'เอนก' มีบัญชาให้อธิการบดีแจงสอบอาจารย์ยื่นประกันลูกศิษย์ - สภา-องค์การ นศ.มธ. ประณามเหตุไม่ให้ประกัน

'เอนก' รมว.อุดมศึกษาฯ มีบัญชาให้อธิการบดีแจ้งว่าจะสอบอาจารย์ยื่นประกันลูกศิษย์ ด้าน สภา-องค์การนักศึกษา มธ.ประณามการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์และความยุติธรรม

29 เม.ย.2564 มติชนออนไลน์และข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พบหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการสอบจรรยาบรรณคณาจารย์ที่ปกป้อง-ยื่นขอประกันตัวกลุ่มนักศึกษาที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบุว่าออกโดย ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ทำหนังสือที่ อว 0100/72 ลงวันที่ 29 เม.ย.64 โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอทราบแนวทางการแก้ไขและบทลงโทษของคณาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 8 ราย ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนนักศึกษา จำนวน 3 ราย ที่ตกเป็นจำเลย ในข้อหากระทำผิดกฎหมายใน มาตรา 112 และมาตรา 116 แห่งประทวลกฎหมายอาณา ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาเพื่อขอประกันตัวนักศึกษาทั้ง 3 ราย

ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีบัญชาให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ชี้แจงว่า จะสอบจรรยาบรรณคณาจารย์ทั้ง 8 คนหรือไม่ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

สำหรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ขณะนี้คือ เอนก เหล่าธรรมทัศน์

สภา-องค์การนักศึกษา มธ.ประณามการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์และความยุติธรรม

ขณะที่ สภานักศึกษา และ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอประณามการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์และความยุติธรรม โดยระบุว่า ในการเข้ารับตำแหน่งของนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาคนล่าสุด ได้วางนโยบายการขับเคลื่อนกิจการของศาลฎีกาไว้ 5 ประการ ได้แก่ เสมอภาค สมดุล สร้างสรรค์ ส่งเสริม และส่วนร่วม

ซึ่งในนโยบายข้อที่ 2 สมดุล ประธานศาลฎีกาได้วางหลักไว้ว่า ศาลต้อง “ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน” “ยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยระหว่างการต่อสู้คดีในศาล” เพื่อนำไปสู่การสร้าง “ดุลยภาพแห่งสิทธิ” อันเป็นนโยบายที่ ‘ประมุข’ ของฝ่ายตุลาการ ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 ที่ได้วางหลักว่า “ผู้ต้องหาหรือทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” หากศาลจะใช้ดุลพินิจในการไม่ปล่อยตัวชั่วคราว ก็ต้องใช้อย่างจำกัดเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อันได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และจากพฤติการณ์ที่ผ่านมา ย่อมเห็นได้ว่าผู้ถูกคุมขังมิได้กระทำความผิดอื่นใดนอกจากการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เขาสงสัย การที่ศาลมิให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็น ‘เรื่องร้ายแรง’ จึงฟังไม่ขึ้นและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างสิ้นเชิง ทั้งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกคุมขังได้อดอาหารต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานจนได้รับผลเสียต่อสุขภาพ คำสั่งดังกล่าวจึงเหยียบย่ำทั้งกฎหมายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง

และจากกรณีล่าสุดที่นายเทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาว่า ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง’ และยืนยันมิให้ประกันตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ถูกคุมขัง สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอประณามว่าการกระทำดังกล่าว บ่งบอกถึงการขาดสำนึกต่อหน้าที่ของผู้พิพากษา ที่จะต้องปรับใช้ตัวบทกฎหมายอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม โดยมิได้เป็นข้ารับใช้ของใครอื่นใดนอกเหนือจาก “ประชาชน” และขอให้พึงสำเหนียกไว้ว่า ตราบที่ ‘ใบสั่ง’ ยังสำคัญมากกว่าความยุติธรรม ‘ศาลยุติธรรม’ ก็หามีค่าอื่นใด นอกจากการเป็น ‘ขี้ข้า’ ของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเช่นนี้อยู่ร่ำไป

เถิด"ตุลาการ" จงคิด อย่างอิสระ

รับภาระ อันหนักหนา ทำหน้าที่

หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี

ตุลาการ เช่นนี้ อย่ามีเลย

วันที่ 29 เมษายน 2564

สภานักศึกษา และองค์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท