Skip to main content
sharethis
  • ผู้เสนอให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก เผยคุณค่าความหมายของมันคือบ้านของสิ่งมีชีวิต คนกับป่า สรรพสัตว์ อาศัยอยู่อย่างยั่งยืน
  • ดอยเชียงดาว คือแหล่งดูนกหายากของประเทศไทย หน่วยงานองค์กรในพื้นที่ เน้นสร้างความร่วมมือ ให้ความรู้ชาวบ้าน
  • ภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาวชูการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าทางวัฒนธรรม ให้ เชียงดาว เป็นเหมือน ฟูจิ ของญี่ปุ่น ชี้พื้นที่สงวนชีวมณฑล ทำให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ย้ำอยากได้นักท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าใจมิติของชุมชน หวังผลิตสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประทับตราพื้นที่สงวนชีวมณฑล
  • คนรุ่นใหม่จับมือกับมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร จัดอบรมผู้ประกอบการ ไกด์ นักท่องเที่ยวขึ้นดอยเชียงดาว
  • ตัวแทนชาวชนเผ่า เผยพื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นสิ่งที่ดี ย้ำคนอยู่ได้ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

เป็นข่าวที่สร้างความตื่นเต้น ดีใจกันถ้วนหน้า เมื่อ "ดอยหลวงเชียงดาว" จังหวัดเชียงใหม่ ภูเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศไทย ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) โดยนับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 5 ของเมืองไทย

แน่นอนว่า ยังมีหลากหลายมุมมองความคิดที่กำลังเป็นกระแสกันอยู่ในตอนนี้  ในขณะที่ชาวบ้าน คนท้องถิ่นบางคนบางกลุ่ม ยังไม่เข้าใจว่ามันจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนเชียงดาวหรือไม่ มันจะเอื้อประโยชน์ต่อคนเชียงดาวได้อย่างไร ในขณะที่หลายกลุ่มเชื่อกันว่า การจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑล นั้นจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการทั้งด้านการอนุรักษ์ การท่องเที่ยว และส่งเสริมกลุ่มอาชีพต่างๆ ในเขตพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว เกิดความยั่งยืนต่อไปได้

15 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงดาว มีเวที “การจัดแนวทางบูรณาการและการขับเคลื่อนพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว” ขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อม สร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างชุมชนและองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เผยคุณค่าความหมายของ “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” คือบ้านของสิ่งมีชีวิต คนกับป่า สรรพสัตว์ อาศัยอยู่อย่างยั่งยืน

วิมลมาศ นุ้ยภักดี นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ผู้จัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ และเป็นผู้เสนอให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก ให้กับทางยูเนสโก ได้พูดถึงคุณค่าความหมายของพื้นที่สงวนชีวมณฑลเอาไว้ว่า ที่ตนเองเสนอให้ทางยูเนสโกพิจารณา เพราะเรามองว่าดอยหลวงเชียงดาวนั้นมีจุดเด่น มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ซึ่งมีแห่งเดียวของประเทศและของโลก มีพืชเฉพาะถิ่น 70 กว่าชนิด มีพรรณพืชมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศอยู่ที่ดอยเชียงดาว นอกจากนั้น ยังมีสัตว์ป่าหายาก อย่างเช่น เลียงผา ไก่ฟ้าลายขวาง หรือนกไต่ไม้ใหญ่ เป็นต้น

วิมลมาศ นุ้ยภักดี ผู้เสนอให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก

“อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำว่า ‘ชีวมณฑล’นั้นหมายถึง บ้านของสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมไปถึงป่า  ระบบนิเวศน์ สัตว์ป่า และมนุษย์ ให้อยู่อาศัยกันได้อย่างเกื้อกูล ทำอย่างไรจะให้มนุษย์นั้นสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน” นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ผู้จัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า กล่าว

วิมลมาศ ยังยกตัวอย่างการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลระดับสากลในประเทศต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจ ว่าหลังจากนี้ เราคงต้องมาวางแผนร่วมมือกันในการจัดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่กันต่อไป ข้อดีของพื้นที่สงวนชีวมณฑล ก็คือ เราสามารถพัฒนายกระดับพื้นที่ให้เป็นระดับสากล ทำให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งประเทศไทยและสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ให้การรับรอง เอาไว้อยู่แล้ว รวมไปถึงการจัดการตามแผนปฏิบัติการลิมา (Lima Action Plan) ซึ่งจะส่งผลดีต่อชุมชน ต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ 

“ยกตัวอย่าง ในพื้นที่สงวนชีวมณฑล ที่มีทั้งหมด 700 กว่าแห่งทั่วโลก หลายพื้นที่มีการสร้างผลิตภัณฑ์สินค้าของชุมชน โดยมีการสร้างแบรนด์สัญลักษณ์ของพื้นที่ชีวมณฑล ไปติดไว้ในผลิตภัณฑ์สินค้าของแต่ละชุมชน เพื่อสร้างมูลค่า สร้างคุณค่าว่าสินค้าของชาวบ้านนั้นได้รับการันตีจากยูเนสโก ราคาอาจแพง แต่มีคุณค่าและคุ้มค่า โดยเน้นสินค้าที่ปลอดสารพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เหมือนหลายๆ ประเทศที่ทำกันมาก่อนแล้ว เช่น อินโดนีเซีย ได้เน้นการปลูกผักปลอดสารพิษ  ที่เวียดนาม บริเวณโตนเลสาป มีการพัฒนาที่พัก โฮมสเตย์ โรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับใบรับรองจากพื้นที่ชีวมณฑล  ที่ญี่ปุ่น มีการส่งเสริมให้ท้องถิ่นทำโยเกิร์ต ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน ที่กัมพูชา จากเดิมบริเวณโตนเลสาป ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีนกกระสาหายากอาศัยอยู่ แต่ชาวบ้านชอบล่าเก็บไข่นก ก็เปลี่ยนจากผู้ล่ามาเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลฟื้นฟูระบบนิเวศของนกกระสาหายาก โดยเปลี่ยนผู้ลักลอบซื้อขายกลายมาเป็นนักท่องเที่ยวแทน หรือที่ประเทศเยอรมัน ก็มีการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สูญหายไป ได้ฟื้นฟูส่งเสริมการอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองกลับมา และกลายเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการผลิตขนมปังที่ทำจากพันธุ์ข้าวดั้งเดิมนี้”

นอกจากนั้น วิมลมาศ ยังได้ยกตัวอย่างในพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ ที่ชุมชนบ้านปงไคร้ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ชุมชนก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ น้ำแร่บ้านปงไคร้ และมีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยรายไดส่วนหนึ่ง ก็หักมาเป็นกองทุน เป็นการจ่ายระบบแทนคุณระบบนิเวศ เพื่อนำมาดูแลพื้นที่สงวนชีวมณฑลกันต่อไป

ดังนั้น ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว ถ้าเรานำมาพื้นที่ตัวอย่างของประเทศต่างๆ มาปรับใช้ และทำได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวในเชียงดาวเป็นอย่างมาก และสามารถนำไปเป็นโมเดล และนำเสนอต่อคณะกรรมการพื้นที่สงวนชีวมณฑล และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติให้เป็น กลยุทธ์ของประเทศ ต่อไป

วิมลมาศ ยังบอกอีกว่า หลังจากนั้น ถ้าพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว มีการขับเคลื่อนเดินหน้า ต่อไปเราอาจขยับนำไปสู่การตั้งกองทุนพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว โดยมีเป้าหมาย ว่าใครจะได้รับประโยชน์จากพื้นที่สงวนชีวมณฑล ก็จะมีการจ่ายคืนกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อเข้ากองทุน เราเรียกว่า เป็นระบบจ่ายแทนคุณระบบนิเวศน์ ซึ่งระบบนี้ก็จะได้จากลูกหาบ ไกด์ คนขับรถนำเที่ยว นักท่องเที่ยว รวมไปถึงการขายผลิตภัณฑ์สินค้าและที่พัก ซึ่งรายได้ที่เข้าระบบจ่ายแทนคุณระบบนิเวศน์นี้ ก็สามารถนำไปบริหารจัดการเข้าไปช่วยกันดูแลรักษาพื้นที่ดอยเชียงดาว รวมไปถึงการจัดการเรื่องไฟป่า การฟื้นฟู การดูแลเรื่องการทำงานของจิตอาสาต่างๆ ต่อไปได้

ดอยเชียงดาว คือแหล่งดูนกหายากของประเทศไทย

มงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เปิดเผยว่า ดอยหลวงเชียงดาว ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศเฉพาะ นอกจากจะมีความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้พรรณพืชเฉพาะถิ่นและหายากแล้ว ดอยหลวงเชียงดาวยังเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่หายากที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลกเลย เช่น ไก่ฟ้าลายขวาง กวางผา และเลียงผา เป็นต้น

“จะเห็นได้ว่าในแต่ละปี เราจะมีนักดูนกจากต่างประเทศ ตั้งใจบินมาเมืองไทย มาเชียงใหม่ เป้าหมายเพื่อมาดูนกหายาก ที่บริเวณเด่นหญ้าขัด ทางขึ้นไปดอยหลวงเชียงดาว นอกจากนั้น ปัจจุบัน เรากำลังทำในเรื่องของการขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะกวางผา  ซึ่งในอนาคตเราจะมีการนำกวางผาที่ได้จากการขยายพันธุ์นำมาปล่อยในเขตพื้นที่บริเวณดอยหลวงเชียงดาวนี้ต่อไปอีกด้วย” หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว กล่าว

หน่วยงานองค์กรในพื้นที่ เน้นสร้างความร่วมมือ ให้ความรู้ชาวบ้าน

ฉัตรเทพ เพิ่มทรัพย์ ปลัดอาวุโส รักษาการแทนนายอำเภอเชียงดาว ได้พูดถึงแนวทางการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวว่า ตนมีความคาดหวังมาก ว่าเวทีนี้จะทำให้เราเริ่มต้นอย่างมั่นคง และทุกภาคส่วนทั้งราชการ เอกชน จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และรู้บทบาทของตนเอง ว่ามีหน้าที่อะไร จะต้องทำอะไรบ้างในความเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว เพราะฉะนั้น ทุกองค์กร จะต้องร่วมกันสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ทั้งในเรื่องการพัฒนา การอนุรักษ์ และเพื่อการวิจัยองค์ความรู้ โดยเราคงจะต้องมีการถอดบทเรียน จากพื้นที่สงวนชีวมณฑลทั้ง 4 แห่งที่มีอยู่ก่อนนั้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลว เพื่อนำมาเป็นบทเรียน ว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว นี้ได้รับการส่งเสริม การพัฒนาให้ยั่งยืนได้

ฉัตรเทพ เพิ่มทรัพย์ ปลัดอาวุโส รักษาการแทนนายอำเภอเชียงดาว

“ที่ผ่านมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจ ยังตกใจว่าตนเองจะเสียผลประโยชน์จากพื้นที่สงวนชีวมณฑลหรือไม่ ซึ่งตนบอกว่า ไม่ต้องตกใจ แต่มาสร้างความเข้าใจ และมาเรียนรู้ร่วมกันดีกว่า เพราะผมถือว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นสิ่งที่ล้ำค่า จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้เป็นอย่างมาก” รักษาการแทนนายอำเภอเชียงดาว กล่าว

ชูการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าทางวัฒนธรรม ให้ เชียงดาว เป็นเหมือน ฟูจิ ของญี่ปุ่น

จิตศักดิ์ พุฒจร นักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิ พิจารณาโครงการทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตร(สวทช.) และภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว ได้เสนอแนวทาง การจัดการท่องเที่ยวพื้นที่สงวนชีวมณฑล กับตัวตนของคนเชียงดาว ว่า เราไม่ได้มองแค่เรื่องงานวิชาการด้านพันธุ์พืช แต่เราสนใจว่าเราจะจัดการเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในพื้นที่สงวนชีวมณฑลนี้ได้อย่างไร รวมไปถึงเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงดาว วัฒนธรรม ความเชื่อ ให้มีส่วนเสริมสร้างเรื่องการท่องเที่ยวระดับโลกได้

“ที่ผ่านมา เคยมีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยว โดยใช้คำว่าพิชิตดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งตนคิดว่ามันไม่เหมาะกับคำว่าท่องเที่ยวในประเทศไทยนี้เลย ซึ่งจริงๆ แล้ว เราควรมีการเคารพต่อธรรมชาตินั้นมากกว่า มากกว่าการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ ต้องการพิชิต แล้วก็ไปเหยียบย่ำ ทำลายพันธุ์ไม้พรรณพืชหายากข้างบน รวมไปถึงการก่อให้เกิดขยะตามมาด้วย ดังนั้น ทำอย่างไร เราถึงจะทำให้เชียงดาว มีความเหมือนฟูจิ ของญี่ปุ่น ซึ่งตนถือว่าญี่ปุ่นนั้นฉลาดมาก ที่ตัดสินใจขอยูเนสโก ให้ฟูจิ เป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นแค่รักษาธรรมชาติบนภูเขาฟูจิ  แต่เขาเน้นเรื่องของวัฒนธรรมของเมืองฟิจิ ซึ่งเมื่อหันมามองเชียงดาว ก็มีความคล้ายกัน คือมีภูเขาสวย แล้วยังมีวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ความเชื่อ เราสามารถทำให้มันมีพลัง ปลุกเร้า และร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วมกันได้ ดังนั้น เราไม่มีความจำเป็นต้องปีนขึ้นไปบนดอยหลวงเชียงดาว เหมือนกับภูเขาฟิจิก็ได้  แต่เราเน้นการท่องเที่ยวชุมชนรอบๆ ดอยหลวง เรามีฟาร์มสเตย์ โฮมสเตย์ ที่เคารพต่อธรรมชาติ และนำไปสู่พื้นที่การเรียนรู้ หรือทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นอะไรก็ได้”

เช่นเดียวกับ อรช บุญ-หลง ตัวแทนภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว บอกว่า ภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่รักดอยหลวงเชียงดาว อยากมีส่วนช่วยกันดูแลรักษา  ซึ่งที่ผ่านมา เราไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องประท้วงโครงการแปลกปลอมที่เข้ามา แต่เรายังขับเคลื่อนเพื่อการดูแลดอยหลวงเชียงดาว อาทิ เรื่องการรณรงค์หมอกควันไฟป่า หรือการระดมทุนช่วยเหลือคนทำงานในพื้นที่ เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือในการจัดการไฟป่าหมอกควันให้กับเจ้าหน้าที่และชาวบ้านชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง

อรช บุญ-หลง ตัวแทนภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว

“เมื่อพูดถึงเชียงดาว นั้นเป็นเมืองที่มีผู้คนหลากหลายอาศัยอยู่รวมกัน ดังนั้น พอทางยูเนสโกประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ก็กลายเป็นยี่ห้อที่ดีมากระดับประเทศ ระดับโลกไปเลย ซึ่งนอกจากเราจะพูดถึงเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแล้ว เราก็ต้องมีการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ค้นหาภาพลักษณ์ให้มีการปรับเปลี่ยนไป จนทำให้ในที่สุดแล้ว เราจะต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ รวมไปถึงการอยู่ร่วมกันของชนเผ่าพื้นเมืองไปด้วยพร้อมกัน เมื่อพูดความยั่งยืน ต้องหมายความว่า การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รวมไปถึงเรื่องความเชื่อในท้องถิ่น เพราะว่าดอยหลวงเชียงดาว คนทั้งล้านนานั้นจะถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ บนดอยหลวงนั้นไม่ใช่ที่อยู่ของมนุษย์ แต่ที่อยู่ของเทพ ดังนั้น มิติทางวัฒนธรรม ความเชื่อเหล่านี้ จำเป็นที่เราจะต้องนำมาปรับใช้กับพื้นที่สงวนชีวมณฑลด้วย” ตัวแทนภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว กล่าว

นิคม พุทธา ประชาชนชาวอำเภอเชียงดาว เจ้าของค่ายเยาวชนเชียงดาว เปิดเผยว่า ดอยหลวงเชียงดาวนั้นอยู่คู่กับคนเชียงดาวมาช้านานแล้ว อีกทั้งคนเชียงดาวนั้นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และทุกคนต่างให้ความเคารพต่อดอยหลวง ผ่านความเชื่อ ผ่านมิติวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยมีโครงการเดินพิชิตดอยหลวง ซึ่งได้ทำให้พืชพรรณหายากบนดอยหลวงนั้นพังพินาศเสียหาย อีกทั้งในช่วงปี 2546-2547 สมัยนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีนโยบายที่จะสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว ทั้งๆ ที่เป็นภูเขาหินปูน ซึ่งมีความเปราะบาง มีความผุกร่อนของโพรงหิน ซึ่งยากต่อการที่จะไปสร้างกระเช้า สร้างจุดแวะพัก อาคาร ร้านอาหารข้างบนนั้นได้

นิคม พุทธา ประชาชนชาวอำเภอเชียงดาว เจ้าของค่ายเยาวชนเชียงดาว

“ตอนนั้น เราพยายามอธิบายถึงความเปราะบางและจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของภูเขาหินปูน และคัดค้านการสร้างกระเช้า แต่เขามีความพยายามเดินหน้าอยู่ จนกระทั่ง ตนได้ไปนั่งพูดคุยกับแม่เฒ่าหน้าถ้ำเชียงดาว แล้วแม่เฒ่าบอกว่า ถ้าไปสร้างแบบนี้มันจะ ขึด หรืออาเพศ จึงทำให้เครือข่ายคนรักดอยหลวงเชียงดาวทั่วประเทศร่วมกันขับเคลื่อน โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อเรื่อง ขึด นี้แหละ จนกระทั่งมีการล้มเลิกโครงการนี้ไป มาถึงตอนนี้ พอรู้ว่าทางยูเนสโกประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ก็ดีใจ ที่หลายคนหลายฝ่ายได้มาร่วมมือกัน เพราะตนเห็นว่า ลำพังแค่ตัวบทกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐนั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น จำเป็นต้องใช้กลไกของต่างประเทศ ของยูเนสโก มาประกาศใช้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแบบนี้ จะอาจช่วยเป็นหลักประกันได้ว่า จะไม่มีผู้ใดไปทำร้ายดอยหลวงเชียงดาวอีกต่อไป” เจ้าของค่ายเยาวชนเชียงดาว กล่าว

คนรุ่นใหม่จับมือกับมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร จัดอบรมผู้ประกอบการ ไกด์ นักท่องเที่ยวขึ้นดอยเชียงดาว

จิราวรรณ คำซาว ตัวแทนคนรุ่นใหม่ของอำเภอเชียงดาว เปิดเผยว่า เรื่องของการท่องเที่ยวในเชียงดาว  เราอยากให้มีการท่องเที่ยวไม่ใช่เฉพาะแค่บนดอยหลวงเชียงดาว แต่อยากให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนรอบๆ ดอยหลวงเชียงดาว ตลอดทั้งปี  และอยากให้มีนักท่องเที่ยวที่มีความเข้าใจในมิติการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

จิราวรรณ คำซาว ตัวแทนคนรุ่นใหม่ของอำเภอเชียงดาว

“ที่ผ่านมา เรามีการตั้งกลุ่ม “ถิ่นนิยม” ขึ้นมา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในเรื่องการจัดการดูแลฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอำเภอเชียงดาว ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา เราได้มีการจับมือกับทางมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้จัดประชุมเพื่อหารือกับกลุ่มภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศบริเวณพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว รวมไปถึงการอบรมเพื่อพัฒนาคู่มือความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาทั้งด้านการอนุรักษ์​ การท่องเที่ยว และส่งเสริมกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้เขตสงวนชีวมณฑล​เชียงดาวเกิดความยั่งยืน

“เราพยายามเชื่อมโยงกลไกการทำงานร่วมกัน อย่างกรณี ที่เราได้ร่วมกับมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เพื่อจะทำงานในเรื่องเชิงข้อมูลวิชาการ ซึ่งก็มีความจำเป็นสำคัญมากเช่นเดียวกัน เพื่อจะรองรับการจัดการท่องเที่ยว หลังจากที่ดอยหลวงเชียงดาวได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก ซึ่งเราได้มีการจัดอบรบให้ความรู้ให้หลายๆ ฝ่าย เช่น มีการจัดอบรมนักสืบสายน้ำ จัดอบรมลูกหาบ ไกด์นำทาง รวมไปถึงคนขับรถรับส่งนักท่องเที่ยว โดยเราพยายามจะสื่อไปว่า ที่สุดแล้ว ชาวบ้าน คนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง จากการเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว ในส่วนพื้นที่รอบๆ ดอยหลวง หรือที่เราเรียกกันว่าพื้นที่ไข่ขาว เรามีการขับเคลื่อนในเรื่องของสินค้า แบรนด์ มีการหากระบวนการ วิธีการ ว่าจะทำอย่างไรถึงให้มีการสร้างเศรษฐกิจในชุมชนให้หมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี ซึ่งถ้าหากเรามีตราประทับสินค้า ผลิตภัณฑ์ว่ามาจากพื้นที่สงวนชีวมณฑล เราก็จะสามารถขายคุณค่าคุณภาพนั้นได้” ตัวแทนคนรุ่นใหม่ของอำเภอเชียงดาว กล่าว

ตัวแทนชาวชนเผ่า เผยพื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นสิ่งที่ดี ย้ำคนอยู่ได้ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ภัทราวดี เลายี่ปา เจ้าของบ้านฮัก เฮือนสุข โฮมสเตย์ บ้านนาเลาใหม่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บอกว่า พอรู้ข่าวบ้าง ว่าดอยหลวงเชียงดาว ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก ก็รู้สึกดีใจ และรู้สึกว่าเป็นสิ่งดี ถ้าจะมาช่วยหนุนเสริมให้ชาวบ้าน ได้มีการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมในเรื่องการท่องเที่ยว ให้คนในชุมชนสร้างรายได้ ก็พร้อมจะสนับสนุน

ภัทราวดี เลายี่ปา เจ้าของบ้านฮัก เฮือนสุข โฮมสเตย์ บ้านนาเลาใหม่ อ.เชียงดาว

“เพราะตอนนี้หมู่บ้านเราก็มีมติชุมชนกันอยู่แล้ว  ว่าจะหักเงินจากค่าที่พักส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นกองทุนช่วยกิจกรรม รวมไปถึงเรื่องการจัดการไฟป่า แต่ตอนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องพื้นที่สงวนชีวมณฑลเลย เพราะฉะนั้น อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาให้ความรู้แก่ชาวบ้านก่อนเป็นลำดับแรก จะดีมากๆ เลย” ภัทราวดี กล่าว

เช่นเดียวกับ ชาญพินิจ พันธุ์ยี่ปา ผู้ใหญ่บ้านนาเลาใหม่ ก็บอกว่า การที่มีการประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกนั้นเป็นสิ่งที่ดี

“แต่ปัญหาคือ ณ เวลานี้ ชาวบ้านบนดอย เขายังไม่รู้ ไม่เข้าใจเลยว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลนั้นคืออะไร แล้วชาวบ้านจะตั้งรับกับมันอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนทุกฝ่าย จะต้องมาสร้างกระบวนการร่วมด้วยกัน ให้ป่าอยู่ได้ ดอยหลวงอยู่ได้ คนอยู่ได้ ไม่มีความขัดแย้งกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน” ผู้ใหญ่บ้านนาเลาใหม่ กล่าว

ชี้พื้นที่สงวนชีวมณฑล ทำให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

ศรัณยา กิตติคุณไพศาล ตัวแทนภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว และเจ้าของสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเชียงดาว ได้พูดถึงการประกาศให้ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่นี้ว่า สิ่งที่ชุมชนจะได้รับ ก็คือ เรามีการเปลี่ยนแปลงการจัดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ คือ เรามีการจัดอบรมนักท่องเที่ยวก่อน 3 ชั่วโมง ก่อนจะเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งจะทำให้เราได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีความรู้ความเข้าใจว่าพื้นที่สงวนชีวมณฑลนั้นคืออะไร มีความเปราะบางของพื้นที่ภูเขาหินปูน ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวมีความระมัดระวัง เราจะได้นักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่กลุ่มที่ต้องการไปเพื่อพิชิตยอดเขา  แต่จะได้นักท่องเที่ยวที่ต้องการไปเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาวแทน อีกทั้งมีความเข้าใจในเรื่องของจิตวิญญาณแห่งล้านนา ก็คือ ชุมชนทั้งล้านนาของเรา นั้นจะมีความเคารพศรัทธาเจ้าหลวงคำแดง

ศรัณยา กิตติคุณไพศาล ตัวแทนภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว และเจ้าของสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี

“แต่ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะไม่ค่อยรับรู้ในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจะขึ้นไปท่องเที่ยวสวนอุทยานดอกไม้ของเจ้าหลวงคำแดง คุณก็ต้องเคารพต่อเจ้าของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วย ไม่ใช่ว่าอยากจะเหยียบย่ำอะไรก็เหยียบ อยากจะทำอะไรก็ทำ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง และนักท่องเที่ยวจะต้องเคารพกฎกติกา อย่างเช่น ห้ามเปิดเพลง ห้ามกินเหล้า เสียงดัง ห้ามทำกับข้าว ซึ่งก่อนหน้านั้น ที่ผ่านมา ปัญหาด้านลบเหล่านี้ ทางภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว เราไม่เคยไปต่อว่านักท่องเที่ยว เพราะอยากจะเสนอแต่มุมบวก แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเราก็อยากจัดการปัญหาเหล่านี้ พอทางยูเนสโกประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะมาจัดกระบวนการกันใหม่ โดยมีการอบรมให้ความรู้ และตั้งกฎกติกาให้มันชัดเจนมากยิ่งขึ้น” เจ้าของสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี กล่าว

ศรัณยา บอกว่า สิ่งที่คนเชียงดาวจะได้รับหลังจากนี้  คือ จากเดิม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่จะเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว  เขาจะพักค้างคืนกันในตัวเมืองเชียงใหม่ พอรุ่งเช้าก็มุ่งขึ้นดอยหลวงกันเลย แต่พอมีกฎกติกากันใหม่ คือมีการอบรมนักท่องเที่ยว 3 ชั่วโมง อย่างน้อยก็จะทำให้นักท่องเที่ยวหาที่พักในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับอีกก็คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ระหว่างที่รอจะขึ้นดอยวันพรุ่งนี้ ก็จะไปเดินจับจ่ายใช้สอยตามตลาด ร้านค้า ไปทานอาหารตาม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ในเชียงดาวได้อีกทางหนึ่งด้วย  ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในชุมชนคึกคัก มีรายได้ จะทำให้ชุมชนเกิดผู้ประกอบการใหม่ๆ ขึ้นมาอีก

เธอบอกอีกว่า อย่างเช่น ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแม่นะ ซึ่งทางผู้บริหารของเทศบาลตำบลแม่นะ ได้ให้ความสำคัญและสนใจในเรื่องนี้  ได้สนับสนุนและเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้เข้ามาร่วมกัน มีการสร้างลานกางเต็นท์บ้านจอมคีรี บ้านแม่ยะ บ้านแม่นะ ซึ่งเป็นของชุมชน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งบางทีเขาไม่ได้อยากไปนอนตามรีสอร์ท โรงแรม อะไรหรูๆ ก็สามารถมาเลือกที่จะกางเต็นท์ในชุมชนนี้ได้ นอกจากนั้น นโยบายของเทศบาลตำบลแม่นะ ซึ่งมีทั้งหมด 13 หมู่บ้าน ต้องมีเส้นทางเดินป่า เป็นเส้นทางท่องเที่ยวของแต่ละชุมชน ก็จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนั้น ยังมีการจัดอบรมให้กับกลุ่มขับรถนำเที่ยวภายในชุมชน ซึ่งจะเห็นว่านี่ เป็นการสร้างโอกาสให้กับคนในชุมชนได้อีกเป็นจำนวนมากเลย ดังนั้น เราจึงอยากจะชวนชาวบ้านได้ลุกขึ้น ช่วยกันปลุกให้มีการจัดการเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนกัน เพราะในมุมมองของตนเอง นั้นเชื่อว่าภายในอีก 2-3 ปี เชียงดาวจะต้องเข้าสู่ไปความเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบ 100 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน

“โดยเราอยากให้ชาวบ้าน คนท้องถิ่นเชียงดาวได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวกันเองว่า เฮ้ย ชาวบ้านคนเชียงดาวเราก็สามารถทำเองได้  ไม่ใช่ พอพูดเรื่องการท่องเที่ยวเชียงดาว แต่หันไปมองทางไหน ก็มีแต่ผู้ประกอบการที่มาจากต่างถิ่น มาสร้างที่พัก รีสอร์ท ร้านอาหารเต็มไปหมด  มีแต่ผู้ประกอบการที่มาจากคนนอก 85%  แล้วคนท้องถิ่นไปเป็นลูกจ้าง แต่ต่อไป ถ้าเราทำได้ คนเชียงดาวลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการกันเสียเอง เมืองเชียงดาวเราก็จะไม่พังเสียหายเหมือนกับเมืองท่องเที่ยวอีกหลายๆ เมืองที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้”

ศรัณยา บอกด้วยว่า จริงๆ แล้ว เราจะเน้นภาคีความร่วมมือจากแต่ละฝ่าย ซึ่งมีทั้งคนท้องถิ่นเชียงดาว และคนจากต่างถิ่นที่รักเมืองเชียงดาวจริงๆ ทุกคนมองว่าเชียงดาวคือบ้านสุดท้ายของพวกเขา จนกลายเป็นคนที่รักเชียงดาวจริงๆ เป็นผู้ประกอบการที่ดี มาร่วมมือกันขับเคลื่อนในเรื่องนี้ด้วยกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ อยากให้เมืองเชียงดาวเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ผลิตสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประทับตราพื้นที่สงวนชีวมณฑล

ศรัณยา บอกว่า ตอนแรกทุกคนก็ไม่รู้ไม่เข้าใจว่า คุณค่าความหมายของ พื้นที่สงวนชีวมณฑล มันจะตอบโจทย์ต่อคนท้องถิ่นเชียงดาวอย่างไรบ้าง ต่อมา พอได้ยินคุณวิมลมาศ มาบอกเล่าให้ฟัง จึงทำให้รู้ว่า มันสามารถต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าภายในชุมชนของเราได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ยกตัวอย่าง ในสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี ตอนนี้ เรามีชากุหลาบ ชาเก๊กฮวยอินทรีย์ ที่ระบุคุณค่าความหมายของคำว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวเอาไว้แล้ว นอกจากนั้น เราได้ขับเคลื่อนกับหลายๆ ฝ่าย หลายหน่วยงานเข้าไปส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกัน เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านแม่คองซ้าย เปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ข้าวโพด มาเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล อะโวคาโด เป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อจะนำไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ต่อไป นอกจากนั้น ยังมีการสร้างกลุ่มแปรรูปกล้วย ตำบลเมืองคอง รวมไปถึงการขับเคลื่อนเรื่องกองทุนหมู่บ้าน บ้านนาเลาใหม่ เป็นต้น ที่สำคัญก็คือ ก่อนที่เราจะขับเคลื่อนไปถึงจุดนี้ เราจะต้องเร่งให้ความรู้กับชาวบ้านก่อน ล่าสุด เรามีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เข้ามาจัดกระบวนการอบรมให้กับแกนนำระดับตำบล โดยเริ่มจากตำบลแม่นะ เชียงดาว เมืองงาย เมืองคอง ต่อไปเราจะขยายไปยังตำบลเมืองนะ ตำบลปิงโค้งกันต่อไป”

แปลงปลูกดอกเก๊กฮวยอินทรีย์ ในสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี

ย้ำอยากได้นักท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าใจมิติของชุมชน

ศรัณยา ย้ำในตอนท้ายด้วยว่า เราอยากได้นักท่องเที่ยวที่เข้าใจมิติของชุมชน อยากให้ตั้งใจมาจริงๆ  ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว แต่มาเพื่อต้องการเรียนรู้ความเป็นเมืองเชียงดาว เมืองที่มีวิถีวัฒนธรรม ความหลากหลาย

“เพราะจริงๆ แล้ว การขึ้นไปยอดดอยนั้น บางทีก็เหมือนเป็นการไปทำลาย เพราะที่ผ่าน ตนเองและภาคี และน้องๆ เยาวชน เราต้องเดินขึ้นไปเก็บขยะบนดอยหลวงเชียงดาวที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ เราทำกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ซึ่งมันทำลายระบบนิเวศบนดอยเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ เราอยากให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามา เป็นนักท่องเที่ยวที่มีความเป็นมิตร มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ” เจ้าของสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net