Skip to main content
sharethis

'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' เผยศาลยังไม่ให้ประกัน 'อานนท์-ไผ่' หลังให้ฝากขังอานนท์ครั้งที่ 4 - 'อานนท์' แถลงอยากเห็นคำสั่งที่ยึดหลักกฎหมายของศาล - '5 แนวร่วมฯ มธ.-ป้าเป้า' ถูกแจ้งข้อหา 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ม.215' เหตุชุมนุมหน้า ตชด. เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า - ตำรวจจับพยาบาลอาสา #ม็อบ8กันยา 2 ราย รายหนึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 พร้อมแจ้งข้อหา 'ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว'

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขัง “อานนท์ นำภา” เป็นครั้งที่ 4 ในคดีจากการปราศรัยในชุมนุมครบรอบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 โดยหลังการไต่สวน ศาลได้อนุญาตฝากขัง ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 5 แต่ศาลยังไม่ปล่อยชั่วคราว

อนึ่ง อานนท์เบิกความ โดยกล่าวว่า ผมคิดว่าวันนี้ศาลคงมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง แต่ผมอยากเรียนว่าการที่ผมขึ้นปราศรัย มันก็ชัดอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องให้พยานยืนยันอะไรอีก จากคำร้องขอฝากขัง ก็คือขังผมเพื่อให้ตำรวจทำให้งานเสร็จ ซึ่งมันฟังดูตลก ซึ่งในคดีนี้ถึงศาลจะยกคำร้องไม่รับฝากขัง ตำรวจก็ทำงานได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขังผม อันที่จริงผมไม่ได้ออกไปด้วยซ้ำเพราะมีหมายขังอยู่ที่ศาลอาญาอีกคดี 

"ผมอยากเห็นคำสั่งที่ยึดหลักกฎหมายของศาล จริงๆ ตำรวจควรสอบสวนให้เสร็จก่อนมาออกหมายจับผมด้วยซ้ำ อยากให้ศาลยืนในหลักคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา" 

นอกจากนี้ ทนายความยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ใน 3 คดี เป็นครั้งที่ 4 ได้แก่ คดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง, คดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทย และคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งศาลเคยให้ประกัน และถอนประกันเมื่อ 11  ส.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจตุภัทร์ทั้ง 3 คดี ระบุว่า ศาลนี้ โดยที่ประชุมผู้บริหารศาลทุกคนมีมติ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น ลำพังการที่ผู้ต้องหานี้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการร้ายแรงอย่างไร ไม่ถือว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้ ยกคำร้อง

อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมในศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

'5 แนวร่วมฯ มธ.-ป้าเป้า' ถูกแจ้งข้อหา 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ม.215' เหตุชุมนุมหน้า ตชด. เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2564 ที่ สภ.คลองห้า จ.ปทุมธานี เวลา 10.00 น. นักกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 5 ราย ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เบนจา อะปัญ, วัชรากร ไชยแก้ว, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี รวมทั้ง “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากเหตุชุมนุม #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ #ปล่อยเพื่อนเรา ที่ด้านหน้า บก.ตชด. ภาค 1 

ส่วนที่ สน.ลุมพินี ธานี สะสม และพรพจน์ แจ้งกระจ่าง 2 ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม จากเหตุชุมนุม #ม็อบ25ตุลา และ #ม็อบ18พฤศจิกา เมื่อปี 2563 เนื่องจากอัยการตีสำนวนกลับให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก ในเรื่องการ “ร่วมกันเป็นผู้จัดชุมนุมสาธารณะ”  

คดีนี้สืบเนื่องมาจากกรณีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1 หลังสมาชิกกลุ่มและประชาชน รวม 32 ราย ถูกจับกุมจากการรวมตัวกันทำกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรามา คืนประชาธิปไตย” ที่หน้าสโมสรตำรวจ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 

คดีนี้ ก่อนหน้านี้มีนักกิจกรรมถูกออกหมายจับและแจ้งข้อหาดำเนินคดีไปแล้ว 9 ราย โดยมี 5 ราย ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างสอบสวน ต่อมาตำรวจยังได้ออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมเรียกร้องดังกล่าว อีก 6 ราย ให้มารับทราบข้อกล่าวหา โดยคดีมี พ.ต.ท.อัครภัส จายะวานิช เป็นผู้กล่าวหา

พนักงานสอบสวน สภ.คลองห้า ได้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในคดีต่อผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตํารวจกองบัญชาการตํารวจนครบาล ได้จับกุมผู้ต้องหา จํานวน 30 คน มาควบคุมที่ บก.ตชด. ภาคที่ 1 ซึ่งอยู่ในรับผิดชอบของ สภ.คลองห้า 

ต่อมาได้มีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้พากันมาชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา เมื่อเจ้าหน้าที่ตํารวจเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนดที่ออกตามความใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 19 จึงได้สั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม 

แต่ผู้ต้องหากับพวกไม่ยอมยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้ร่วมกันทําการจับกุมตัวผู้ร่วมชุมนุมโดยได้จับกุมตัวนายปัณณพัทธ์ จันทนางกูล ได้ที่บริเวณที่ชุมนุมดังกล่าว ที่เหลือได้หลบหนีไป 

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานพบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ได้ร่วมกันกระทําความผิด จึงได้ออกหมายเรียกมาพบพนักงานสอบสวน

จากพฤติการณ์ดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับทั้ง 6 คน ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปทุมธานี และข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)

ด้าน “รุ้ง” ปนัสยา, เบนจา และ “ป้าเป้า” วรวรรณ ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม “มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดเป็นหัวหน้า หรือ เป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น” 

ทั้งหมดให้การปฎิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง โดยพนักงานสอบสวนได้นัดหมายเพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการ ในวันที่ 13 ก.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมในศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ตำรวจจับพยาบาลอาสา #ม็อบ8กันยา 2 ราย รายหนึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 พร้อมแจ้งข้อหา “ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าหลัง #ม็อบ8กันยา ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงสิ้นสุดลงในช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 ก.ย. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งเหตุตำรวจจับกุมประชาชน 2 ราย ทั้งสองคนเป็นหน่วยพยาบาลอาสาในพื้นที่ชุมนุม แยกเป็นชายอายุ 20 คนหนึ่ง และเยาวชนอายุ 17 ปีคนหนึ่ง ภายหลังตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน กับผู้ต้องหาทั้ง 2 คน 

“อู๋” (นามสมมติ) ชายอายุ 20 ปี รายงานว่าเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ตนและเยาวชนอายุ 17 ปีเข้ามาที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงตั้งแต่เวลา 15.30 น. โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยพยาบาลอาสา คอยดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาจวบจนการชุมนุมสิ้นสุด คาดการณ์ว่าเป็นช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 9 ก.ย.

ต่อมาในเวลา 02.00 น. อู๋และเพื่อนเยาวชนเดินทางออกจากพื้นที่ชุมนุม โดยใช้รถจักรยานยนต์มุ่งหน้าไปทางรามคำแหง ในขณะที่ขับไปถึงห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขา หัวหมาก รถสายตรวจคันหนึ่งได้ขับเข้ามาปาดหน้ารถของเขา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คนจึงลงมาจากรถ จากการสังเกตตราสัญลักษณ์และป้ายชื่อที่ติดอยู่บนหน้าอก อู๋เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสองมียศสิบโท

ตำรวจทั้งสองไม่ได้แสดงบัตรตำรวจหรือแจ้งชื่อ-นามสกุลใดๆ หนึ่งในนั้นถามอู๋และเพื่อนว่า “มึงไปไหนกันมา” และทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” หรือไม่ เมื่ออู๋อธิบายว่าตนทำหน้าที่ปฐมพยาบาลในพื้นที่ชุมนุม และจำเป็นต้องใส่เสื้อเกราะเพื่อป้องกันตัวเองจากกระสุนยางของตำรวจเอง เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะรับฟัง และนำกุญแจมือมาใส่ให้กับทั้งเขาและเยาวชนที่มาด้วยกัน แม้ว่าอีกฝ่ายจะแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าตนอายุ 17 ปี 

อู๋ระบุว่าตนจำเป็นต้องใส่เสื้อเกราะกันกระสุน เพราะต้องการป้องกันตัวจากความรุนแรงจากฝั่งตำรวจ เขาเข้ามาเป็นหน่วยพยาบาลอาสาในพื้นที่ดินแดงตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม โดยมีจุดประสงค์เดียวคือต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน อู๋ถูกยิงกระสุนยางเข้าที่บริเวณสะโพกด้านซ้ายจนมีรอยฟกช้ำ และในขณะที่เขากำลังช่วยเหลือประชาชนที่ถูกรถตำรวจพุ่งเข้าชน ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพยายามเอาโล่และกระบองฟาดมาที่เขา 

หลังใส่กุญแจมือแล้ว ตำรวจทั้งสองนายร่วมกันค้นตัวของอู๋ โดยคนหนึ่งเลิกเสื้อของอู๋ขึ้น และนำทรัพย์สินในกระเป๋าเป้ของเขาออกมาถ่าย ประกอบด้วย ลูกบอลประทัดที่เขารับฝากจากเพื่อน, กระเป๋าสตางค์ของเขา และมีดพับของเยาวชนที่มาด้วยกัน ในขณะที่อู๋กำลังจะรูดซิบกระเป๋า เจ้าหน้าที่แสดงท่าทีคล้ายจะหยิบอาวุธปืนขึ้นมายิง จนอู๋ต้องรีบอธิบายว่าตนกำลังจะนำของออกมาให้ดูตามคำสั่งเจ้าหน้าที่เท่านั้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังถ่ายรูปอู๋กับเพื่อน และยึดบัตรประชาชนของเขาไปอีกด้วย

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งได้โทรศัพท์เรียกให้รถตู้เข้ามาที่บริเวณจับกุม และให้อู๋กับเพื่อนขึ้นรถคันดังกล่าวไป โดยแจ้งว่าจุดหมายปลายทางคือ สน.หัวหมาก มีเจ้าหน้าที่อีก 2 คนเข้ามาสมทบตำรวจชุดแรก แยกเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ 1 นาย และตำรวจในเครื่องแบบอีก 1 นาย ซึ่งอู๋คาดการณ์ว่ามียศร้อยตำรวจเอก จากการสังเกตตราสัญลักษณ์และป้ายชื่อที่ติดอยู่บนหน้าอกเช่นกัน ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดที่แจ้งข้อกล่าวหาที่นำไปสู่การจับกุมให้อู๋ทราบก่อน 

ในระหว่างการจับกุมและการเดินทางไปที่โรงพัก อู๋เล่าว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ถ้อยคำหยาบคายและข่มขู่กับตนและเยาวชน พร้อมกับใช้สรรพนาม “กู” และ “มึง ตลอดเวลา เช่น เมื่อตอนที่ถามอายุของอู๋กับเพื่อน ตำรวจพูดใส่ทั้งสองว่า “ติดคุกยาวแน่มึง” และเมื่ออู๋พยายามแจ้งเจ้าหน้าที่ว่ากุญแจมือรัดข้อมือของตนจนรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก เจ้าหน้าที่นายหนึ่งได้ตอบกลับมาว่า “พวกมึงนั่งเงียบๆ ชิดๆ กันไปเลย ไม่ต้องพูด เงียบปากไปทั้งคู่”

ตำรวจควบคุมตัวทั้งสองไปถึง สน.หัวหมาก ในเวลา 03.30 น. โดยประมาณ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ให้อู๋เข้าสู่กระบวนการตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ และให้เขานั่งรอกับพื้นในโรงพัก ในระหว่างนั้น ตำรวจนายหนึ่งได้หยิบลูกบอลประทัดที่ถูกยึดมา แล้วทำท่าเหมือนจะเขวี้ยงใส่อู๋ ส่วนตำรวจอีกนายหนึ่งข่มขู่อู๋ว่า “พวกมึงนี่นะ เก่งจริงๆ เดี๋ยวกูจะเอาคดีให้พวกมึงหนักๆ เลย”

เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งเข้ามายึดโทรศัพท์ของอู๋และเพื่อนไป เพื่อค้นข้อความในโทรศัพท์และถ่ายรูปเก็บเอาไว้ หลังจากนั้นพนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก ได้สอบปากคำเขา และแจ้งข้อหา ฝ่าฝืนมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน ในระหว่างเวลา 21.00 -04.00 น.

ในขณะการสอบสวน อู๋ยืนยันว่าตนเป็นหน่วยพยาบาลอาสา ไม่ใช่ผู้ชุมนุม และลูกบอลประทัดไม่ใช่ของตน แต่เจ้าหน้าที่กลับตอบเขาว่า “ไปคุยกับศาลเอานะ”

กระบวนการสอบปากคำเสร็จสิ้นในเวลา 04.00 น. โดยประมาณ หลังจากนั้นตำรวจได้คืนโทรศัพท์ให้กับผู้ต้องหาทั้งสอง เบื้องต้นอู๋ให้การสารภาพในชั้นสอบสวน 

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเป็นเงินจำนวน 2,500 บาท

อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมในศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net