ลี้ภัย)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net