Skip to main content
sharethis

89 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยของไทยยังไม่ไปไหน ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ อนุสรณ์เสนอ 5 ข้อที่ต้องทำเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นธรรม โดยใช้ประชาธิปไตยเป็นทางออกจากวิกฤต

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเสวนาปรีดี ทอล์ค ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อใหญ่ว่า ‘89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน’ โดยมีประเด็นหลักว่าด้วยรัฐสวัสดิการ

‘ประชาไท’ นำเสนอเนื้อหาการบรรยายของวิทยากรแต่ละคนโดยเริ่มจาก อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งกล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ ‘เศรษฐกิจดุลยธรรมและแนวคิดโลกพระศรีอาริย์ของท่านปรีดี: ทางออกจากวิกฤตการณ์’ ดังนี้

 

 

89 ปีการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 2475

เนื่องในโอกาสครบรอบ 89 ปีในการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน วันนี้ถือเป็นวันสำคัญและจริงๆวันนี้เคยเป็นวันชาติของไทยแต่ว่าถูกยกเลิกไปเวลานี้ประเทศของเราต้องประสบปัญหาหลายด้านไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจวิกฤตการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจากโควิช 19 แพร่ระบาดทั้งสองวิกฤตได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเพิ่มขึ้นไปอีก

ผู้ที่สนใจในเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สนใจในเรื่องรัฐสวัสดิการ สนใจในเรื่องประชาธิปไตย ย่อมเห็นถึงบทบาทของคณะราษฎรและย่อมเห็นถึงบทบาทของปรีดี พนมยงค์

ถ้าเราย้อนกลับไป 89 ปีที่แล้ว บทบาทของปรีดี พนมยงค์ บทบาทของคณะราษฎร คณะราษฎรไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ไม่ใช่คนคนหนึ่งเท่านั้น แต่คนเหล่านี้คือตัวแทนความคิดของผู้ที่มีความกล้าหาญ เสียสละ และต้องการต่อสู้ให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกำเนิดขึ้นของประชาธิปไตยไทยวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม เป็นจุดเริ่มต้นของสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ว่าประชาธิปไตยไทยช่างลุ่มๆ ดอนๆ คดเคี้ยว 89 ปีแล้วเราไปไม่ถึงไหน

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราย้อนกลับไปเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เราจะพบว่าการก่อการของคณะราษฎรยึดถือสันติวิธี พยายามดำเนินการทุกอย่างอย่างรอบคอบรัดกุม ไม่ให้มีความรุนแรงและสูญเสียเลือดเนื้อเช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศอื่นๆ และต้องถือเป็นแบบอย่างของการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบและสันติ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการปฏิวัติสังคมในจีน สหภาพโซเวียต และตุรกีในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น คณะราษฎรได้ดำเนินการยึดอำนาจอย่างเฉียบพลันด้วยความละมุนละม่อม ขนาดที่รัชกาลที่ 7 พระองค์เองก็ทรงเห็นแก่ความสงบของบ้านเมืองยอมทำตามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร

แรงกระเพื่อมของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นภายหลัง เนื่องจากมีการโต้กลับการอภิวัฒน์ของกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎรคือสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเท่าเทียม และที่สำคัญที่สุดจิตวิญญาณของปรีดี พนมยงค์คือจิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ เพื่อความเป็นธรรม เพื่อความเท่าเทียม สังคมโลกพระศรีอาริย์ที่อาจารย์ปรีดีเขียนเอาไว้ในหนังสือหลายเล่มยังไม่เกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ในบ้านเมืองปัญหาโควิด-19 ได้ตอกย้ำปัญหาในเชิงโครงสร้างอันนี้ให้แจ่มชัดขึ้น

โลกพระศรีอารย์ของปรีดี พนมยงค์

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมักจะมีความก้าวหน้าขึ้นเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยและถดถอยทุกครั้งเมื่อมีรัฐประหารหรือการปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นโลกพระศรีอารย์ตามแนวความคิดและการนำเสนอของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ก็ดี หรือแนวความคิดเศรษฐกิจดุลยธรรมที่ผมพยายามพัฒนาต่อยอดจากปัญญาชนนักคิดหลายๆ ท่าน รวมทั้งเค้าโครงสมุดปกเหลืองก็ดี ล้วนมีเป้าหมายและพื้นฐานเดียวกันคือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่มีรากฐานมาจากประชาธิปไตยทางการเมืองที่มั่นคง ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ระบบรัฐสวัสดิการ ระบบสวัสดิการที่รัฐจัดบริการประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

โลกพระศรีอารย์ของปรีดี พนมยงค์ เป็นเหมือนสังคมและรัฐในอุดมคติ ตามความเชื่อของพุทธศาสนาแล้วเมื่อสิ้นสมัยพระพุทธเจ้านามพุทธโคดมก็จะเข้าสู่โลกพระศรีอาริย์ ผู้คนมีความสุข มีศีลธรรม มีความสงบสุข มีความเท่าเทียม มีแต่ความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน ไม่มีการเบียดเบียนกัน มีต้นกัลปพฤกษ์ที่คอยบันดาลสิ่งที่ต้องการตลอดเวลาซึ่งก็เหมือนรัฐสวัสดิการ ส่วนแนวคิดเศรษฐกิจดุลยธรรมนั้นต้องให้ระบบเศรษฐกิจมีสมดุล เกิดดุลยภาพใหม่ๆ ที่เป็นธรรม ภายใต้วิกฤตย่อมมีโอกาสในการผลักดันสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น

ถ้าเราไปดูแกนความคิดของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เราจะเห็นได้ว่าท่านยึดถือแนวทางภราดรภาพนิยมเพราะจะเป็นแนวทางที่ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขอย่างสันติ พื้นฐานความคิดของลัทธิ Solidarism หรือภราดรภาพนิยมมองว่ามนุษยชาติรวมกันเข้าเป็นร่างอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งช่วยให้เราเห็นภาพชัดว่าโควิด-19 ประเทศใดประเทศหนึ่งรอดประเทศเดียวไม่ได้ ทุกประเทศต้องรอดพร้อมกัน เมื่อมนุษยชาติรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็จะมีแต่ละบุคคลเป็นส่วนประกอบ การกระทำของแต่ละบุคคลจะมีผลกระทบซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ดีหรือการกระทำที่เลว ดังนั้น บุคคลจึงมีหนี้สินต่อกัน เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมกัน แนวคิดภราดรภาพจึงอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมมากกว่าการบังคับทางกฎหมาย คือเราคาดหวังกับจิตสำนึกกับพลังที่เป็น Soft Power ในขณะเดียวกัน แค่นั้นก็ไม่พอก็ต้องอาศัยกฎหมายด้วย

เมื่อการกระทำของเราไม่ว่าจะดีหรือเลวกระทบกับคนอื่น ฉะนั้น เมื่อมีความเหลื่อมล้ำมาก การผลักดันในเชิงกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภาษีทรัพย์สิน การผลักดันเรื่องสวัสดิการพื้นฐานบางเรื่องซึ่งประเทศไทยไม่มีก็ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น ถ้าเราดูแนวความคิดของภราดรภาพนิยมมันจะเป็นทางออกของปัญหาในปัจจุบัน แต่เราต้องเข้าใจว่าหลายคนที่ผลักดันรัฐสวัสดิการต้องตอบคำถามให้ได้ว่าไทยควรเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่ ไทยพร้อมเป็นรัฐสวัสดิการได้แค่ไหน

ประชาธิปไตยคือทางออกของวิกฤต

มันมีแนวความคิดเรื่องระบบสวัสดิการโดยเฉพาะรัฐสวัสดิการ แนวความคิดหนึ่งก็จะเน้นไปที่กลไกตลาดมากหน่อย แล้วจะต้องมีการคัดกรองก่อน อีกแนวหนึ่งเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยคือถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม พวกอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาหรือเสรีนิยมสุดโต่งก็มักจะโจมตีรัฐสวัสดิการหรือการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากรัฐว่าเป็นการสร้างภาระทางสังคม บั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ลดทอนแรงจูงใจของภาคธุรกิจในการประกอบการเชิงผลกำไรหรือเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการผูกขาดโดยรัฐในบางเรื่องอาจจะทำลายการแข่งขันในระยะยาว

ส่วนพวกมาร์กซิสต์ก็โจมตีว่ารัฐสวัสดิการเป็นการถ่วงเวลาในการปฏิวัติสังคมของชนชั้นกรรมาชีพ อย่างไรก็ตาม ประเทศทุนนิยมนำความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการมาใช้ควบคู่ไปกับการทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นทุนนิยมก็ปรับตัวและดำรงอยู่ได้ เป็นทุนนิยมแบบรัฐสวัสดิการเหมือนประเทศสแกนดิเนเวีย ส่วนระบบเศรษฐกิจที่วางแผนจากส่วนกลางแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หลายประเทศก็ล่มสลายไปเพราะมันอาจจะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นจริงของความเป็นมนุษย์

เราหันมาดูประเทศไทยจะพบข้อเท็จจริงก็คือประเทศที่มีระบบสวัสดิการแบบรัฐสวัสดิการจะมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพี 35-45 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ขณะที่ไทยมีระดับที่ 15-17 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าเราต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐ เราต้องปฏิรูประบบภาษี ไม่อย่างนั้นเราเป็นรัฐสวัสดิการไม่ได้ ในขณะเดียวกันเพราะว่าภาษีเทียบกับจีดีพีโดยเฉพาะรายได้ภาษี มันจะเป็นตัวบอกว่าระบบสวัสดิการจะมีความยั่งยืนหรือไม่ แล้วในขณะเดียวกันฐานะการเงินการคลังมันสนับสนุนไหวหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการไม่ว่าจะเป็นสแกนดิเนเวีย เยอรมนี หรือสหรัฐอเมริกาซึ่งก็ไม่ใช่รัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ มีรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ประเทศไทยมีแค่ไหน ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเงินส่วนหนึ่งก็ยังเอาไปซื้ออาวุธกันอยู่ เงินส่วนหนึ่งก็เอาไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นมากในสภาวะที่บ้านเมืองมีปัญหา

นี่คือประเด็นที่ผมฝากเอาไว้และผมเห็นว่าทางออกของวิกฤตคือประชาธิปไตยของประชาชน ประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวความคิดของปรีดี พนมยงค์ และเศรษฐกิจต้องเป็นเศรษฐกิจดุลยธรรมก็คือนอกจากเป็นธรรมแล้วต้องสมดุลด้วยตามสภาวะเหตุปัจจัยความพร้อมของประเทศ ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอระยะยาวว่าจะต้องขับเคลื่อนสู่ตรงนี้

5 ข้อที่ต้องทำ

เฉพาะหน้าปัญหาคืออะไร ประการที่ 1 ต้องผลักดันให้เกิดความคืบหน้าของรัฐสวัสดิการพร้อมการปฏิรูปรายได้ภาครัฐ เวลานี้มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว แต่กำลังจะมีปัญหาความยั่งยืนทางการเงิน ทำยังไง นี่คือโจทย์ แล้วเราจะผลักดันเรื่องระบบบำนาญชราภาพถ้วนหน้าจะเอาเงินจากส่วนไหน

ประเด็นที่ 2 การปฏิรูปตลาดแรงงานการต่อสู้ของขบวนการแรงงานเพื่อให้เกิด ILO 8798 สู้มา 20 กว่าปีแล้วทำไมมันยังไม่เกิดสักที ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดแค่ไปเซ็นยอมรับอนุสัญญาข้อนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการรวมตัวของขบวนผู้ใช้แรงงาน ทำให้ผู้ใช้แรงงานสามารถมีอำนาจต่อรองมากขึ้น มีสิทธิ์มากขึ้นในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน

ประเด็นต่อมา รัฐสภาเพิ่งจะผ่านกฎหมายประชามติ ควรจัดให้มีการถามความเห็นประชาชนด้วยว่าประชาชนต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. ที่มาจากประชาชนหรือไม่ ถามประชาชนเลยไม่ต้องทะเลาะกัน

ประเด็นที่ 4 ต้องรักษาพื้นที่ของสิทธิมนุษยชน พื้นที่ประชาธิปไตย พื้นที่สันติวิธี พื้นที่สำหรับคนเห็นต่างเอาไว้ให้ได้ การรักษาพื้นที่ดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเกิดขึ้นอย่างสันติและจะใช้เวลายาวนานแต่จะสันติ การต่อสู้ระหว่างพลังที่ผมเรียกว่าฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยหรือนักวิชาการบางท่านอาจจะเรียกว่า Deep State รัฐพันลึกกับฝ่ายประชาธิปไตยมันจะยืดเยื้อ คงไม่ใช่ 5 ปี แต่มันยาวนานกว่านั้น เมื่อมันยาวนานและเราเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีความเห็นที่แตกต่างและต่อสู้กันด้วยเหตุด้วยผล ต่อสู้บนวิถีทางรัฐสภา ตั้งพรรคการเมืองมาสู้กัน ประเทศก็จะไปได้ ไม่มีรัฐประหาร ไม่มีความรุนแรงอีก

ประการที่ 5 ต้องเอาชนะความไม่ไว้วางใจต่อกันด้วยการสานเสวนาเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ อันนี้เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลมากที่สุด เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถทำให้เกิดความไว้วางใจให้คนมาคุยกันได้ เราดูอย่างเนลสัน แมนเดลา ดูอย่างหลายประเทศที่แก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงเพราะเปิดพื้นที่และมีความไว้วางใจต่อคนมีอำนาจว่าจะแก้ปัญหาให้ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net