Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากการทำข่าวของสื่อไทยกรณีข่าว ‘ลุงพล’ ทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวในอดีตช่วงปี 2013 ขึ้นมาได้ คดี เอลิซา แลม นักศึกษาชาวแคนนาดาเชื้อสายเอเชีย ที่เดินทางมาพักที่โรงแรมแห่งนี้ใน Los Angeles ก่อนที่เธอจะหายตัวไป จนสุดท้ายพบศพของเธออยู่ที่บริเวณแท้งน้ำชั้นดาดฟ้าของโรมแรม เรื่องราวทางคดีของเธอถูกนำเสนอผ่านสื่ออย่างมากมาย จนเป็นกระแส สื่อ นำเสนอเรื่องราวทางคดีผ่านการตีความหลายแง่มุม ทั้งในแง่มุมของคดี อาชญากรรม ทฤษฎีสมคบคิด และเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ

ในแง่มุม อาชญากรรม หลายสำนักข่าวได้นำเสนอข่าวการตายของ แลม ผ่านการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของโรงแรม ว่าเป็นโรงแรมที่มักจะเกิดคดีต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง เช่น การทำร้ายร่างกาย ข่มขืน เป็นต้น เนื่องด้วยราคาที่ถูกใครๆ ก็สามารถเข้าพักได้อย่างไม่ต้องตรวจสอบข้อมูลอะไรโรงแรมแห่งนี้เป็นแหล่งมั่วสุมของเหล่าอาชญากร อีกทั้งถัดไปอีกไม่กี่ตึก ก็จะเป็นย่าน สกิดโรว์ (Skid Row) ย่านอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา แหล่งรวม คนจน คนไร้บ้าน หรือผู้ถูกขับไสออกจากสังคม ประเด็นของ แลม ในข่าวมุมนี้ถูกฉายภาพให้กลายเป็นเรื่องราวเหมือนคดีฆาตกรรมเชิงสืบสวนที่แสนจะน่าค้นหาในเวลาต่อมา โดย สำนักข่าว

เรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ หลังจากภาพกล้องวงจรปิดในลิฟต์ถูกเผยแพร่ออกไป เป็นภาพที่ แลม ยืนพูดคุยอยู่คนเดียวในลิฟต์ และบังเอิญว่า ภาพในวิดีโอและการหายตัวไปของ แลม ดูคล้ายกับฉากในภาพยนตร์เรื่อง Dark Water เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิญญาณโหดที่อยู่ในห้องเช่า ที่ตัวละครเอกของเรื่องขึ้นลิฟต์แล้วไปโผล่ในแท็งก์น้ำ ข่าวหลายสำนักรวมถึงนักสืบออนไลน์ จึงได้นำเสนอเรื่องคดีของเธอผ่านมุมมองเรื่องเหนือธรรมชาติเพื่อเรียกความสนใจอีกครั้ง

การนำเสนอเรื่องราวทางคดีไปในทิศทางต่างๆ ของสื่อส่งผลให้ตำรวจทำงานได้ยากลำบากมากขึ้น เพราะโดนกดดันจากกระแสที่เกิดขึ้น ทั้งที่ความจริงบทสรุปทางคดีนี้สุดท้ายแล้วเกิดจาก ความผิดปกติทางสภาพจิตใจของ แลม เองที่ทำให้เธอเดินไปจบชีวิตตัวเองในแท้งน้ำของโรงแรมเนื่องจากอาการป่วย แต่กว่าจะได้บทสรุปทางคดีดังกล่าวต้องใช้เวลายาวนานมากถึง 4 ปี เป็น 4 ปี ที่เรื่องราวคามเจ็บป่วยจากสภาพจิตใจของ แลม ไม่เคยถูกถ่ายทอดผ่านสื่อ เพราะเรื่องราวของเธอถึงทำให้กลายเป็นเรื่องลี้ลับ เรื่องสืบสวนอันแสนสนุก ผ่าน สื่อ ที่ต้องการแค่ เรตติ้ง

คดี เด็กเสียชีวิต ที่ บ้านกกกอก อาจแตกต่างกันในรายละเอียดทางคดีอยู่บ้าง เพราะมีตัวแสดงเพิ่มขึ้นมาคือ ผู้ถูกกล่าวหาว่าทำให้เด็กเสียชีวิต อย่าง ‘ลุงพล’ ซึ่งเป็นลุงของเด็ก วิธีการของสื่อในไทยอาจแตกต่างกับสื่อที่อเมริกาในคดี แลม ในทางเทคนิคการสื่อสารออกไป สื่อไทย ทำให้เรื่องคดีฆาตกรรมกลายเป็นเรื่องบันเทิง ลุงพล คนที่ถูกกล่าวหาถูกทำให้กลายเป็นคนน่าสงสารผ่านสื่อ เพื่อเรียก เรตติ้ง สร้างตัวละครขึ้นมาเพื่อแสดงในวาระโอกาสต่างๆ และหลายครั้งยังมีการพยายามเชื่อมโยงรูปคดีให้กลายเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างการเล่าตำนาน ภูเหล็กไฟ ที่พบศพเด็กอีกด้วย จนหลงลืมเรื่องราวการสืบสวนทางคดีไป

เรื่องราวของทั้งสองข่าวดังนี้ ดูวิธีการแน่นอนว่าอาจจะแตกต่างกัน แต่หากเราไปดูเป้าหมายของการกระทำของทั้งสื่อไทย และสื่ออเมริกา ที่เล่นสองข่าวนี้ มันล้วนมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือเรื่องของ กระแส ความนิยม เรตติ้ง และการได้มาซึ่ง เรตติ้ง นี้ย่อมไม่สนใจเรื่องราวความยุติธรรมหรือปัญหาที่เกิดขึ้นอื่นๆ ในข่าวเป็นธรรมดา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายของพวกเขาตั้งแต่แรกเริ่มทำข่าว ด้วยเหตุนี้มันจึงนำมาซึ่ง โศกนาฏกรรม ของ คนตาย

ปัญหาคือ สื่อ ในประเทศเสรีนิยมใหม่ปัจจุบัน โดยเฉพาะในไทยที่เป็นเสรีนิยมใหม่ภายใต้ระบอบการเมืองเผด็จการ แทบไม่หลงเหลือเสรีภาพอะไรให้สร้างสรรค์ข่าวที่มีคุณภาพขึ้นมาได้อีกแล้ว เสรีภาพในการนำเสนอข่าวก็ไม่มี เสรีภาพในการเลือกทำข่าวก็ไม่ได้ ยกตัวอย่าง วันนี้งบประมาณกองทุนพัฒนาสื่อมูลค่ากว่า 588 ล้านบาท[1]ต่อปี ถูกกองไว้ที่กรุงเทพ คนมือยาวเท่านั้นถึงจะมีโอกาสเข้าถึงมัน สื่อภูมิภาคทุกช่องทางหากไม่ถูกกองทัพยึดครองทำลายไป ก็ขาดการสนับสนุนจนต้องล้มหายตายจากไป เป็นต้น

เมื่อสื่อไม่มีการสนับสนุนใดๆ จากรัฐแบบถ้วนหน้าเท่าเทียมเลย มันจึงส่งผลให้สื่อต่างๆ ต้องแข่งขันกันสร้างแบรนด์ สร้าง เรตติ้ง เพื่อความอยู่รอด ไม่ต้องถามหาจรรยาบรรณสื่อ ไม่ต้องเพ้อเจ้อถึงหลักการใดๆ ของสื่อทั้งนั้น เพราะมันถูกทำลายด้วยระบบโครงสร้างทางสังคมแบบทุนนิยมเสรีไปตั้งแต่ต้น และเมื่อสื่อถูกกดทับด้วยระบบที่จะต้องแสวงหากำไรตลอดเวลาอีกทั้งยังขาดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ในอนาคตมันก็จะเกิด โศกนาฏกรรม แบบสองกรณีนี้ขึ้นอีก วันนี้ปัญหาของสื่อ ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล หลักการ จรรยาบรรณอะไรทั้งนั้น แต่เป็นเรื่องของเสรีภาพในการเลือกนำเสนอข่าวที่ถูกพรากไปโดย ‘ระบบทุนนิยม’

 

 

เชิงอรรถ:
lisa Lam: What really happened in the Cecil Hotel , https://www.bbc.com/news/newsbeat-55994935

Crime Scene: The Vanishing at the Cecil Hotel , https://www.netflix.com/th-en/title/81183727

 

 

[1] สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ , แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปี 2564 , http://www.thaimediafund.or.th/wp-content/uploads/2021/04/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%93-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B5-2564.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net