Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย ตร.รุดแจ้งข้อหานักกิจกรรมคดี #ม็อบ25ตุลา ปี 63 ถึงใน รพ. แม้เจ้าตัวรักษาโควิด-19 อยู่ - ตร.เชียงรายแจ้ง 5 ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-จราจร-เครื่องเสียง 2 แกนนำกลุ่ม Chiangrai No เผด็จการ เหตุคาร์ม็อบ #แห่แวดเวียงไล่อีตู่ - ตร.สุราษฎร์แจ้ง “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” นักกิจกรรมและปชช. 5 ราย เหตุคาร์ม็อบ #ราษฎรสุราษฎรขับไล่ตู่ - #ม็อบ6ตุลา ดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.ดินแดง 34 คน ตร.ปฏิเสธไม่ให้ทนายพบกว่า 12 ชม. เยาวชน 3 ราย ไม่ได้ประกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน สว. (สอบสวน) สน.ลุมพินี และ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรี พรวรรณ์ รอง สว. (สอบสวน) สน.ลุมพินี เดินทางไปที่โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับ “ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์” นักกิจกรรมอายุ 24 ปี สืบเนื่องจากการร่วมกิจกรรมชุมนุม #ม็อบ25ตุลา ณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2563 ซึ่งเขาถูกกล่าวหามาก่อนหน้านี้

ในคดีนี้เอง ยังมีนักกิจกรรมอีก 5 รายที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อรรถพล บัวพัฒน์, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ธานี สะสม และนักกิจกรรมเยาวชนอีก 1 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีแยกต่างหาก และตำรวจได้ทยอยแจ้งข้อหาเพิ่มเติม โดยกรณีจตุภัทร์ ยังมีการเข้าไปแจ้งข้อหาถึงในเรือนจำเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 5 ต.ค. พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้แจ้งทนายความว่าจะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับณัฐวุฒิถึงโรงพยาบาล แม้ว่าผู้ต้องหาจะยังอยู่ในระหว่างรับการรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังทนายความชี้แจงเรื่องสุขภาพของณัฐวุฒิแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงยืนกรานที่จะเข้าไปพบณัฐวุฒิเช่นเดิม 

ในวันที่ 6 ต.ค. พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้ให้ทนายความของสภาทนายความเข้าร่วมกระบวนการสอบสวนด้วย อย่างไรก็ตาม ณัฐวุฒิไม่ประสงค์จะใช้ทนายความของสภาทนายความ และต้องการใช้ทนายความที่ไว้วางใจ แม้ผู้ต้องหาจะแสดงความประสงค์ชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงไม่ยอมให้ทนายความที่ณัฐวุฒิวางใจเข้าร่วมการสอบสวน 

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ตร.เชียงรายแจ้ง 5 ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-จราจร-เครื่องเสียง 2 แกนนำกลุ่ม Chiangrai No เผด็จการ เหตุคาร์ม็อบ #แห่แวดเวียงไล่อีตู่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าวันที่ 7 ต.ค. 2564 นายสราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ และนายภูวศิษฏ์ ประยูรส่วน สองแกนนำกลุ่ม Chiangrai No เผด็จการ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย สืบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบเชียงราย ครั้งที่ 3 #แห่แวดเวียงไล่อีตู่” กิจกรรมขับขี่ยานพาหนะเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ มีจุดเริ่มต้นที่หน้าสถานีตำรวจภูธรบ้านดู่ และสิ้นสุดที่ห้าแยกพ่อขุนฯ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 ภูวศิษฏ์ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ลงวันที่ 28 ก.ย. 2564 โดยมี ร.ต.อ.สุรพัศ ธรรมปัญญา เป็นผู้กล่าวหา กำหนดวันรับทราบข้อหาในวันนี้ และต่อมาทราบว่ามีการออกหมายเรียกสราวุทธิ์ด้วย

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ตร.สุราษฎร์แจ้ง “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” นักกิจกรรมและปชช. 5 ราย เหตุคาร์ม็อบ #ราษฎรสุราษฎรขับไล่ตู่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 7 ต.ค. 2564 นักกิจกรรมและประชาชนชาวสุราษฎร์ธานี 5 ราย พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกลงวันที่ 22 ก.ย. 64 ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบสุราษฎร์ #ราษฎรสุราษฎร ขับไล่ตู่

ผู้ถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ ได้แก่ ปฐมพร หนูจันทร์แก้ว, เจษฎา ขอประเสริฐ, ณภัทร วงษ์นุ่ม, เมติมา ประวิทย์ และธนกฤต ศรีสุวรรณ 

พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ทั้งห้าว่า กระทำผิดฐาน  “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลทีมีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 4771/2564 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการเเพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) 

ส่วน ปฐมพรเเละธนกฤต ถูกแจ้งเพิ่มอีก 1 ข้อหา ในฐานความผิด “ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนักของตน” ตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา และจะขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายหลัง

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

#ม็อบ6ตุลา ดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.ดินแดง 34 คน ตร.ปฏิเสธไม่ให้ทนายพบกว่า 12 ชม. เยาวชน 3 ราย ไม่ได้ประกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าจากกรณีในช่วงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นบริเวณแฟลตดินแดง หลังเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนหนึ่งราย ถูกยิงเข้าที่ศีรษะในกลางดึกก่อนหน้านั้น

ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 8.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีผู้ควบคุมตัวมากกว่า 30 คน อยู่บริเวณแฟลตดินแดง แต่ยังไม่มีการพาตัวไปไหน ต่อมามีรายงานว่าตำรวจพาตัวทั้งหมดไปที่ สน.ดินแดง จนเวลาประมาณ 11.00 น. ทนายความได้ติดตามไปที่สถานีตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ให้ทนายเข้าพบผู้ถูกจับกุม โดยในตอนแรกเจ้าหน้าที่อ้างว่าคุมตัวมาสอบถามเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้จะแจ้งข้อกล่าวหา จึงยังไม่ให้ทนายเข้าร่วมกระบวนการซักถาม

เวลาประมาณ 12.00 น. ทนายความได้พยายามเข้าพบผู้ถูกจับกุมอีกครั้ง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ผลักดันออกมา ไม่ให้เข้าไปในห้องควบคุม พร้อมกับมีการด่าทนายความด้วยถ้อยคำหยาบคาย และมีการล็อกประตูห้อง ขณะที่ญาติของผู้ถูกจับกุมที่เดินทางมาติดตาม ก็ไม่สามารถเข้าพบผู้ถูกจับกุมได้ ต่อมายังมีการนำเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบวัตถุระเบิดและหน่วยพิสูจน์หลักฐานจำนวนมากมายังสถานีตำรวจ

แม้จนเวลา 13.30 น. เมื่อทนายความแจ้งความจำนงของพบผู้ถูกจับกุมอีกครั้ง แต่รองผู้กำกับ สน.ดินแดง ยังคงปฏิเสธ แจ้งให้รอก่อน ระหว่างนั้นตำรวจได้มีการนำเยาวชน 6 ราย ไปตรวจสอบการจับกุมด้วย ขณะเดียวกันยังมีการนำตัวผู้ใหญ่อีก 7 ราย ไปสั่งฟ้องคดีฝ่าฝืนเคอร์ฟิวที่ศาลแขวงพระนครเหนือ โดยทั้งสองกลุ่มนี้ทนายความไม่ได้เข้าร่วมในการสอบสวนแต่อย่างใด กลุ่มที่นำตัวไปฟ้องนี้ ต่อมาทราบว่าให้การรับสารภาพ และศาลเปรียบเทียบปรับเป็นเงินคนละ 2,500 บาท 

นอกจากนั้นทราบว่ายังมีผู้ถูกจับกุม เป็นหญิง 5 ราย ที่ถูกนำตัวเข้าไปสอบสวน ได้รับการปล่อยตัวออกมาตั้งแต่เวลาประมาณ 07.00 น. โดยไม่ได้ดำเนินคดี ทราบเบื้องต้นว่าตำรวจซักประวัติ เมื่อเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องจึงปล่อยตัว และในช่วงเย็นมีผู้ถูกจับกุมมาอีก 3 คน ถูกปล่อยตัวกลับไป หลังถูกทำประวัติ ซักถามข้อมูล ตรวจเขม่าดินปืน และตรวจดีเอ็นเอ แต่ก็พบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

เวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ไล่ให้ผู้สื่อข่าว และทนายความออกจากพื้นที่ภายใน สน.ดินแดง และมีการนำรั้วลวดหนามมาปิดกั้นทางเข้าออก 

จนเวลาประมาณ 21.30 น. ทนายความได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดงอีกครั้ง และได้รับการแจ้งว่าตำรวจกำลังจะเริ่มทำบันทึกการจับกุมผู้ต้องหา โดยบางส่วนได้เริ่มทำบันทึกไปแล้ว แต่เมื่อทนายแจ้งว่ากำลังจะเดินทางเข้าไปที่สน.ดินแดง ตำรวจกลับแจ้งว่าทำจัดทำบันทึกจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดเสร็จหมดแล้ว  

เมื่อทนายความเดินทางติดตามไปถึง สน. ในเวลาประมาณ 23.00 น. พบว่ามีผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ 18 ราย ขณะที่ตำรวจแจ้งว่ามีเยาวชนอีก 16 ราย ถูกนำตัวแยกไปยัง สน.ห้วยขวาง แล้ว โดยไม่ได้แจ้งให้ทนายทราบก่อนหน้านี้ ทำให้รวมมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 34 ราย

หากนับตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนถึง 23.00 น. เป็นเวลากว่า 12 ชั่วโมง ที่ทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ถูกจับกุมได้ ซึ่งขัดต่อสิทธิของผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหาในทางกฎหมาย ที่จะสามารถพบและปรึกษาทนายความเป็นการส่วนตัวได้

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net