Skip to main content
sharethis

ภาษี 70 เปอร์เซ็นต์ถูกรัฐส่วนกลางดึงเอาไป ขณะที่ส่วนท้องถิ่นได้ไปเพียง 29 เปอร์เซ็นต์แทบไม่เหลือให้ใช้พัฒนาพื้นที่ ธนาธรเสนอว่าต้องรื้อระบบรัฐราชการรวมศูนย์และกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณกลับไปยังท้องถิ่น บวกกับ 3 ปฏิรูปเพื่อบรรลุภารกิจของคณะราษฎร

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเสวนาปรีดี ทอล์ค ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อใหญ่ว่า ‘89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน’ โดยมีประเด็นหลักว่าด้วยรัฐสวัสดิการ

‘ประชาไท’ นำเสนอเนื้อหาการบรรยายของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในหัวข้อ ‘สร้างประชาธิปไตยจากฐานรากผ่านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น’

ที่มาภาพ เพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute

น้ำประปาท้องถิ่นภาพสะท้อนปัญหารัฐราชการรวมศูนย์

คณะก้าวหน้าเห็นว่าการเมืองท้องถิ่นมีความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่น้อยไปกว่าการเมืองระดับชาติ เพราะคุณภาพของการเมืองท้องถิ่นจะสะท้อนมาถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่คณะก้าวหน้าให้ความสำคัญคือเรื่องของน้ำประปา ที่หลายคนอาจจะนึกว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ในหลายพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล ปัญหาน้ำประปายังเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาของศตวรรษที่ 20 ไม่ใช่ปัญหาของศตวรรษนี้ ซึ่งเรามีทรัพยากร ความรู้ และงบประมาณเพียงพอที่จะจัดการปัญหานี้ได้นานแล้ว

แต่ทำไมหลายที่ยังมีปัญหา เช่น น้ำประปาไม่เพียงพอใช้ น้ำประปาขุ่น ไม่สามารถนำมาทำความสะอาดได้ จากการเก็บสารที่ไม่มีมาตรฐาน โครงสร้างของโรงผลิตน้ำประปาที่ผุพังไม่มีการบำรุงรักษา ห้องเครื่องจักรที่ใช้ในการวางเครื่องสูบน้ำถูกปล่อยปละละเลย ซึ่งตนเชื่อว่านี่คือสภาพของโรงผลิตน้ำประปาส่วนใหญ่ที่อยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ

นายกเทศมนตรีของคณะก้าวหน้าได้รับตำแหน่งเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม หลังจากรับตำแหน่งเราเห็นว่าเรื่องน้ำประปาเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นจะต้องพัฒนาน้ำประปาให้สะอาดมีเพียงพอใช้ตลอดปี และในระยะกลางต้องทำให้ดื่มได้เหมือนในต่างประเทศ แต่จากการทำงานที่ผ่านมา เราพบว่าการปรับปรุงน้ำประปาทั้งระบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถใช้ดื่มได้ต้องใช้งบประมาณลงทุน 10-20 ล้านบาทต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลจำนวนมากเหลืองบลงทุนอยู่เพียงเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

เพียงเรื่องของน้ำประปานี้ก็สามารถสะท้อนปัญหาที่สำคัญมากในสังคมไทย คือปัญหาของระบบราชการรวมศูนย์

จะจ่ายให้ใคร รัฐส่วนกลางเป็นคนชี้

ทุกวันนี้ ประชาชนธรรมดาคนหนึ่งจ่ายภาษีอยู่สองทาง ทางหนึ่งให้กับราชการส่วนกลาง ทางที่สองเราจ่ายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งน้อยมาก อย่างในเทศบาลที่เราได้เข้าไปบริหารแห่งหนึ่ง มีรายได้เพียงปีละ 50 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายดำเนินการออกไปเหลืองบลงทุนเพียงปีละ 2 ล้านบาท ซึ่งยังต้องดูแลสวนสาธารณะ ศูนย์เด็กเล็ก ถนน ไฟฟ้า ระบบผลิตน้ำประปา และอื่นๆ ขณะที่ภาษีส่วนใหญ่ของเราจ่ายให้รัฐบาลที่ส่วนกลาง

ปัญหาคือพอจ่ายไปที่ส่วนกลาง แล้วให้ระบบราชการเป็นคนแจกจ่ายว่าจะเอางบที่มาจากภาษีเราไปลงที่ไหน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าภาษีควรจะเอาไปทำท่องเที่ยวที่สุราษฎร์ธานี หรือมาทำน้ำประปาที่อาจสามารถ หรือเราจะเอาภาษีส่วนนี้มาทำเรื่องโรงเรียนที่เพชรบูรณ์ ใครเป็นคนตัดสินว่าจะเอาภาษีไปทำอะไร

ประเด็นคือเรากำลังพูดถึงระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เรากำลังพูดถึงระบบ แต่ปัจจุบันภาษีของเราส่วนใหญ่ถูกเอาไปให้ที่รัฐส่วนกลาง และส่วนกลางเป็นคนแจกจ่ายเองว่าใครควรจะได้รับอะไร โครงการไหนควรจะได้รับการพัฒนา และนี่คือปัญหาที่สำคัญที่ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทย พูดง่ายๆ สมัยก่อนการเป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. ที่เก่งคือการดึงงบประมาณเข้าพื้นที่ได้และการใช้งบประมาณแบบนี้ได้สร้างการสวามิภักดิ์ทางการเมือง ยิ่งปีหลังๆ นี่ชัดเจนมาก ถ้าคุณไม่สวามิภักดิ์กับระบอบ คสช. คุณจะไม่ได้งบอะไรเลย ไม่ได้พัฒนาอะไรเลย

ที่มาภาพ เพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute

ประชาชนกำหนดอนาคตตนเองไม่ได้ ประชาธิปไตยไม่พัฒนา

งบที่ออกแบบมาจากราชการส่วนกลางเมื่อลงไปถึงพื้นที่แล้วไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน มันจึงไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน เช่น การเอาไปสร้างเลนจักรยานสวยงาม แต่ไม่มีคนขี่จักรยาน ใช้เป็นที่จอดรถ เพราะประชาชนไม่อยากได้เลนจักรยาน ทั้งๆ ที่ในพื้นที่เขาอยากได้คลองชลประทานเพิ่ม เป็นต้น และที่สำคัญมันไม่ได้พัฒนาประชาธิปไตย ไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน เป็นเจ้าของภาษีร่วมกัน ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่อยากจ่ายภาษีเพราะไม่รู้ว่าจะจ่ายภาษีไปทำไม

ที่สำคัญคือประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถกำหนดอนาคตของพวกเขาเองได้ ไม่สามารถกำหนดการพัฒนาของพวกเขาเองได้ พลังการพัฒนาของประเทศไทยที่อยู่ในต่างจังหวัดทั้งหมดจึงถูกกักขังไว้ ที่คอขวดคือระบบราชการรวมศูนย์

ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น สำหรับพนักงานบริษัทรับค่าแรงขั้นต่ำ เดือนหนึ่งจะได้อยู่ประมาณสองแสนเยน คือหกหมื่นบาท รายได้ส่วนนี้นำไปจ่ายภาษีให้ในระดับเทศบาลเยอะที่สุด ก็คือประมาณ 3.9 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นจึงจ่ายให้จังหวัดอีกประมาณ 2.4 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงจ่ายให้รัฐบาลส่วนกลางที่ประมาณ 2.1 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนรายได้ระหว่างส่วนกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ที่ส่วนกลาง 42 เปอร์เซ็นต์ ส่วนท้องถิ่นได้ 57 เปอร์เซ็นต์ แต่ในประเทศไทยรัฐส่วนกลางได้ไป 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนท้องถิ่นได้ไป 29 เปอร์เซ็นต์

ปฏิรูป 4 ด้านเพื่อบรรลุภารกิจคณะราษฎร

ดังนั้น ถ้าเราอยากจะพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นธรรมจริงๆ มันยังมีอีกมิติหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทที่จะต้องแก้ไขปฏิรูป และเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศที่จำเป็น เพื่อให้ประเทศเดินหน้าเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยซึ่งมีอยู่ 4 ด้านด้วยกัน คือการปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์ ยุติการผูกขาดอำนาจและงบประมาณที่กรุงเทพฯ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปฏิรูปกองทัพ

มีแต่ต้องทำสี่อย่างนี้ไปด้วยกันเท่านั้น เราจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการอภิวัฒน์สยามปี 2475 ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ พูดกันมาเมื่อ 89 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ยังทำไม่สำเร็จ สี่เรื่องที่ผมพูดเมื่อสักครู่ คณะราษฎรเคยพยายามที่จะทำมาแล้ว วันนี้ยังทำไม่สำเร็จ และผมเชื้อเชิญทุกท่าน สังคมวันนี้อาจจะอยู่ในภาวะที่หลายคนหมดหวัง หมดกำลังใจ แต่ผมอยากจะเชื้อเชิญว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ มีแต่การเดินหน้าร่วมกันต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม มีแต่ต้องใช้แรงของประชาชนเท่านั้น มาร่วมกันทำภารกิจ 2475 ที่ยังไม่บรรลุผลให้เสร็จที่รุ่นเรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net