Skip to main content
sharethis

1 พ.ค. 2564 หลายองค์กร-บุคคล ได้ทำกิจกรรมและออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงาน 1 พ.ค. โดยประชาไทได้รวบรวมกิจกรรมและแถลงการณ์ส่วนหนึ่งมาเผยแพร่ต่อดังนี้ 

ประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พ.ค. 2564 โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เนื่องในวันแรงงานสากล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รวมตัวกันจัดกิจกรรม อ่านแถลงการณ์ “ประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันกรรมกรสากล”

โดยเวลา 09.00 น. มีการติดป้าย “May Day 2021 วันแรงงานสากล แรงงานทั้งผองจงรวมกันเข้า!” ที่รั้ว ทำเนียบ

เวลา 09.09 น. มีการแจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และเฟซชิลด์ ให้กับผู้เข้าร่วมงาน เพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 พร้อมกับขอความร่วมมือประชาชนและสื่อมวลชน ให้เว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดการทำกิจกรรม

ต่อมาเวลา 09.31 น. เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เริ่มทำกิจกรรมโดยยืนเว้นระยะ และชูป้ายข้อความสีแดงขนาดใหญ่ ระบุข้อความ “เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน Labour Network for People’ Rights พื้นที่สมุทรปราการ” ไปจนถึงป้าย อาทิ “ตัดงบทหาร สร้างสวัสดิการประชาชน ปล่อยเพื่อนเรา” “การได้ประกันตัว เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน” “แรงงานไม่ทน ท้าชนผด็จการ” “รัฐล้มเหลว เพราะระบอบประยุทธ์” “เซอร์ไพรส์นโยบาย พลังประชารัฐ” “มารดาประชารัฐ ถ้วนหน้า ดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์” “เบี้ยยังชีพผู้สุงอายุ เปลี่ยนเป็นบำนาญ 3,000 ถ้วน” เพื่อเรียกร้องรัฐสวัสดิการซึ่งพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงช่วงเลือกตั้ง และเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ขณะที่ผู้ร่วมกิจกรรมทยอยรวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง

น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือไหม ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ ของพี่น้องแรงงานทั้งโลก ที่จะต้องออกมาสะท้อนปัญหาของรัฐบาลที่มาจากเผด็จการ บริหารประเทศผิดพลาด ส่งผลต่อแรงงานจำนวนมาก และเราเจอสถานการณ์นี้มา 2-3 รอบ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คือข้อผิดพลาดที่พี่น้องแรงงานไม่สามารถยอมรับได้ สถานการณ์เลวร้าย และเศรษฐกิจไม่สามารถเดินไปได้

เราต้องมาประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในวันกรรมกรสากล เพื่อแสดงความต้องการของพวกเราว่า ปัญหาในวันนี้ของประเทศไทย คือ ไม่ว่าแรงงานชาติไหน รัฐบาลไทยห็ยังทิ้งพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ม.33 ประกันสังคม เรารักกัน ที่ไม่ได้รับสิทธิเยียวยา ทั้งที่เสียภาษี ทำงานสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ คือปัญหาสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ที่บริหารงานมาตั้งแต่รัฐประหาร แต่ประเทศไม่มีความเจริญ

“สิ่งที่ประชาชนได้รับ บาดแผลเฟะแล้ว มาตรการที่จะมาดูแล กลับไม่ได้ฟังเสียงของพวกเราเลย โดยเฉพาะวัคซีนที่มีคุณภาพ หากสามารถเข้าถึงได้ ประชาชนจะสามารถออกมาดำเนินชีวิตได้ปกติ หลายประเทศ ฉีดวัคซีน ดูแลประชาชน จนออกมาใช้ชีวิตประจำวันได้แล้ว แต่ทำไมรัฐบาลไทยไม่สามารถทำได้ มีแนวโน้มจะไปกู้เงินอีกแล้ว อยากให้จับตาว่า กู้มาทำอะไร กู้มารอบแรก เราไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร สิ่งที่ได้มาอีก คือโรคระบาด เมื่อเกิดเหตุ ก็ผลักภาระ บอกประชาชนหละหลวม ไม่ดูแลตัวเอง แต่ไม่เคยยอมรับว่าตนเองบริหารประเทศผิดพลาด จนเกิดวิกฤตขึ้นแบบนี้” น.ส.ธนพรกล่าว

จากนั้น ตัวแทนกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน กลุ่มแอนตี้ฟาสซิสต์ และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ สลับกันขึ้นปราศรัย โดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากคดีทางการเมือง กล่าวว่า วันนี้วันกรรมกรสากล กรุณาอย่าเรียกวันแรงงานแห่งชาติ เพราะวันแรงงานแห่งชาติ หมายถึงชาติอื่นๆ กรรมกรไม่ใช่ประเทศใด ประเทศหนึ่ง แต่คือคนทั้งโลก ความเป็นมา มาจากการตอสู้ร่วมกันของกรรมกรหลายโรงงาน หลายประเทศพร้อมกัน ระหว่าง 28 เม.ย. – 3 พ.ค. โดยเฉพาะวันที่ 1 นั้น เกิดจากการที่มีผู้นำแรงงานนัดหยุดงานที่อเมริกา จนถูกสั่งประหารชีวิต

ต่อมามีการยืนไว้อาลัยกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อน โดยยืนเป็นเวลา เกือบ 2 นาที ก่อนตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” 3 ครั้ง

น.ส.ธนพรกล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจของประเทศก็จะอยู่กับกลุ่มคนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ พวกเรา 99 เปอร์เซ็นต์ได้รับผลกระทบหมด ทุกสาขาอาชีพ

 

ประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2564 โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน . สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19...

โพสต์โดย เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เมื่อ วันศุกร์ที่ 30 เมษายน  2021

 

แถลงการณ์ 'ประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2564 โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน' ระบุว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 (Covid-19) ตั้งแต่ระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 มาถึงระลอกที่ 2 เมื่อปลายปี 2563  และระลอกที่ 3 เมื่อเดือนเมษายน 2564 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนคนทำงานทุกสาขาอาชีพ  

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแรงงานมากมายต้องสูญเสียงานประจำ  แล้วหันไปทำงานใหม่ที่มีความมั่นคงน้อยกว่าเพื่อพยุงปากท้องต่อ บางคนยังคงตกงาน บางคนต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่มีคำประกาศปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าชดเชย และอีกหลายคนที่จำต้องตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองและครอบครัวแทนคำประกาศยอมแพ้ต่อวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำที่รัฐบาลก่อขึ้น

ในขณะที่ต่างประเทศสามารถบริหารจัดการให้ประชาชนของตนเองเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ประเทศไทยกลับเกิดการระบาดระลอกที่ 3 ในเดือน เม.ย. 2564 โดยที่รัฐบาลยังใช้วิธีรับมือแบบ ‘ขายผ้าเอาหน้ารอด’ ไปแต่ละวัน ราวกับไม่ได้เรียนรู้อะไรในระยะเวลามากกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาเลย ประชาชนยังคงต้องเจียดค่ากับข้าวมาซื้อหน้ากาก ซื้อเจลล้างมือเอง ซ้ำยังถูกกีดกันด้วยเงื่อนไขมากมายไม่ให้เข้าถึงการตรวจและรักษาโรค 

ที่สำคัญ ในวันที่ 1 พ.ค. นี้จะเป็นวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนจองวัคซีน รัฐบาลก็ไม่สามารถหาเหตุผลที่หนักแน่นมากพอมาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า เหตุใดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จาก ‘พ.ร.ก.เงินกู้’ จึงซื้อได้แค่วัคซีนคุณภาพต่ำไม่กี่โดสมาฉีดให้ประชาชนเท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มองวิกฤติการณ์โควิดที่ประชาชนหลายคนกำลังทุรนทุรายด้วยพิษเศรษฐกิจ หลายคนเสียชีวิตจากโรคโดยไม่มีโอกาสแม้แต่เข้าถึงการตรวจหาเชื้อ ว่าเป็นข้ออ้างชั้นดีในการควบคุมฝูงชนมิให้ออกมาชุมนุมกดดันรัฐบาลเท่านั้น 

มิพอยังพยายามป้ายความผิดพลาดของการควบคุมการแพร่ระบาดแต่ละครั้งมายังคนงานผู้หาเช้ากินค่ำและประชาชนเจ้าของภาษีอีกด้วย ทั้งที่คลัสเตอร์นักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่ายมวย บ่อนการพนัน พื้นที่ชายแดน สถานบันเทิง ฯลฯ ล้วนมาจากชนชั้นนำและความบกพร่องในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ในฐานะคนทำงานทุกสาขาอาชีพซึ่งนับเป็นประชากรมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศ จึงขอแสดงความไม่เห็นด้วยต่อประกาศของรัฐที่มีมติเห็นชอบให้งดจัดกิจกรรมเนื่องในวันกรรมกรสากล 2564 โดยอ้างเรื่องการควบคุมโรคระบาด เพราะการระบาดโควิด 19 ไม่เคยมีการระบาดครั้งไหนเริ่มมาจากประชาชนก่อน 

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนยืนยันจะจัดกิจกรรมปราศรัยแสดงเจตนารมณ์ ณ หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งเสียงแทนประชาชนที่กำลังจะอดตายและกำลังจะตายด้วยโรคระบาดให้ดังไปถึงสองหูของผู้มีอำนาจทุกคน ทุกภาคส่วน เพื่อให้เร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องเร่งด่วนเนื่องในสถานการณ์โรคโควิด ดังนี้

1. รัฐบาลต้องจัดสรรให้ประชาชนทุกคน-ทุกสัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด โดยไม่มีเงื่อนไขและไม่มีค่าใช้จ่าย

2. รัฐบาลจะต้องจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาฉีดให้กับประชาชน ในอัตราไม่ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยพิจารณาฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานสำคัญ (essential worker) เป็นลำดับต้นๆ

3. ให้รัฐบาลจัดสรรเงินเยียวยาถ้วนหน้าให้ประชาชนทั้งชาวไทยและข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย  เป็นเงินคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน รวมคนละ 15,000 บาท

4. รัฐบาลต้องรักษาระดับการจ้างงาน รวมถึงให้นายจ้างส่งเสริมให้ลูกจ้างสามารถทำงานในสถานประกอบการได้อย่างปลอดภัยภายใต้สถานการณ์เสี่ยง

5. รัฐบาลต้องประกาศลดค่าสาธารณูปโภค รวมถึงให้ประสานกับธนาคารพาณิชย์และบริษัทสินเชื่อ เพื่อออกมาตรการพักชำระดอกเบี้ยอาคารที่อยู่อาศัยและยานพาหนะเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 3 เดือน

6. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการจ้างงานยืดหยุ่น เสี่ยง และไม่มั่นคง (precarious work) โดยเฉพาะการจ้างงานบนแพลตฟอร์มที่บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยไม่ตีความแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบ

7. รัฐบาลต้องคืนสิทธิแรงงานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับสู่ผู้ค้าบริการทางเพศ (sex worker) ด้วยการยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 

8. รัฐบาลต้องไม่ใช้สถานการณ์โควิดเป็นข้ออ้างในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฉะนั้น รัฐต้องปล่อยผู้ต้องหาคดีทางการเมืองจำนวน 17 รายออกจากเรือนจำทันที และคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาทุกคนได้สู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการสืบทอดอำนาจของระบอบเผด็จการลาออกทันที เปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือมีสิทธิแก้ไขได้ทุกมาตรา รวมทั้งให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเน้นให้ลดงบประมาณเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ซึ่งมาจากภาษีของราษฎร กลับคืนมาแจกจ่ายให้ประชาชนผู้แร้นแค้น ทุกข์ยากในวิกฤติการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อผดุงพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ว่ามิได้เป็นผู้ทอดทิ้งประชาชนของพระองค์ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด

หมู่บ้านทะลุฟ้า ขึงป้ายผ้า หน้ากระทรวงแรงงาน จวกรัฐบาล ไม่เคยพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน

มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 14.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าประมาณ 20 คน จัดกิจกรรมวันแรงงานสากล เรียกร้องสวัสดิการให้กลุ่มลูกจ้างจากสาขาวิชาชีพต่างๆ โดยมีการถือป้ายผ้าเขียนข้อความ “แรงงานไม่เคยมีประวัติศาสตร์”, ”ปล่อยเพื่อนเรา”, ”Labor day วันกรรมกรสากล” ก่อนไปขึงไว้หน้าป้ายกระทรวง

ขณะที่ พ.ต.อ.รัฐชัย ศรีวิชัย ผกก.สน.ดินแดง พร้อมกำลังตำรวจ สน.ดินแดง ประมาณ 10 นาย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำกระทรวง ได้มาดูแลความสงบเรียบร้อยรอบบริเวณ โดยเจ้าหน้าที่ได้วางแผงเหล็กที่หน้ากระทรวง และปิดประตูทางเข้าออก

สมาชิกหมู่บ้านทะลุฟ้ากล่าวว่า นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อรัฐประหารเข้ามา ก็ไม่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชนชั้นแรงงานที่ยังคงมีค่าแรงต่ำ ไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะที่ยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ยังมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานไปแล้ว ตอนนี้จึงขอมาแสดงจุดยืนเคียงข้างชนชั้นแรงงาน หากไม่มีแรงงาน สิ่งก่อสร้างต่างๆ และกิจกรรมบางอย่างคงไม่เกิดขึ้น หากวันหนึ่ง ชนชั้นแรงงานทุกที่รวมกันหยุดทำงาน ก็อยากรู้ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร ลำพังสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดตอนนี้ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้

จากนั้นกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าได้ร่วมกันยืนนิ่งแสดงเชิงสัญลักษณ์เป็นเวลา 7 นาที แทนระยะเวลาที่รัฐบาลชุดนี้ ก่อรัฐประหารและบริหารประเทศมาเป็นเวลา 7 ปี ก่อนจะร้องเพลง Do you hear the people sing เป็นภาษาไทย พร้อมชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว แล้วตะโกนว่า ปล่อยเพื่อนเรา เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกทันที ก่อนจะจบกิจกรรมแล้วแยกย้ายกันกลับด้วยความสงบเรียบร้อย

แถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานสากล 2564 โดยประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ ม.ราชภัฏลำปาง 

 

[แถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานสากล 2564] เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 นี้ ตรงกับวันแรงงานสากล...

โพสต์โดย ประชาคมราชภัฏลำปางnews เมื่อ วันศุกร์ที่ 30 เมษายน  2021

 

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ ม.ราชภัฏลำปาง ได้ออก 'แถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานสากล 2564' ระบุว่าเนื่องในวันที่ 1 พ.ค. 2564 นี้ ตรงกับวันแรงงานสากล ที่นอกจากจะเป็นวันหยุดของแรงงานทั้งหลายแล้ว ยังถือว่าเป็นวันที่ระลึกถึงคุณค่าของคนทำงาน แรงงานทุกคนในโลกนี้ด้วย

แม้ว่าปัจจุบัน นิยามของพวกเราในมหาวิทยาลัยจะไม่ถูกนับเป็นแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราคือ แรงงานผู้ทรงคุณค่า พวกเราในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัย อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกับพี่น้องแรงงานทั่วประเทศ ขณะที่เพื่อนของเราอีกส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้จ่ายเงินเข้ากองทุนอย่างข้าราชการ ก็ถือเป็นแรงงานผู้สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าถูกแบ่งออกไปตามสภาพการจ้างงานที่แตกต่างกัน

มาถึงวันที่สำคัญนี้ ผมในฐานะประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ ม.ราชภัฏลำปาง ขอกล่าวใน 2 ประเด็นใหญ่ 

ประเด็นแรก ต้องขอขอบคุณแรงงานทุกท่านที่ทำงานอย่างหนัก ในเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาทำให้บางหน่วยงานหรือบางคนรับภาระที่หนักหนาเป็นอย่างยิ่ง และขอให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกท่าน

ประเด็นที่สอง ในฐานะที่สภาคณาจารย์และข้าราชการ มีบทบาทเป็นปากเป็นเสียงสะท้อนปัญหาไปสู่ผู้บริหาร และรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยจึงขอประกาศจุดยืนที่จะยืนหยัดหลักการดังกล่าวและขอเรียกร้องให้ผู้บริหารใส่ใจกับประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. สภาพการจ้างงานที่มั่นคง : ทราบมาว่า ขณะที่มหาวิทยาลัยกำลังจะพิจารณาข้อบังคับมหาวิทยาลัยเพื่อกระตุ้นให้บุคลากรได้มีตำแหน่งที่สูงขึ้น ในทางปฏิบัติแล้ว ข้อบังคับดังกล่าวอาจส่งผลต่อความไม่มั่นคงนั่นคือ การไม่ต่อสัญญาจ้างได้ถ้าไม่สามารถทำได้ตามที่กำหนด ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานทั้งในประเทศและวิกฤตที่นักศึกษาลดลง การทำงานของบุคลากรทั้งหลายถือว่าหนักหนาอย่างยิ่ง การใช้วิธีดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งและเป็นการซ้ำเติมขวัญกำลังใจของคนทำงาน ผู้บริหารควรเลือกวิธีอื่นในการกระตุ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลยในเชิงบริหารดังกล่าว การเลือกใช้ไม้แข็งเพียงอย่างเดียว ม.ราชภัฏลำปาง มีจุดแข็งอย่างยิ่งคือ สภาพการจ้างงานที่มั่นคง การบ่อนทำลายจุดแข็งเช่นนี้ จะไม่เป็นผลดีต่อสวัสดิภาพของคนในองค์กรเลย

2. การดำเนินการผลักดันเงินเดือน 1.5 1.7 เท่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ผลเป็นอย่างไร : ดังที่สภาคณาจารย์และข้าราชการ เคยผลักดันประเด็นดังกล่าวและผู้บริหารชี้แจงว่า การดำเนินการผลักดันเรื่องนี้จากสำนักงบประมาณจะได้รับคำตอบในเดือนเมษายน 2564 จึงอยากทวงถามว่า กรณีดังกล่าวมีผลการดำเนินการเป็นเช่นไร หรือดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด หากได้คำตอบเป็นข่าวดีรับวันแรงงานสากลก็คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย แม้ว่าเงินดังกล่าวเป็นสิทธิ์ที่พนักงานมหาวิทยาลัยพึงจะได้ ดังที่ศาลปกครองหลายแห่งได้ตัดสินให้ผู้ฟ้องร้องเป็นผู้ชนะมาแล้ว

3. ปรับปรุงองค์กรด้วยกลไกใหม่ๆ เพื่อความก้าวหน้า : การบริหารเชิงรุกที่จะเอื้อให้มหาวิทยาลัยก้าวไปสู่จุดหมาย ในที่นี้ขอเสนอให้เปิดโอกาสพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ทั้งภายในศาสตร์ และข้ามศาสตร์-ข้ามคณะ รวมถึงลดขั้นตอนความยุ่งยากจากการขอเปิดหลักสูตรลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางท่านก็เห็นตรงกันในหลักการเช่นนี้ ข้อนี้จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพขององค์กร บุคลากรที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกัน อันจะได้ผลมากกว่าการใช้ไม้แข็งคอยจับผิดกันและกัน อยากให้ผู้บริหารตระหนักในประเด็นนี้ให้มั่น

มหาวิทยาลัย มิใช่เป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่ละคนมีบทบาทที่ต่างกันในมหาวิทยาลัยก็จริง แต่ผมเชื่อว่าการสร้างองค์กรแห่งนี้ให้เป็นของคนในประชาคมทุกคน มันจะเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีโอกาสเติบโตได้อย่างแท้จริงบนความร่วมมือจากผู้มีความสามารถอันหลากหลาย

เมย์เดย์ วันสากลของคนทำงาน

 

เมย์เดย์ วันสากลของคนทำงาน   1 พฤษภาคม...

โพสต์โดย สหภาพคนทำงาน Workers' Union เมื่อ วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม  2021

 

สหภาพคนทำงาน Workers' Union เผยแพร่ข้อความ 'เมย์เดย์ วันสากลของคนทำงาน' ระบุว่า 1 พ.ค. คือวันสำคัญของมวลพี่น้องคนทำงานทั่วโลกเป็นวันที่คนทำงานทั่วโลกมาร่วมกันย้อนรำลึกถึงการต่อสู้ของพี่น้องคนทำงานในอดีตที่ได้ต่อสู้เพื่อความหวังและอนาคตที่ดีกว่า วันสากลของคนทำงาน หรือวันกรรมกรสากล หรือ May Day 

มีกำเนิดที่ผูกพันกับการต่อสู้เพื่อลดชั่วโมงการทำงานของคนทำงานที่สำคัญและต่อมาได้พัฒนามาสู่การกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันสำคัญของคนทำงานทั่วโลกคือการต่อสู้ของคนทำงานในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ต่อสู้ในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว

เป็นการรำลึกถึงการต่อสู้ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากอเมริกาและต่อมาแพร่ขยายไปยุโรปและทั่วโลก เป็นวันรำลึกแห่งการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ความยุติธรรมในการจ้าง ในเรื่องของวันพักผ่อน ในเรื่องของชั่วโมงการทำงานซึ่งระบบการทำงานที่เรียกว่าระบบ 3 แปด ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง ศึกษาเล่าเรียน 8 ชั่วโมง

จุดเริ่มต้นคือเมื่อสหภาพแรงงานแห่งชาติสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ วิลเลี่ยม ซิลวิส (William H. Sylvis) วีรบุรุษกรรมกรแห่งอเมริกา ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันประเด็นการต่อสู้เพื่อลดชั่วโมงการทำงาน ให้กลายเป็นประเด็นร่วมในการเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก 

ข้อเรียกร้องของซิลวิสได้ถูกเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ขององค์กรกรรมกรสากลที่กรุงเจนีวา หรือที่เรียกกันว่า “สากลที่หนึ่ง” ในปี 2429 พร้อมกับมีการเสนอให้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมในปี พ.ศ. 2429 เป็นวันที่กรรมกรทั่วโลกพร้อมใจกันหยุดงาน เพื่อร่วมกันรณรงค์และกดดันให้มีการออกกฎหมายจำกัดชั่วโมงการทำงานไม่ให้เกินวันละ 8 ชั่วโมงในทุกแห่งหน

1 พ.ค. 2429 จึงถือเป็นวันที่มวลพี่น้องคนทำงานทั้งหลายได้พร้อมใจกันสำแดงพลังของตน ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของพวกเขา สลัดทิ้งซึ่งความกลัวที่เคยครอบงำเหนือพวกเขาตลอดมา เป็นวันแห่งการแสดงออกซึ่งจิตใจสมานฉันท์สากลหรือ อินเตอร์แนชชันแนล โซลิดาริตี้ (International solidarity) เป็นปฏิบัติการร่วมของมวลพี่น้องผู้ใช้แรงงานโดยไม่แบ่งแยก สีผิว ศาสนา ความเชื่อ และพรมแดน

ที่สหรัฐอเมริกา กระแสเรียกร้องดังกล่าวได้รับการขานรับจากพี่น้องคนทำงานกระจายไปในหลายมลรัฐทั่วประเทศ การลุกขึ้นต่อสู้ของคนทำงานอเมริกันครั้งนี้ ทำให้ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว นครชิคาโก มีสถานะเปรียบเสมือนเมืองหลวงของขบวนการแรงงานทั่วโลก มันได้กลายเป็นศูนย์กลางของการนัดหยุดงานที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมหาศาลเข้าร่วมชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน 

การประกาศลุกขึ้นสู้และพร้อมใจพากันผละงานของคนงานในครั้งนั้น ว่าไปแล้วมันก็คือการประกาศทำสงครามทางชนชั้นของกรรมกรต่อนายทุนผู้กดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบคนงานทั่วโลก

1 พ.ค. 2429 จึงได้ถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ของคนทำงานทั่วโลกว่าวันนี้คือวันที่คนทำงานทั่วโลก ปลดโซ่ตรวน ปลดแอก ประกาศอิสรภาพ เรียกร้องให้รัฐและนายทุนยอมปฏิบัติตามข้อเสนอของพวกเขา คือให้ลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง เสียงตะโกน ALL Worker unite หรือคนทำงานทั้งหลายจงรวมกันเข้า ดังกระหึ่มกึกก้องไปทั่วทุกมุมโลก 

มวลคนทำงานพากันลุกขึ้นต่อสู้ด้วยความใฝ่ฝันและความหวังที่จะสร้างอนาคตที่สดใสด้วยสองมือของพวกเขาเอง ที่ชิคาโก้ คนงานได้ยืนหยัดหยุดงานแบบยืดเยื้อ หมายให้บรรลุเป้าหมายแห่งการต่อสู้ในครั้งนั้น แต่เนื่องจากแกนนำสำคัญของการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นเป็นกรรมกรฝ่ายซ้ายและพวกอนาธิปัตย์ (Anarchist) จึงได้ก่อให้เกิดความหวาดวิตกให้กับฝ่ายทุนและรัฐเป็นอย่างยิ่ง

การหยุดงานของคนงานชิคาโกได้ดำเนินต่อเนื่องไปถึงวันที่ 3 พฤษภาคม เหล่านายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าสลายการชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม ส่งผลให้คนทำงานที่ทำการประท้วงต้องเสียชีวิต 6 คนและบาดเจ็บหลายคน ทั้งๆ ที่การชุมนุเป็นการชุมนุมอย่างสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ

การใช้ความรุนแรงของรัฐไม่อาจทำให้คนงานสยบยอม ตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้พวกเขาเห็นถึงความไม่เป็นธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น มันได้สร้างความเคืองแค้นและเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นกับคนงานจากที่อื่นๆ ให้เข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้ครั้งนี้อย่างไม่ย่อท้อ

วันถัดมาการชุมนุมของบรรดาคนทำงานทั้งหลายได้ขยายวงไปในอีกหลายเมือง แต่ที่น่าสลดใจยิ่งก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จตุรัส เฮย์มาร์เก็ต (Hay Market) ที่ซึ่งคนทำงานที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐและนายจ้าง ได้พากันไปชุมนุมกันอย่างสันติเพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับผู้สังหารคนงาน แต่ระหว่างการชุมนุมได้มีคนขว้างระเบิดเข้าใส่กลางที่ชุมนุม เป็นผลให้ตำรวจเสียชีวิต 7 นาย คนงานเสียชีวิต 4 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก 

ระเบิดที่ถูกโยนเข้าไปในที่ชุมนุมที่จตุรัส เฮย์มาร์เก็ตได้ถูกรัฐใช้เป็นข้ออ้างในการสลายการชุมนุมและกวาดล้างจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมาก ในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมนั้นปรากฏว่ามีผู้นำการชุมนุม 8 คนถูกตัดสินประหารชีวิต ด้วยข้อหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่เฮย์มาร์เก็ต

ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าคนทั้ง 8 มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการโยนระเบิดดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าระเบิดลูกนั้นได้กลายเป็นเงื่อนไขให้รัฐและนายจ้างฉวยโอกาสปราบปราม สกัดกั้นการเติบกล้าของขบวนการของคนทำงานอเมริกาในขณะนั้น

การปราบปรามผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรงครั้งนั้น ได้สร้างความเจ็บแค้นให้กับคนทำงานที่รักความเป็นธรรมทั่วโลก มันได้กลายเป็นเชื้อเพลิงที่จุดประกายไฟให้กับแนวความคิดที่จะกำหนดให้วันที่ 1 พ.ค. เป็นวันสำคัญของกรรมกรทั่วโลกลุกโชติช่วงมีชีวิตชีวาและมีพลังยิ่ง

และแล้วในที่สุดในการประชุมขององค์การคนทำงานสากล ในกรุงปารีสในปี พ.ศ. 2432 หรือที่เรียกกันว่าสากลที่สอง ที่ประชุมอันประกอบด้วยคนทำงานจากหลากหลายประเทศได้มีมติร่วมกันกำหนดให้ วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันสากลของคนทำงาน

1 พ.ค. ถูกกำหนดให้เป็นวันที่พวกเราคนทำงานทั้งหลายจะไม่ทำงานและจะออกมาบนท้องถนนเพื่อสำแดงพลังสามัคคีทางชนชั้นคนทำงาน สะท้อนปัญหาเรียกร้องให้มีการปรับปรุงค่าจ้าง สวัสดิการ สภาพการจ้าง และสร้างสังคมที่เป็นธรรม

วันที่ 1 พ.ค. 2433 จึงเป็นปีแรกที่คนทำงานทั่วโลก พากันถือเป็นวันหยุดของตน เพื่อสานต่อภารกิจและเจตนารมณ์ของคนงานชิคาโก้ 1 พ.ค. จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นต่อสู้ทางชนชั้นของมวลพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วโลกนับแต่นั้นมา

จะเห็นว่าหลักการสำคัญสากลของคนทำงานก็คือ การพร้อมใจนัดหยุดงาน เดินออกมาจากประตูโรงงาน จากสถานที่ทำงานมาร่วมกันต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้มีการปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของมวลคนทำงานทุกแห่งหนทั่วโลก 

เริ่มต้นจากประเด็นลดชั่วโมงการทำงาน ขยายไปสู่ประเด็นแรงงานและสังคมอื่น ๆ มุ่งที่จะสร้างเอกภาพทางชนชั้นของมวลพี่น้องคนทำงานทุกแห่ง ทุกหน ไม่แยก ชาติ ศาสนา ผิวพรรณ และพรมแดน

ในประเทศไทยโบราณเป็นสังคมศักดินาที่มีการเกณฑ์แรงงาน การทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถือกำเนิดในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ระบอบการปกครองยังเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชที่อำนาจทางการเมืองจำกัดอยู่ในกำมือของชนชั้นสูง สิทธิเสรีภาพของผู้คนยังไม่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งในศตวรรษแรกของการมีแรงงานรับจ้างในประเทศไทยนั้น 

แรงงานข้ามชาติจากประเทศจีนคือแรงงานส่วนใหญ่ในตลาดแรงงานไทย กอรปกับการเติบโตและพัฒนาของลัทธิชาตินิยมในประเทศไทยที่มีคนจีนตกเป็นเป้าหมาย ส่งผลให้นโยบายด้านแรงงานของรัฐไทยในขณะนั้นตกอยู่ภายใต้กรอบคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติที่มองว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็น “คนต่างด้าว” เป็น “จีน” ซึ่งถูกเพ่งเล็งว่าอาจจะนำความคิดความเชื่อทางการเมืองที่ไม่พึงปรารถนาและเป็นภัยต่ออำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชเข้ามาเผยแพร่

คนทำงานในประเทศไทยจึงมีสิทธิและเสรีภาพที่จำกัดมาก ต้องถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง สมาคม สโมสรในปี พ.ศ. 2440 แต่สิทธิดังกล่าวไม่เคยเอื้อมมาถึงผู้ใช้แรงงาน การรวมตัวกันของคนทำงานในประเทศไทยถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย 

ดังนั้นขบวนการแรงงานในยุคแรกภายใต้อำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชจึงเป็นไปในลักษณะปิดลับ ใต้ดิน มีหลักฐานยืนยันว่าคนงานแอบเฉลิมฉลองวันคนทำงานสากลกันอย่างลับ ๆ มีการชักธงแดงอันเป็นสัญญลักษณ์ของชนชั้นแรงงานขึ้นเสาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วสิทธิของคนทำงานได้รับการยอมรับมากขึ้น องค์กรของคนทำงานได้รับการจดทะเบียน มีการยื่นข้อเรียกร้องและนัดหยุดงานของคนทำงานกลุ่มต่าง ๆ มากมาย ที่สำคัญได้แก่สมาคมของคนงานรถรางสยามที่ถือเป็นองค์กรของคนทำงานแห่งแรกที่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทย 

ต่อมาสมาคมคนงานหลากหลายองค์กรได้มารวมกันเป็นองค์กรระดับชาติในชื่อ สมาคมอนุกูลกรรมกร ที่มีนายถวัติ ฤทธิเดชปัญญาชนคนสำคัญเป็นผู้นำ แต่ความขัดแย้ง การช่วงชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำและสถานการณ์สากลที่กำลังก้าวสู่สงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ทหารก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในประเทศไทย  

แรงงานก็กลับมาถูกกวดขันเข้มงวดอีกครั้ง กระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้ว ประชาธิปไตยจึงหวนกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้งพร้อมกับสิทธิของผู้ใช้แรงงาน

ในปี 2489 หลังยกเลิกกฎอัยการศึก การรวมตัวกันเป็นองค์กรของคนทำงานก็กลับมาได้รับการยอมรับอีกครั้ง มีองค์กรคนทำงานถูกจัดตั้งขึ้นมากมายหลายองค์กร ที่สำคัญได้แก่ สหบาลกรรมกรนครกรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสมาคมสหะอาชีวะกรรมกรกรุงเทพฯ และสมาคมไตรจักร์สมาคมของถีบสามล้อ เป็นต้น 

สมาคมคนทำงานทั้งสองแห่งได้ริเริ่มจัดเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจัดให้มีขึ้นที่สนามหญ้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณวังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2489 มีคนงานเข้าร่วมงานราวสามพันคน

ในปีถัดมา องค์กรแรงงานต่าง ๆ จากกว่า 60 สาขาอาชีพ ได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรศูนย์กลางของคนทำงานระดับชาติขึ้นให้ชื่อว่า  “สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” ขึ้น มีนายเธียรไท อภิชาตบุตรเป็นประธาน นายดำริห์ เรืองสุธรรมเป็นเลขาธิการ มีสมาชิกมากถึง 75,000 คน

1 พ.ค. 2490 สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทยที่เพิ่งถือกำเนิด ได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่จัดงานวันกรรมกรสากลอย่างยิ่งใหญ่มีคนงานเข้าร่วมงานครั้งนี้กว่าแสนคน การมาร่วมชุมนุมอย่างเนืองแน่นของคนทำงานสาขาอาชีพต่าง ๆ ในครั้งนี้ถือเป็นการสำแดงพลังความสามัคคีของชนชั้นคนทำงานครั้งสำคัญ

การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นจากทุนทรัพย์ของขบวนการแรงงานเอง ไม่ได้แบมือขอเงินจากใคร คณะผู้จัดงานได้เชิญผู้นำแรงงานอาวุโสที่เคยมีบทบาทสำคัญในขบวนการแรงงานในยุคก่อนหน้านั้นอย่างเช่น นายถวัติ ฤทธิเดช นายวาศ สุนทรจามร นายสุ่น กิจจำนงค์เป็นต้น มาร่วมเป็นประธานในงานเฉลิมฉลองครั้งนี้

สหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทยได้เรียกร้องให้เอาระบบการทำงานแบบ 888 หรือ สามแปด  คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาเล่าเรียน 8 ชั่วโมง มาบังคับใช้  

เรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงสำหรับการทำงานล่วงเวลา เรียกร้องให้ยอมรับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม รวมกลุ่มจัดตั้งของกรรมกร คนงานต้องมีสิทธินัดหยุดงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง ให้มีการประกันสวัสดิภาพของลูกจ้าง และที่สำคัญคือให้ถือเอาวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันหยุดงานของกรรมกร

ข้อเรียกร้องนี้ได้ถูกทำเป็นร่างกฎหมายและนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีสมาชิกรัฐสภาฝ่ายกรรมกรเป็นผู้นำเสนอ แต่น่าเสียดายที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภามากพอ จึงตกไป โชคร้ายของคนทำงาน และประเทศไทย  

ขณะที่ประชาธิปไตยกำลังจะไปได้สวย ได้เกิดกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างและเงื่อนไขให้ฝ่ายอนุรักษนิยมและทหารฉวยโอกาสทำการรัฐประหาร ซึ่งได้ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยต้องหยุดชะงักลง ฝ่ายอนุรักษนิยมและรัฐบาลทหารที่เข้ากุมบังเหียนประเทศไว้ ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะเข้าควบคุมและแทรกแซงขบวนการแรงงานไทย

สหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้คนทำงานในประเทศไทย ถูกกีดกันไม่ให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้  ผู้นำหลายคนถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนักและในที่สุด สหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรตามกฎหมายก็ต้องทำให้สิ้นสภาพและยุติกิจกรรมไป เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมต่อทะเบียนให้ 

รัฐบาลได้เข้าแทรกแซง สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในขบวนการแรงงานไทย โดยส่งคนไปจัดตั้งองค์กรแรงงานแห่งใหม่ขึ้นแข่งกับสหอาชีวะกรรมกร นั่นคือ สหบาลกรรมกรไทย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมกรรมกรไทย โดยรัฐได้จัดสรรงบประมาณให้กับสมาคมกรรมกรไทยปีละถึงสองแสนบาท

ต่อมาเมื่อสมาคมกรรมกรไทยเริ่มแข็งแกร่งและต้องการหลุดจากการครอบงำของรัฐ รัฐบาลโดยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ก็หันไปส่งคนใกล้ชิดของตนไปจัดตั้งองค์กรแรงงานแห่งใหม่ขึ้นชื่อ “สมาคมเสรีแรงงานแห่งประเทศไทย” โดยรัฐได้ให้เงินสนับสนุนการทำงานขององค์กรแห่งนี้
พอถึงปี 2499 องค์กรของคนทำงานที่ถูกรัฐทำให้แตกแยก กระจัดกระจาย ไร้พลัง ได้หันมาจับมือร่วมกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มกรรมกร 16 หน่วย” ขึ้น 

มีประเสริฐ ขำปลื้มจิต เป็นประธานและมีศุภชัย ศรีสติเป็นเลขาธิการ กรรมกร 16 หน่วย ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าหากคนทำงานสามัคคีเป็นเอกภาพแล้ว ชัยชนะย่อมเป็นของพวกเราคนทำงาน กลุ่มกรรมกร 16 หน่วยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้มีกฎหมายแรงงานฉบับแรกออกมาบังคับใช้ได้ในปี 2499 

ความสำเร็จอีกประการของ “กลุ่มกรรมกร 16 หน่วย” คือสามารถเรียกร้อง ให้รัฐยอมให้คนงานสามารถจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองงานวันสากลของคนทำงานขึ้นอีกครั้ง หลังจากถูกห้ามจัดนับแต่การรัฐประหารปี 2490
แต่วันกรรมกรสากลที่ถูกฟื้นขึ้นมาใหม่ในครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม 

เนื่องจากรัฐบาลเข้าใจและปักใจเชื่อว่า “May Day” หรือ “วันสากลของคนทำงาน” เป็นวันของฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจึงยืนยันที่จะไม่ยอมให้จัดท่าเดียว ดังเป็นที่รู้กันอย่างดีว่า รัฐบาลไทยหลังการรัฐประหารปี 2490 ได้รับอิทธิพลทางอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์จากอเมริกันที่ตั้งตัวเป็นมหาอำนาจใหญ่ของค่ายทุนนิยมในการทำสงครามเย็น 

ดังนั้นรัฐบาลไทยในยุคนั้นก็เช่นเดียวกับรัฐบาลอเมริกาที่สร้างผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาหลอกประชาชนและหลอกแม้กระทั่งตัวเอง

ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีนโยบายตอบสนองความต้องการของอเมริกันเต็มที่ในอันที่จะสกัดกั้นขบวนการแรงงานไม่ให้เข้มแข็งได้

ผู้แทนกลุ่มกรรมกร 16 หน่วยได้ยืนยันกับรัฐว่าถึงอย่างไร พวกตนก็จะจัดงานวันกรรมกรให้ได้ แม้รัฐจะไม่อนุญาตให้จัดก็ตาม ในที่สุดรัฐบาลยอมถอย แต่มีเงื่อนไขว่า 1. ให้เคลื่อนไหวอย่างสงบ ไม่กีดขวางทางจราจร 2. ไม่ให้มีประเด็นการเมือง ไม่ให้โจมตีมิตรประเทศโดยเฉพาะอเมริกา และองค์การซีอาโต้ และ 3. ให้เปลี่ยนชื่อจาก “วันกรรมกรสากล” เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ”
โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการจัดงานดังกล่าวคิดเฉลี่ยเป็นรายหัว หัวละ 5 บาท

ตัวแทนเจรจาของฝ่ายแรงงานจำต้องยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อให้สามารถจัดงานได้ การจัดงานในปีนั้นมีคนงานเข้าร่วมราว 50,000 คน โดยขบวนเริ่มต้นจากสนามหลวง ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วเดินมาที่สนามเสือป่า จากนั้นมีการจัดกิจกรรมที่หอประชุมสภาวัฒนธรรม

แม้กลุ่มกรรมกร 16 หน่วยจะประสบความสำเร็จในการเจรจากับรัฐบาลและสามารถจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นมาได้ แต่จิตวิญญาณและหลักการสำคัญของวันกรรมกรสากลได้ถูกทำให้เบี่ยงเบนออกไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิมของมัน

ประการแรกหลักการสำคัญเรื่องความเป็นสากล การเป็นวันของชนชั้นคนทำงานที่ไม่ถูกแบ่งแยก ด้วยสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา หรือพรมแดนได้ถูกทำลายไป วันแรงงานแห่งชาติ ได้ถูกรัฐทำให้กลายเป็นเรื่องภายในของคนทำงานไทยไปเสียแล้ว ประการถัดมาคือ จิตวิญญาณของการพึ่งตนเองของคนงาน ความเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซง จากรัฐและทุน ก็ถูกทำลายไปด้วยพร้อม ๆ กัน

มีการจัดวันกรรมกรสากลอีกครั้งในชื่อวันแรงงานแห่งชาติในปี 2500 แต่ภายหลังการทำรัฐประหารของจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 กฎหมายแรงงานปี 2499 ก็ถูกยกเลิก 

องค์กรแรงงานทุกรูปแบบถูกสั่งห้าม สิทธิของแรงงานถูกลิดรอนจนหมดสิ้นรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของนักลงทุน การเคลื่อนไหวของคนงานทุกรูปแบบถูกมองว่าเป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน นั่นคือความผิดมหันต์ ที่รัฐอนุญาตให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้ไม่ได้ ผู้นำแรงงานต่างถูกจับกุมคุมขัง ศุภชัย ศรีสติ เลขาธิการกลุ่มกรรมกร 16 หน่วย ถูกจับกุมและประหารชีวิตด้วยอำนาจตามมาตรา 17 โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมใด ๆ

แม้ประเทศชาติจะถูกปกคลุมด้วยความมืดมิดของอำนาจเผด็จการ แต่จิตใจที่มั่นคง ยืนหยัดในอุดมการณ์แห่งชนชั้นกรรมกรของแรงงานไทยไม่เคยเจือจางลง ในคุกลาดยาวที่ซึ่งผู้นำแรงงานและนักต่อสู้เพื่อคนทุกข์ยากหลายคนถูกนำไปจองจำไว้นั้น 

พวกเขายังคงยืนหยัดที่จะรักษาประเพณีวันกรรมกรสากลเอาไว้ หนังสือคอมมิวนิสต์ลาดยาวที่บันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของไทยที่เขียนโดย ทองใบ ทองเปาว์ นักกฎหมายฝ่ายประชาชนที่ถูกคุมขังพร้อม ๆ กับเพื่อน

ได้บันทึกประวัติศาสตร์การเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2503 เพลงรำวงวันเมย์เดย์ ที่ร้องกันในขบวนแถวของผู้ใช้แรงงานในวันนี้ก็เป็นเพลงที่ถูกประพันธ์ขึ้นโดยจิตร ภูมิศักดิ์ นักรบของคนยากคนจน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล ขณะที่เขาถูกจองจำอยู่ในคุกลาดยาว

ขบวนการแรงงานกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งภายหลังรัฐบาลออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ในปี 2515 ที่ยอมคืนสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมให้กับคนงานอีกครั้ง ตามการเรียกร้องของคนทำงานและการกดดันของขบวนการแรงงานสากล 

แต่ที่สำคัญคือภายหลังการลุกขึ้นโค่นล้มเผด็จการทหารที่นำโดยนิสิตนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้นำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้ง ผู้ใช้แรงงานจึงหยัดกายยืนขึ้นทวงถามหาความยุติธรรม หลังถูกกดขี่ขูดรีดจากทุนและรัฐอย่างยาวนานภายใต้อำนาจรัฐเผด็จการ

ยุคทองของขบวนการแรงงานได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว วันสากลของคนทำงานได้รับอนุญาตให้จัดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย พลังสามประสานระหว่างขบวนการนักศึกษา ขบวนการชาวไร่ชาวนา และขบวนการคนทำงาน ได้ทำให้การเคลื่อนไหวในประเด็นแรงงานมีพลังเป็นอย่างยิ่ง 

วันกรรมกรสากลในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ได้รับความสนใจทั้งจากคนทำงานด้วยกันและจากสาธารณชนที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก

แต่ยุคทองของแรงงานไทย เป็นเพียงช่วงสั้นๆ เหตุการณ์สังหารโหด นักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้นำประเทศไทยกลับสู่ยุคมืดอีกครั้ง รัฐบาลขวาจัดของนายธานินทร์ กรัยวิเชียรได้ผลักผู้คนที่รักความเป็นธรรมทั้งหลายรวมทั้งผู้นำแรงงานจำนวนมากให้จำต้องเดินทางเข้าสู่เขตป่าเขาเพื่อร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย 

แม้ภายหลังฝ่ายก้าวหน้าจะพากันถอนตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์กลับคืนสู่เมืองอีกครั้ง แต่ขบวนการแรงงานไทยหลังยุควิกฤติแห่งศรัทธาก็ไม่สามารถกลับมามีพลังที่เข้มแข็งดังเดิมได้อีก

กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 ที่กีดกันคนทำงานส่วนใหญ่ไม่ให้เข้าสู่ขบวนการแรงงาน  นโยบายของรัฐบาลที่เอาใจฝ่ายนายทุนอย่างออกนอกหน้า  กลไกไตรภาคีที่ถูกนำมาใช้ในระบบแรงงานสัมพันธ์ไทย และมาตรการแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกของฝ่ายทุน

ได้ทำให้ขบวนการแรงงานไทยแตกแยก กระจัดกระจาย ไร้เอกภาพ ถูกครอบงำและแทรกแซง จนไม่อยู่ในฐานะพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง ไม่มีอำนาจต่อรองทั้งในสถานประกอบการและในทางการเมืองระดับชาติ

วันสากลของคนทำงานที่ถูกจัดในสภาพแวดล้อมและสภาวะที่ขบวนการของคนทำงานอ่อนแอไร้เอกภาพ ไร้อำนาจต่อรอง พึ่งตัวเองไม่ได้ จึงกลายเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” ตามที่ฝ่ายรัฐและทุนต้องการ จิตวิญญาณสากลนิยม ชนชั้นนิยม ที่เป็นหลักการสำคัญของวันกรรมกรสากลถูกทำลายไปจนหมดสิ้น 

ความศรัทธาเชื่อมั่นในการพึ่งตนเองและพลังสามัคคีของชนชั้นคนทำงานได้ถูกทำให้เจือจางลงด้วยงบประมาณที่ถูกหยิบยื่นให้จากฝ่ายรัฐและทุน
ข้อเรียกร้องที่ถูกเสนอจากขบวนแรงงานในแต่ละปี แม้ส่วนใหญ่จะมีเหตุมีผล สะท้อนปัญหาและความต้องการของคนงานส่วนใหญ่ก็ตาม แต่กลับไม่มีพลัง ไร้ความหมาย และกลายเป็นเพียงพิธีกรรม

ที่ทำ ๆ กันให้เป็นประเพณี ที่นับวันจะไร้ความหมายและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานน้อยมาก...

วันกรรมกรสากล ทั้งรูปแบบและเนื้อหาสาระจึงไม่ผิดกับงานวัด งานรื่นเริง หรืองานคอนเสิร์ต ที่ถูกกำหนดและออกแบบโดยผู้อุปถัมป์รายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของงานอย่างแท้จริง 

การจัด “วันแรงงานแห่งชาติ” ที่ผ่าน ๆ มากระทรวงแรงงานมักวางก้ามใหญ่ในฐานะเจ้าของเงิน ทำตัวราวกับเป็นเจ้าของงานเสียเอง มาเจ้ากี้เจ้าการ คอยบงการว่า องค์กรแรงงานชนิดไหนบ้างที่จะมีสิทธิใช้เงินก้อนนี้ ทั้ง ๆ ที่เงินเหล่านั้นแท้จริงมาจากภาษีอากรของประชาชน ที่คนงานก็ควรที่จะมีสิทธิที่จะนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของมวลกรรมกรได้อย่างอิสระไม่ถูกครอบงำ และโดยไม่ต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอะไรทั้งสิ้น

วันแรงงานชนิดนี้ยิ่งจัดก็ยิ่งรังแต่จะทำให้ศักดิ์ศรีแห่งชนชั้นกรรมาชีพ และความภาคภูมิใจที่จะบอกให้โลกรู้ว่า “คนทำงานคือผู้สร้างโลก”  มันเหือดหายไป 

วันกรรมกรสากลที่เคยมีความหมาย กลับกลายเป็นวันที่ผู้นำแรงงานและองค์กรแรงงานต่าง ๆ รอที่จะช่วงชิง จัดสรร แบ่งปันเค้กก้อนใหญ่ที่จะได้รับจากรัฐบาลและภาคเอกชน

การแก่งแย่ง ช่วงชิงกันเป็นประธานจัดงานเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และบันไดก้าวสู่การมีสถานภาพทางสังคมที่สูงขึ้นและแน่นอนเพิ่มมูลค่าให้กับตนเองในเกมการต่อรองทางการเมือง โดยปกติสิ่งที่จะได้เห็นในงานวันแรงงานแห่งชาติคือ เมื่อเสร็จสิ้นคำปราศรัยที่เต็มไปด้วยถ้อยคำที่สวยหรู ฟังดูหวานหูและคำมั่นสัญญาที่ไร้ความหมายโดยผู้นำรัฐบาลผู้ทรงเกียรติที่กรุณาเสียสละเวลาอันมีค่ามาเป็นประธานในพิธีกรรมให้กับคนทำงานที่ถูกมองว่าต่ำต้อย น่าสงสาร พึ่งตนเองไม่ได้ จากนั้นทุกคนก็พากันลงจากเวทีสลายตัวไป ด้วยเกรงว่าผิวกายจะหมองคล้ำจากแสงแดดที่แผดเผา 

เราเชื่อว่าวันหนึ่งเมื่อพวกเราเหล่าคนทำงานตระหนักในพลังอำนาจและรวมตัวกันอย่างกว้างขวางไม่แบ่งแยกแบบที่รัฐต้องการ วันนั้นเสียงเราจะดังขึ้น บ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 

และเราเชื่อว่า “วันสากลของคนทำงาน” จะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีคนทำงานทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเฉลิมฉลองร่วมกัน

และก่อนถึงวันนั้น พวกเราต้องทำให้ขบวนการแรงงานกลับมาแข็งแกร่งกลับมาอีกครั้ง

สมัครสหภาพคนทำงาน: https://cutt.ly/4vC6E38

นายกฯ ออกสารเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2564 ยันรัฐบาลมุ่งมั่นดูแลแรงงานทุกคน ทั้งในระบบ-นอกระบบ

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกคำปราศรัยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า ขอส่งความรัก ความปรารถนาดีมายังแรงงานไทย ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโดวิด-19 จึงต้องงดการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ ด้วยห่วงใยความปลอดภัย แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคควบคู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างโอกาสทางการค้า และการมีงานทำของแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ และแรงงานกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงาน ได้แก่ โครงการเราไม่ทิ้งกัน, โครงการคนละครึ่ง, โครงการ ม.33 เรารักกัน, โครงการเราชนะ และขยายเวลาลดหย่อยส่งเงินสมทบประกันสังคม ลดค่าน้ำค่าไฟ และมาตรการอื่นๆ เพื่อให้แรงงานทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ และพร้อมเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข้งในเร็ววัน พร้อมกันนี้ ยังให้การสนับสนุนด้านสวัสดิการ การคุ้มครองแรงงานให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และการพัฒนาความสามารถและศักยภาพแรงงานอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ห่วงใยพี่น้องแรงงานทุกคน ขอให้ดูแลรักษาสุขภาพ ดำเนินชีวิตวิถีใหม่ และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ไม่ไปพื้นที่เสี่ยง และพบแพทย์เมื่อมีอาการ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

'ยิ่งลักษณ์' ส่งกำลังใจผู้ใช้แรงงานผ่านพ้นวิกฤติโควิด แนะรัฐพัฒนาศักยภาพ

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กในวันแรงงานแห่งชาติ และวันแรงงานสากล ว่า วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล ทำให้อดคิดถึงพี่น้องแรงงานไม่ได้ วันนี้เป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกออกมาเรียกร้องสิทธิและคุณภาพชีวิตของพวกเขาที่เป็นฟันเฟืองให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า ทำให้อยากเห็นการพัฒนาแรงงานของไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เพราะจากรายงานของ World Economic Forum ระบุว่า แรงงานกว่า 75 ล้านคนทั่วโลกใน 20 อุตสาหกรรม จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีภายในปี 2020 ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี จะสร้างงานใหม่ถึง 133 ล้านอัตราภายในปี 2022

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุต่อไปว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานถูกเลิกจ้าง นักศึกษาจบใหม่ไม่มีงานทำ จึงว่าเห็นรัฐบาลต้องใช้โอกาสนี้พัฒนาศักยภาพแรงงาน (Upskill / Reskill) ให้เป็นแรงงานที่มีความเข้าใจเทคโนโลยี เช่น แรงงานในภาคบริการ ควรส่งเสริมการใช้ทักษะด้านความเข้าใจเรื่องความต้องการของผู้บริโภคเพื่อนำไปสู่บริการที่รู้ใจ และมีความเข้าใจที่จะเสนอบริการมากขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นนักบริการมืออาชีพที่ใช้ทักษะสูงขึ้น เช่น ลูกค้าสัมพันธ์ การตลาด อบรมพัฒนา ส่วนแรงงานในภาคการเกษตร ต้องมีความรู้ด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเกษตรมากขึ้น มีความรู้ในการวิเคราะห์ผลผลิต ต้นทุน และการคาดการตลาดล่วงหน้า เพื่อการเกษตรที่แม่นยำ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องสร้างบุคลากรด้านนักวิเคราะห์ข้อมูลที่เข้าใจการทำงานของเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ หรือแม้กระทั่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ เราจะเป็นผู้กำหนด หรือใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน รัฐยังต้องพัฒนาแรงงานที่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ การวิเคราะห์ฐานข้อมูล หรือ บิ๊กดาต้า สมองกล เครื่องจักร หุ่นยนต์ บล็อกเชน สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้กำลังจะเกิด แต่ได้เกิดขึ้นแล้ว เราจะเปลี่ยนมาเป็นการใช้ประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างไรเพื่อให้ทันต่อโลก

“ขอส่งกำลังใจให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ไปได้ด้วยกันค่ะ โดยเฉพาะหลายชีวิตที่ไม่สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ อย่างคุณแม่ที่ต้องทำทั้งงานในบ้าน ดูแลลูก และงานนอกบ้านไปด้วย ต้องเดินทางออกจากบ้านไปด้วยขนส่งสาธารณะ เพื่อหารายได้ประทังครอบครัว ทำให้มีความเสี่ยงสัมผัสกับเชื้อโรคได้ตลอดเวลา แม้รายได้ที่ได้รับยังคงชักหน้าไม่ถึงหลังเมื่อเทียบกับรายจ่าย แต่ขอให้ทุกท่านอย่าย่อท้อต่อการแสวงหาโอกาสให้กับชีวิต และไม่หยุดที่จะฝึกฝน และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับตนเองตลอดเวลา การเรียนรู้ไม่มีคำว่าสายเกินไปค่ะ เพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ของเราในอนาคตต่อไป เพราะเราทุกคนต้องมีความหวังค่ะ ให้ทุกท่านอดทน ต้องสู้ต่อไป อย่าเพิ่งท้อถอย แล้วเราจะผ่านความยากลำบากนี้ไปด้วยกันนะคะ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net