ปิดแคมป์คนงาน 14 วันคนงานเกือบ 7 แสนคนยังไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผ่านมา 14 วัน หลัง คำสั่งฉบับที่ 25 ตามกฎหมายฉุกเฉิน สาระสำคัญคือสั่งหยุดทำงานก่อสร้างพร้อมปิดแคมป์คนงานเพื่อตรวจหา และควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ 10 จังหวัด แบ่งเป็นชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด กรุงเทพฯ -ปริมณฑล อีก 6 มีผลบังคับใช้ 28 มิถุนายน - 27 กรกฎาคม 2564

หากเราย้อนกลับไปดูแผนงานการสั่งปิดแคมป์คนงานในครั้งนี้ จะพบว่า แผนของรัฐบาลแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ หนึ่งคือมาตรการด้านการเยียวยา สองมาตราการตรวจเชิงรุกและจัดการกับผู้ป่วยภายในแคมป์

ในส่วนของการเยียวยา รัฐบาลได้ประกาศออกมาว่า มาตรการเยียวยาหลังล็อคดาวน์ จะจัดให้มีข้าวสามมื้อให้แก่คนงาน สุดท้ายก็โยนให้แต่ละบริษัทจัดหาเอง บางบริษัทก็มีการจัดหา บางบริษัทก็ปล่อยคนงานตามกรรม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เห็นได้ตามข่าว ที่คนงานออกมาขอรับบริจาคเต็มไปหมด ผมเข้าใจว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็คงได้อ่านข่าวแต่ทำไมเข้ามาบริหารจัดการปัญหานี้สักที จนตอนนี้ประชาชน ต้องตั้ง ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ ขึ้นมาแล้วเพราะทนเห็นเพื่อนมนุษย์ลำบากไม่ได้

        

ส่วนการ ชดเชย และเยียวยา รัฐบาลมีมาตรการดังนี้

ผู้อยู่ในระบบประกันสังคม กระทรวงแรงงานจ่ายค่าแรงให้กับแรงงาน 50% ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท รัฐบาลจะจ่ายเงินให้ลูกจ้างเพิ่มเติมอีก 2,000 บาท และกระทรวงแรงงานจ่ายเงินช่วยเหลือนายจ้าง 3,000 บาทต่อการจ้างงาน 1 คน แต่สูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นเวลาเวลา 1 เดือน ผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม มีฐานข้อมูลผู้ประกอบการจากระบบถุงเงิน หากต้องการได้รับการช่วยเหลือ ต้องขึ้นทะเบียนเข้าระบบประกันสังคมภายใน 1 เดือน จากนั้นรัฐบาลจะช่วยเหลือให้ลูกจ้างที่เป็น ‘สัญชาติไทย’ เป็นเงิน 2,000 บาท เวลา 1 เดือน และนายจ้าง 3,000 บาทต่อการจ้างงาน 1 คน แต่สูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นเวลาเวลา 1 เดือน

มาตรการชดเชยจากประกันสังคมและเยียวยาจาก พ.ร.ก เงินกู้ ข้างต้นนี้ ผ่านมา 14 วัน แล้ว ปัจจุบันผมยังได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาอยู่เลยว่า คนงานที่ถูกสั่งปิดแคมป์ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาแม้แต่บาทเดียว ข้อมูลจากทางฝั่งรัฐบาลโดยการออกมาให้สัมภาษณ์ของกระทรวงแรงงานก็ดูเหมือนจะสับไปสับมา วันที่ 9 ก.ค. โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ออกมาเปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 โดยตัดจ่ายระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2564 ได้มีการจ่ายให้แก่ลูกจ้างจำนวน 13,655 ราย เป็นเงิน 28,494,966.60 บาท[1] พอมาถึงวันที่ 11 ก.ค. รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม ก็ออกมาบอกว่า เบื้องต้นได้ช่วยเหลือแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเพราะเหตุสุดวิสัย ร้อยละ 50 ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 7,500 บาท ล่าสุด สปส. ได้เริ่มจ่ายเยียวยาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รวมเป็นเงิน 878,167.25 บาท และ ‘กำลังดำเนินการวินิจฉัย’ เพื่ออนุมัติเงินให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในงวดถัดไป อีกจำนวน 13,665 ราย วงเงินรวม 28,494,966.60 บาท[2]

ถ้าสรุปตามที่ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม ออกมาให้ข่าวล่าสุด ก็คือยังไม่ได้จ่ายนั่นแหละ จ่ายไปแค่ 8 แสนกว่าบาท ไม่ใช่ 28 ล้านแบบที่โฆษกกระทรวงแรงงานให้ข่าวในตอนแรก คำถามถัดไปคือ แล้ววันไหนจะจ่าย วันไหนจะพิจารณาอนุมัติเสร็จ ปกติพวกเขาต้องได้รายได้วันต่อวัน แต่ปัจจุบันคนงานที่ถูกสั่งหยุดงานปิดแคมป์ วันนี้ไม่มีรายได้มา 14 วันแล้ว นี่ยังไม่นับรวมคนงานก่อสร้างส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่นอกระบบที่หากจะได้เงินเยียวยาจำนวน 2,000 ในส่วนของเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ต้องรอถึงวันที่ 23 ก.ค. แถมยังมีเงื่อนไขในการรับเต็มไปหมด คนงานกำลังจะตายในช่วงวิกฤติแต่ระบบราชการยังคงทำงานตามกรอบที่วางไว้ต่อไป นี่แสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รัฐบาลต่ออายุเรื่อย ๆ มาเนี่ย ไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้กับการดำเนินนโยบายในภาวะวิกฤติเลย

ในส่วนของ มาตราการตรวจเชิงรุกและจัดการกับผู้ป่วยภายในแคมป์ ตอนที่รัฐมนตรีแรงงานออกมาชี้แจงมาตรารช่วงแรก ได้ประกาศไว้ว่า ในส่วนของการ ตรวจเชิงรุกแบบ Swab Test จะทำโดยทีมแพทย์ในเครือประกันสังคม กรณีเจอผู้ติดเชื้อก็นำไปรักษา คนไม่ติดเชื้อก็ให้อยู่ที่แคมป์ แยกออกจากกัน เพื่อตอบสังคมให้ได้ว่าปิดเพื่อทำการค้นหาเชิงรุกตรวจโควิด รวมถึงกำลังหารือว่าระหว่างกักตัวหากถึงคิวฉีดวัคซีนโควิด-19[3] แต่ปัจจุบัน ก็ไม่แน่ใจว่ามีทีมเข้าไปตรวจจริงกี่แคมป์ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขการเข้าไปตรวจออกมา แล้วเมื่อตรวจแล้วมีการแยกคนป่วยออกอย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน หลายภาพที่ออกมาตอนนี้ก็น่าจะตอบคำถามได้ดี (ภาพแคมป์คนงานย่านวิภาวดี 20)

     
สภาพการคัดแยกผู้ป่วยหลังตรวจ

ปัจจุบันนี้ เราทราบในเบื้องต้นจากการแถลงของ รัฐมนตรีแรงงานว่า มีคนงานในแคมป์ประมาณ 697,000 คน[4] อีกทั้งยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขคนงานที่มีสิทธิต้องได้รับเงินชดเชยส่วนของประกันสังคม และตัวเลขคนงานที่ตกหล่นจากระบบ ตัวเลขคนงานข้ามชาติ รวมไปถึงตัวเลขการเข้าไปตรวจหาโรคตามแคมป์คนงาน จากทางกระทรวงแรงงานแต่อย่างใด

14 ผ่านไปรัฐบาลนำเงินคนงานส่วนประกันสังคมชดเชยคนงานแคมป์ไป 8 แสนกว่าบาท และกำลังทำเรื่องอยู่อีกกว่า 28 ล้านบาท สำหรับคน 13,665 คน คิดเป็น 1.96% ของจำนวนคนงานทั้งหมด แล้วคนอีก 6 แสนกว่าคนที่ไม่มีรายได้แถมถูกกักมาเกินครึ่งเดือนแล้วรัฐบาลจะทำยังไงต่อไป  แล้วคนงานทั้งหมด 6.97 แสนคนจะได้ชดเชยเยียวยาครบถ้วนเพียงพอหรือไม่ เพราะคนเหล่านี้ขับเวลาเคลื่อนเศรษฐกิจ คนงานทุกคนทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่พอรัฐจะชดเชยเยียวยา จะมาเลือกปฏิบัติไม่ได้ และที่สำคัญที่สุด คนงานแคมป์เหล่านี้มีความเป็นมนุษย์เท่ากันทุกคน เท่ากับผม เท่ากับท่านรัฐมนตรีแรงงาน

 

อ้างอิง

[1] มติชนออนไลน์ , (9 กรกฎาคม 2564) , โฆษกแรงงาน โต้ ส.ส.มด ประกันสังคมจ่ายเยียวยาคนงานในแคมป์ไปแล้วกว่า 28 ล้านบาท , https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2819915

[2] ผู้จัดการออนไลน์ , (11 กรกฎาคม 2564) , สปส.จ่ายเยียวยากรณีปิดแคมป์คนงานก่อสร้างแล้วกว่า 8 แสนบาท , https://mgronline.com/uptodate/detail/9640000067524

[3] ไทยรัฐออนไลน์ , (26 มิถุนายน 2564) , สรุปมาตรการปิดแคมป์คนงาน งดเคลื่อนย้าย ตรวจเชิงรุกแยกคนติดเชื้อ ลุยฉีดวัคซีน , https://www.thairath.co.th/news/politic/2125576

[4] บีบีซี ไทย , (27 มิถุนายน 2564) , โควิด-19: นายกฯ ใช้งบประมาณจากเงินกู้และประกันสังคม 7.5 พันล้าน เยียวยาผู้ประกอบการ-แรงงานใน 6 จังหวัด , https://www.bbc.com/thai/thailand-57629204

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท