Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล ร่วมด้วยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นหนังสือถึงคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ เรียกร้องให้ทางการมีการปล่อยตัว อัญชัน ปรีเลิศ วัย 65 ปี ผู้ถูกคุมขังยาวนานที่สุดภายใต้ ม.112 โดยทันที และไม่มีเงื่อนไข 

อัญชัน ปรีเลิศ ผู้ต้องขังจากคดี ม.112 ยาวนานที่สุดของไทย
 

7 ก.ค. 64 ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานบนสื่อออนไลน์เว็บไซต์ วันนี้ (7 ก.ค.) ระบุว่า สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights - FIDH) ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (United Nations Working Group on Arbitrary Detention - UN WGAD) เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอัญชัน ปรีเลิศ ผู้ต้องโทษจำคุกที่ยาวนานที่สุดภายใต้มาตรา 112 ซึ่งขณะนี้อัญชัน ในวัย 65 ปี ถูกจองจำอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง ใน กทม. 


ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า สำหรับคดีของอัญชัญ ย้อนไปเมื่อ 19 ม.ค. 64 ศาลอาญากรุงเทพ พิพากษาโทษจำคุก 89 ปี แก่อดีตข้าราชการสรรพากร อัญชัญ ปรีเลิศ เนื่องจากอัปโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงจำนวน 19 ชิ้นบนสื่อโซเชียลมีเดีย จำนวน 29 ครั้ง ระหว่างวันที่ 12 พ.ย. 2557 ถึงเดือน ม.ค. 2558 โดยเจ้าหน้าที่พิจารณาว่าคลิปเสียงเหล่านั้นมีเนื้อหาหมิ่นประมาทต่อราชวงศ์ไทย ทั้งนี้ ศาลได้ลดโทษจำคุกลงเหลือ 43 ปี 6 เดือน เนื่องจากเธอรับสารภาพ

มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ระบุโทษจำคุกแก่ผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ใดที่ละเมิดมาตรา 112 จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ในแต่ละกรรม

“โทษจำคุกสถานหนักของอัญชัญนั้นไม่ต่างอะไรกับคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตต่อการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติ รัฐบาลไทยต้องปล่อยตัวอัญชัญและยุติการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในทางที่ผิดโดยทันที” อดีล ราห์เมน คาน, เลขาธิการใหญ่แห่ง FIDH กล่าว


FIDH และ TLHR เห็นว่าการดำเนินคดีและการลิดรอนเสรีภาพของอัญชัน เป็นการละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีด้วยความยุติธรรมและสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธิข้างต้นได้รับการรับรองด้วยมาตรา 14 และมาตรา 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights; ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

“อัญชัญถูกดำเนินคดีภายใต้ศาลทหารด้วยกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทั้งเรื่องการควบคุมตัวเป็นเวลานานตั้งแต่ก่อนและระหว่างการพิจารณาคดีและโทษจำคุกสถานหนักแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน รัฐบาลไทยต้องแก้ไขความผิดที่ได้กระทำต่ออัญชัญ และปล่อยตัวเธอโดยทันที” เยาวลักษ์ อนุพันธ์ุ, หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว


อัญชัญ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558 และถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลาห้าวัน ในช่วงแรก คดี 112 ของอัญชัญอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลทหาร คำร้องยื่นขอประกันตัวของเธอถูกปฏิเสธซ้ำหลายครั้ง ทำให้เธอต้องถูกกักขังเป็นเวลาทั้งสิ้นสามปีกับ 281 วันก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2561 คดีของเธออยู่ภายใต้ศาลทหารกรุงเทพ จนกระทั่งเดือน ก.ค. 2562 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้โอนย้ายการพิจารณาคดีความของพลเรือนที่อยู่ภายใต้ศาลทหารไปยังศาลพลเรือน

นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2555 คณะทำงาน WGAD พบว่า การลิดรอนเสรีภาพของบุคคลถึงแปดคนซึ่งที่ถูกควบคุมตัวด้วยมาตรา 112 นั้นถือเป็นการควบคุมตัว “โดยพลการ” พวกเขาได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดในเวลาต่อมา ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา กลไกตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายภาคส่วนได้ย้ำข้อกังวลซ้ำหลายรอบต่อการบังคับใช้ ม. 112 โดยทางสหประชาชาติได้กล่าวมาโดยเสมอว่า กฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และได้เรียกเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยุติ ม. 112 พร้อมทั้งปล่อยตัวจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ทุกคน

FIDH และ TLHR ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวอัญชัญ โดยทันที และโดยไม่มีเงื่อนไข ม. 112 ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้ประเทศไทยสอดคล้องกับพันธะหน้าที่ภายใต้กติกา ICCPR ของประเทศไทยและรัฐบาลไทยต้องละเว้นการจับกุม ดำเนินคดี และกักขังบุคคลใดก็ตามเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการพูดและแสดงออก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net