สรุปเสวนา: เข้าใจ ‘ความยากจน’ ผ่าน 3 สัมผัส รส-กลิ่น-เสียง ร้อยเรียงสู่ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “รส / กลิ่น / เสียง ของความยากจน” ผ่านมุมมองการลงพื้นที่สำรวจความยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ 3 นักวิจัยที่อธิบายชัดเรื่องความคับแค้นในใจคนจนที่ไม่อาจสะท้อนออกมาเป็นคำพูดได้

30 ต.ค. 2564 วานนี้ (29 ต.ค. 2564) ศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปะศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเสวนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “รส / กลิ่น / เสียง ของความยากจน” ซึ่งเป็นหัวข้อแรกในซีรีส์การเสวนาที่ชื่อว่า “เบิ่ง ‘จน’ ซอด” ซึ่งเกี่ยวกับการทำความเข้าใจความยากจนในภาคอีสาน โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ศ.นิติ ภวัครพันธุ์ นักมานุษยวิทยาและอาจารย์พิเศษประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิระศักดิ์ คชสวัสดิ์ นักวิจัยอิสระ, ผศ.ณัฏฐ์ชวัล โภคาพานิชวงษ์ และธวัช มณีผ่อง อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

งานเสวนา “รส / กลิ่น / เสียง ของความยากจน” เป็นการนำผลงานวิจัยในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำใน จ.อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนทำวิจัยจากหน่วยบริการและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มาพูดคุยแลกเปลี่ยนในแบบฉบับที่ ‘ย่อยง่าย’ ซึ่งผู้ร่วมเสวนาทั้ง 4 คนพูดถึงการสัมผัสความยากจนจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำงานวิจัยใน 3 มิติ คือ รส กลิ่น เสียง ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบการสัมผัสความยากจนประหนึ่งว่าเป็นการสัมผัสทางกาย

ผู้ดำเนินรายการกล่าวเปืดการเสวนาด้วยการอธิบายชื่อซีรีส์การเสวนา “เบิ่ง ‘จน’ ซอด” ว่าเป็นการเล่นคำในภาษาอีสาน เบิ่งแปลว่ามอง ซอดแปลว่าทะลุ ดังนั้น ชื่อซีรีส์ใหญ่ของการเสวนาจึงแปลได้ว่าเป็นการมองทะลุปัญหาความยากจนให้ทะลุปรุโปร่ง พร้อมบอกว่าจะมีการเสวนาออนไลน์หัวข้ออื่นๆ ในโอกาสถัดไป

ณัฏฐ์ชวัล ผู้เสวนาคนแรก กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ที่ จ.อำนาจเจิรญ พบว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือ ‘คนจน’ ไม่ได้รู้สึกว่าคำว่า ‘คนจน’ เป็นคำดูถูกหรือมีความหมายลบ และคนในพื้นที่ก็เรียกแทนตัวเองด้วยคำนี้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ ในงานวิจัยและการเสวนาในครั้งนี้จึงขอใช้คำนี้เรียกคนกลุ่มนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์และตัวตนของพวกเขาได้ชัดเจนที่สุด

ณัฏฐ์ชวัลบอกว่าภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มของคนจนที่ตนได้มีโอกาสพูดคุยจากการลงพื้นที่นั้นมีเสียงบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งเสียงของคนจนที่ตนได้ยินเป็นเสียงที่ดังอยู่ข้างใน เหมือนกับเสียงพูดงึมงำอยู่กับตัวเอง เสียงเหล่านี้สะท้อนว่าพวกเขาต้องเผชิญความยากลำบาก และความยากจนอยู่เพียงลำพัง ไม่รู้จะเรียกร้องจากใคร ไม่รู้จะพูดอย่างไร จะทำอย่างไรถึงจะหลุดพ้นจากความยากจน จึงแสดงท่าทีออกมาด้วยความคับแค้น หรือที่ในภาษาอีสานเรียกว่า “อุกอั่ง” การที่คนจนไม่รู้จะแสดงออกถึงความทุกข์ยากออกมาอย่างไร ทำให้หลายครั้งสิ่งที่เขาพูดออกมาดูเป็นการเรียกร้องแบบผิวเผิน เช่น การเรียกร้องเงินสงเคราะห์ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายออกมาเป็นรูปธรรมได้มากที่สุด แต่จริงๆ แล้วความต้องการของคนจนมีมากกว่านั้น ด้วยเหตุนี้ คนจนจึงถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มที่ ‘แบมือขอ’ อยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งคำตีตรานี้ยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายเมื่อทำอะไรไม่ได้ คนจนก็ต้องแบกรับตัวเอง ทำงานหนักขึ้น และปรับความคิดว่าต้องอดทน ถึงจะทุกข์ยากก็ทำได้แค่อดทน

ณัฏฐ์ชวัลอธิบายเรื่องรสชาติของความจนไว้ว่าเป็นรสแห่งความขมขื่น คนส่วนใหญ่มองว่าความจนนำมาซึ่งความทุกข์ แต่คนจนกลับแปลงความทุกข์เหล่านั้นให้เป็นความสุข และนำเสนอตัวเองในแง่บวกในเรื่องที่ไม่คิดว่าจะเป็นความสุขได้ เช่น ได้ดูแลพ่อแม่ที่พิการแก่เฒ่า มีเงินใช้หนี้ ภูมิใจที่สู้ชีวิตมาได้ ภูมิใจที่ได้ช่วยคนอื่น เป็นแม่ที่ดี มีลูกที่ดี หาเงินส่งลูกเรียนได้ เป็นต้น ซึ่งจากการรับฟังและพูดคุยเชิงลึกทำให้ตนทราบว่าความคิดเหล่านี้ไม่ใช่การหลอกตัวเอง แต่เป็นการสร้างพลังเพื่อให้ตัวเองมีชิวิตอยู่ต่อกับสิ่งที่ตัวเองมี นอกจากนี้ ณัฏฐ์ชวัลได้อธิบายเรื่องกลิ่นของความยากจนว่าเป็นพฤติกรรมหรือการแสดงออกของคนจนที่สะท้อนไปถึงสังคมรอบข้าง ซึ่งมักจะบดบังปัญหาเชิงโครงสร้าง เหมือนกลับกลิ่นที่โชยไปและคนที่ได้กลิ่นก็พยายามเดินหนี ไม่ได้มุ่งหาที่มาของกลิ่น โดยณัฏฐ์ชวัลยกตัวอย่าง เช่น กรณีคนจนที่มีพฤติกรรมแตกต่างออกจากขนบธรรมเนียมหรือบรรทัดฐานของสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ก็มักถูกมองว่าเป็นคนแปลกแยก และถูกเมินเฉยจากคนในชุมชนหรือสังคม จนทำให้บางครั้งพวกเขาเหล่านี้เข้าไปถึงสิทธิหรือความช่วยเหลือต่างๆ ที่สมควรได้รับ ณัฏฐ์ชวัลยังกล่าวต่อไปอีกว่าตนมักจะได้ยินคำว่า “อย่าเข้าไปยุ่ง/อย่าเข้าไปช่วยเลย” จากผู้นำชุมชนหรือคนรอบข้างคนจนที่ตนเข้าไปคลุกคลีระหว่างเก็บข้อมูลวิจัย ซึ่งคำพูดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมโดยรอบปฏิเสธที่จะยุ่งเกี่ยวกับคนจน ซึ่งเป็นการละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง

ด้านศิระศักดิ์ ผู้เสวนาคนที่สอง กล่าวว่า เสียงของความจนคือเสียงที่ถูกปิดไว้ แต่ตนไม่แน่ใจว่าใครปิด เพราะคนจนบางส่วนก็ต้องการปิดเสียงนั้นเอง หรือบางครั้งก็มีคนอื่นมาปิด พร้อมยกตัวอย่าง กรณีการปิดเสียงความยากจนจากการลงพื้นที่แล้วผู้นำชุมชนบางคนไม่ยอมให้สำรวจเพิ่ม แต่ให้ใช้ข้อมูลที่มีการสำรวจรายชื่อจากผู้นำชุมชนมาแล้วเท่านั้น ส่วนรสและกลิ่นของความยากจนนั้น ศิระศักดิ์กล่าวโดยรวมว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ พร้อมยกตัวอย่างกรณีคุณลุงคนหนึ่ง ซึ่งมีโรคประจำตัวและอาศัยอยู่ในบ้านที่มีลักษณะเสื่อมโทรม เขาพบลุงคุณนี้จากการลงพื้นที่ ซึ่งเขาถามคุณลุงคนนั้นไปว่า “คิดว่าตัวเองจนไหม” คุณลุงตอบว่า “ไม่จน อยู่อย่างนี้สบายดีแล้ว” ซึ่งศิระศักดิ์มองว่าคำตอบและสภาพความเป็นจริงสวนทางกัน จึงวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะความยากจนถูกมองว่าน่ารังเกียจ ทำให้คนจนบางคนไม่อยากเปิดเผยและยอมรับ ในขณะที่บางกรณี ผู้ถูกสัมภาษณ์ก็ถึงกับร้องไห้ เมื่อต้องตอบคำถามกับทีมวิจัย ซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร แต่ที่สัมผัสได้คือคนจนบางคนในกลุ่มตัวอย่างก็รู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อยความทุกข์ยากในใจจากการที่มีคนมารับฟังปัญหาของพวกเขาในเชิงลึก

ศิระศักดิ์สะท้อนและตกผลึกบทเรียนที่ได้จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลความยากจนเพื่อการทำวิจัยครั้งนี้ว่ายังต้องขบคิดเพิ่มเติมในกระบวนการเก็บข้อมูลอีก 2-3 ประเด็น ได้แก่ การเก็บข้อมูลความยากจนในเชิงปริมาณ ไม่มีการขยายผลต่อ ไม่มีการเข้าถึงคนจนจริงๆ ทำให้เกิดปัญหาการเก็บข้อมูลตกหล่น ไม่ครบถ้วน หรือในการเก็บข้อมูลหลายครั้งพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักให้ประชาชนกรอกแบบสำรวจความยากจนเพียงบางส่วน แล้วนำข้อมูลไปตกแต่งเอง ทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง และสุดท้ายคือคนจนบางส่วนก็ไม่อยากเปิดเผยตัว จึงปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล ไม่อยากให้ข้อมูล

ขณะเดียวกัน ธวัช สะท้อนมุมมองความยากจนผ่านมุมมองรัฐ โดยระบุว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนจน เปรียบเสมือนเกิดการระเหิดย้อนกลับจากก๊าซกลายเป็นของแข็ง เช่น เงิน 45 บาทในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ระบุให้ใช้จ่ายเป็นค่าแก๊สต้องสูญเปล่า เพราะคนจนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงการใช้แก๊ส พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่ตนพบระหว่างการเก็บข้อมูล คือ ผู้ถือบัตรดังกล่าวไม่เคยใช้จ่ายเงินค่าแก๊สหุงต้มเลย เพราะที่บ้านมีเพียงเตาถ่านเท่านั้น และผู้ถือบัตรไม่ทราบว่าจะต้องไปแจ้งใคร ร้องเรียนอย่างไร จึงได้แต่ปล่อยเงิน 45 บาททิ้งไป ทั้งๆ ที่ถ้าทำคำนวณแล้ว เงินจำนวนนี้เมื่อรวมกันหลายเดือนก็มีจำนวนมากพอที่ช่วยต่อชีวิตคนจนได้ ปัญหานี้ซึ่งนำมาสู่การแก้ปัญหาด้วยการนำเงินไปแลกสินค้าอย่างอื่น เช่น ไข่ หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตามเงื่อนไขเปลี่ยนค่าแก๊สเป็นค่าอาหาร แต่ไม่สามารถใช้จ่ายเงินค่าแก๊สเป็นค่าฟืนหรือถ่านได้ ซึ่งธวัชมองว่ารายละเอียดของโครงการต้องลงลึกกว่านี้ เพราะชีวิตคนจนไม่ได้มีมิติเรื่องค่าครองชีพเพียงมิติเดียว แต่ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาเรื่องการเข้าถึงการศึกษา และอื่นๆ ตนจึงมองว่าความช่วยเหลือจากรัฐไม่สัมพันธ์กับความต้องการของคนจน ทำให้ปัญหาคนจนแก้ไม่ได้สักที ธวัชกล่าวว่าแน่นอนว่าคนคิดนโยบายหรือนักวิชาการที่ส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลางไม่มีทางพาตัวเองเข้าไปลิ้มรสความยากจนได้อย่างแท้จริง แต่สิ่งที่ทำได้คือการเข้าไปให้รสและกลิ่นนั้นให้มากที่สุด เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาให้ได้มากที่สุด

นิติ ผู้เสวนาคนสุดท้ายกล่าวว่าตนเห็นต่างจากผู้ร่วมเสวนา 3 คนแรกที่บอกว่าเสียงของความจนหรือเสียงที่เงียบ เพราะจริงๆ แล้วเราได้ยินเสียงของความจนอยู่ แต่เลือกที่จะรับรู้หรือไม่เท่านั้น นิติกล่าวต่อไปว่าตนเห็นด้วยกับงานวิจัยชิ้นนี้ที่ลงพื้นที่เข้าไปรับฟังเสียงของคนจน แต่ตนไม่แนะนำให้เชื่อทุกคำพูดของคนจน พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่ศิระศักดิ์พบ ที่คนจนกล่าวอย่างชัดเจนและภูมิใจว่า “ไม่จน” ทั้งๆ ที่คำตอบนั้นสวนทางกับคุณภาพชีวิตที่เขามีอยู่

นิติไม่ปฏิเสธการสร้างความสุขทางใจในสภาพความเป็นอยู่ที่ทุกข์ยาก แต่ก็ไม่ควรมองข้ามความสุขทางกายด้วยเช่นกัน และปฏิเสธไม่ได้ว่าความสุขทางกายที่มาจากความต้องการพื้นฐานหรือ Basic Needs เป็นเรื่องที่จำเป็น พร้อมทั้งเสนอให้มีการนิยามความหมายของความต้องการพื้นฐานใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

“เราโดนหลอกเรื่องความจนจากโครงสร้างของรัฐ เรากำลังโดนหลอกด้วยความคิดหลายๆ อย่างในสังคมไทย ผมไม่ปฏิเสธความสุขทางใจ แต่อย่ามาบอกว่ามีความสุขทางใจแล้วก็พอ ผมว่าเป็นเรื่องไร้สาระมาก และผมคิดว่ามีคนในสังคมไทยเยอะมากที่เชื่อเรื่องพวกนี้และพูดเรื่องพวกนี้ ซึ่งสำหรับผมรู้สึกว่ามันไร้สาระมาก” นิติกล่าวทิ้งท้าย

ชมคลิปการเสวนา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท