Skip to main content
sharethis

ย้อนไทม์ไลน์วัคซีนแอสตราเซเนกา เข้าไทยแล้วไปไหน หลังโรงพยาบาลหลายแห่งประกาศขอเลื่อนนัดรับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็ม 2 และกระทรวงสาธารณสุขออกมายอมรับว่ามีปัญหาในการจัดการวัคซีน ล่าสุด นายกฯ ขอให้ 'ชะลอ' ลงทะเบียนการฉีดวัคซีนผ่าน "หมอพร้อม"

 

แอสตราเซเนกาล็อตแรกจากอิตาลี

วันที่ 20 ม.ค. 2564 มติชนออนไลน์ รายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข กล่าวว่า บริษัทแอสตร้าเซเนกาเตรียมจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตจากต่างประเทศให้ไทยจำนวน 150,000 โดส โดยวัคซีนจำนวน 50,000 โดสแรกที่ผลิตจากโรงงานในประเทศอิตาลี จะส่งถึงไทยในช่วงต้นเดือน ก.พ. พร้อมระบุว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกาจำนวน 150,000 โดสนี้ เป็นคนละส่วนกับวัคซีน 26 ล้านโดสที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้ผลิต

วันที่ 21 ม.ค. 2564 ไทยรัฐออนไลน์ และสำนักข่าว Hfocus รายงานตรงกันว่า องค์การอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่ผลิตในประเทศอิตาลี จำนวน 50,000 โดสแล้ว โดยมีกำหนดส่งมอบถึงไทยในเดือน ก.พ. นี้

วันที่ 25 ม.ค. 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า  แผนฉีดวัคซีนระยะแรก (ก.พ.-เม.ย. 2564) ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและเจ้าหน้าที่ด่านหน้าจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 14 ก.พ. 2564 โดยวัคซีนที่ใช้จะเป็นของแอสตราเซเนกาจำนวน 150,000 โดส และซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งกำลังทยอยส่งมอบ อย่างไรก็ตามในวันที่ 28 ม.ค. 2564 อนุทิน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ว่า อาจไม่สามารถเริ่มการฉีดได้ตามเป้า 14 ก.พ.นี้ เพราะไม่ทราบว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกาจะมาถึงไทยเมื่อไร เนื่องจากติดปัญหาการขนส่ง เพราะสหภาพยุโรป (EU) จำกัดการส่งออกวัคซีนจากอิตาลี แต่คาดว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 50,000 โดสแรกจะมาถึงไทยภายในเดือน ก.พ. นี้อย่างแน่นอน

วัคซีนแอสตราเซเนกาล็อตแรกถึงไทย ส่งจากเกาหลีใต้

วันที่ 24 ก.พ. 2564 อนุทิน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อนุทิน ชาญวีรกูล ระบุว่า “วัคซีนแอซตร้าเซนเนกาจำนวน1แสนโดสเศษ มาถึงประเทศไทยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการวางแผน กระจายวัคซีนไปสู่ประชาชน ตามแพทย์วินิจฉัย”

มติชนออนไลน์ รายงานว่า ก่อนหน้านี้ อนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า ไทยจะได้รับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนกา จำนวน 117,000 โดส ด้าน นพ.เกียรติภูมิ ให้ข้อมูลว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาที่รับมอบวันนี้มาจากการกระจายวัคซีนทั่วโลกของบริษัทแอสตราเซเนกา และไม่ได้ระบุว่าผลิตที่ประเทศใด อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊ก Thailand FACT Today ได้โพสต์รูปภาพการขนส่งวัคซีนโควิด-19 ล็อตดังกล่าวจากคลังสินค้าในสนามบินสุวรรณภูมิไปยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม และคลังศรีเพชร อีเคเอสเอช(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งปรากฏภาพฉลากด้านข้างตู้เก็บวัคซีนเป็นภาษาเกาหลี และขนส่งโดยสายการบินโคเรียนแอร์ (Korean Air) จึงคาดว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 117,000 โดสผลิตจากโรงงานในประเทศเกาหลีใต้

ในวันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้เดินทางไปรับวัคซีนซิโนแวคล็อตแรกจำนวน 200,000 โดสด้วยตัวเองที่สนามบินสุวรรณภูมิ

อีก 4 วันสิ้นกุมภา เพิ่งรับมอบวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกจากซิโนแวค 2 แสนโดส

ต่อมาในวันที่ 25 ก.พ. 2564 สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า อนุทิน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งหมด 317,600 โดส เป็นของซิโนแวค 200,000 โดส และแอสตราเซเนกา 117,600 โดส ซึ่งได้มาจากโรงงานการผลิตที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วโลก (Global Chain) โดยวัคซีนแอสตราเซเนกาล็อตนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีนทั้งหมด 61 ล้านโดส ที่ไทยทำสัญญาจองซื้อกับบริษัทผู้ผลิต และผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ อนุทิน ยังกล่าวว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ได้มาจะทำให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามแผนที่กระทรวงฯ วางไว้

ด้าน เจมส์ ทีก ประธานบริษัทแอสตราเซเนกา แถลงผ่านตัวแทนบริษัทในประเทศไทยถึงการส่งมอบวัคซีนในครั้งนี้ว่าถือเป็นความสำเร็จก้าวแรก เพราะสามารถส่งมอบได้เร็วกว่าที่กำหนดจากแผนเดิม

สธ. ประกาศแผนกระจายวัคซีนแอสตราเซเนกา

วันที่ 25 ก.พ. 2564 สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  รายงานว่า กระทรวงฯ พร้อมฉีดวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกรวม 317,600 โดสในกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่เป้าหมาย 18 จังหวัด โดยเบื้องต้น ให้โรงพยาบาลนัดกลุ่มเสี่ยงมาฉีดวัคซีน จากนั้นใช้ระบบ “หมอพร้อม” เพื่อติดตามอาการและนัดหมายฉีดเข็มที่ 2

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า วัคซีนซิโนแวคจะนำมาฉีดให้แก่กลุ่มเป้าหมายในช่วงอายุ 18-59 ปี ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกาให้ฉีดในผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเป็นหลัก นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้กำหนดระบบนัดหมายการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันระหว่างวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อ โดยวัคซีนซิโนแวคจะฉีดวันจันทร์-ศุกร์ ฉีด 2 เข็มห่างกัน 21 วัน ส่วนแอสตราเซนเนกาจะฉีดวันเสาร์-อาทิตย์ ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

สำนักข่าว Hfocus รายงานเพิ่มเติมว่าวัคซีนทั้ง 317,600 โดส จะถูกจัดสรรให้แก่พื้นที่ควบคุม 18 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร จำนวน 70,000 โดส, กทม. 66,000 โดส, จ.ปทุมธานี 8,000 โดส, นนทบุรี 6,000 โดส, สมุทรปราการ 6,000 โดส, อ.แม่สอด จ.ตาก 5,000 โดส, จ.นครปฐม 3,500 โดส,จ.สมุทรสงคราม 2,000 โดส, จ.ราชบุรี 2,500 โดส, จ.ชลบุรี 4,700 โดส, จ.ภูเก็ต 4,000 โดส, อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 2,500 โดส และ จ.เชียงใหม่ 3,500 โดส รวมฉีดวัคซีนล็อตแรก 183,700 โดส และมีวัคซีนสำรองฉุกเฉินอีก 16,300 โดส

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ชี้แจงว่าวัคซีนล็อตแรกทั้งหมดที่ฉีดให้แก่ประชาชน เป็นของซิโนแวคกี่โดส และแอสตราเซเนกากี่โดส ซึ่ง อัมรินทร์ทีวี ตั้งข้อสังเกตว่าวัคซีนส่วนใหญ่ที่ประชาชนฉีดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา คือ วัคซีนของซิโนแวค เนื่องจากนำเข้าหลายล็อตและมีจำนวนมากกว่า ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกามีรายงานว่านำเข้ามาเพียงครั้งเดียวจากประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 117,600 โดส ตามที่รายงานไปข้างต้น และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวนนี้ถูกกระจายไปยังที่ใดบ้าง

รพ. เลื่อนฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็ม 2 เพราะ ‘วัคซีนไม่พอ’

วันที่ 23 พ.ค. 2564 คณะแพทย์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊ก แจ้งเลื่อนวันเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 ให้แก่ผู้ที่ฉีดเข็มแรกในช่วงวันที่ 23 มี.ค.-5 เม.ย. 2564 ออกไปก่อน จากเดินที่นัดฉีดเข็ม 2 ในระหว่างวันที่ 25 พ.ค. -4 มิ.ย. 2564 โดยทางโรงพยาบาลจะรีบแจ้งให้ทราบ และนัดหมายวันฉีดวัคซีนใหม่ หากได้รับวัคซีนเข้ามาเพียงพอ

 

ต่อมาในวันที่ 24 พ.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊กของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกาศเลื่อนวัคซีนแอสตราเซเนกา และงดรับนัดหมายฉีดวัคซีนยี่ห้อดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเช่นเดียวกัน โดยระบุว่าหากประชาชนคนใดนัดหมายฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในช่วงนี้ สามารถเลื่อนนัดออกไปก่อนได้ และตั้งแต่วันที่ 24 ม.ย. 2564 เป็นต้นไป จะให้บริการฉีดวัคซีนเฉพาะซิโนแวคเท่านั้น

 

วันนี้ (26 พ.ค. 2564) สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กว่าขอเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนในเดือน มิ.ย. ออกไปก่อนเนื่องจากไม่ได้รับจัดสรรวัคซีนในช่วงเวลาดังกล่าว และจะนัดให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนอีกครั้งในเดือน ก.ค.

 
อย่างไรก็ตาม โพสต์ดังกล่าวถูกลบไป และมีการประกาศใหม่อีกครั้งว่าผู้ที่มีนัดฉีดวัคซีนกับสถาบันฯ ในเดือน มิ.ย. สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตามนัด พร้อมระบุว่าประกาศก่อนหน้านี้ คือ การสื่อสารข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
 
 

นอกจากนี้ มติชนออนไลน์ รายงานว่า ก่อนหน้านี้ในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โพสต์ข้อความว่า “เรากำลังถูกเท.. เราถูกขอให้ต่อสู้ รบยืดเยื้อ และให้ขยายแนวรบออกไปตลอดเพื่อชาติ ชาติบอกเรามาว่า ให้ปันส่วนกระสุน เอาไปคนละสิบนัดในเดือนนี้ แล้วให้ตรึงแนวรับไว้ให้ได้จนถึงเดือนหน้า  บางหน่วยยังเตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้ง แต่มีกระสุนให้ไม่จำกัด วังเวง ….และเริ่มรู้สึกท้อ ขอเราไปทำหน้าที่สั่งการและช่วยตัดสินใจแทนชาติชั่วคราวสักเดือนนึงได้ไหม ขอร้อง” โดยผู้จัดการออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติขอรับวัคซีนจากกระทรวงฯ แบบโควตาองค์กร จำนวน 12,000 โดส เพื่อฉีดให้บุคลากรอื่นๆ นอกเหนือจากแพทย์ และพยาบาล ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แต่ทางโรงพยาบาลไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนดในวันที่ 22 พ.ค. 2564 และยังไม่ได้รับการติดต่อจากกระทรวงฯ ว่าจะส่งมอบวัคซีนให้วันไหน ไม่เฉพาะแต่แอสตราเซเนกาเท่านั้น ที่พบปัญหาตอนนี้ ทีมข่าว PPTV Online ระบุเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า พูดคุยกับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พบข้อมูลว่า ทางโรงพยาบาลถูกตัดโควตาวัคซีนซิโนแวก จากเดิม 12,000 โดส เหลือเพียง 6,000 โดส และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่วัคซีนไม่ครบ 6,000 โดส ทั้งที่วัคซีนนี้จะถูกนำมาฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์

สธ. ชี้แจงเหตุวัคซีนแอสตราเซเนกาไม่พอ

วันที่ 24 พ.ค. 2564 มติชนออนไลน์ และ PPTV Online รายงานตรงกันว่า นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าปัญหาวัคซีนแอสตราเซเนกาไม่เพียงพอเป็นเรื่องจริง เนื่องจากความต้องการวัคซีนมีจำนวนมาก และมีปัญหาในการบริหารจัดการวัคซีน โดยทางกระทรวงฯ ต้องขออภัยประชาชนและจะดำเนินการแก้ปัญหาให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยังระบุว่าการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเพียงเข็มแรกนั้นเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนเข็มที่ 2 เป็นการยืดเวลาให้ภูมิคุ้มกันอยู่นานขึ้น ดังนั้น การขยายระยะเวลารับวัคซีนเข็ม 2 จึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ไม่แนะนำให้ผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรกของแอสตราเซเนกา มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ของซิโนแวค เพราะเป็นวัคซีนคนละชนิด หากจะเปลี่ยนยี่ห้อควรรับวัคซีนให้ครบโดสก่อน และแนะนำให้รอการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกาในเดือน มิ.ย.

ด้าน อนุทิน และ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่าบริษัทแอสตราเซเนกายืนยันว่าสามารถจัดส่งวัคซีนให้ครบตามสัญญาภายในเดือน มิ.ย. นี้ และหากโรงงานผู้ผลิตในไทย คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้น 100% ไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ทัน ก็จะนำเข้าวัคซีนแอสตราเซเนกามาจากโรงงานในต่างประเทศแทน

วัคซีนที่ดี (เลย์?) สยามไบโอฯ ไม่ได้ส่งเดือนนี้ รอเดือน มิ.ย.ที่ไม่ได้บอกว่า 1 มิ.ย.

วันนี้ (26 พ.ค. 2564) พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและ ผอ.ศปก.ศบค. มีคำสั่งให้ชะลอการจองคิวฉีดวัคซีนผ่าน "หมอพร้อม" โดยปรับเปลี่ยนแผนให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการจองฉีดวัคซีนของตนเอง ส่วนกลุ่มที่จองไว้แล้วให้เป็นไปตามนัดหมายเดิม

'ประยุทธ์' สั่งชะลอลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิดผ่าน “หมอพร้อม” ให้แต่ละจังหวัดทำระบบเอง

รับวัคซีนเข็ม 2 ใน 8 สัปดาห์ช่วยป้องกันสายพันธุ์อินเดีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS) ประกาศทางทวิตเตอร์ว่า จะลดระยะเวลาการรับวัคซีนแอสตราเซเนการะหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 จาก 12 สัปดาห์ เหลือ 8 สัปดาห์ หลังมีรายงานว่าการลดระยะเวลาการรับวัคซีนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย

 

 

สอดคล้องกับที่บอร์ริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะเร่งแผนฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น เพื่อป้องกันการระบาดของสายพันธุ์อินเดีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net