แด่ ภรณ์ทิพย์ ที่รัก (มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่ามกลางกระแสการยกเลิก 112 อันเชี่ยวกราก ฉันเพิ่งอ่าน “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” จบ จบแบบไม่อยากให้จบ เพราะเสพติดตัวหนังสือของภรณ์ทิพย์และเจ้าปีศาจไปเสียแล้ว ฉันจำได้ไม่ชัดว่ารู้จักหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกจากที่ไหน เดาว่าน่าจะรู้จักจากบทความสักชิ้นในประชาไท ด้วยเหตุผลแรกคือ ฉันอยากรู้เรื่องความร้ายกาจของมาตรา 112 (ถ้ากฎหมายมันเหี้ย และถูกออกแบบมาเหี้ยๆ ก็ยอมรับไปตรงๆ ไม่ต้องโยนความเหี้ยไปให้คนบังคับใช้แต่เพียงผู้เดียว) มีสังคมประชาธิปไตยที่ไหนกัน ที่จับคนไปขังคุก 2 ปีกว่า เพราะเล่นละครเวที? แต่เมื่อได้รู้จักภรณ์ทิพย์ผ่านบทความต่างๆ ฉันก็สนใจหนังสือเล่มนี้เพราะทึ่งกับความเข้มแข็งของภรณ์ทิพย์ในฐานะมนุษย์ เธอเข้มแข็ง ไม่ใช่เพราะเธอไม่ร้องไห้หรือไม่รู้สึกอะไร แต่เพราะเธอลุกขึ้นมาทำอะไรต่างๆ เพื่อเยียวยาตัวเองและคนรอบข้างในที่คุมขังนั่น ทั้งที่ยังคงซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกมากมายนั่นแหละ อะไรสักอย่างในประโยค “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” เต็มไปด้วยพลังอย่างมหาศาล ตอนนั้นฉันกำลังติดอยู่ในหลุมดำอีกหลุมซึ่งกัดกินแสงสว่างและความเป็นมนุษย์ของฉัน และภรณ์ทิพย์ทำให้ฉันฉุกคิดว่าว่า มันอาจทำร้ายได้เรา... ได้แค่นี้แหละ 

เมื่อได้หนังสือมาครอบครอง ตอนแรกฉันลังเลที่จะอ่านทันที กลัวว่าหนังสือจะเศร้าและหดหู่เกินกว่าที่ฉันจะรับไหว เพราะได้ยินชื่อเสีย-ความโหดร้ายของคุกไทยมามากมายหลังจากแกนนำคณะราษฎร 63 ต้องเข้าๆ ออกๆ เรือนจำ และเพราะฉันต้องเก็บพลังใจไว้สู้รบกับงานที่กองท่วมหัว แต่กระนั้นความอยากรู้ก็เอาชนะความกลัว และฉันวางหนังสือไม่ลงอีกเลยหลังจากอ่านคำนำสำนักพิมพ์ ซึ่งคุณไอดากลั่นกรองออกมาได้อย่างซื่อสัตย์และสวยงามมาก 

ตอนได้อ่านคำนำจากเด็กปีศาจ ฉันได้หยุดคิดและบอกตัวเองก่อนดำดิ่งลงในหนังสือว่า ฉันรู้สึกได้ เศร้าได้ เห็นใจได้ พยายามทำความเข้าใจได้ แต่อย่าไปสงสารและเวทนาพวกเขาเด็ดขาด อย่าได้ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นคนและศักยภาพของพวกเขาจากสถานการณ์ที่เขาเผชิญ อย่าได้บังอาจไปหยิบเอาความทุกข์, ความเศร้า, ความลำบากของใคร มาเป็นบันไดให้ปีนป่ายหรือเปรียบเทียบให้รู้สึก “โชคดี” กับสถานะและความเป็นอยู่ของตัวเอง นี่ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา นี่คือผลผลิต (จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ของสังคมที่ไม่มองว่าคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน สังคมที่ฉันเองก็เติบโตมาโดยเหยียบย่ำคนอื่นและถูกคนอื่นเหยียบย่ำไม่มากก็น้อย

สำหรับฉัน หนังสือไม่ได้ชวนเศร้าและหดหู่ขนาดนั้น (เอ๊ะ หรือว่าฉันเจ็บปวด-แตกสลายจากสังคมจนด้านชาไปแล้วก็ไม่รู้?)  จริงอยู่ที่เรื่องราวความอยุติธรรมต่างๆ ที่ภรณ์ทิพย์และผู้คนในคุกเจอ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ และต้องได้รับการแก้ไข ระหว่างที่อ่านนี้ นอกจากคิดว่าเราจำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ที่ดูเหมือนถูกใช้เพื่อทำร้ายคนเห็นต่างและลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนในสังคมมากกว่าจะคุ้มครองประมุขของรัฐ ฉันก็คิดไปถึงการปฏิรูปคุก แล้วก็คิดเลยไปถึงว่า เราจำเป็นต้องมีคุกจริงหรือ? การจับคนไปขังในสภาพแวดล้อมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ขนาดนั้น มันช่วยทำให้คนอยากเป็นคนที่ดีขึ้นหรือแก้ปัญหาสังคมได้จริงหรือ? โครงสร้างในสังคมได้บีบบังคับและผลักให้คนบางกลุ่มเข้าไปอยู่ในคุกหรือไม่ ? 

หนังสือไม่ได้ชวนเศร้า คงเพราะภรณ์ทิพย์ไม่ได้พยายามพาผู้อ่านแหวกว่ายในความเศร้าและหดหู่ ตรงกันข้ามเธอพาคนอ่านอย่างฉันมองหา “วัตถุดิบ” เพื่อจะสร้างสรรค์อะไรสักอย่าง, และบางที, เพื่อเอาตัวรอดในความมืดมิด เธอติดอาวุธบางอย่างให้ฉัน นั่นคือ ความสามารถในการมองเห็นแสงสว่างในความมืด “และต่อให้แสงของหิ่งห้อยเป็นแสงเดียวที่เรามองเห็นในตอนกลางคืน ... ไม่ใช่แสงที่เราคาดหวัง ... เราก็ต้องมองมัน ...เพื่อไม่ให้ตาบอดสนิท” 

หลังจากที่ฉันเกิดอาการ “ตื่นรู้” จากการสะกดจิตของสังคม และได้มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเต็มตา การกดขี่ผู้คน การเหยียดสารพัดเหยียดที่มนุษย์กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน, บนสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง, ทั้งเหยียดชนชั้น เพศ เชื้อชาติ ฯลฯ ความโหดร้ายของเผด็จการต่างๆ ทั่วโลก ฯลฯ (ในปี 2021! เผด็จการพม่ามันกล้าทำแบบนั้นได้อย่างไร!) ฉันยอมรับตรงๆ ว่าฉันโกรธเกลียดโลกใบนี้และสิ้นหวัง .. มาก ฉันเหนื่อยและไม่มีแรงบันดาลใจจะลุกขึ้นมาทำไรเท่าไหร่ ฉันสาปแช่งทุกสิ่ง คิดว่าถ้าพระเจ้ามีอยู่จริง ฉันก็จะไม่นับถือและจะด่าให้ด้วย ว่าทำไมถึงใจดำอำมหิต ปล่อยให้เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นกับคนบริสุทธิ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฉันเคยถามตัวเองว่า “กูจะ move on และมีความสุขกับชีวิตได้อย่างไร ในโลกที่มีสิ่งเลวร้ายเต็มไปหมด” แต่หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในความดีงามของโลก ที่ช่วยเตือนสติฉันว่า เราสามารถตระหนักรู้ถึงปัญหาสังคม (โดยไม่ผลิตซ้ำหรือปล่อยให้มันซึมเข้าไปในตัวเรา) ในขณะเดียวกันก็สามารถซื่อสัตย์กับความรู้สึก/จิตสำนึกของตัวเอง และยังสามารถสัมผัสความดีงามที่ยังเหลืออยู่ของโลกใบนี้ 

ในโลกที่บางครั้งก็ดูโหดร้ายเหลือเกิน เราป้องกันตัวเองไม่ให้จมดิ่งลงไปในหลุมดำด้วยการเสาะหา “วัตถุดิบ”  และฝึกเพ่งไปที่ “แสงสว่าง”  แม้ว่ามีคนพยายามกักขัง/จำกัดเสรีภาพหรือพยายามลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราแค่ไหน เราก็มีอำนาจที่จะไม่ยอมจำนนหรือไม่ยอมเป็นแค่เหยื่อ เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเข้มแข็งและศักยภาพ (ที่เราอาจไม่รู้) ซ่อนอยู่ที่ไหนสักที่ในตัวของเรา  มันยากแหละ, ฉันยอมรับ, ที่จะเพ่งมองหาสิ่งดีๆ หรือดึงเอาความเข้มแข็งออกมาเพื่อรักษาตัวตนของเราให้สมบูรณ์มากที่สุดและเจ็บปวดน้อยที่สุด แต่ถ้าเราอยากรอดหรือต้องรอด ... เราก็ต้องอดทนและพยายามทำมันให้ได้ด้วยทุกอย่างที่เรามี

ฉันกอดหนังสือเล่มนี้แนบอกระหว่างที่อ่านและตอนอ่านจบแล้ว  มันรู้สึกอบอุ่นหัวใจ อบอุ่นเพราะ “ความกลม” ของมนุษย์ ทั้งจากภรณ์ทิพย์และเพื่อนของเธอ ฉันอยากกอดภรณ์ทิพย์ (เหนือสิ่งอื่นใด ฉันอยากนั่งคุยกับเจ้าปีศาจและหัวเราะไปกับมัน) ไม่ใช่เพราะความสงสาร แต่เพราะรู้สึกว่าเธอเป็นมนุษย์มหัศจรรย์และเป็นแรงบันดาลใจ ฉันรู้สึกขอบคุณภรณ์ทิพย์ที่ถ่ายทอดทุกอย่างออกมาอย่างซื่อสัตย์และละเมียดละไม ขอบคุณสำนักพิมพ์อ่านที่จัดรูปเล่มออกมาแบบนี้ (เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ใช้แว่นขยายอ่านหนังสือ เพื่ออ่านบันทึกลับที่เขียนด้วยลายมือกระจิริด!) แม้ว่าระหว่างที่อ่านนั้นฉันเดือดดาลและน้ำตาไหลบ้าง แต่มันก็ทำให้ฉันได้หัวเราะออกมาดังๆ กับอารมณ์ขันระหว่างบรรทัด ได้รับความอบอุ่นของแสงสว่างที่ปลุกฉันจากหลับใหลและเหนื่อยล้า กระซิบข้างหูให้ตื่นและลุกขึ้น ..สู้ ..ดีที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้ เป็นความรู้สึกที่ถูกพรากไปแสนนานโดยเวลาและความใจร้ายของโลกนี้  

ฉันหวังว่าเราทุกคนจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อเข้าใจมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเรา เพียงแต่ถูกโครงสร้างทางสังคมขีดเส้นและตีกรอบให้มีรายละเอียดชีวิตที่ต่างกันไป ฉันหวังว่าความเข้าใจนี้จะทำให้เราใจดีกับมนุษย์คนอื่นให้มาก (ในเวลาและโอกาสที่เขาคู่ควรกับมันอ่ะนะ ฮ่าๆ) และอย่าลืมใจดีกับตัวเองด้วยล่ะ เพราะโลกมันใจร้ายมากพอแล้ว

ท่ามกลางสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น ฉันหวังว่าเราจะโอบกอดกันและกันในเวลาที่เราต้องการอ้อมกอดที่อบอุ่น  ฉันหวังว่าความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง  ซึ่งฉันเองก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่  รู้แต่ว่าเราต้องแผ้วถางที่ทางให้คนรุ่นหลังได้เดินต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท