Skip to main content
sharethis

เสวนา ครป. เสนอแก้ ม.256,272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายก เพิ่ม ส.ส.ร. และเรียกร้อง ครม. ประกาศประชามติ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ครป. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดอภิปรายในหัวข้อ “วิกฤตรัฐธรรมนูญ ในวันรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” โดยมี รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสุทิน คลังแสง  ประธานกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (วิปฝ่ายค้าน) ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช  ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายปรีดา เตียสุวรรณ์  นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และที่ปรึกษา ครป. และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมอภิปราย โดยมีผู้ร่วมกว่า 50 คน อาทิ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. นายนิกร วีสเพ็ญ ประธาน สสส. นางสาวลัดดาวัลย์ ตันวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย นายบุญส่ง ชเลธร อาจารย์ ม.รังสิต นางสุนทรี หัตถีเซ่งกิ่ง กป.อพช. นายสันติสุข โสภณสิริ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ฯลฯ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย และคณะ เดินทางมาให้กำลังใจระหว่างเดินสายหาเสียงรอบกรุงเทพมหานคร

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นวันรัฐธรรมนูญ  มีมาตราที่สำคัญของการเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 25 ที่กำหนดข้อยกเว้นในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ถ้าหากการใช้สิทธิเสรีภาพกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และกฎระเบียบ ที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ดุลพินิจในการเลือกปฏิบัติ อันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่รับรองความเสมอภาคของบุคคลทุกเพศวัยและกลุ่มเปราะบาง ในกรณีสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ สิทธิแรงงาน สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับรองสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง  และสิทธิในการชุมนุมที่แสดงความคิดเห็นในการปกป้องแผ่นดินเกิดของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และการชุมนุมในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสงบและปราศจากอาวุธ  กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการออกกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตประธาน ครป. และอาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกต่อต้านจากประชาชนหลากหลายกลุ่มทั้งในกระบวนการร่าง การลงประชามติ เนื้อหาสาระ และการบังคับใช้ เมื่อมีการนำรัฐธรรมนูญไปบังคับใช้ก็ยังมีปัญหาในการปฏิบัติตามมาหลายประการ และที่สำคัญคือการสร้างและขยายความขัดแย้งทางสังคม โดยเฉพาะการให้อำนาจการเลือกผู้บริหารสูงสุดของประเทศ แก่ ส.ว. ที่มาจากการเลือกสรรของ คสช. เป็นบั่นทอนสิทธิทางการเมืองและอำนาจของประชาชนโดยตรง และเป็นการถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยไทย 

รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้แกนนำคสช. สามารถผูกขาดอำนาจและควบคุมองค์กรอิสระได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งพรรคพวกตนเองเป็นวุฒิสมาชิกเกือบทั้งหมด ซึ่งกว่าร้อยละห้าสิบของวุฒิสมาชิกเป็นทหารและตำรวจ และพฤติกรรมทางการเมืองในภายหลังที่วุฒิสมาชิกแสดงออกมาก็เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะว่า เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มที่แต่งตั้งตนเองเป็นหลัก ยิ่งกว่านั้นแกนนำของ คสช. ก็ยังสามารถบงการและควบคุมให้วุฒิสมาชิกเลือกกรรมการองค์กรอิสระต่าง ๆ จากบุคคลที่มีความเชื่อทางการเมืองแบบเดียวกับตนเอง และสามารถสั่งได้

นายพิชาย ยังกล่าวว่า ผู้นำของประเทศไทยมีจินตนาการที่เพ้อฝัน พยายามที่จะยึดกุมการพัฒนาประเทศโดยการสร้างยุทธศาสตร์ชาติ มีความอหังการที่จะวางแผน 20 ปี โดยคิดว่าตนเองมีวิสัยทัศน์ที่ล้าหลัง คิดแบบลัทธิสตาลิน แค่ประเมินสถานการณ์ 3 ปียังประเมินไม่ถูก และทำไม่สำเร็จสักอย่างเช่น ปฏิรูปตำรวจ ปราบโกง แต่ดัชนีโกงเพิ่มมากขึ้นทุกปี จัดการเพียงคู่แข่งทางการเมือง จนสร้างความเสื่อมโทรมทางประชาธิปไตย ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้ ผลิตซ้ำแบบแผนการเมืองเก่า เช่น การซื้อตัว ส.ส.งูเห่า จนบ้านเมืองจะมีปัญหาต่อไปถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ

"แม้ว่าประชาชนพยายามยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธอย่างเย็นชา และถูกต่อต้านอย่างแข็งขันจากเครือข่ายอำนาจรัฐผ่านทางสมาชิกวุฒิสภาในหลายรูปแบบ รวมทั้งการอภิปรายด้วยถ้อยคำที่ดูถูกดูแคลนประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เครือข่ายชนชั้นนำสามารถใช้กลไกทางกฎหมายเสริมสร้างอำนาจ ดำรงรักษาการคงอยู่ของระบบอภิสิทธิ์ชนไว้อย่างมั่นคง และยังเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มเครือข่ายของตนเองอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็ มีการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องปฏิรูปและปราบโกงเพื่อลวงหลอกประชาชนที่มีข้อมูลข่าวสารทางการเมืองน้อยให้เกิดความหวังและยอมจำนนต่ออำนาจ ทั้งยังบั่นทอนอำนาจและจำกัดเสรีภาพของประชาชนที่คิดต่างอย่างเป็นระบบ และปราบปรามและขจัดผู้ที่ถูกมองว่าเป็นปรปักษ์โดยไม่เคารพสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย สิ่งเหล่านี้คือวิกฤตพลิงที่โหมไฟแห่งความขัดแย้งให้ลุกลามขยายตัวอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้" นายพิชายกล่าว
รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สรุปบทเรียนจากการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2539 จนสำเร็จเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีกลไกการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับนับตั้งแต่ปี 2475 ระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและแม้ฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้หลังรัฐประหารก็บัญญัติเช่นนี้ แต่ตามข้อเท็จจริงเป็นเพียงวาทกรรมของคณะผู้ยึดอำนาจเท่านั้น

ที่ผ่านมารัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในหลายเรื่อง สำเร็จเพียงแค่อย่างเดียวคือระบบการเลือกตั้งที่ผู้มีอำนาจรัฐได้ประโยชน์ ขัดกับหลักการการร่างรัฐธรรมนูญของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ไม่ต้องการให้คะแนนเสียงตกน้ำ ส่วนการลดอำนาจ ส.ว.ก็ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ดังนั้นทางออกจึงมี 3 แนวทางคือกดดันนายกรัฐมนตรีให้ทำประชามติ ตามแนวทางศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยไว้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา และการแก้ไขบทบัญญัติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มี ส.ส.ร.ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายโภคิน เห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อตั้ง ส.ส.ร.เป็นทางออกที่ประนีประนอม และทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้ ส.ส.ร.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา ตามข้อบังคับที่จะต้องตราเพิ่มเติมต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน โดยผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนรัฐบาล สมาชิกรัฐสภา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานต่างๆ จากนั้นให้รัฐสภาลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ หากไม่เห็นชอบต้องจัดทำประชามติโดยไม่ก่อน 90 วัน แต่ต้องไม่ช้ากว่า 120 วัน เพื่อให้มีการรณรงค์และให้ความรู้ในร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด 
ทั้งนี้ ร่างข้อเสนอดังกล่าว สามารถเสนอผ่าน 3 ช่องทาง คือคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา และการเข้าชื่อของประชาชนจำนวน 50,000 รายชื่อ ซึ่งหากรัฐสภาเห็นชอบกับข้อเสนอญัตติดังกล่าว ก็จะเป็นทางออกให้กับสังคมอีกทางหนึ่ง เพื่อฝ่าวิกฤตทางตันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สร้างทางออกที่ดีที่สุด และง่ายที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาพอเสนอยากๆ ก็ไม่รับกัน ถ้าครั้งนี้ไม่รับอีก ประเทศไทยก็ไม่มีอนาคตแล้ว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลง 2475 ผ่านมาแล้ว 89 ปี มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ รัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนไปมา เพราะคนร่างไม่ได้ร่างด้วยเหตุผล แต่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในสังคม ไม่ได้ร่างเพื่อคนทุกฝ่าย ร่างมาด้วยเหตุผลดูสวยหรูแต่ท้ายที่สุดคือเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองของฝ่ายตัวอง ดังนั้นฉบับนี้จึงไม่ใช่ฉบับสุดท้าย และไม่ใช่ฉบับที่ดีที่สุดแต่เลวที่สุดด้วยซ้ำเพราะคนเขียนคือคนที่รับงานมาจากผู้ที่รัฐประหาร และคิดที่จะดำรงอำนาจตัวเองต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด วันนี้จำเป็นที่ต้องคิดถึงหนทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกคนต้องร่วมกันทำต่อไป และส่วนตัวมองว่าควรแก้มาตราเดียวคือ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากหากแก้เยอะก็เหมือนเอาของมาขายแบบเหมาถาด คนไม่ชอบไม่ซื้อทั้งหมด เอาชิ้นเดียวคือมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี

“แค่เรื่องเดียวทำให้มันเสร็จก่อนมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น การเลือกตั้งนั้นจะไม่เสียเปล่า เพราะแม้ใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ท้ายที่สุด 250 ส.ว.เอาไปกิน ดังนั้นหัวใจการแก้รัฐธรรมนูญคือการแก้ที่ 250 ส.ว. โดยต้นเดือนหน้าจะมีการรณรงค์ผ่านออนไลน์ ผมขอแค่ 7 หมื่นรายชื่อ ผื่อเหลือเผื่อขาดและไม่เสนอมากเกินไป จนเป็นภาระในการตรวจสอบ ทำให้กระบวนการแก้ไขเนิ่นช้าออกไป เป้าหมาย 3 เดือน ไม่ต้องถึงล้านชื่อเพราะมากเกินไปทำให้เสียเวลาตรวจสอบรายชื่อ เสร็จเมื่อไรส่งเมื่อนั้น เรื่องนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสันติ ถูกกฎหมาย ไม่ลงถนน แต่เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดได้” นายสมชัยกล่าว

นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้แย่มาก ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมประเด็นบัตร 2 ใบ หลายคนมองว่า พรรค พท.ได้เปรียบและแลนด์สไลด์ แต่ความจริงแล้วคิดว่าบัตร 2 ใบ ไม่ได้มีประโยชน์กับเรา แม้ชนะท่วมท้นแบบแลนด์สไลด์ หรือจะสไลด์ลงหลุม สุดท้ายตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ สุดท้ายกลับมาเหมือนเดิมที่เราชนะมาได้ที่หนึ่ง แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะ ส.ว.ไม่เอา หรือว่าจัดตั้งรัฐบาลได้แต่สามารถอยู่ได้นานหรือไม่ ถ้ายังมีองค์กรอิสระแบบนี้ เราหัวคะมำเพราะองค์พวกนี้ทั้งนั้น

นายสุทิน กล่าวว่า ปัญหาจริงๆ อยู่คนที่คนครองอำนาจวันนี้ คือ พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือใครที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ฉะนั้นต้องจัดการตรงนี้ให้จบก่อน เราจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นอำนาจ หรือปลด พล.อ.ประยุทธ์ และผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ หนทางไหนเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องเจอกับระเบิด 3 ลูก คือ 1.การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2.พ.ร.บ.งบประมาณ และ 3.วาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ 8 ปี ดังนั้นตนเชื่อว่าจะมีการยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ภายในเดือน ส.ค.65 อย่างแน่นอน

“ระเบิดทั้ง 3 ลูกนี้จะเปลี่ยนรัฐบาลโดยวิธีสันติวิธี ผมมีความหวังเล็กๆ ว่า จะต้องปลด พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนถึงแก้รัฐธรรมนูญ วันนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นวิกฤติจริงๆ ตั้งแต่จะร่าง เอามาใช้ และจะแก้อีกดังนั้นเราต้องเดินหน้าต่อโดยไม่เสียกำลังทั้งในและนอกสภาฯ ขอทุกคนอย่าท้อ เพราะท้อก็เข้าทางเขา” นายสุทิน กล่าว

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนเข้าร่วมกลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย เพราะปัญหารัฐธรรมนูญและรูปแบบการปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์ และพวก ที่รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางไม่สามารถพัฒนาประเทศไทย ซ้ำร้ายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็เป็นปัญหา และต่อไปประเทศไทยยังจะต้องเผชิญปัญหาอีกหลายมิติ ทั้งโลกร้อน สิ่งแวดล้อม โลกหลังโควิด เราจะก้าวหน้าไม่ได้เลยถ้ามีรัฐบาลขาดวิสัยทัศน์แบบนี้

นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้จะมีกฎหมายเพื่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม แต่การผูกขาดตลาดค้าปลีกดังที่มีการควบรวมกิจการเซเว่นกับเทสโก้โลตัสก็ชัดเจน  แล้วยังมีเรื่องโทรศัพท์มือถือทรูและดีแทค ซึ่งทำให้เกิดทุนผูกขาดในประเทศไทย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถเติบโตได้ จึงตัดโอกาส ตัดอนาคตของประชาชนเพราะรัฐบาลสร้างความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

"ผมอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศไทย วิกฤตรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะสายเกินไป แล้วไม่เหลืออะไรเลย"

ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญควรเป็นพันธสัญญาที่จะสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เช่นในฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติก็มีพันธสัญญาในเรื่อง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ แต่พันธสัญญาในเมืองไทยตกหล่นเกลื่อนกล่นไปทั่ว ทั้งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ขาดอดมการณ์ จิตสำนึกที่เข้าถึงประชาชนและเพื่อสังคมอย่างแท้จริง 

วันนี้รัฐธรรมนูญและการปกครองถูกตั้งคำถามมากมาย เนื่องจากอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแล้วใครคือตัวแทน? มีหน้าที่ มีอำนาจและความรับผิดชอบกันถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ การตรวจสอบการใช้อำนาจมีหรือเปล่า ซึ่งแทบไม่มีเลย และรัฐจะปกป้องอธิปไตยเหล่านี้ของประชาชนได้อย่างไร แม้แต่สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนก็ถูกทำลาย ทุกวันนี้รัฐแปรสภาพสิทธิพลเมืองที่ประชาชนควรมี กลายเป็นขอทานไปในตัว ด้วยนโยบายต่างๆ ไม่เห็นหัวประชาชน

"สมัยที่ผมเคยเป็น ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล เพียงแค่รณรงค์เรื่องการประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ยังถูกกลั่นแกล้งตั้งข้อหาหลายคดี นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับเยาวชน กับประชาชนจนถึงปัจจุบันเพราะระบอบอำนาจนิยม"

สำหรับแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จะมีการล่ารายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ตามกฎหมายประชามติฉบับใหม่ในมาตรา 9 (5) เนื่องจากที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีปัดความรับผิดชอบโดยตรงแต่ชอบโยนไปที่รัฐสภา จึงอยากจะเสนอให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยตรงเพื่อดูว่าจะรับฟังเสียงประชาชนโดยตรงแบบนี้หรือไม่ต่อไป

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า วันนี้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างชัดเจน จากกับดักที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนขึ้น ไม่ต่างจากปี 2534 และกลายเป็นกับดักรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบทั้ง 2 ฝ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม และจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรง ไม่ต่างจากเหตุการณ์พฤษภา 35 เนื่องจากรัฐบาลแบ่งแยกอำนาจประชาชนออกจากรัฐ สิบทอดอำนาจระบอบคณาธิปไตยที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นศูนย์กลาง

หล่มรัฐธรรมนูญในฐานะกลไกการปกครองฉบับยึดอำนาจประชาชน จึงทำให้เกิดวิกฤตประชาธิปไตย บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐในการจัดวางการอยู่ร่วมกันของประชาชน และการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ล้มเหลว กลไกการตรวจสอบไม่มี องค์กรอิสระถูกยึดควบคุม กระจุกอำนาจที่ทำเนียบ แทนที่จะกระจายอำนาจไปสู่จังหวัด

ซ้ำร้าย รัฐธรรมนูญที่ชั่วร้ายนี้ กลับไม่ใช่เครื่องมือที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ใช้ปฏิบัติเหมือนทุกพรรคการเมือง หรือประชาชนทุกคน เพราะปรากฎว่าการปกครองบ้านเมืองด้วยอำนาจนิยมของนายพลอาวุโส ไม่ได้สนใจกระทำตามรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องหลายมาตรา ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 44, 47, 55, 56, 161, 258-261

หรือกระทั่งมาตรา 158 ที่ให้นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ แต่กลับมีการรณรงค์เพื่อที่จะให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบเทอม หรือกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งในสมัยหน้า แม้รัฐธรรมนูญเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ชัดเจนไม่ให้ตีความเป็นอื่น ซึ่งกลายเป็นว่าพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง และศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญของ คสช. ฉบับนี้ที่ร่างโดยนายมีชัย ได้กลายเป็นเครื่องมือพิทักษ์ระบอบ 3 ป. ไปโดยปริยาย

นายเมธากล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นจำเลยของประชาชน ทางออกจากกับดักรัฐธรรมนูญ คือต้องแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนวิกฤตรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดรัฐที่ล้มเหลวและระบอบคณาธิปไตย ท่ามกลางความขัดแย้ง การแบ่งแยกเพื่อปกครองและปฏิบัติการข่าวสาร ประชาชนจะต้องรวมตัวกันด้วยภราดรภาพ ข้าราชการจะต้องรับใช้ประชาชนผู้เสียภาษี พรรคการเมืองและองค์กรอิสระทั้งหลายจะต้องมีความผิดชอบทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ ไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

"ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะสามัคคีทุกฝ่ายที่ถูกแบ่งแยกแล้วปกครองเพื่อภราดรภาพ และรวมพลังทุกพรรคการเมืองที่ต่อต้านระบอบอำนาจนิยม เพื่อร่วมสรรค์สร้างสังคมประชาธิปไตยและภราดรภาพในหมู่ประชาชน เพื่อสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านแก่บ้านเมือง มีระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net