Skip to main content
sharethis

ทางการฝรั่งเศสจับกุมตัวหนึ่งในผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหาร จามาล คาชอกกี นักข่าวผู้วิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย โดยผู้ที่ถูกจับกุมตัวมีชื่อว่า คาเล็ด อัลโอไตบี อดีตราชองครักษ์ประจำราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย แต่ก็มีข่าวเพิ่มเติมหลังจากนั้นหนึ่งวันว่ามีการจับกุมผิดตัว ผู้ที่ถูกจับกุมแค่เป็นคนที่มีชื่อเดียวกัน

9 ธ.ค. 2564 ก่อนหน้านี้ทางการฝรั่งเศสได้จับกุม คาเล็ด อัลโอไตบี (Khaled al-Otaibi) หนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนักข่าวจามาล คาชอกกี (Jamal Khashoggi) โดยที่ทางการฝรั่งเศสได้จับกุมบุคคลผู้นี้ขณะที่เขากำลังจะเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาตื ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ในกรุงปารีสไปยังกรุงริยาร์ดของซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการประกาศจากทั้งอัยการสูงสุดของฝรั่งเศสและสถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงปารีสว่ากรณีนี้มีการจับกุมตัวผิดคนเพราะมีชื่อและนามสกุลเหมือนกับผู้ต้องสงสัยตัวจริง

เรมี ไฮตซ์ อัยการสูงสุดของฝรั่งเศสกล่าวว่า พวกเขาได้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยอาศัยอ้างอิงจากหมายจับนานาชาติที่ออกโดยหน่วยงานตุลาการของตุรกีเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2561 เนื่องด้วยความเกี่ยวข้องกับกรณีการฆาตกรรม จามาล คาชอกกี แต่เมื่อพวกเขาตรวจสอบยืนยันตัวตนของบุคคลที่พวกเขาจับกุมในครั้งนี้แล้วก็พบว่าหมายจับไม่ได้ระบุตัวชายคนนี้

สำหรับคาเล็ด อัลโอไตบี ตัวจริงนั้นถูกสั่งฟ้องดำเนินคดีข้อหาสังหารคาชิกกีโดยมีการตัดสินสั่งฟ้องโดยที่ตัวของอัลโอไตบีไม่ได้อยู่ในศาล จากรายงานของสหประชาชาติมีการระบุชื่อของอัลโอไตบีเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยก่อเหตุร่วมกับคนอื่นๆ อีก 14 คนในเหตุการณ์สังหารณ์คาชอกกี นักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ซาอุฯ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 ที่สถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในตุรกี

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ซึ่งทำงานด้านเสรีภาพและสวัสดิภาพของสื่อระบุชื่นชมความพยายามจับกุมหนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุสังหารนักข่าวอย่างอุกฉกรรจ์ โดยที่ RSF เคยยื่นเรื่องต่อสำนักงานอัยการฝรั่งเศสให้มีการดำเนินคดีทางอาญาข้อหาฆาตกรรมและบังคับให้สูญหายกับอัลโอไตบีตั้งแต่ปี 2562

อย่างไรก็ตามทาง RSF ก็เล็งเห็นว่าการจับกุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ธ.ค. นั้นเป็นการจับกุมตัวผิดคน เป็นการจับกุมผู้ที่มีชื่อเหมือนกัน ทำให้ RSF ระบุว่าพวกเขาจะยังคงยึดมั่นในเรื่องการนำตัวทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารคาขอกกีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีการพิจารณาคดีอย่างอิสระ

นอกจากนี้ RSF ยังเคยยื่นฟ้องร้องต่อเยอรมนีเมื่อเดือน มี.ค. 2564 โดยฟ้องร้องให้มีการดำเนินคดีข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติกับเจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และที่ปรึกษาของพระองค์รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่สืบสวนพบว่าเกี่ยวข้องกับกรณีการสังหารนักข่าวคาชอกกี ซึ่งในจำนวนนั้นมีการระบุถึงอัลโอไตบีด้วย

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net