ปาฐกถาปรีดีฯ (2) แล ดิลกวิทยรัตน์: สร้างกฎหมายประกันสังคมสำหรับทุกคนในสังคม

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุนนิยมเสรีถูกขับเคลื่อนโดยสหรัฐฯ จอมพลสฤษดิ์ทำลายเครื่องมือที่แรงงานจะใช้ปกป้องตนเองด้วยข้ออ้างเพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ 89 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แลเสนอให้แรงงานร่วมกันผลักดันกฎหมายประกันสังคมให้ครอบคลุมทุกคนเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเสวนาปรีดี ทอล์ค ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อใหญ่ว่า ‘89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน’ โดยมีประเด็นหลักว่าด้วยรัฐสวัสดิการ

‘ประชาไท’ นำเสนอเนื้อหาของวิทยากรแต่ละคนโดย แล ดิลกวิทยรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ ‘ก้าวต่อไปของการสร้างรัฐสวัสดิการ: จากสิทธิแรงงานสู่สวัสดิการพลเมือง’ ดังนี้

 

 

เส้นทางที่การอภิวัฒน์จะมุ่งไปสู่

ผมคิดว่าต้องไม่ลืมประเด็นที่อาจารย์ปรีดีพยายามจะบอกเราว่า การเปลี่ยนแปลงที่ถูกเรียกเป็นคำเฉพาะเจาะจงที่เราใช้กันว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เป็นอะไรที่ถูกทอนให้ไม่มีความรู้สึกอะไร แต่จริงๆ แล้วมันมี 2 คำที่ใช้กันอยู่ก็คือว่าการปฏิวัติสยามซึ่งอาจารย์ปรีดีก็บอกว่าจริงๆ แล้วคำว่าปฏิวัติมันไม่มีความหมายอะไร เพราะว่ารูปคำของมันแปลว่าการหมุนกลับ การเปลี่ยนกลับ ฉะนั้น ถ้าจะให้มีความหมายตรงตามความตั้งใจของคณะราษฎรก็ควรใช้คำว่า การอภิวัฒน์สยาม เพราะคำนี้แปลว่าการเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ทีนี้คำถามก็คือว่ามันเปลี่ยนจากอะไรไปเป็นอะไรและมันดีกว่าอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้สำคัญ เพราะว่าสิ่งที่อาจารย์ปรีดีพยายามผลักดันมี 2 อย่างประกอบกันก็คือความพยายามที่จะแก้ปัญหาในปัจจุบันขณะนั้นกับการหาทิศทางที่จะมุ่งไปสู่อนาคตที่ดีในทัศนะของอาจารย์ปรีดีและคณะราษฎรคิดที่ว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เป็นเส้นทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการใช้คำว่า อภิวัฒน์ จึงมี 2 อย่างที่ซ้อนกันอยู่คือตอนนั้นปัญหาของสังคมไทยเป็นอย่างไรและเรามุ่งที่จะไปสู่สังคมแบบไหน

ถ้าเราดูตัวเค้าโครงเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลืองซึ่งเป็นภาพสะท้อนของหลัก 6 ประการของคณะราษฎร นั่นก็คือการทำนุบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร เห็นชัดว่ามีความพยายามที่จะแก้ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือเรื่องประสิทธิภาพของการผลิต คือทำอย่างไรให้การผลิตซึ่งตอนนั้นส่วนใหญ่สังคมเราเป็นสังคมชาวนา การผลิตสำคัญก็คือสังคมเกษตร กับอันที่ 2 คือเราต้องการให้เศรษฐกิจไม่ขึ้นอยู่แต่เฉพาะกับการเกษตร แต่เราต้องการให้มันไปในทางอุตสาหกรรมด้วยเพราะมันจะช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน การมีชีวิตที่ไม่มั่นคง

ถ้าเป็นอย่างนี้จะเห็นได้ว่าข้อเสนอในการยกระดับการเกษตรก็คือการปฏิรูปที่ดิน เหตุผลคือต้องการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้าไปช่วยในการทำนา และอีกอันหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของการทำอุตสาหกรรม การค้า ซึ่งตอนนั้นปัญหาอยู่ที่ทุนทั้งหลายถูกครอบงำโดยถ้าไม่ใช่คนต่างชาติก็โดยเจ้านายขุนนาง ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือทุนใหญ่อย่างเช่นปูนซีเมนต์สยาม อันนี้ก็คือเส้นทางที่การอภิวัฒน์มุ่งที่จะไป

ความพ่ายแพ้ของสังคมนิยมแบบเสรี

การพยายามจะแก้ไขปัญหานี้ทำไมถึงบอกว่ามันสะท้อนปรากฏการณ์ สะท้อนบริบทของสังคมตอนนั้น ก็คงต้องบอกว่าจริงๆ แล้วก่อนหน้าที่จะเกิดการอภิวัฒน์ 2475 ซึ่งถ้าเป็น ร.ศ. ก็คือ ร.ศ.150 ก่อนหน้านั้นมันมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาก่อน นั่นก็คือกรณีกบฏ ร.ศ.130 ที่เราเรียกว่ากบฏยังเติร์กหรือกบฏเก๊กเหม็งซึ่งหัวหน้ากบฏคือร้อยเอกเหล็ง ศรีจันทร์ ท่านก็เขียนไว้ชัดเจนว่า ชีวิตของคนส่วนใหญ่คือชาวนานั้นไม่มีความมั่นคงเพราะว่ามันขึ้นอยู่กับน้ำ กับฝน ถ้าพอก็ดีไป ถ้าไม่พอก็ลำบาก น้ำท่วมก็ไม่ดี อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องโจร มันก็กลายมาเป็นโจทย์ของคณะราษฎรว่าจะทำยังไงให้เศรษฐกิจดีและมีความปลอดภัยในชีวิต

ทีนี้เรื่องของการทำนุบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร พูดง่ายๆ ก็คือหลักเศรษฐกิจนั้นจะมี 2 เรื่องที่สำคัญคือเรื่องประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นกับทำยังไงให้มีการแบ่งปันผลผลิตอย่างยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเกษตร การแบ่งปันผลได้จากการเกษตรที่สำคัญก็คือการแบ่งปันระหว่างเจ้าของที่ดินกับชาวนา เรื่องนี้ก็เถียงกันมามากว่าที่ดินดีๆ เป็นของใคร โดยสรุปก็คือพวกเจ้านายขุนนางเป็นเจ้าของที่ดินดีๆ

มีการเถียงกันว่างานของคาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน ที่มาสำรวจนั้นมันสะท้อนให้เห็นว่าชาวนาไร้ที่ดินของเรามีมากมายขนาดไหน เพราะฉะนั้นการพยายามที่จะแบ่งปันให้ยุติธรรมก็เลยโยงกับเรื่องของการเมือง นั่นก็คือทำอย่างไรให้ชาวนาได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งในเค้าโครงเศรษฐกิจก็คือรัฐบาลจะซื้อที่ดินด้วยการขายพันธบัตรแล้วก็มากระจายให้ชาวนาเพื่อที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ผลผลิตดีขึ้น แต่ว่ากระบวนการที่จะโยกย้ายกรรมสิทธิ์จากเจ้าของที่ดินรายใหญ่หรือเจ้าขุนนางไปสู่รัฐบาล เพื่อที่จะไปสู่ชาวนา มันกลายเป็นการเมืองใหญ่ที่สุดและทำให้เกิดความขัดแย้ง

เจ้านายอย่างพระปกเกล้าฯ ท่านก็ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ที่เราเรียกว่า สมุดปกขาว ผลที่เกิดขึ้นก็คือถามว่าสมุดปกเหลืองหรือเค้าโครงเศรษฐกิจนั้นแท้ที่จริงแล้วก็ลอกมาจากพรรคบอลเชวิคของรัสเซียนั่นเอง ผลที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรเอง ในประเด็นเค้าโครงเศรษฐกิจความเชื่อที่ว่ามันเป็นลัทธิ Solidarism หรือสังคมนิยมแบบเสรีนั้นก็เลยถูกทำลายไป

เศรษฐกิจชาตินิยมของจอมพล ป.

เมื่อมันเกิดการล้มแนวความคิดสังคมนิยมเสรี คำถามก็คือว่าทำอย่างไรฐานะของประชาชนจะดีขึ้นในเมื่อนโยบายปฏิรูปที่ดินล้มเหลว พ่ายแพ้ แปลว่ามองในแง่การเมืองคณะราษฎรไม่สามารถหาแนวร่วมจากชนชั้นชาวนาได้ ถ้าจะสู้กับระบอบเดิมต้องทำยังไง ในที่สุดก็นำไปสู่แนวคิดของจอมพล ป. เมื่ออาศัยการสนับสนุนจากชาวนาไม่ได้ก็ไปใช้กลไกอำนาจรัฐนั่นก็คือระบบราชการทหารมาสนับสนุน

ผลที่เกิดขึ้นก็คือการก่อตัวของลัทธิขวาจัดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโลก นั่นคือการเกิดขึ้นของแนวความคิดฟาสซิสต์ ดังนั้น การที่จะทำให้ประเทศเป็นประเทศของประชาชนมันก็สร้างแนวคิดเรื่องชาติขึ้นมา ความมั่นคงของชาติก็คือความมั่นคงของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไร่ชาวนา ก็มีการนำเรื่องชาตินิยมมาใช้ ในตอนนั้นเองที่ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เติบโตขึ้นมาแล้วมองไปที่ประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วก็คือประเทศเผด็จการขวาจัดอย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น

จอมพล ป. ก็สมาทานลัทธิชาตินิยมฟาสซิสต์เข้ามา เกิดเป็นเศรษฐกิจชาตินิยม เกิดรัฐวิสาหกิจในทางอุตสาหกรรม การค้า และเกิดสหกรณ์ที่จัดตั้งโดยภาครัฐขึ้นมา อันนี้ก็คือความพยายามที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชนด้วยการนำแนวคิดเรื่องชาติมาใช้ เพราะก่อนหน้านั้นไม่ได้ใช้เรื่องนี้

ทุนนิยมเสรีกับการทำลายเครื่องมือปกป้องตนเองของแรงงาน

อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดของระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ไปพร้อมกับการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลที่เกิดขึ้นก็คือสหรัฐอเมริกาด้วยการอาศัยกลไกระดับโลกของธนาคารโลกก็สร้างระบบเศรษฐกิจที่ตรงข้ามกับสังคมนิยมของคณะราษฎรและตรงข้ามกับแนวความคิดชาตินิยมของจอมพล ป. นั่นก็คือการสร้างระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งตรงนี้เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือการทำลายกลไกการปกป้องตัวเอง ทำลายเครื่องมือสร้างความมั่นคงของบรรดาคนงานต่างๆ

จะสังเกตได้ว่าเมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจ สิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ทำคือการยกเลิกกฎหมายแรงงาน 2499 ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นคนสนับสนุนให้ออก เมื่อล้มกฎหมายแรงงานก็หมายถึงว่าล้มสหภาพแรงงานไปด้วยเพราะสหภาพแรงงานเป็นกลไกการปกป้องสิทธิประโยชน์และความมั่นคงของคนงาน ถามว่าทำไมต้องล้ม ถ้าดูประกาศคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ฉบับที่ 19 ก็บอกชัดว่าต้องเลิกกฎหมายแรงงานและสหภาพแรงงานเพื่อที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการสร้างเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ ก็คือไม่ให้กฎหมายที่ประกันความมั่นคงและรายได้ของคนงานเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ทำให้แรงงานไร้เครื่องมือในการปกป้อง ทำให้แรงงานกลายเป็นสินค้าราคาถูก

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเอาเข้าจริงๆ การพยายามสร้างรัฐสมัยใหม่ที่นำโดยคณะราษฎรให้พ้นไปจากรัฐแบบจารีตนั้น มันเริ่มจากระบบสังคมนิยม ในช่วงอาจารย์ปรีดีอาจจะบอกว่าเป็นทางซ้าย แล้วก็ย้ายมาทางขวาเป็นชาตินิยมแบบจอมพล ป. แต่พอมาถึงสิ้นสุดสงครามมันก็กลายมาเป็นทุนนิยมเสรีซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจที่ทำให้แรงงานไร้เครื่องมือในการปกป้องตัวเอง ในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับตัวเอง

แน่นอนครับว่าการพยายามทำให้แรงงานอ่อนแอหรือไร้เครื่องมือในการปกป้อง เราเห็นได้บ่อยๆ คนที่เติบโตมาพร้อมๆ กับขบวนการแรงงานก็คงจะเป็นพยานได้ว่าในช่วงแรกๆ ของการพัฒนาอุตสาหกรรม ตอนนั้นผมเป็นนักเรียน ทุกเช้าริมคลองสาทรจะมีกรรมกรถือมานั่งตัวเล็กๆ เอาผ้าขาวม้าพาดไหล่มานั่งรอ สายๆ จะมีคนมาบอกเอา 10 คน 20 คน เขาเรียกระบบ เจี่ยวเท่าล้อ เหมือนคุณไปเกณฑ์คนมา 10 คน แต่ไปชาร์จคนที่เป็นคนจ้างเท่ากับ 12 แรง เป็นระบบนายหน้าแรงงาน

พวกนี้จะไปขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือเล็ก สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอก็คือพวกนี้ขนแล้วเหนื่อยตกน้ำตายหาเจ้าภาพไม่ได้ หานายจ้างไม่ได้ เพราะคนที่ติดต่อไปก็จะบอกว่าไม่ได้เป็นนายจ้าง เป็นแค่นายหน้าหาคน เจ้าของเรือก็จะบอกว่าผมไม่ได้เป็นนายจ้าง พวกนี้มาจากการจ้างของพวกนายหน้า นี่คือปัญหาใหญ่อันเป็นที่มาของกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ทำให้ต้องบอกว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบชีวิตของลูกจ้าง เหมือนหลังวิกฤตปี 2540 เราจะมีปัญหาแรงงานเหมาช่วง ไปทำงานในสถานประกอบการแห่งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ลูกจ้างของสถานประกอบการแห่งนั้น ได้ผลประโยชน์ไม่เท่ากัน เจ็บป่วยล้มตายก็บอกว่าไม่ใช่ จนกระทั่งต้องมีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วยการแก้กฎหมาย

จากกฎหมายคุ้มครองแรงงานถึงกฎหมายประกันสังคม

ประเด็นสำคัญก็คือว่าเมื่อเกิดปัญหาอย่างนี้มากขึ้น มันจึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแรกก็คือการเกิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานในราวปี 2515 คุ้มครองเรื่องค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน วันหยุด วันลาว่าจำเป็นต้องจำกัดชั่วโมงทำงานทำเลยจากนี้แล้วต้องได้ค่าโอที ทำงานวันหยุดต้องได้ค่าจ้างทำงานในวันหยุด ต้องลาคลอดได้ ก่อนหน้านี้ไม่มี ท้องก็ต้องลาออกไป ซึ่งตอนหลังมีการเรียกร้องก็เลยบอกว่าห้ามเลิกจ้างเพราะมีครรภ์

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราเห็นกันชัดเจนก็คือการใช้แรงงานแบบไม่มีการคุ้มครอง มันมาถึงจุดหนึ่งก็มีการเรียกร้องของคนงาน แล้วในที่สุดก็เกิดการเคลื่อนไหวทั้งคนงาน ทั้ง NGO ด้านแรงงาน ทั้งนิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป เรียกร้องให้เกิดกฎหมายประกันสังคมเพราะปัญหาใหญ่มันอยู่ที่กฎหมายแรงงานมันคุ้มครองการเจ็บป่วยล้มตายอันเนื่องมาจากการทำงาน แต่ถ้าคนงานโดยสารรถแล้วรถคว่ำตาย ไม่มีคนรับผิดชอบในส่วนนี้ ตายนอกงานไม่มีการรับผิดชอบ จึงมีการเรียกร้องให้คุ้มครองคนงานที่เจ็บป่วยล้มตายนอกงาน อันนี้คือที่มาของกฎหมายประกันสังคม

แต่พอมาถึงวันนี้มันมีปัญหาแล้ว เวลาพูดถึงเรื่องคนงาน ผู้ใช้แรงงาน ไม่ได้หมายถึงลูกจ้างอย่างเดียว เพราะกฎหมายประกันสังคมไม่ได้ประกันทั้งสังคม มันประกันคนที่เป็นลูกจ้างที่มีนายจ้างเป็นหลัก การมาขยายเป็นคนงานซึ่งเคยทำงานเป็นลูกจ้างแล้วลาออกจากงานหรือคนที่เป็นลูกจ้างไม่มีนายจ้างที่เรียกว่ามาตรา 39 มาตรา 40 มันเพิ่งมาขยายทีหลัง ฉะนั้น ประเด็นที่สำคัญก็คือถ้าจะพูดกันถึงเรื่องสวัสดิการสังคมหรือรัฐสวัสดิการ เราสามารถศึกษาได้จากพัฒนาการของกฎหมายประกันสังคมว่ามันผ่านการริเริ่มอย่างไร ต่อสู้อย่างไร มีอุปสรรคอย่างไรในแง่ของความคิด คนไม่เห็นด้วยเขาว่าอย่างไร เขาก็จะบอกว่าประกันสังคมทำให้พวกนี้ไม่ยอมทำงาน กลายเป็นคนขี้เกียจ ซึ่งมันก็ต้องมีการต่อสู้เพื่อล้มล้างความเชื่อตรงนี้ ฉะนั้น กระบวนการต่อสู้เพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการต้องใช้ทั้งการต่อสู้เชิงความคิดและพลังของคนที่จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้

ขยายกฎหมายประกันสังคมสู่ทุกคนในสังคม

สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกก็คือทำไมเราจะต้องมีการเคลื่อนไหว การต่อสู้ ผมบอกได้จากประสบการณ์ 40 กว่าปีในด้านแรงงาน ไม่เคยมีกฎหมายใดๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานออกมาด้วยการหยิบยื่นของรัฐเลย แม้แต่กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำทุกวันนี้ รัฐไม่เคยเป็นคนริเริ่มหรือให้ความคิดว่าปีนี้ค่าจ้างขั้นต่ำควรจะขึ้นเท่าไหร่ มันเริ่มจากการยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้าง การเสนอของลูกจ้าง การต่อรอง และการกดดันของลูกจ้าง สิ่งที่จะต้องประกอบกันเพื่อให้ได้มาก็คือการต่อสู้ในทางความคิด สอง การต่อสู้ด้วยการรวมพลังกัน จะเป็นการเรียกร้องโดยตรงอย่างที่ทำมาหรือกดดันนักการเมืองนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผมคิดว่าวันนี้โจทย์สำคัญที่สุดสำหรับการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการก็คือ การต่อยอด ขยาย กฎหมายประกันสังคมให้พ้นจากการประกันลูกจ้างกลายมาเป็นการประกันคนในสังคมทั้งหมด เพราะชื่อกฎหมายคือกฎหมายประกันสังคม ไม่ใช่กฎหมายประกันลูกจ้าง แต่ทุกวันนี้กฎหมายประกันสังคมไม่ได้ประกันทั้งสังคม ทำยังไงคนทุกชนชั้นที่จะได้ประโยชน์จากสวัสดิการจำเป็นจะต้องรวมตัวกันผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะว่าในระบบทุนนิยมปัจจุบันมันพยายามที่จะสร้างความไม่มั่นคงในชีวิตขึ้นมา ทำอย่างไรเราจะสร้างหลักประกันตรงนี้ขึ้นมาโดยการขยายกฎหมายประกันสังคมให้มีความหมายตามตัวพยัญชนะของมันให้เต็มที่

สุดท้าย หลายคนอาจบอกว่าเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการ เราพูดมาเมื่อ 89 ปีที่แล้วและเราก็ยังไม่ได้อะไรเลย และมันดูเหมือนกับว่าเรื่องนี้เป็นแค่ความฝัน แต่ผมอยากจะบอกว่าที่จริงแล้วการเรียกร้องอะไรแบบนี้มันก็เหมือนกับการเดินตามหาดวงดาว เราอาจจะเดินไปตามทาง อาจจะยังไม่ถึง แต่ถ้าเรามองย้อนหลังกลับไปจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 89 ปีที่แล้ว เราจะพบว่าเราเดินมาได้ไกลพอสมควร เรามาบนเส้นทางที่ถูกต้อง ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเราเดินเร็วพอหรือไม่กับความเปลี่ยนแปลง

ปี 2475 ประเด็นสำคัญอยู่ที่บริบทของสังคมไทยที่เป็นสังคมเกษตร สังคมศักดินา แต่โจทย์วันนี้อาจจะต่างไป วันนี้เราคงไม่เน้นหนักเรื่องปัญหาชาวนา การปฏิรูปที่ดิน แต่โจทย์ใหม่ๆ มันมี อย่างเช่นคนชรา ผู้หญิง และอะไรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบในบริบทของปีนี้ ฉะนั้น ผมคิดว่าเราต้องเดินต่อไปข้างหน้า แล้วเดินให้เร็วทันความเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่อาจารย์ปรีดีมอบไว้ให้ไม่ใช่รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่คือการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ให้สอดคล้องกับบริบทในช่วงนั้น เราต้องตอบโจทย์ร่วมสมัยให้ได้ นั่นคือสิ่งที่อาจารย์ปรีดีและคณะราษฎรได้ทิ้งไว้กับเรา ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ หลักการ ไม่ใช่วิธีการ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท