Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนพม่า นำเสนอบทวิเคราะห์หลังรัฐประหาร 1 ก.พ. ที่ได้ทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมแม้กระทั่งที่เคยไม่ลงรอยกันกลับมาร่วมมือกันต่อต้านเผด็จการทหาร

3 ต.ค. 2564 จากการที่ชาวพม่าต่อสู้กับเผด็จการทหารครั้งล่าสุดมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่การรัฐประหาร 1 ก.พ. ทำให้ Thet Swe Win นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนพม่ามีมุมมองต่อการต่อสู้เพื่อโค่นล้มเผด็จการฟาสซิสต์ในพม่าเปลี่ยนไป ในฐานะที่ Thet Swe Win เป็นทั้งนักกิจกรรมที่ต่อสู้มายาวนานนับ 10 ปีทั้งกับเผด็จการพม่าและเป็นนักรณรงค์ต่อต้านวาจาสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติสีผิวรวมถึงกรณีที่กลุ่มชาตินิยมชาวพุทธในพม่ากระทำต่อชาวโรฮิงญา ทำให้เขาเสนอว่าขบวนการที่จะปฏิวัติโค่นล้มฟาสซิสต์ได้จะต้องละทิ้งแนวทางแบบชาตินิยมแบบชาติพันธุ์หลักที่มีอำนาจเป็นใหญ่ (ethnic nationalism) และต้องไม่ยอมให้กองทัพพม่าทัตมะตอว์ยุยงให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองกันเองและไม่ยอมอ่อนข้อต่อการถูกทำให้หวาดกลัวจนยอมจำนน

ในช่วงสมัยปี 2558-2563 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีที่นำโดยอองซานซูจีเป็นรัฐบาล Thet Swe Win ใช้เวลา 5 ปีในช่วงนั้นคอยพูดวิพากษ์วิจารณ์เอ็นแอลดีที่ละเลยเรื่องมาตรฐานความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมถึงล้มเหลวในการเสริมสร้างสันติภาพในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการสู้รบกับกองทัพพม่ามาเป็นเวลามากกว่า 70 ปีแล้ว That Swe win ถึงขั้นบอยคอตต์การเลือกตั้ง พ.ย. 2563 ที่เอ็นแอลดีได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น

นั่นทำให้เมื่อเกิดรัฐประหารครั้งล่าสุด Thet Swe Win ไม่รู้ว่าจะไปยืนบนจุดไหน เพราะในขณะที่เขาโมโหที่กองทัพก่อเหตุยึดอำนาจเขาก็ไม่อยากสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี จากสิ่งที่พวกเขาเคยปฏิบัติต่อนักกิจกรรมทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามและต่อชนกลุ่มน้อย แต่เขาก็เล็งเห็นว่าการรัฐประหารในครั้งนี้เป็นเรื่องมากกว่าความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับพรรคเอ็นแอลดี แต่เป็นเรื่องของการใช้กำลังกดปราบเจตจำนงของประชาชนและควรจะต้องต่อต้านการกระทำเช่นนี้ของกองทัพ

Thet Swe Win เล่าว่าในวันที่ 6 ก.พ. ที่เริ่มมีการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในกรุงย่างกุ้ง เขาก็ได้เข้าร่วมด้วย จนกระทั่งในเดือน มี.ค. เผด็จการทหารก็ใส่ชื่อเขาไว้ในบัญชีผู้ถูกหมายจับในข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" เจ้าหน้าที่ได้เข้าบุกค้นบ้านและสำนักงานของเขา เขาและครอบครัวสามารถหนีได้หวุดหวิด ครอบครัวเขารู้ว่ามีอันตรายจึงหนีไปต่างประเทศขณะที่ตัวเขาเองเลือกจะไปหลบอยู่ในพื้นที่ที่มีกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ยึดครองอยู่

ในช่วงที่พรรคเอ็นแอลดีเป็นรัฐบาล Thet Swe Win ก็ถูกเล่นงานจากพรรคเอ็นแอลดีที่ฟ้องร้องดำเนินคดีเขาเช่นกัน จากในเรื่องที่เขาสนับสนุนการปกครองตนเองและสนับสนุนสิทธิของชนพื้นเมือง ในเวลาที่ Thet Swe Win หนีไปอยู่กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ชนพื้นเมืองเหล่านี้เขาก็รับฟังเรื่องราวและเรียนรู้การต่อสู้ดิ้นรนและความจริงที่พวกเขาต้องเผชิญในแต่ละวัน นั่นทำให้เขาเรียนรู้ว่าเขายังเข้าใจในเรื่องของชนพื้นเมืองชาติพันธุ์เหล่านี้น้อยเพียงใด

Thet Swe Win บอกว่าการได้ไปสัมผัสกับชีวิตจริงในมุมมองที่ใกล้ชิดปละประสบกับตนเองนั้นทำให้เขารับรู้ในสิ่งที่แตกต่างจากการมองจากที่ไกลๆ ที่ทำให้รับรู้ได้แค่บางอย่าง เช่นรู้เรื่องที่ว่าเกษตรกรระดับเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองเป็นอย่างไร เด็กต้องเดินไกลเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อไปโรงเรียนและอาจจะต้องเดินเป็นหลายวัน เพื่อไปที่คลินิกที่ใกล้ที่สุด แต่การไปสัมผัสชีวิตจริงๆ ทำให้พวกเขาเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนที่เผชิญความทารุณจากน้ำมือของกองทัพพม่ามาเป็นเวลาหลายสิบปี ทั้งการถูกปล้นชิง เผาทำลายหมู่บ้าน การกวาดต้อนจับกุมโดยพลการ การก่อความรุนแรงทางเพศต่อพวกเขา

มีเจ้าของบ้านที่ให้ Thet Swe Win พักอาศัยเล่าว่าชนพื้นเมืองเหล่านี้แทบจะไม่สร้างบ้านที่แข็งแรงเพราะพวกเขารู้ว่า พวกเขาอาจจะต้องหนีออกไปจากที่นั่นได้ทุกเมื่อ หลังจากเข้าใจประสบการณ์เหล่านี้อย่างลึกซึ้งทำให้เขาเข้าใจว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงมีความจำเป็นจะต้องใช้วิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธเพราะมันเป็นทางเลือกเดียวที่เหลือของพวกเขา

นอกจากมุมมองของ Thet Swe Win ที่เปลี่ยนไปแล้ว ก็ดูเหมือนว่ามึมุมมองของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยระดับชาติของพม่าก็เปลี่ยนไปในทิศทางนี้ด้วย กลุ่มเชื้อชาติพม่าที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอำนาจนำโดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ เริ่มเล็งเห็นความเจ็บปวดของพี่น้องชาติพันธุ์ในท้องถิ่น จากการที่พวกเขาต้องเผชิญความโหดเหี้ยมของเผด็จการทหารทำให้พวกเขาตาสว่าง เปลี่ยนท่าทีจากเดิมที่เคยเน้นแต่เรียกร้องให้อองซานซูจีและนักการเมืองแต่อย่างเดียว หันมาขอโทษความเขลาในอดีตที่ละเลยเรื่องการกดขี่ทารุณของกองทัพทัตมะตอว์ต่อกลุ่มชาติพันธุ์รวมถึงกลุ่มชาวโรฮิงญา

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์มีบทบาทนำหลักๆ ในการปกป้องคุ้มครองกลุ่มผู้ต่อต้านเผด็จการที่หนีจากการปราบปรามและเป็นกำลังนำในการต่อสู้กับเผด็จการทหาร ทำให้คนรุ่นใหม่จากในเมืองก็เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ไปด้วย

จนถึงปลายเดือน มี.ค. กลุ่มผู้ประท้วงกลุ่มหลักก็เรียกร้องในแบบเดียวกับข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์คือเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยเผด็จการทหารแบบยกเครื่องและขอให้จัดตั้งประเทศเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตย นอกจากนี้การที่ผู้คนรู้สึกว่ามีทางเลือกน้อยมากทำให้พวกเขาเริ่มเล็งเห้นว่าควรใช้กำลังอาวุธในการโค่นล้มเผด็จการทหารพวกเขาจึงเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หรือกลุ่มองค์กรชาติพันธุ์ก่อตั้งกองกำลังคุ้มกันประชาชนและขบวนการรบแบบกองโจรในเมือง

ในวันที่ 5 พ.ค. 2564 ก็มีการจัดตั้งกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) โดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นองค์กรมาจากอดีตนักการเมืองจากการเลือกตั้งที่ถูกโค่นล้มโดยเผด็จการทหาร กลุ่มนักกิจกรรม และสมาชิกภาคประชาสังคมที่ลี้ภัยอยู่ พวกเขาดำเนินการเป็นรัฐบาลคู่ขนานเพื่อโต้ตอบเผด็จการทหาร โดยที่กลุ่ม PDF นี้เป็นจุดตั้งต้นในการจัดตั้งกองกำลังสหพันธรัฐ ทำให้มีกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลอยู่ภายใต้การบัญชาการร่วมกัน

7 ก.ย. NUG ก็ประกาศ "สงครามปกป้องประชาชน" โต้ตอบเผด็จการทหาร เรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วม "การปฏิวัติที่จำเป็นสำหรับการสร้างประเทศที่สันติและจัดตั้งสหภาพสหพันธรัฐพม่า"

แต่สิ่งที่ Thet Swe Win อยากจะเน้นย้ำคือในช่วงที่มีการต่อสู้ปฏิวัติต่อต้านเผด็จการเช่นนี้ กำลังและความสมานฉันท์ของประชาชนด้วยกันอาจจะลดน้อยถอยลงถ้าหากไม่มีการสร้างความเชื่อใจและการสื่อสารที่ดีระหว่างกลุ่มต่อต้านฝ่ายเชื้อชาติพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

"เพื่อที่การปฏิวัติจะประสบความสำเร็จ พวกเราต้องอาศัยความพยายามในการเดินหน้าไปด้วยกันในเรื่องวิสัยทัศน์ในแบบที่ไม่ได้แค่ให้ประโยชน์แต่กับกลุ่มชาวพม่าซึ่งเป็นชนชาติส่วนใหญ่ของประเทศเท่านั้น แต่ส่งเสริมการปกครองตนเองและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศด้วย" Thet Swe Win ระบุในบทความ

Thet Swe Win ได้เสนอให้ NUG ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์ที่หลากหลายและให้พื้นที่พวกเขาในบทบาทผู้นำ และกองกำลัง PDF ก็ควรจะร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองร่วมกัน นอกจากนี้ NUG ยังควรมีพิธีการขอโทษในระดับชาติต่อเรื่องความโหดร้ายรุนแรงและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม รวมถึงต่อชาวโรฮิงญาด้วย

"กลุ่มชาวพม่าที่เป็นคนส่วนใหญ่ควรจะสร้างพื้นที่ที่มีการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมและร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดในการสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตยใหม่ร่วมกันบนฐานของเสรีภาพ, ความยุติธรรม และความเท่าเทียม" Thet Swe Win เสนอในบทความ


เรียบเรียงจาก
The coup united the people of Myanmar against oppression, Aljazeera, 01-02-2021

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net