Skip to main content
sharethis

เยาวชนสะท้อนปัญหาระบบสุขภาพ พบเด็กพื้นเมืองมีช่องว่างด้านภาษา-ไม่มีบัตรประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ขณะที่การกระจายบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอต่อการรักษา เด็กไปเรียนต่างจังหวัดใช้สิทธิบัตรทองไม่ได้ ขาดความเข้าใจและรับรองสิทธิด้านสุขภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สช. เสนอบรรจุทางแก้ในธรรมนูญสุขภาพ

13 ธ.ค. 2564 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า “วิสัยทัศน์ระบบสุขภาพในมือเยาวชน” เป็นเวทีเสวนาออนไลน์ และเป็นหนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side event) ที่ สช. จัดขึ้น ก่อนจะถึงงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ภายใต้ประเด็นหลัก “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” จัดขึ้นเมื่อ 10 ธ.ค. 2564 

สช. ระบุว่า ความเห็นของเยาชนจากหลากหลายองค์กรที่เข้าร่วมเวทีเสวนา จะถูกควบรวมเข้าไปในการร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งจะเป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศ เป็นเสมือนพิมพ์เขียวที่ภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันกำหนดภาพอนาคตที่พึงประสงค์ของระบบสุขภาพ ทุกหน่วยงาน องค์กรรวมถึงชุมชน ท้องถิ่นจึงสามารถนำใช้อ้างอิงประกอบการจัดทำแผนนโยบาย รวมถึงกติการ่วมของชุมชนได้

พรทิพย์ รุ่งเรือง ตัวแทนเยาวชนจากเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) สะท้อนปัญหาสุขภาพที่เครือข่ายเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง โดยสิ่งที่พบมากสุดที่คือการสื่อสารกับแพทย์และการได้รับบริการจากโรงพยาบาล เนื่องจากความไม่เข้าใจในภาษา ทำให้รู้สึกว่ามีช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำ การได้รับบริการไม่เท่าเทียม

อีกประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของสถานะของชนเผ่าพื้นเมือง บริเวณที่อยู่เป็นพื้นที่ติดเขตชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีสถานะไม่ชัดเจน ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในการรักษาพยาบาลได้ ต้องรับภาระค่าใช่จ่ายในการรักษาพยาบาลเอง

ศุภิสรา โฆษิตบวรชัย ตัวแทนเยาวชนจากสมาพันธ์นักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) สะท้อนว่า ระบบสุขภาพในประเทศไทยมองได้หลายประเด็น โดยสมาพันธ์ฯ มองไปที่การกระจายทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามีผู้ใช้สิทธิบัตรทองประมาณ 51 ล้านคน ทำให้ความต้องการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการรักษา

ทั้งนี้ อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร ปี 2562 ประเทศไทยมีแพทย์จำนวน 38,000-39,000 คน อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรจะอยู่ที่ประมาณ 1,600-1,700 คน ต่อแพทย์ 1 คน ในบางจังหวัดอัตราแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 4,000 คนต่อแพทย์ 1 คน ไม่เพียงแต่แพทย์เท่านั้นที่มีปัญหา เชื่อว่าบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน

โยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย บอกว่า ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับ สช. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนเรื่องการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ โดยสิ่งที่น้องๆ สะท้อนมา เป็นข้อท้าทายที่อยากให้สังคมเห็นด้วยกัน

ประเด็นแรกคือเรื่องของการใช้สิทธิพื้นฐาน หลายคนที่ไปเรียนต่างจังหวัดหรือมาเรียนในกรุงเทพฯ แต่เวลาจะใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลก็ต้องกลับไปใช้สิทธิ์ที่ภูมิลำเนา ทำให้เกิดข้อเสนอบัตรประชาชนใบเดียวสามารถเข้ารับบริการได้ อีกประเด็นที่เป็นเสียงสะท้อนจากน้องๆ คือเรื่องของการเข้าถึงของใช้ส่วนตัว เช่น ถุงยางอนามัย หรือผ้าอนามัย เป็นต้น

“เรื่องที่พูดถึงกันมากคือเรื่องของคลินิกที่ดูแลเฉพาะวัยรุ่น ที่มีเวลาให้บริการไม่ตรงกับเวลาที่เด็กๆ จะไปใช้บริการได้ ส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการช่วงเวลาที่เด็กต้องเข้าเรียน จึงมีข้อเสนอให้เปิดบริการช่วงเย็นและวันเสาร์อาทิตย์ที่เด็กไม่มีเรียน ซึ่งมีหลายแห่งเปิดบริการแล้วแต่ยังมีน้อยและบุคลากรที่ให้บริการก็ยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเรื่องยุว อสม. อยากให้มีมากขึ้น จะได้สื่อสารกับวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น” โยธิน ระบุ

ทางด้าน ภัทรธร มูญศิริ ตัวแทนเยาวชนจากเสรีเทยพลัส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีไม่มีคนที่ให้ความสนใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่หลังจากที่มีการเรียกร้องมากขึ้น ทำให้มองเห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพมากขึ้น หลายคนมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องใหม่ ทำให้แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่วนใหญ่ยังยึดการปฏิบัติตามข้อมูลบัตรประชาชน

“การข้ามเพศไม่ใช่ทางเลือก มันเป็นความจำเป็น เค้าต้องการแก้ไขร่างกายให้เป็นไปตามเพศที่เค้าเป็น การผ่าตัดทางเพศไม่ใช่เรื่องการเสริมสวย แต่ระบบสุขภาพยังไม่รองรับ” ภัทรธร ระบุ

ภัทรธร บอกอีกว่า อีกประเด็นที่อยากพูดถึงคือหลักสูตรการศึกษายังพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศไม่มากพอ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเข้าใจไม่มากพอ อยากให้เปลี่ยนระบบการศึกษา ไม่ให้ตีกรอบทางเพศหรือสร้างอคติทางเพศ

หลังจากฟังวิสัยทัศน์จากเยาวชนหลากหลายองค์กรแล้ว สุทธิพงศ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องที่เสนอมาเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ขอชื่นชมน้องๆ ที่เข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน และเกี่ยวเนื่องกับหลายระบบได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติ การกระจายบุคลากร ความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับแพทย์ เรื่องของเพศภาวะ มุมมองต่างๆ ต้องได้รับการตอบสนองในทางใดทางหนึ่งต่อๆ ไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่กำลังได้รับการแก้ไขคือเรื่องของสิทธิเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติ ขณะนี้ได้คุยกันเรื่องสิทธิเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติ เลขบัตรประชาชน 13 หลักจะต้องมีอย่างไร สิทธิการมีบัตรประชาชนซึ่งจะทำให้เกิดการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและอื่นๆ ขั้นพื้นฐานของรัฐได้ต้องควรมี ขณะนี้เรากำลังพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติ มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว และในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ จะมีการพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย

“เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับคำพูดที่ว่า อยากเห็นคนเป็นอย่างไรให้ใส่สิ่งนั้นลงในหลักสูตร อยากเห็นประเทศเป็นอย่างไรให้ใส่สิ่งนั้นในแผน และวันนี้เรากำลังทำกันต่อไปว่า อยากเห็นระบบสุขภาพไทยเป็นอย่างไรให้กำหนดสิ่งนั้นในธรรมนูญระบบสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพจะนำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี สุดท้ายจะนำลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งธรรมนูญสุขภาพ ฉบับที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สุทธิพงษ์ ระบุ

สช. ยังขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 14 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15-16 ธ.ค. 2564 สามารถเข้าร่วมประชุมได้ทางออนไลน์ Live ผ่าน facebook สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net