Skip to main content
sharethis

กิจกรรม 'LGBTQIAN+ ในสังคมมุสลิม' ความเป็นอิสลามิกชนกับการดำรงอัตลักษณ์ตามเพศสภาพ แนะควรร่วมกันสร้างพื้นที่ให้ LGBTQIAN+ ที่นับถือศาสนาอิสลามสามารถเสริมพลังตนเองได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย มีการพูดคุยเพื่อการโอบอุ้ม ดูแลด้วยความเมตตาและเคารพซึ่งกันและกัน 

LGBT

ทีมสื่อคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2564 ครป. ร่วมกับกลุ่ม FreeEnby TH และกลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการสนทนาบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse (คลับ FREE ENBY TH)ในหัวข้อ “LGBTQIAN+ ในสังคมมุสลิม : ความเป็นอิสลามิกชนกับการดำรงอัตลักษณ์ตามเพศสภาพ” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 700 คน วิทยากรประกอบด้วย ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และอดีตกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้าและอดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่, สุนี ไชยรส ที่ปรึกษา ครป. ด้านขบวนผู้หญิง ความเท่าเทียมทางเพศ และผู้ด้อยโอกาส, อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ เจ้าหน้าที่สื่อสาร มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, นาดา ไชยจิตต์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. และผู้ประสานงานด้านประชาธิปไตย กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย
    
เริ่มต้นรายการโดย นาดา ไชยจิตต์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเองเป็นมุสลิมะห์ในพื้นที่ภาคใต้โดยกำเนิด ตนก็เติบโตมากับเสียงนินทาและคำถามมากมายจากคนรอบข้างกับการที่ตนแสดงออกพฤติกรรมอย่างเพศหญิง แทนที่จะเป็นอย่างเด็กผู้ชายตามเพศที่ถูกกำหนด ตอนที่ต้องเข้าทำสุหนัต การที่ตนเป็นIntesex(ภาวะอวัยวะเพศกำกวม)เราก็จะมีอวัยวะเพศไม่เหมือนเด็กชายคนอื่นๆ ทั้งในเอกสารราชการตนก็ยังต้องใช้คำนำหน้าชื่อเป็น “นาย” ทั้งๆที่ตนเติบโตมาด้วยสำนึกทางเพศเป็นหญิง ก็เป็นปัญหาในการติดต่อราชการต่างๆ ส่วนในด้านครอบครัวก็ต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากเครือญาติฝั่งคุณพ่อซึ่งเป็นพุทธ และฝั่งคุณแม่ที่เป็นมุสลิม จนกระทั่งเวลาต่อมาเมื่อได้มาเติบโตที่กรุงเทพฯ ความรู้สึกของตนดีขึ้นจากการอยู่ในสังคมที่ตนใช้ชีวิตอย่างเพศสภาพเป็นหญิงได้ อนึ่งตนก็ได้เติบโตมากับคำสอนในศาสนาอิสลามว่า ในทุกๆวัน ไม่มีมนุษย์ผู้ใดที่ทำบาปทุกวัน และก็ไม่มีมนุษย์ที่สามารถทำดีได้ทุกๆวัน ดังนั้นหากจะตีความว่าการมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดนั้นเป็นบาป ก็ควรต้องตั้งคำถามว่า แล้วมีผู้ใดบ้างที่ไม่มีบาปโดยสิ้นเชิง การตัดสินความเป็นบาปควรเป็นเรื่องระหว่างบุคคลกับพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่?
    
อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ เจ้าหน้าที่สื่อสาร มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าว่าตนเป็นผู้หญิงมุสลิมะห์ที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณย่าเป็นผู้นำครอบครัว ในขณะที่สังคมมุสลิมภายนอกยังไม่ให้การยอมรับบทบาทของผู้หญิง ทั้งๆที่ ในอัลกุรอานก็ระบุว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างให้มนุษย์ทั้งชายและหญิงมีความเท่าเทียมกัน จนต่อมาตนเรียนทางด้านวารสารศาสตร์ ก็สนใจด้านสิทธิมนุษยชน พอชั้นปีที่3 ตนเลือกทำข่าวเรื่องเด็กนักเรียนที่เป็น “ปอแน” (คนข้ามเพศ) ทำให้พบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนอิสลาม โดยที่เด็กที่เป็นปอแนจะถูกทางโรงเรียนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ตรวจค้นกระเป๋าเพื่อตรวจว่าพกยาฮอร์โมนหรือเครื่องสำอางมาโรงเรียนหรือไม่ ทั้งยังมักจะถูกเพื่อนนักเรียนชายกลั่นแกล้งโดยที่ครูไม่ให้ความช่วยเหลือทั้งยังพูดจาซ้ำเติม 
    
เด็กที่เป็นปอแนมักถูกคนในครอบครัวตบตี ทำร้าย ด่าทอ จนต้องไปรับการฟื้นฟูที่บ้านพักของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ แต่พอกลับมาในครอบครัวก็ถูกกระทำความรุนแรงเช่นเดิมจนต้องกลับมาบ้านพักอีก หลายคนเมื่อเติบโตจึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานและกลายเป็นบุคคลผู้ไม่นับถือศาสนา(Atheist)โดยที่แม้แต่ครอบครัวเองก็ยังไม่รู้ 
    
อิชย์อาณิคม์ยังเล่าต่อไปอีกว่า บุคคลที่เป็นหญิงรักเพศหญิง(Lesbian)ในสังคมมุสลิมจะดูออกยากมากๆ เพราะในสังคมอิสลาม เพียงการมีเพศกำเนิดมาเป็นหญิง ก็มีชีวิตที่ยากในสังคมชายเป็นใหญ่อยู่แล้ว การที่ต้องการเพียงแค่ได้ใช้ชีวิตเป็นโสด ไม่ต้องแต่งงานกับผู้ชาย ไม่ต้องการมีบุตร ก็เป็นสิ่งที่อธิบายกับครอบครัว เครือญาติได้ยาก มิต้องพูดไปถึงเรื่องการได้ใช้ชีวิตคู่กับผู้หญิงที่ตนรัก 
    
สุนี ไชยรส ที่ปรึกษา ครป. ได้แสดงความเห็นว่าในช่วงที่ตนเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การได้ลงพื้นที่ชุมชนมุสลิมตนมีความประทับใจในน้ำใจไมตรีค่อนข้างมาก และเห็นว่าวันนี้สังคมไทยให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท ปัจจุบันตนในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ให้นักศึกษาได้พูดคุยกันเรื่อง LGBTQIAN+ เยาวชนรุ่นนี้จะเข้าใจ ยอมรับ และต้องการผลักดันสิทธิให้ LGBTQIAN+ กันเยอะมาก อยากเป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเขา 
    
สุนียังกล่าวต่อไปอีกว่า เราต้องเคารพในหลักสิทธิที่ทุกคนจะเป็นศาสนิกชนได้ อยากให้สังคมลองเปิดใจมองคนอย่างเป็นคน เราควรภูมิใจที่พวกเขาจะได้พิสูจน์ความเป็นอิสลามิกชนของตน พร้อมกับเคารพในเพศสภาพที่เขาเลือก 
    
ส่วนพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้เล่าว่าตนเติบโตมาในพื้นที่แขวงบางอ้อ ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม ก็จะได้เห็นพลวัตการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในชุมชน วันเวลาผ่านไปก็ได้พบเห็นว่าในช่วงหลัง ชาวมุสลิมมีความเคร่งครัดมากขึ้นในเรื่องการคลุมฮิญาบ (ผ้าคลุมร่างกายสำหรับชาวมุสลิมะห์ หรือมุสลิมเพศหญิง) จนพอได้ศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ ก็เลยเข้าใจเรื่อง Islamization ที่สังคมอิสลามมีการปรับปรุงแบบแผนจารีตของตนให้เคร่งครัด เข้มข้นขึ้น เพื่อต่อต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา ซึ่งก็ส่งผลให้ LGBTQIAN+ ต้องเก็บซ่อนอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนกันมากขึ้น 
    
แม้แต่ช่วงที่ตนได้ขับเคลื่อนพรรคอนาคตใหม่ จุดยืนของพรรคก็คือการหาแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค ก็พบว่าการลงไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ประชาชนที่เราได้พูดคุยมากมายเห็นด้วยกับจุดยืนของพรรค แต่ขอยกเว้นเรื่อง LGBTQIAN+ อย่างไรก็ดี มีพี่น้องมุสลิมหลายคนก็ได้ทำงานร่วมกับพรรคโดยไม่แสดงท่าทีรังเกียจ LGBTQIAN+ กระนั้นนอกจากเรื่อง LGBTQIAN+ ทางพรรคเองก็ต้องงดนำเสนอบางนโยบายอื่นๆของพรรคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เช่น เรื่องสุราเสรี 
    
ณ ปัจจุบันก็มีคนทำงานตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่มาจนถึงยุคพรรคก้าวไกลที่ทำงานกับเหล่าผู้นำ ครูสอนศาสนาอิสลามนั้นก็เป็นบุคคลเพศ LGBTQIAN+ 
    
พรรณิการ์ได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า สุดท้ายแล้ว คุณเชื่อในสันติภาพ เคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันหรือไม่?
    
มาถึง ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เล่าประสบการณ์จากการที่ได้เคยเจอกับโต๊ะครูคนหนึ่งที่ศึกษาจากประเทศอาหรับเมื่อนานมาแล้ว พูดว่า “มียาขนานเดียวที่จะรักษาพวกคนรักเพศเดียวกัน คือ ต้องฆ่าทิ้งเท่านั้น!” ตนในฐานะที่เป็นมุสลิมเช่นกันรู้สึกตกใจมากกับวิธีคิดเช่นนี้ จนเมื่อได้ถูกเชิญไปพูดในเรื่องนี้ที่ร้าน Book Republic เมื่อหลายปีก่อน จึงได้ค้นดูเอกสารเกี่ยวกับทัศนะของอิสลามในเรื่องนี้และพบว่า มีนักวิชาการมุสลิมพูดไว้หลายทัศนะโดยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 

นักวิชาการกลุ่มแรก เป็นกลุ่มต่อต้านอย่างสุดขั้วมองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นบาปใหญ่ และต้องลงโทษอย่างรุนแรงด้วยการฆ่า โดยอ้างถึงประวัติศาสตร์สมัยนบีลูฏที่มีการทำลายล้างเมืองโซดอม เพราะมีกลุ่มคนนิยมรักเพศเดียวกัน 

ในขณะที่นักวิชาการกลุ่มที่สอง มีการอ้างหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี และโต้แย้งว่าการที่เมืองสมัยนบีลูฏถูกทำลายนั้นไม่ใช่เป็นเพราะคนรักเพศเดียวกัน หากเกิดจากการมีคนทำผิดศีลธรรมทางเพศ มีการข่มขืนผู้ชายด้วยกัน มีการสำส่อนทางเพศ และในคัมภีร์อัล-กุรอาน ไม่ได้มีการระบุถึงการลงโทษคนรักเพศเดียวกันไว้ และในประวัติศาสตร์อิสลามสมัยนบีมุฮำหมัดก็มีคนรักเพศเดียวกันจำนวนหนึ่งแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการลงโทษด้วยการฆ่าคนที่รักเพศเดียวกัน 

ส่วนนักวิชาการมุสลิมกลุ่มที่สาม ยังคงมองว่าพฤติกรรมการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและผิดหลักศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องส่วนบุคคลระหว่างความสัมพันธ์ของตัวเขากับพระเจ้าซึ่งเปี่ยมด้วยความเมตตา และการให้การอภัย อิสลามสอนว่าหากเราคิดไม่ดีแต่ยังไม่ได้กระทำสิ่งไม่ดี ก็ยังไม่นับว่าเป็นบาป แต่หากเราคิดว่าจะทำสิ่งดีๆ ถึงแม้ว่ายังไม่ได้ทำสิ่งนั้น พระผู้เป็นเจ้าก็จะนับให้เป็นผลบุญให้แล้ว ดังนั้น เรื่องรสนิยมทางเพศหากเพียงแค่อยู่ในใจและยังไม่ได้มีการประพฤติปฏิบัติที่นอกกรอบของศาสนาก็ย่อมจะยังไม่นับบาป ดังนั้น เราในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็ต้องปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ด้วยดี ด้วยความเมตตาและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของทุกผู้คน การไม่เห็นด้วยไม่ได้แปลว่าต้องถึงขั้นไปทุบตี ข่มขู่หรือทำร้ายพวกเขา 

และในวันนั้นตนถูกถามว่าแล้วอาจารย์สุชาติอยู่ในกลุ่มไหน จึงบอกที่ประชุมไปว่าตนเห็นด้วยกับนักวิชาการกลุ่มที่สาม เพราะศาสนาอิสลามที่ตนเองเข้าใจคือ สอนให้ต้องปฏิบัติดีต่อมนุษย์ทุกผู้คน ต้องให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าเขาจะอยู่ฐานะไหน นับถือศาสนาอะไร และเป็นคนเช่นไร ดังที่ครั้งหนึ่ง มีขบวนศพผ่านขณะท่านนบีกำลังนั่งอยู่ที่แห่งหนึ่ง ท่านจึงได้ลุกขึ้นยืนขึ้นเพื่อแสดงการให้เกียรติศพนั้น จึงมีอัครสาวกท่านหนึ่งทักขึ้นว่า “ท่านนบี ศพนั้นไม่ใช่ศพมุสลิมนะ” ท่านนบีจึงถามกลับไปว่า “แล้วเขาไม่ใช่มนุษย์ดอกหรือ?” 
    
นอกจากนี้ ดร.สุชาติ ยังได้เล่าต่อไปอีกว่า ครั้งหนึ่งมีกรณีที่มีว่ามีมุสลิมเพศกำเนิดเป็นชาย แต่มีการแต่งสีเล็บมือและเท้าคล้ายผู้หญิง จึงมีคนนำเขาไปฟ้องต่อนบีมูฮัมหมัดว่า คนๆ นี้แต่งตัวเลียนแบบผู้หญิง ท่านนบีจึงไล่ให้เอาชายผู้นั้นออกไป แล้วคนที่นำไปจึงถามท่านนบีไปว่า ท่านจะให้ฉันฆ่าเขาไหม? ท่านนบีจึงตอบไปว่า ฉันถูกสั่งไม่ให้ฆ่าบุคคลที่ยังคงดำรงการละหมาด ยังมีศรัทธาในอิสลาม และในอัล-กุรอาน (10: 41) ได้มีการระบุไว้ว่า และถ้าพวกเขาปฏิเสธ (ไม่ยอมศรัทธา) จงกล่าวเถิด (มุฮัมหมัด) ว่า “การงานของฉันก็เป็นของฉัน และการงานของพวกท่านก็เป็นของพวกท่าน พวกท่านจงปลีกตัวออกจากสิ่งที่ฉันกระทำ และฉันก็จะปลีกตัวออกจากสิ่งที่ท่านกระทำ” ดังนั้น มนุษย์แต่ละคนมีความรับผิดชอบเป็นของตนเองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีใครมีหน้าที่ต้องมารับผิดชอบแทนกัน 
    
นอกจากนี้ ยังมีผู้ร่วมทำหน้าที่ Moderator ในห้องคลับเฮาส์ ทั้งคณาสิต พ่วงอำไพ จากสภานอนไบนารี กลุ่มนอนไบนารีฯและแอดมินเฟซบุ๊คแฟนเพจ “นอกกล่องเพศ;Non-binary” รวมทั้งพัชราคำ นพเคราะห์ กับ จุฑามาศ เมืองใจ จาก FreeEnby TH ต่างก็มีความเห็นร่วมกันว่า เราควรร่วมกันสร้างพื้นที่ให้ LGBTQIAN+ ที่นับถือศาสนาอิสลามสามารถเสริมพลัง (Empower) ตนเองได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย มีการพูดคุยเพื่อการโอบอุ้ม ดูแลด้วยความเมตตาและเคารพซึ่งกันและกัน 
    
ช่วงท้ายรายการ วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. และผู้ประสานงานด้านประชาธิปไตย กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทยได้กล่าวย้ำว่า นอกจากการยึดหลักแห่งความเมตตาแก่อิสลามมิกชนด้วยกันที่มีความแตกต่างหลากหลายแล้ว นอกเหนือไปจากร่มเงาของศาสนา ปัจจุบันนี้ เรายังอยู่ภายใต้ร่มเงาของความเป็นสังคมประชาธิปไตยที่การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิและความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นโดยไม่มีข้อยกเว้น นอกจากนี้บุคคลทุกคนบนแผ่นดินไทย ยังพึงต้องได้รับการเคารพสิทธิตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(UDHR) รวมถึงพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)อีกด้วย ตนจึงขอจบรายการในวันนี้ด้วยการขอให้ความสันติสุขอันเกิดจากความเสมอภาคจงมีแด่มนุษย์ทุกคน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net