Skip to main content
sharethis

สปสช.จัดประชุมรับฟังความเห็นฯ ปี 2564 พัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “สิทธิบัตรทอง” ทยอยเดินหน้าแล้ว 13 เขตทั่วประเทศ เน้นรูปแบบรับฟังความเห็นผ่านระบบออนไลน์จากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ต่อเนื่อง กำหนดกรอบรับฟังความเห็น 7 ด้าน และประเด็นเพิ่มเติมตามสถานการณ์ในพื้นที่ เตรียมรวบรวม กลั่นกรอง นำสู่เวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศ 25 มิ.ย. 2564

 

8 พ.ค. 2564 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เป็นกลไกสำคัญของการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง ในการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เป็นช่องทางร่วมสะท้อนความคิดเห็นที่นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอนโยบายพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยในมาตรา 18 (13)  พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนดจัดประชุมรับฟังความเห็นฯ เป็นประจำทุกปี  

ทั้งนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมาจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ต้องดำเนินการมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้อนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ ได้ปรับรูปแบบการรับฟังความเห็นฯ ที่เน้นการประชุมผ่านระบบออนไลน์และได้รับผลตอบรับด้วยดี และด้วยในปีนี้ที่การแพร่ระบาด โควิด-19 ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ในการรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประจำปี 2564 นี้ จึงยังคงรูปแบบการรับฟังความเห็นผ่านระบบออนไลน์ต่อเนื่องผ่านทาง Facebook live และระบบ Zoom meeting  เน้นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้แทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น โดยปีนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนมมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในพื้นที่เขต 13 กรุงเทพมหานคร, เขต 10 อุบลราชธานี, เขต 9 นครราชสีมา และเขต 8 อุดรธานี รวมถึงกลุ่มเฉพาะเครือข่ายคนพิการ, เครือข่ายผู้ป่วย ได้มีการจัดประชุมรับฟังความเห็นไปแล้ว ส่วนเขตพื้นที่อื่นจะมีการทยอยจัดการรับฟังความเห็นให้ครบทั้ง 13 เขตพื้นที่ ให้แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งแต่ละเขตพื้นที่จะรวบความความเห็นที่ได้รับ เพื่อกลั่นกรองและจัดทำเป็นข้อเสนอนำเข้าสู่ที่ประชุมรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ในระดับประเทศที่จะจัดผ่านระบบออนไลน์ต่อไป เบื้องต้นกำหนดให้มีการจัดขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน 2564   

นพ.เจษฎา กล่าวว่าการรับฟังความเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2564 ได้กำหนด 7 ประเด็นที่เป็นกรอบรับฟังความเห็น ประกอบด้วย  1.ประเด็นด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.ประเด็นด้านมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข (ของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ) 3.ประเด็นด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4.ประเด็นด้านการบริหารจัดการสำนักงาน 5.ประเด็นด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ 6.ประเด็นด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 7.ประเด็นด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ และประเด็นปัญหาเพิ่มเติมตามสถานการณ์ในพื้นที่  ทั้งนี้แต่ละเขตจะมีการกำหนดประเด็นเพิ่มเติมตามสถานการณ์ เช่น เขต 13 กรุงเทพมหานคร ประเด็น 4 รับฟังฯ ตามนโยบายรมต.  เขต 8 อุดรธานี ประเด็น การยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาระบบบัตรทอง  การคุ้มครองสิทธิผู้ให้และผู้รับบริการในระบบบัตรทอง  การปฏิรูประบบบัตรทองและกองทุนที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเป็นอกภาพ บูรณาการ เป็นธรรม ทั่วถึง เพียงพอ และยั่งยืนด้านการเงินการคลัง และการใช้งาน KTB Health Platform เปิดจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปี 2564 เป็นต้น 

“ตลอดระยะเวลา 18 ปีของกองทุนบัตรทองมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่ไม่หยุดนิ่ง ได้สร้างความครอบคลุมและทั่วถึง ทั้งในด้านสิทธิประโยชน์ การเข้าถึงบริการ และการคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชน นอกจากงบประมาณและนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ส่วนสำคัญยังมาจากการมีส่วนร่วมที่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นฯ นี้ และในปี 2563 ที่ผ่านมา สปสช. ยังร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าในการพัฒนากระบวนการรับฟังความเห็น เชื่อว่าจะทำให้การรับฟังความเห็นในปีนี้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บรรลุเป้าหมายและเจตนารมณ์การรับฟังความเห็นในระบบบัตรทอง” นพ.เจษฎา กล่าว      

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net