ย้อนรอยสงคราม 20 ปี สหรัฐ-อัฟกานิสถาน: จาก บุช สู่ ไบเดน

ย้อนรอยสงคราม 20 ปีระหว่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน ในวันครบรอบ 10 ปีการสังหาร โอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ที่อยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้าย 911 จากสมัย จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้พร้อมทุ่มงบสู้ สู่ยุค โจ ไบเดน ที่พร้อมตัดงบส่วนเกินของกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน

1 พ.ค. 2564 สหรัฐอเมริกาเริ่มต้นกระบวนการถอนกำลังทหารออกจากประเทศอัฟกานิสถานแล้ว หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ พร้อมปิดฉากสงครามนอกประเทศที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน โดยกระบวนการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานจะเสร็จสิ้นในวันที่ 11 ก.ย. 2564 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 20 ปี เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน หรือเหตุการณ์ 911 (ไนน์วันวัน) ที่กลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์จี้เครื่องบินโดยสารของสหรัฐฯ และนำเครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก และอาคารเพนตากอนในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 ราย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 25,000 คน โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปในอัฟกานิสถาน

 

911 จุดเริ่มต้นของสงครามอเมริกัน-อัฟกานิสถาน

หลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 911 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้นแถลงว่าเหตุก่อการร้ายดังกล่าวเป็นฝีมือของกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งมี โอซามา บิน ลาเดน เป็นผู้นำ และกำลังกบดานอยู่ในอัฟกานิสถาน โดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนที่เข้ายึดครองพื้นที่เกือบทั้งหมดของอัฟกานิสถานหลังสิ้นสุดสงครามกับสหภาพโซเวียตในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980

บุช ประกาศว่าสหรัฐฯ จะต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายด้วยการเอาชนะในศึกสงคราม และเรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันส่งตัวผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ทั้งหมดให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ ต่อมาสภาสูงและสภาล่างของสหรัฐฯ ลงมติเห็นชอบกฎหมายการอนุญาตบังคับใช้กำลังทหาร (Authorization for the Use of Military Force, AUMF) โดยการลงคะแนนในครั้งนั้นแทบจะไม่ได้รับเสียงคัดค้านจากทั้ง 2 สภา มีเพียง บาร์บารา ลี ส.ส.พรรคเดโมรแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ บุช ลงนามรับรองกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 18 ก.ย. 2544 ซึ่งถือเป็นการประกาศสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์และกลุ่มตาลีบันอย่างเป็นทางการ

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ขณะเดินทางไปเยี่ยมกองทัพสหรัฐฯ ในอิรักและอัฟกานิสถาน ช่วงปลายปี 2551
ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (ภาพโดย The U.S. Army)
 

กฎหมาย AUMF อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้อำนาจทางการทหารในการไล่ล่าติดตามกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยข้อตกลงดังกล่าวให้อำนาจรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ในการยกทัพบุกอัฟกานิสถาน ดักฟังโทรศัพท์ของพลเมืองอเมริกันโดยไม่ต้องขอหมายศาล รวมถึงตั้งค่ายกักกันที่อ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา เป็นต้น

กฎหมาย AUMF ถือเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถทำสงครามในต่างแดนได้อย่างชอบธรรม เพราะนับตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา พบว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัย บุช, บารัก โอบามา มาจนถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งให้มีปฏิบัติการทางทหารอย่างน้อย 37 ครั้งใน 15 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่เขตตะวันออกกลาง รวมถึงคิวบาและฟิลิปปินส์

สงคราวอันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน

สงครามระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มก่อการร้ายทั้ง 2 กลุ่มในอัฟกานิสถานเริ่มต้นอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เดือน ต.ค. พ.ศ.2544 เมื่อกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตร NATO ได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมนี และฝรั่งเศส ร่วมกันโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ปาทานที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกลุ่มตาลีบัน

กองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรใช้เวลาเพียง 2 เดือนก็สามารถเอาชนะกลุ่มตาลีบันได้ ด้วยการทำลายฐานที่มั่นและขับไล่รัฐบาลของกลุ่มตาลีบันออกจากอัฟกานิสถาน เป็นเหตุให้ บิน ลาเดน และสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะห์ต้องหลบหนีไปกบดานที่ปากีสถาน จากนั้น สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรได้เชิญกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นกองกำลังต่อต้านกลุ่มตาลีบัน เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี เพื่อเจรจาหาทางออกและนำความสงบสุขมาแก่อัฟกานิสถาน โดยที่ประชุมมีมติรับรองรัฐบาลเฉพาะกาลของพันธมิตรฝ่ายเหนือ นำโดยฮามิด การ์ไซ อดีตรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลก่อนหน้าของอัฟกานิสถานให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ลอรา บุช อดีตสตรีหมายเลข 1 จับมือทหารอเมริกันและทหารของ NATO ในอัฟกานิสถาน
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2549 (ภาพโดย Eric Draper, ทำเนียบขาว)
 

สหรัฐฯ ประกาศว่าจะเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลเฉพาะกาลของอัฟกานิสถานในการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ร่วมกับองค์การสหประชาชาติและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยนับตั้งแต่ พ.ศ.2544-2552 สภาคองเกรสของสหรัฐฯ อนุมัติเงินช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนและฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานแก่รัฐบาลของอัฟกานิสถานเป็นจำนวนกว่า 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมา ใน พ.ศ.2547 อัฟกานิสถานก็สามารถจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้อีกครั้ง โดย การ์ไซ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกตามระบอบประชาธิปไตย

3 สัปดาห์หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน บิน ลาเดน กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ด้วยการปล่อยวิดีโอตอบโต้รัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา และเรียกร้องให้ บุช รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ 911 หลังจากนนั้นไม่นาน บุช ก็ชนะเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ต่ออีก 1 สมัย ทำให้ปฏิบัติการไล่ล่า บิน ลาเดน และกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลบุช กองทัพสหรัฐฯ สามารถสังหารมุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ ผู้นำกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานได้ สถานการณ์จึงผ่อนคลายลง แต่การสู้รบระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มตาลีบัน ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง กินเวลายืดเยื้อเกือบ 20 ปี

โอซามา บิน ลาเดน ในวิดีโอที่ปล่อยออกมาใน พ.ศ.2547 เพื่อตอบโต้รัฐบาลสหรัฐฯ (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

ทำไมสหรัฐฯ ต้องรบในอัฟกานิสถาน

สำนักข่าว CNN วิเคราะห์ว่าสงครามอันยาวนานนี้ เกิดขึ้นเพราะสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้อัฟกานิสถานกลายเป็นแหล่งฟูมฟักขบวนการก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์ ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอิรัก ทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจในตะวันออกกลาง ซึ่งตามมาด้วยการเกิดขึ้นของกลุ่มรัฐอิสลามอิรักและซีเรีย หรือ ISIS แน่นอนว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกิดสภาวะสุญญากาศทางอำนาจเช่นนั้นอีก ทว่า การจัดการสถานการณ์ในอัฟกานิสถานนั้นแตกต่างกันไปตามผู้นำสหรัฐฯ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

เมื่อ เดือน ธ.ค. 2562 หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเอกสารลับกว่า 2,000 หน้า เรื่องสงครามในอัฟกานิสถาน โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ระดับสั่งการ ไปจนถึงระดับการทูต ไม่สามารถตอบคำถามหรือพูดความจริงเกี่ยวกับสงครามในอัฟกานิสถานได้ นอกจากนี้ ทหารหลายนายที่ถูกส่งเข้าไปประจำการในอัฟกานิสถานยังไม่ทราบจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการออกรบในครั้งนี้ อีกทั้ง รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่าเจ้าหน้าที่ประจำฐานทัพในกรุงคาบูลและทำเนียบขาวได้ทำการแก้ไขข้อมูลสถิติการสู้รบหลายอย่าง จนดูเหมือนว่าสหรัฐฯ เป็นผู้ชนะที่แท้จริงในสงครามอันไม่รู้จบนี้

‘โอบามา’ ส่งทหารเข้ารบในอัฟกานิสถานมากที่สุด

รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า นับตั้งแต่ บารัก โอบามา เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีใน พ.ศ.2552 สถิติการส่งทหารเข้าไปประจำที่อัฟกานิสถานสูงขึ้น 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับสมัยของบุช โดยช่วง พ.ศ.2553-2554 มีทหารสหรัฐฯ เข้าประจำการในอัฟกานิสถานมากถึง 100,000 นาย ซึ่งเป็นช่วงที่กองทัพสหรัฐฯ เปิดปฏิบัติการไล่ล่า บิน ลาเดน อย่างหนักหน่วง จนสามารถสังหารผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ได้ในวันที่ 1 พ.ค. 2554 ที่แหล่งกบดานในประเทศปากีสถาน ปฏิบัติการทางทหารในช่วง 2 ปีดังกล่าว ส่งผลให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตกว่า 800 นาย และมีทหารจากกลุ่ม NATO เสียชีวิตอีกกว่า 400 นาย

บารัก โอบามา กล่าวสุนทรพจน์ให้กำลังใจทหารอเมริกัน ณ ฐานทัพสหรัฐฯ ในเมืองบากราม ประเทศอัฟกานิสถาน
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2553 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

หลังภารกิจไล่ลาบิน ลาเดน เสร็จสิ้น โอบามา ออกคำสั่งลดกำลังทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน และประกาศถอนกำลังสู้รบอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2557 โดยในปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามา ทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ในอัฟกานิสถานเหลืออยู่ประมาณ 10,000 นายเท่านั้น

ในสมัยของโอบามา สหรัฐฯ ให้การช่วยเหลือแก่อัฟกานิสถานในหลายด้าน ทั้งการทหารและการเงิน รวมถึงพยายามเปิดการเจรจากับกลุ่มตาลีบัน ซึ่งยึดครองพื้นที่บางส่วนของอัฟกานิสถานอยู่หลายครั้ง แต่การเจรจาสันติภาพของทั้ง 2 ฝ่ายกลับไม่ประสบความสำเร็จ

สันติภาพบังเกิดในยุค ‘ทรัมป์’

ในสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เขาประกาศว่าต้องการยุติ ‘สงครามไม่รู้จบ’ ในอัฟกานิสถาน โดยพยายามเปิดการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานและกลุ่มตาลีบัน ซึ่งในช่วงนี้สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานลดระดับความรุนแรงลงไปมากเมื่อเทียบกับสมัยของบุชและโอบามา แต่ยังคงมีการปะทะเกิดขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมาในเดือน ก.พ. 2562 รัฐบาลสหรัฐฯ และกลุ่มตาลีบันสามารถเปิดเวทีพูดคุยเจรจาสันติภาพได้เป็นครั้งแรกที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยฝั่งสหรัฐฯ ส่ง ซาลเมย์ คาลิลซัด ผู้แทนพิเศษทางการทูต ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิรักและอัฟกานิสถาน รวมถึงเคยเป็นทูตพิเศษของสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ ส่วนตัวแทนจากกลุ่มตาลีบัน คือ มุลลอฮ์ อับดุล กานี บาราดอร์ ผู้นำระดับสูงของกลุ่ม เข้าร่วมเจรจาสันติภาพ ซึ่งบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน ส่วนกลุ่มตาลีบันจะเดินหน้าเจรจาสันติภาพภายในกับรัฐบาลและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศ

โดนัล ทรัมป์ เยือนกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานช่วงวันขอบคุณพระเจ้า ปี 2562
(ภาพจาก Trump White House Archived)
 

ต่อมาในเดือน ก.พ. 2563 ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ และผู้นำกลุ่มตาลีบันลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยมีข้อตกลงแลกเปลี่ยน คือ สหรัฐฯ จะถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน โดยมีข้อแม้ว่ากลุ่มตาลีบันต้องไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายอื่นเข้ามาใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานที่มั่น และต้องไม่ก่อการร้ายในประเทศอีก นอกจากนี้ กลุ่มตาลีบันจะต้องยอมรับข้อตกลงของรัฐบาลอัฟกานิสถานก่อนเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพภายใน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้บังคับให้มีการหยุดยิงระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

หลังจากการลงนามข้อตกลงสันติภาพเพียงไม่กี่วัน กลุ่มตาลีบันก็โจมตีฐานทัพความมั่นคงหลายแห่งของกองทัพอัฟกานิสถาน เป็นเหตุให้กองทัพสหรัฐฯ โต้กลับด้วยการโจมตีทางอากาศ ทำลายฐานทัพของกลุ่มตาลีบันในจังหวัดเฮลมานด์ ทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน โดยสหรัฐฯ กล่าวว่าการโจมตีโต้กลับเป็นการปกป้องพันธมิตรของตน พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันทำตามข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้ก่อนหน้านี้

ต่อมาในเดือน ก.ย. 2563 ผู้แทนของกลุ่มตาลีบันและรัฐบาลอัฟกานิสถานเปิดการเจรจาสันติภาพภายในครั้งแรก หลังจากรัฐบาลอัฟกานิสถานปล่อยตัวนักโทษของกลุ่มตาลีบันจำนวน 5,000 คน โดยรัฐบาลอัฟกานิสถานมีข้อเรียกร้องหลัก คือ สนธิสัญญาหยุดหยิง ส่วนกลุ่มตาลีบันเรียกร้องให้รัฐบาลนำหลักศาสนาอิสลามมาใช้ในการปกครองประเทศ

สงคราม(ไม่)จบในยุคของ ‘ไบเดน’

คริสโตเฟอร์ ซี. มิลเลอร์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ว่าสหรัฐฯ จะลดจำนวนทหารในอัฟกานิสถานลง ให้เหลือเพียง 2,500 นายในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2564 ก่อนที่ โจ ไบเดน จะเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ แม้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะมีคำสั่งถอนกำลังทหารอย่างเป็นทางการ แต่สงครามในอัฟกานิสถานยังไม่จบ เพราะรัฐบาลอัฟกานิสถานกับกลุ่มตาลีบันยังไม่บรรลุข้อตกลงเจรจาสันติภาพ และยังมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง เย็นส์ สต็อลเตินบาร์ก เลขาธิการ NATO และนักการเมืองชาวนอร์เวย์เตือนว่าการถอนกำลังเร็วเกินไปอาจทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ รวมถึงกลุ่ม ISIS

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ
 

อย่างไรก็ตาม ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าถอนกำลังทหารและยุติสงครามระหว่างสหรัฐฯ-อัฟกานิสถาน โดยระบุว่าทหารอเมริกันจำนวน 2,500 นายที่ประจำการอยู่ในอัฟกานิสถานขณะนี้ จะทยอยถอนทัพและเดินทางกลับสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 10 ปีการสังหารบิน ลาเดน และกองทัพสหรัฐฯ จะถอนกำลังทหารทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 11 ก.ย. 2564 ซึ่งตรงกับวันครอบรอบ 20 ปีเหตุการณ์วินาศกรรม 911 ส่วนกองกำลัง NATO ที่เหลือก็จะถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ รัฐบาลอเมริกันจะให้ความช่วยเหลือกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลอัฟกานิสถาน และสนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพต่อไป

สหรัฐฯ ยังต้องจ่ายเงินอุดหนุนกองทัพอัฟกานิสถาน

ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบันของสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ จะยังคงให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กองกำลังความมั่นคงอัฟกานิสถาน ตามสนธิสัญญาความมั่นระหว่าง 2 ประเทศซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2565 ซึ่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เตรียมการโยกงบประมาณส่วนนี้ไว้แล้ว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในระหว่างนี้ กองกำลังความมั่นคงของอัฟกานิสถานจะยังได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และพันธมิตรเพิ่มเติมอีก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งยังมีเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ อีกด้วย

ถึงแม้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้แก่กองทัพอัฟกานิสถานไปจนถึงปีหน้า แต่งบจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในต่างแดน (Overseas Contingency Operations) หรือ OCO ซึ่งเป็นงบสำคัญสำหรับทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานและได้รับการจัดสรรแยกจากงบกลางจะถูกปรับลดลง โดยในปีงบประมาณ 2564 สภาคองเกรสอนุมัติงบ OCO อยู่ที่ 69,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในปีงบประมาณหน้า คาดว่าจะลดเหลือ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น เพราะ ส.ส. สหรัฐฯ มองว่างบ OCO คือเงินให้เปล่าที่กระทรวงกลาโหมสามารถนำไปใช้ง่ายอะไรก็ได้ และเป็น ‘ความผิดพลาดที่น่าสังเวช’ ดังนั้น รัฐบาลของไบเดนจึงเตรียมถ่ายโอนอำนาจการใช้งบประมาณฉุกเฉินของกองทัพ เข้ามารวมไว้ในงบกลางของกลาโหมแทน ซึ่งแผนการดังกล่าวน่าจะมีความคืบหน้าในไม่กี่เดือนข้างหน้า

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การถอนกำลังพลรบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองจากสำนักข่าวกรองกลาง หรือ CIA รวมถึงเครือข่ายสายลับต่างๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ สร้างขึ้นมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 911

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา วิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการ CIA คนปัจจุบันกล่าวในที่ประชุมร่วมคณะกรรมการข่าวกรองประจำสภาสูงของสหรัฐฯ ว่าเจ้าหน้าที่ CIA จะถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานตามคำสั่งของรัฐบาล แต่จะยังคงสถานะและรักษาเสถียรภาพด้านงานข่าวกรองไว้เช่นเดิม หมายความว่าเจ้าหน้าที่ CIA บางส่วนจะยังคงประจำการอยู่ในอัฟกานิสถานเพื่อสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ต่อไป

แหล่งข่าวที่มีความใกล้ชิดกับหน่วย CIA เปิดเผยกับสำนักข่าว CNN ว่า ปฏิบัติการทางทหารที่สำคัญในอัฟกานิสถาน รวมถึงการโจมตีโดยอากาศยานไร้คนขับ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้เพราะมีเจ้าหน้าที่ CIA คอยให้ข้อมูลอยู่เบื้องหลัง

“หากมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ คุณสามารถสั่งปฏิบัติการฆ่าใครก็ได้ที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันไมล์ โดยใช้เวลาแค่ 2 ชม. แต่ถ้าคุณไม่มีข้อมูลใดๆ เลย ถ้าคุณไม่มีหน่วยข่าวกรองคอยส่งข่าวให้ แล้วคุณจะลงมือทำอะไรแบบนั้นได้อย่างไร” แหล่งข่าว กล่าว

ทหารอเมริกันตั้งจุดตรวจในจังหวัดปาคิทคาของอัฟกานิสถาน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนปากีสถาน (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

แม้จะถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน แต่ประเทศใกล้เคียงอย่างปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และคาซัคสถาน กลับมีท่าทีต้อนรับทหารอเมริกัน เช่นเดียวกับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในอ่าวเปอร์เซีย อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ก็เปิดพื้นในประเทศให้กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพได้

ทั้งนี้ การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานทำให้รัฐบาลของ โจ ไบเดน ต้องรับความเสี่ยงจะตามมาหลายอย่าง โดยหนึ่งในนั้น คือ ความเสี่ยงต่อภัยก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับเหตุการณ์ 911 ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ชุดก่อนและชุดปัจจุบันต่างเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ต้องคิดอย่างรอบคอบก่อนลงนามในคำสั่งใดๆ ซึ่งแหล่งข่าวในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าว CNN ว่า “ไบเดนพร้อมรับความเสี่ยงนี้”

ต่อมาในวันที่ 25 เม.ย. 2564 สก็อตต์ มิลเลอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ประจำอัฟกานิสถาน กล่าวว่า ปฏิบัติการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเร็วก่อนกำหนดจริงถึง 5 วัน โดย มิลเลอร์ ระบุว่า ฐานทัพสหรัฐฯ เดิมจะทยอยส่งมอบให้กองทัพอัฟกานิสถานดูแลต่อ ด้านโฆษกของกลุ่มตาลีบัน โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า กลุ่มตาลีบันต้องการให้กองทัพต่างชาติถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานให้หมดตามข้อตกลงโดฮา หากการถอนกำลังทหารไม่เป็นไปตามวันและเวลาที่กำหนดในข้อตกลงอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา และใครก็ตามที่ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวล้มเหลวจะต้องรับผิดชอบ ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอัผกานิสถาน ตุรกี และปากีสถาน ต่างเรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพภายในอีกครั้ง

ชาวอัฟกานิสถานว่าอย่างไร

สำนักข่าว CNN รายงานว่าชาวอัฟกันจำนวนมากรู้สึกหวาดกลัวความรุนแรงจากกลุ่มตาลีบันที่อาจเพิ่มมากขึ้นหลังจากทหารอเมริกันถอนทัพออกไป เพราะกลุ่มตาลีบันนั้นควบคุมพื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่ในประเทศ ทั้งยังพยายามต่อสู้กับรัฐบาลที่สหรัฐฯ หนุนหลังมาตลอด นอกจากนี้ รายงานของสหประชาชาติยังระบุว่าความรุนแรงในอัฟกานิสถานเพิ่มสูงขึ้น 29% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน แสดงให้เห็นว่ากลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลอัฟกานิสถานเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวมากขึ้น

ด้าน อัชราฟ ฆานี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอัฟกานิสถาน กล่าวว่า เขาเคารพการตัดสินใจของสหรัฐฯ ในขณะที่โฆษกรัฐสภาของอัฟกานิสถาน เตือนว่า หลังจากนี้ อัฟกานิสถานอาจเข้าสู่ภาวะกลางเมือง แน่นอนว่าชาวอัฟกันต้องการให้ทหารอเมริกันถอนทัพ แต่ไม่ใช่ในตอนนี้

ช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ซึ่งรัฐบาลตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน ผู้หญิงชาวอัฟกันถูกตัดออกจากสารบบการเมืองการปกครอง รวมถึงไม่มีสิทธิได้รับการศึกษา ไม่มีสิทธิประกอบอาชีพ หรือแม้กระทั่งไม่มีสิทธิในการเดินทางออกนอกเคหะสถานหากไม่มีผู้ชายไปด้วย

นักศึกษาหญิงในวิทยาลัยแพทย์แห่งกรุงคาบูล (ภาพจาก World Bank Photo Collection)
 

ฟาวซี อาห์มาดี อาจารย์มหาวิทยาลัยวัย 42 ปี กล่าวว่าเธอไม่สามารถประกอบอาชีพที่ใฝ่ฝันได้ในช่วงที่รัฐบาลตาลีบันปกครองประเทศ แต่สถานการณ์ในสมัยของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ นั้นแตกต่างไป เพราะผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

“เรามีความทรงจำอันเลวร้ายในยุคที่ตาลีบันเรืองอำนาจ ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แม้แต่จะไปเดินตลาดยังไปคนเดียวไม่ได้เลย จนถึงตอนนี้ ปี 2021 แล้ว แต่กลุ่มตาลีบันก็ยังมีความคิดแบบเดียวกับในปี 1996 นั่นแหละ เรากลัวว่าจะสูญเสียเสรีภาพ” อาห์มาดี กล่าว

นักเรียนหญิงในกรุงคาบูล (ภาพจาก World Bank Photo Collection)
 

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาคนหนึ่งในกรุงคาบูล เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว CNN ว่าเขามีความมั่นใจในศักยภาพของกองกำลังความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาลพลเรือนที่เข้ามาบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย โดยเขาเชื่อว่ารัฐบาลพลเรือนมีความแข็งแกร่งพอที่จะสามารถนำพาอัฟกานิสถานไปสู่ความสงบสุขได้

กลุ่มตาลีบัน เป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่เคยมีอำนาจปกครองอัฟกานิสถานในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 โดยต้องการจัดตั้งรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน ซึ่งมีหลักการปกครองแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง เช่น ห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือหรือทำงาน ทำลายรูปเคารพทั้งหมดที่ไม่ใช่ของศาสนาอิสลาม และมีบทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรงและสุดโต่ง

กลุ่มตาลีบัน เริ่มปฏิบัติการยึดพื้นที่ทั่วประเทศอัฟกานิสถานใน พ.ศ.2537 โดยเริ่มจากเมืองทางตอนใต้ และสามารถยึดกรุงคาบูลได้ใน พ.ศ.2539 จากนั้นจึงตั้งตนเป็นรัฐบาลปกครองอัฟกานิสถานจนกระทั่งพ่ายแพ้ให้กับกองทัพสหรัฐฯ ใน พ.ศ.2544

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท