Skip to main content
sharethis

กรีนพีซ เผย หลังล็อกดาวน์ 1 ปี ระดับมลพิษไนโตรเจนออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก แต่ยังน้อยกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ในขณะที่กรุงเทพฯ มลพิษเพิ่มสูงเทียบเท่าช่วงก่อนล็อกดาวน์

10 มิ.ย. 2564 รายงานการศึกษาวิจัยฉบับใหม่ของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าระดับมลพิษไนโตรเจนออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นในหลายเมืองทั่วโลกในรอบ 1 ปีหลังการล็อคดาวน์รอบแรกจากวิกฤตโควิด-19

“การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ตราบเท่าที่ระบบพลังงานและการคมนาคมยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล มลพิษทางอากาศจะยังคงเป็นวิกฤตใหญ่ด้านสาธารณสุข ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นเป็นเพียงผลพลอยได้ชั่วคราวจากการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ เราต้องหาทางออกที่ทำได้จริงในระยะยาวเพื่อช่วยให้เรามีอากาศสะอาดไว้หายใจ ไม่ว่าจะไปที่ไหนในเมืองก็ตาม การใช้พลังงานลม แสงอาทิตย์และระบบคมนาคมทางเลือกจากระบบพลังงานหมุนเวียนนั้นคุ้มทุนกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เราเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือทำในทันที” ดร.ไอแดน ฟาร์โรว์ นักวิทยาศาสตร์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ สากลกล่าว

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงระดับมลมิษไนโตรเจนออกไซด์โดยกรีนพีซ
 

ข้อค้นพบจากการศึกษาจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียม 

  • มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงอย่างมากในหลายพื้นที่ทั่วโลกในช่วงการล็อกดาวน์รอบแรกเมื่อต้นปี 2563 หากเทียบกับปีก่อนหน้านี้
  • 1 ปีภายหลังมาตรการล็อคดาวน์รอบแรกจากวิกฤตโควิด-19 มลพิษไนโตรเจนออกไซด์กลับมาเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ทำการศึกษาแม้ว่าจะพิจารณาถึงปัจจัยสภาพอากาศแล้ว ผลที่ได้ยังสอดคล้องกัน
  • จังหวัดเคาเต็ง ซึ่งเป็นที่ตั้งนครโยฮันเนสเบิร์ก เมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแอฟริกาใต้ มลพิษทางอากาศมีระดับเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหากเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่ระดับมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ในช่วงเดือนเม.ย. 2563 ลดลงราวร้อยละ 30 ทว่าช่วงปี 2564 ในเดือนเดียวกันนั้นกลับพบว่ามลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการระบาดครั้งใหญ่ถึงร้อยละ 47 
  • แม้ว่ามลพิษทางอากาศจะลดลงอย่างมากในช่วงต้นปี 2563 ในหลายๆ เมืองรวมทั้งกรุงเทพมหานคร และกรุงจาการ์ตา มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์กลับมาเพิ่มขึ้นเท่ากับก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19 ภายใน 1 ปีหลังการล็อกดาวน์รอบแรก
  • แม้ระดับมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์จะกลับมาเพิ่มขึ้นทุกเมืองในช่วงเดือน เม.ย. 2564 แต่มีบางเมือง เช่น ลอสแอนเจลิส และอู่ฮั่น มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19

ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ถูกปล่อยสู่บรรยากาศเมื่อเชื้อเพลิงถูกเผาไหม้ ซึ่งรวมถึงยานยนต์ การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรม เราสามารถลดการปล่อยมลพิษทางอากาศดังกล่าวลงได้โดยขยายระบบพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

บอนแดน อันดรียานู ผู้ประสานงานรณรงค์ กรีนพีซ อินโดนีเซีย กล่าวว่า ขณะที่รัฐบาลพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด นี่คือโอกาสสำคัญที่รัฐบาลจะผลักดันการลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และสนับสนุนระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและเข้าถึงได้ ในขณะเดียวกัน มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในช่วงล็อคดาวน์ เช่น การลดการเดินทางทางอากาศ การใช้จักรยานเพิ่มขึ้น และมีการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งหากยังดำเนินต่อไปหลังจากพ้นวิกฤตโรคระบาด ความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศก็จะลดลง

มลพิษทางอากาศไม่ได้กลับมาเพิ่มขึ้นเท่ากับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ทำการการศึกษา ส่วนหนึ่งอาจเพราะมาตรการควบคุมโรคระบาดยังคงมีผลบังคับใช้ในหลายพื้นที่

การวิเคราะห์โดยพิจารณาปัจจัยด้านสภาพอากาศ (Weather Correction analysis) ยืนยันว่าการลดลงของมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ในปี 2563 และการกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2564 มาจากการเปลี่ยนแปลงของการปล่อยมลพิษทางอากาศเป็นหลักเหลัก ในขณะที่ปัจจัยทางสภาพอากาศเป็นส่วนเสริม ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเพราะมาตรการควบคุมโรคระบาดยังคงมีผลบังคับใช้ในหลายพื้นที่ที่ทำการศึกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net