Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพประกอบ: Jeena Paradies (CC BY 2.0)

ช่วงปลายเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา สื่อ The Asahi Shimbun ได้ประเมินว่าปัจจุบันประชากรที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไปของญี่ปุ่น ในปี 2564 นี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.1 ของประชากรทั้งหมดแล้ว การประเมินนี้ใช้ฐานข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติเมื่อปี 2558 ของกระทรวงกิจการภายใน

จำนวนผู้สูงอายุหญิงอยู่ที่ 20.57 ล้านคน หรือร้อยละ 32 ของประชากรหญิงทั้งหมด ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุชายมีจำนวน 15.83 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26 ของประชากรชายทั้งหมด

ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไปมี 28.52 ล้านคนหรือร้อยละ 22.8 ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 610,000 คน กลุ่มนี้รวม 'เบบี้บูมเมอร์ระลอกแรก' ซึ่งเกิดระหว่างปี 2490-2492

ทั้งนี้สัดส่วนประชากรสูงอายุของญี่ปุ่นนั้นถือว่าสูงที่สุดในโลก ตามมาด้วย อิตาลี อันดับ 2 ที่ร้อยละ 23.6 โปรตุเกสอันดับ 3 ที่ร้อยละ 23.1 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด

คนทำงานสูงวัยญี่ปุ่นพยายามปรับตัวรับ 'ออฟฟิศไร้กระดาษ' และ 'ผู้บังคับบัญชาอายุน้อยกว่า'

ส่วนอัตราการจ้างงานของผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.1 หรือ 1 ใน 4 ของกำลังแรงงานของประเทศเลยทีเดียว โดยในปี 2564 นี้ญี่ปุ่นมีจำนวนคนทำงานสูงวัยเป็นประวัติการณ์ที่ 9.06 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 17 ปีติดต่อกัน 

อุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีกเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในแง่ของการจ้างงานผู้สูงอายุที่ 1.28 ล้านคน ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรและป่าไม้อยู่ในอันดับที่ 2 ด้วยจำนวน 1.06 ล้านคน ตามมาด้วยอุตสาหกรรมบริการ 1.04 ล้านคน

แต่มากกว่าร้อยละ 70 ของคนทำงานสูงวัย ทำงานในลักษณะงานนอกเวลาหรือสัญญาจ้างที่ไม่ประจำ

มากกว่าร้อยละ 30 คนทำงานสูงวัยทั้งชายและหญิงกล่าวว่าพวกเขาทำงานเพราะอยากใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ แต่ร้อยละ 21.6 ของคนทำงานสูงวัยหญิงและร้อยละ 16.2 ของคนทำงานสูงวัยชาย ระบุว่าต้องการหารายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้รัฐบาลญี่ปุ่นย้ำว่าจำเป็นต้องมีสังคมที่ผู้คนยังคงตื่นตัวอยู่เสมอและไม่มีวันเกษียณอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานต่อไป มีการผลักดันการปฏิรูประบบประกันสังคม โดยขอให้ผู้สูงอายุแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลให้มากขึ้น

จากการประมาณการโดยสถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติ ระบุว่าสัดส่วนของประชากรสูงวัยจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยในปี 2583 เมื่อกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ระลอกที่ 2 ซึ่งเกิดระหว่างปี 2514-2517 อายุ 65 ปี คาดว่าสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดในญี่ปุ่นจะสูงถึงร้อยละ 35.3 เลยทีเดียว

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Seniors aged 65 or older account for record 29.1% of the population (HIROKI KOIZUMI, The Asahi Shimbun, 22 September 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net