‘มินอ่องหล่าย’ รับประสานผู้แทนอาเซียนพบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตเมียนมา

'มินอ่องหล่าย' ระบุในแถลงการณ์ร่วม หลังประชุมร่วมกับ ‘ฮุน เซน’ ระหว่างเยือนเนปิดอ 7-8 ม.ค. 65 ว่าช่วยประสานผู้แทนพิเศษอาเซียนคนใหม่ได้พบกับทุกกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตการเมืองพม่า รวมถึงกองกำลังชาติพันธุ์

ภาพการประชุมระหว่างฮุน เซน นายกกัมพูชา และ มินอ่องหล่าย หัวหน้า SAC ระหว่าง 7-8 ม.ค. 65 (ภาพจาก Global New Light of Myanmar)

10 ม.ค. 65 เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 65 หลังฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และเป็นประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ปีนี้ (พ.ศ. 2565) ประชุมร่วมกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย หัวหน้าสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ระหว่างการเยือนกรุงเนปิดอ ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค.ที่ผ่านมา 

ในแถลงการณ์ร่วมบางส่วนระบุว่า มินอ่องหล่าย ชี้แจงถึงสถานการณ์ในเมียนมาแก่นายกฯ กัมพูชาว่า กองทัพพม่าประกาศให้มีการหยุดยิงชั่วคราวกับกองกำลังชาติพันธุ์เป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ก.พ.นี้ และตัดสินใจว่าจะขยายเวลาหยุดยิงชั่วคราวไปจนถึงสิ้นปี 2565 

ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งทัพพม่า เรียกร้องไปยังทุกกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์เมืองพม่าครั้งนี้ให้ยอมรับข้อตกลงดังกล่าวเพื่อประเทศและประชาชนพม่า ยุติการกระทำความรุนแรงทุกอย่าง และใช้ความยับยั้งช่างใจขั้นสูงสุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้การสนับสนุนเพื่อลดความตึงเครียด และเปิดให้มีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้บรรลุการสร้างสันติภาพและพัฒนาประเทศ 

ในการนี้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย จึงมีความยินดีต่อการมีส่วนร่วมของผู้แทนพิเศษอาเซียนที่จะเข้าร่วมการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองทัพพม่า และกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งขั้นตอนสำคัญดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนอีกด้วย

นอกจากนี้ มินอ่องหล่าย ยังแสดงความยินดีที่กัมพูชาได้เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ พร้อมยินดีกับการแต่งตั้ง ปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือสากล เป็นผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนต่อสถานการณ์เมียนมา

ผบ.สูงสุดแห่งกองทัพพม่าให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งมีความสอดคล้องกับกฎบัตรอาเซียน และเขาเน้นย้ำว่า การปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ควรสอดคล้องกับการดำเนินตามโรดแมป 5 ข้อของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ด้วย 

ทั้งนี้ โรดแมป 5 ข้อของ SAC ประกอบด้วย 1. จะมีการคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพชุดใหม่ พร้อมทั้งกำหนดภาระหน้าที่ เพื่อเตรียมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะล้อตามกฎหมาย

2. จะมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและบริหารจัดการโควิด-19

3. จะมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

4. จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนทั้งประเทศและให้สอดคล้องกับข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ

5. เมื่อยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จะจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมตามครรลองประชาธิปไตย โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2008 (พ.ศ. 2551) และจะถ่ายโอนหน้าที่การบริหารรัฐให้กับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชาแบ่งปันความเห็นและประสบการณ์ความสำเร็จของประเทศตนเองที่สามารถสร้างความปรองดองแห่งชาติ สันติภาพ เสถียรภาพ การพัฒนา และความมั่นคั่ง โดยเขาเน้นย้ำว่า สิ่งเหล่านี้มาจากประสบการณ์และบทเรียนจากกระบวนการสันติภาพของกัมพูชา สันติภาพและการปรองดองในชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาดการมีส่วนร่วมและข้อตกลงจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 

ในทางเดียวกัน มินอ่องหล่าย รับรองว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การมาเยือนของผู้แทนพิเศษอาเซียน และได้พบปะกับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตครั้งนี้ รวมถึงกองกำลังชาติพันธุ์ แต่ต้องขึ้นกับสถานการณ์ในเมียนมา

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ไม่ได้ระบุว่า ผู้แทนพิเศษจะได้พบกับ อองซานซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ และหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD หรือไม่ 

ฮุน เซน เป็นผู้นำจากรัฐบาลต่างประเทศคนแรกที่ได้เยือนพม่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 กัมพูชาในปีนี้ได้ขึ้นเป็นประธานอาเซียน และฮุน เซน กล่าวว่า เขาต้องการใช้วิถีทางการทูตในการแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งในเมียนมา 

ขณะที่ สำนักข่าว Khmer Times (แขมร์ไทม์) พาดหัวข่าวแถลงการณ์ร่วมกัมพูชาและเมียนมาว่า ‘หัวหน้าเผด็จการเมียนมาพยายามเอาใจอาเซียนระหว่างการเยือนของฮุน เซน’ เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 สำนักข่าวอิระวดีของพม่ารายงานว่า โฆษกกองทัพพม่ากล่าวเมื่อวันก่อนหน้านี้ กองทัพไม่อนุญาตให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเข้าพบอองซานซูจีในระหว่างการเยือนครั้งนี้ โดยให้ให้เหตุผลว่าอองซานซูจีกำลังถูกดำเนินคดีในชั้นศาล ซึ่งผิดเงื่อนไขการเข้าพบและพูดคุยกับผู้นำจากต่างประเทศที่เดินทางเยือนพม่า เพราะกองทัพอนุญาตเฉพาะตัวแทนจากพรรคการเมืองที่ไม่ถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้สามารถเข้าพบผู้นำต่างประเทศได้ 

ย้อนไปเมื่อ 27 เม.ย. 64 ผู้นำทหารพม่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เคยให้คำมั่นจะทำตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่ได้บรรลุในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองเมียนมา ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที รวมถึงให้ผู้แทนพิเศษเดินทางเยือนเมียนมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กองทัพพม่าห้าม ‘ฮุน เซน’ พบ ‘อองซานซูจี’ เหตุติดคดีในชั้นศาล หวังคุยกับ 'มินอ่องหล่าย' ราบรื่น

ที่ประชุมอาเซียนเสนอมติ 5 ข้อเรียกร้องยุติความรุนแรงในพม่า

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนพิเศษอาเซียนคนแรกที่ได้รับเสนอชื่อจากทั้ง 10 ประเทศ คือ เอรีวัน ยูซอฟ รมว.ต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน เคยถูกกองทัพพม่าปฏิเสธคำขอซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ให้พบ อองซานซูจี 

ทั้งนี้ ตัวเลขจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ระบุว่า ตั้งแต่ 1 ก.พ. 64-8 ม.ค. 65 กองทัพพม่าสังหารประชาชนไปแล้ว 1,447 ราย และจับกุมประชาชนด้วยข้อหาการเมืองแล้ว 11,421 ราย 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท