Skip to main content
sharethis

เพื่อนไร้พรมแดน แถลงขอไทยยกเลิกคำสั่งผลักผู้ลี้ภัยรัฐกะเหรี่ยงกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง ก่อนการประชุมคณะทำงานระดับจังหวัด พร้อมขอกองทัพไม่รวบอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ตัวคนเดียว 

ภาพผู้ลี้ภัยรัฐกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 29 มี.ค.64 (ที่มา จากประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน)

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พ.ค.64 ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีคำสั่ง  ‘คณะทำงานประสานงาน ช่วยเหลือ ผู้หนีภัย ความไม่สงบชาวเมียนมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน’ เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยความไม่สงบชาวเมียนมาในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ตามหลักมนุษยธรรม โดยมีปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน นั่งหัวโต๊ะคณะทำงาน ขณะที่คณะทำงานมีองค์กรภาคประชาชน และข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จ.แม่ฮ่องสอน ด้วยสัดส่วนหนึ่งในสาม ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง สาธารณสุข และมหาดไทย โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกวันที่ 21 พ.ค.64 

20 พ.ค.64 มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ติดตามปัญหาผู้ลี้ภัยรัฐกะเหรี่ยงตั้งแต่พม่าเริ่มโจมตีทางอากาศในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก” เพจสาธารณะ ‘Friends without Borders Foundation’ ขอไทยยกเลิกคำสั่งผลักดันผู้ลี้ภัยกลับฝั่งรัฐกะเหรี่ยงที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการท้องถิ่น

สาระสำคัญของแถลงการณ์ระบุว่า ขอให้รัฐไทยยกเลิกคำสั่งผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไป ที่ชิงเกิดขึ้นก่อนการประชุมคณะทำงานท้องถิ่นโดยทันทีเพียง 2 วันหลังจากการประกาศแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด

แถลงการณ์ระบุเพิ่มว่า มีเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงเดินทางโดยเรือไปเจรจา "ทำความเข้าใจ" ให้ผู้ลี้ภัยกลับถิ่นฐานภายในวันจันทร์ที่ 24 พ.ค.นี้  ทั้ง ๆ ที่คณะทำงานฯ ดังกล่าวยังไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้ประชุมนัดแรก ซึ่งกำหนดไว้ในวันศุกร์ที่ 21 พ.ค.ที่จะถึงนี้ 

ผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ฝั่งไทย โดยเฉพาะริมฝั่งสาละวินตอนบน ของเขตแม่สะเรียง กว่าหนึ่งพันคน คือกลุ่มที่มาจากพื้นที่ใกล้ฐานของทหารพม่า และอีกส่วนหนึ่ง มาจากบ้านเดปูโน ตั้งอยู่พื้นที่ของกองพล 5 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กับชุมชนตามรายทาง ซึ่งยังตกเป็นเป้าการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา และหากมีการผลักดันพวกเขากลับไป อาจทำให้ผู้ลี้ภัยต้องกลับไปเผชิญอันตราย 

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ยืนยันว่า การประเมินสถานการณ์สำหรับการกลับคืนถิ่นฐานอย่างปลอดภัย และ "สมศักดิ์ศรี" ของผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยหลักการแล้วถือว่าจะต้องเป็นการประเมินจากหลายฝ่าย รวมถึงผู้ที่มีหน้าที่ "ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย" ผู้มีความรู้และประสบการณ์งานด้านมนุษยธรรม และด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ลี้ภัย ซึ่งต้องไม่ได้มีหน้าที่เพียงการเป็นผู้รับฟัง

การจัดตั้งคณะทำงานท้องถิ่น ซึ่งหน้าที่หนึ่งคือการประเมินสถานการณ์และความต้องการของผู้ลี้ภัย ถือเป็นก้าวย่างในทางที่ดี คณะทำงานนี้ควรจะได้เริ่มทำงานอย่างโปร่งใส และเปิดเผย  สำหรับประเด็นการส่งกลับผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อความเป็นความตายของผู้คนจำนวนมาก ควรต้องได้รับการเห็นชอบจาก UNHCR และภาคประชาสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งคือคนท้องถิ่นที่รู้สถานการณ์ดียิ่งกว่าเจ้าหน้าที่

มูลนิธิฯ ยังยืนยันว่า นอกเหนือจากการจัดตั้งกลไกท้องถิ่นโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว รัฐจะต้องมีนโยบายผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน นโยบาย "ไม่ผลักดันส่งกลับไปสู่อันตราย" ของกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเป็นที่เคารพของหน่วยงานความมั่นคง และบทบาทนำในการบริหารจัดการความช่วยเหลือจะต้องเป็นของกระทรวงมหาดไทย "กองทัพ" จะต้องไม่รวบอำนาจเป็นผู้ตัดสินใจในทุกๆ เรื่องดังเป็นมา

ยกเลิกคำสั่งส่งกลับที่ชิงเกิดขึ้นก่อนการประชุมคณะทำงาน และเริ่ม "ทดลอง" ใช้กลไกท้องถิ่นอย่างโปร่งใส ปราศจากอำนาจการกดดันจากหน่วยงานความมั่นคงระดับบนได้แล้ว ณ บัดนี้

ภาพผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 13 พ.ค.64 (ที่มา สำนักข่าวชายขอบ)

สำหรับจำนวนผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่เดินทางข้ามายังฝั่งไทย ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน รายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ค.64 ระบุว่า มีจำนวน 1,775 คน ที่ทางทหารได้จัดให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวบริเวณห้วยอีนวล ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง และพื้นที่ใกล้เคียง

  • พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยมะระ   ต.แม่คงอ.แม่สะเรียง    จำนวน    585   คน 
  • พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยจอกลอ   ต.แม่คงอ.แม่สะเรียง  จำนวน     82    คน 
  • พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยโกเกร๊ะ   ต.แม่คงอ.แม่สะเรียง   จำนวน 1,058  คน 
  • พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยแห้ง   ต.แม่สามแลบอ.สบเมย   จำนวน     50  คน 

ขณะที่ยังมีการปิดจุดผ่อนปรนการค้าบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และปิดการล่องเรือผ่านแม่น้ำสาละวิน ที่เป็นเส้นทางสำคัญในการลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือผู้อพยพทั้งในฝั่งประเทศไทย และรัฐกะเหรี่ยง

หมายเหตุ : ประชาไทมีการอัปเดตพาดหัวข่าวมาใช้แบบในปัจจุบัน เมื่อเวลา 20.29 น. วันที่ 20 พ.ค.64

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net