Skip to main content
sharethis

ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจประยุทธ์-อนุทิน ตั้งข้อกังขาปมเงินส่วนต่างซื้อซิโนแวคไม่โปร่งใส จี้รัฐบาลเปิดหลักฐานการจ่ายเงินซื้อวัคซีนทั้งหมด อีกทั้งการซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวนมาก ขัดต่อมติคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ 

(ภาพจากไลฟ์สด Voice TV)
 

2 ก.ย. 64 สำนักข่าว Voice TV ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลวันนี้ (2 ก.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. จิราพร สินธุไพร ส.ส.เพื่อไทย จ.ร้อยเอ็ด อภิปรายไม่ไว้วางใจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และ อนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปมจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคไม่โปร่งใส จี้รัฐบาลเปิดหลักฐานการซื้อวัคซีน  

จิราพร ระบุว่า คำตอบที่นายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. ต้องตอบสาธารณชน ฝ่ายปฏิบัติการ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค ขออนุมัติการซื้อวัคซีน 10.9 ล้านโดส ราคา 17  ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส แต่งบประมาณซื้อไม่พอ ต้องไปขอเงินจากงบกลาง ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งทางคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ก็มีมติได้ว่า ให้ซื้อได้ แต่มีเงื่อนไขว่า อย่าซื้อวัคซีนยี่ห้อเดียว ให้ซื้อหลายยี่ห้อที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ควบคู่ไปด้วย 

แต่กลายเป็นรัฐบาลซื้อซิโนแวคมาเต็มที่ เพิกเฉยมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่ทำตามความเห็นกระทรวงการคลัง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และอื่นๆ ที่มีความเห็นให้รัฐบาลปฏิบัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ อย่างเคร่งครัด ซึ่งขอให้รัฐบาลชี้แจงให้ชัด 

ขณะที่สื่อต่างชาติอย่างวอชิงตันโพสต์เคยตีพิมพ์ข่าวว่า บริษัทซิโนแวคไบโอเทค เคยมีประวัติติดสินบนเจ้าหน้าที่ ซึ่ง ส.ส.เพื่อไทยตั้งข้อกังขาว่า การซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาล เพื่อรอเงินทอน หรือค่าคอมมิชชันจากบริษัทซิโนแวคฯ ใช่หรือไม่

(ภาพจากไลฟ์สด Voice TV)

นอกจากปัญหาเรื่องการซื้อวัคซีนซิโนแวตเข้ามาเพิ่ม วัคซีนตัวนี้ยังถูกนานาชาติตั้งข้อกังขาถึงประสิทธิภาพในการรับมือไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีกด้วย แต่เหตุใด รัฐบาลถึงยังตะบี้ตะบันซื้อเข้ามา ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนว่ารัฐบาลไม่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน 

“ไม่ต้องว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านด้อยค่าวัคซีนซิโนแวคสุดรักสุดหวงของท่าน ท่านตะหากกำลังด้อยค่าชีวิตคนไทย ด้วยการซื้อวัคซีนที่ไม่หลากหลาย ไม่เพียงพอ ไม่มีประสิทธิภาพในการรับมือเชื้อสายพันธุ์ใหม่ให้กับประชาชน” จิราพร กล่าว 

ประเด็นต่อมาที่นายกฯ ต้องชี้แจงว่าส่วนต่างเงินที่ซื้อวัคซีนซินโนแวคหายไปไหน เงินทอนมีจริงไหม ตอนที่มีการอนุมัติเงินตาม สธ. ฝ่ายบริหารนำโดยพลเอก ประยุทธ์ อนุมัติเงินซื้อวัคซีน 10.9 ล้านโดส วงเงินงบ 6,000 ล้านบาทเศษ ตกราคาโดสละ 17 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าจริง ฝ่ายปฏิบัติไปเจรจาได้ราคาถูกกว่าที่ตั้งไว้ ถือเป็นผลงานของรัฐบาล นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการได้ยิน ไม่ว่ารัฐบาลจะเจรจาได้ราคาเท่าใดก็ตาม แต่ชัดเจนว่ามีส่วนต่างของราคาวัคซีนที่ซื้อกับเงินที่อนุมัติไป จุดนี้คือจุดที่รัฐบาลต้องชี้แจงเงินส่วนต่างไปไหน

จิราพร ตั้งข้อสังเกตว่า การซื้อซิโนแวค 5 ครั้ง เป็นการอนุมัติให้ซื้อวัคซีนซิโนแวคโดสละ 17 ดอลลาร์สหรัฐ ทุกครั้ง การซื้อครั้งที่ 1 จากในตาราง อนุมัติให้ซื้อ 17 เหรียญ ซื้อ 17 เหรียญ แต่ครั้งที่ 2 อนุมัติ 17 เหรียญต่อโดส แต่ซื้อ 15 เหรียญต่อโดส ทำไมไม่อนุมัติที่ 15 เหรียญต่อโดส 

การซื้อครั้งที่ 4 อนุมัติซื้อ 17 เหรียญต่อโดส แต่ซื้อในราคา 9.5 เหรียญต่อโดส และครั้งที่ 5 อนุมัติซื้อ 17 เหรียญต่อโดส แต่ซื้อในราคา 9 เหรียญต่อโดสเท่านั้น ทำไมไม่ขออนุมัติซื้อที่ 9 เหรียญต่อโดส ขออนุมัติทำไม 17 เหรียญต่อโดส จิราพร เน้นย้ำว่า กระบวนการซื้อนั้น จะไปซื้อราคาเท่าใด ต้องขออนุมัติในราคาที่เท่ากัน ต้องมีการเจรจากันก่อน 

(ภาพจากไลฟ์สด Voice TV)

นอกจากนี้ อนุทิน เป็นคนชี้แจงในรัฐสภาเองด้วยว่า วัคซีนซิโนแวคยิ่งซื้อเยอะยิ่งถูกลง แต่ทำไมตอนขออนุมัติงบฯ ราคาถึงไม่ลดลงไปด้วย 

ดังนั้น จิราพร กังขาว่า ตามที่ ครม.อนุมัติเงินจำนวน 5,562,400,000 บาท แต่ซื้อจริงเป็นเงิน 3,959,120,000 เท่านั้น และที่เหลือไปไหน 

เพื่อให้การซื้อวัคซีนมีความโปร่งใส จิราพร เสนอว่า รัฐบาลต้องเปิดหลักฐานการซื้อขายของกรมควบคุมโรคให้กับองค์การเภสัชกรรม และต้องเอาหลักฐานการจ่ายเงินขององค์การเภสัชกรรมที่จ่ายเงินให้กับซิโนแวคทุกครั้งที่มีการสั่งซื้อ เอามาแสดงต่อสภาให้หมด ทุกครั้ง 

“อย่าอ้างว่า หลักฐานเหล่านี้เปิดเผยไม่ได้ เพราะเป็นการเอาเงินจากภาษีประชาชนเป็นงบประมาณแผ่นดินไปซื้อ ไม่ใช่สัญญาระหว่างประเทศ แต่เป็นการดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐภายในประเทศไทยเอง ทำไมจะเปิดเผยไม่ได้ และที่บอกว่าเงินที่เหลือเอาไปเป็นงบฯ ช่วยเหลือประชาชนอันนี้ตอบง่ายเกินไป ถ้าไม่มีเงินส่วนต่างเข้ากระเป๋าใคร ต้องเอารายละเอียดส่วนต่างการโอนเงินของกรมควบคุมโรค และองค์การเภสัชกรรม มาแสดงให้หมด ไม่งั้นไม่มีเชื่อ” ส.ส.เพื่อไทย อภิปราย 

วงการตำรวจตกต่ำยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา 

2 ก.ย. 64 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานวันนี้ (2 ก.ย.) วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เพื่อไทย จ.เชียงราย อภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หน่วยงานในกำกับของนายกรัฐมนตรี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาประชาชนมองว่าล้มเหลว อีกทั้งยังเปิดโปงโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ ที่ส่งกลิ่นเรื่องการทุจริต 

วิสาร กล่าวว่า โครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นโครงการใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. ให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2561 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดระดับจังหวัดและระดับภาคได้ทั่วประเทศ ใช้เพียงหมายเลข 191 โดยได้รับการอนุมัติงบประมาณจาก กสทช. ทั้งสิ้น 7,095,968,000 บาท ให้ สตช. ดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม วิสารมองว่า โครงการดังกล่าวส่อแววทุจริต ตั้งแต่การที่ทางโครงการฯ จัดจ้างบริษัทหนึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งมีพฤติการณ์ผิดสังเกตและมีข้อคำถามที่ทาง สตช. ต้องตอบ ไม่ว่าจะเป็น เหตุใดถึงไม่ใช่บริษัทที่ปรึกษาเจ้าเดิมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือเหตุใดถึงจ้างบริษัทที่ปรึกษาใหม่ด้วยวงเงินสูงถึง  143 ล้านบาท เพื่อให้คำปรึกษาเพียง 6 เดือน

วิสารยังชี้อีกประเด็นที่น่าสงสัยคือ การที่มีการประกวดราคาถึง 3 ครั้ง แต่ยังไม่มีบริษัทใดชนะการประมูลเลยสักครั้ง โดยสามารถเรียงลำดับระยะเวลาในการจัดประกวด ดังนี้ ประกวดราคาครั้งที่ 1 ด้วยวิธี E-bidding เดือนกันยายน 2563 ประกวดราคาครั้งที่ 2 เปลี่ยนมาใช้วิธีคัดเลือก ด้วยการออกหนังสือเชิญเฉพาะบริษัท เดือนกรกฎาคม 2564 และประกวดราคาครั้งที่ 3 ด้วยวิธี E-bidding อีกครั้ง วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

จุดนี้วิสารมองว่ามีพฤติการณ์น่าสงสัย กล่าวคือ ในเดือนสิงหาคม 2563 ได้มีการประกาศประกวดราคาจ้างทำโครงการฯ ด้วยวิธี e-Bidding ซึ่งโครงการฯ มีงบประมาณสูงถึง 7,000 ล้านบาท แต่กลับกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นประกวดได้จะต้องมีผลงานไม่ต่ำกว่า 280 ล้านบาท และต้องยื่นเสนอภายใน 20 สิงหาคม 2563 ซึ่งหากเทียบระหว่างผลงานของบริษัทที่ประกวด กับขนาดโครงการฯ นั่นถือว่ามีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเปลี่ยนมาเป็นวิธีคัดเลือกในเดือนถัดไปทันที และล้มประกวดทั้ง 2 ครั้ง 

“สตช. ของบจากกองทุนกิจการวิทยุฯ มาทำโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุแห่งชาติ (191) มูลค่า 7,095 ล้าน คนชื่อ ‘บอย สกาย’ ดูแลตั้งแต่ปี 61 เปลี่ยนบริษัทที่ปรึกษาจัดประมูล-ล้มประมูลหลายครั้ง จนตอนนี้ยังไม่เสร็จ รอใคร?”

สุดท้ายนี้ วิสารยังมองอีกว่า จุดประสงค์ของโครงการฯ นั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตั้งแต่แรก เพราะถือเป็นการทำลายระบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ควรจะเป็น และกลับไปเป็นระบบรวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางอีกครั้ง 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

3 ส.ส.เพื่อไทย ฉะ 'ประยุทธ์' บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว-ไร้เยียวยา-ท่องเที่ยวพัง

ส.ส.เพื่อไทย ขอนแก่น-สกลนคร ชี้ 'ประยุทธ์-เฉลิมชัย' ทำลายชีวิตเกษตรกร ปล่อยลัมปีสกินระบาด-ข้าวราคาตก

'ณัฐชา ก้าวไกล' เปิดโปง IO 'ประยุทธ์ทำ ขอกำลังประยุทธ์ เพื่อป้องประยุทธ์' - รมช.กลาโหม ยันไม่เคยสั่งกองทัพ-กอ.รมน.

หมายเหตุ มีการปรับเนื้อหามาเป็นปัจจุบัน เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 64 เวลา 19.19 น.  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net