Skip to main content
sharethis

ศาลสหรัฐฯ มีคำสั่งรับฟ้องคดีล่วงละเมิดทางเพศที่ 'เวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ จุฟเฟร' เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 'เจ้าชายแอนดรูว์' พระโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ส่งผลให้พระองค์ต้องเดินทางไปขึ้นให้การในศาลสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในอังกฤษและสหรัฐฯ เห็นตรงกันว่าเมื่อศาลรับฟ้องแล้ว เจ้าชายแอนดรูว์ต้องไปสู้คดีในชั้นศาล และไม่ว่าผลการตัดสินคดีจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีอื้อฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์ก็จะส่งผลลบ ประหนึ่งการ 'ปาระเบิดลงกลางใจของราชวงศ์' ด้านสำนักพระราชวังอังกฤษแถลง "ถอดยศทหารและฐานันดรศักดิ์" ของเจ้าชายแอนดรูว์

13 ม.ค. 2564 สำนักข่าวต่างประเทศหลายแหล่งรายงานตรงกันว่าวานนี้ (12 ม.ค. 2565) ลิวอิส แคปแลน ผู้พิพากษาศาลมลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำสั่งรับฟ้องคดีล่วงละเมิดทางเพศที่เวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ จุฟเฟร หญิงชาวอเมริกัน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก พระโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ โดยโรเบิร์ตส์กล่าวหาว่าเจ้าชายแอนดรูว์ล่วงละเมิดทางเพศเธอเมื่อ 21 ปีที่แล้ว ซึ่งในขณะนั้นเธออายุเพียง 17 ปีและยังเป็นผู้เยาว์ตามกฎหมาย ส่งผลให้เจ้าชายแอนดรูว์ต้องไปต่อสู้คดีในศาลสหรัฐฯ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้พิพากษาแคปแลนมีคำสั่งนัดตรวจพยานหลักฐาน (Discovery) โดยเรียกให้ทนายความฝ่ายโจทก์และจำเลยนำหลักฐานที่จะใช้ต่อสู้คดีมาเปิดเผยต่อหน้าศาล เพื่อตรวจสอบว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะนำหลักฐานใดมาแสดงต่อศาลในชั้นพิจารณาคดี เนติบัณฑิตสภาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Bar Association) อธิบายว่ากระบวนการตรวจพยานหลักฐานต่อหน้าศาลเป็นขั้นตอนปกติในกระบวนการยุติธรรมสหรัฐฯ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการ ‘ซุ่มโจมตี’ ในชั้นศาล และเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายโจทก์และจำเลยได้มีเวลาเตรียมสำหรับการสู้คดี โดยในขั้นตอนนี้รวมถึงการสัมภาษณ์และให้การในฐานะพยานภายใต้คำสาบานว่าจะพูดแต่ความจริง นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายอาจได้รับหมายเรียกจากศาลให้นำหลักฐานต่างๆ มาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

หนึ่งในหลักฐานที่ทนายความส่วนพระองค์ของเจ้าชายแอนดรูว์นำมาเปิดเผยตามคำสั่งนัดตรวจพยานหลักฐาน คือ เอกสารสัญญายอมความในปี 2552 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรเบิร์ตส์และ เจฟฟรีย์ เอปสตีน นักการเงินและมหาเศรษฐีชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพล เจ้าของฉายา ‘นักค้ากาม’ ฆ่าตัวตายในเรือนจำระหว่างรอการไต่สวนข้อกล่าวหาอาชญากรรมทางเพศเมื่อปี 2562 สัญญาดังกล่าวระบุว่าโรเบิร์ตส์จะไม่ฟ้องร้องบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือติดต่อกับเอปสตีน แลกกับเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 370,000 ปอนด์ (16.82 ล้านบาท) ซึ่งทนายความของเจ้าชายแอนดรูว์ระบุว่าโรเบิร์ตส์ไม่สามารถฟ้องร้องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเอปสตีนในข้อหาจัดหาการค้าบริการทางเพศตามเงื่อนไขในสัญญานี้

อย่างไรก็ตาม ทนายความของโรเบิร์ตส์ได้แย้งว่าผู้ที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับสัญญาดังกล่าวคือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในสัญญา ไม่เกี่ยวกับบุคลที่สาม ซึ่งผู้พิพากษาแคปแลนพิจารณาแล้วเห็นว่า “ไม่สามารถระบุได้” ว่าเจ้าชายแอนดรูว์จะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาดังกล่าว

ถ้าเจ้าชายแอนดรูว์ไม่ขึ้นให้การในศาลสหรัฐฯ ถือเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะเขาคือคู่ความโดยตรงในคดี

ผู้พิพากษาแคปแลนระบุในตอนหนึ่งของเอกสารคำสั่งรับฟ้องซึ่งความยาว 46 หน้ากระดาษ A4 ว่า “ด้วยภาระหน้าที่ที่จำกัดของศาลในการตัดสินคำร้องนี้ การให้ความเห็นในขั้นตอนนี้หรือขั้นตอนก่อนหน้าไม่อาจตีความได้ว่าศาลแสดงทัศนะเกี่ยวกับความจริงของข้อกล่าวหาหรือข้อโต้แย้ง รวมถึงไม่อาจอนุมานได้ว่าเจตนาของคู่สัญญาเมื่อปี 2552 นั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น กฎหมายจึงห้ามศาลไม่ให้พิจารณาตัดสินในขั้นตอนนี้ที่ฝ่ายจำเลย (เจ้าชายแอนดรูว์) พยายามโยนข้อสงสัยใส่ความจริงที่ฝ่ายโจทก์ (โรเบิร์ตส์) กล่าวหา ถึงแม้ว่าความพยายาม[ในการโต้แย้ง]ของฝ่ายจำเลยจะได้รับอนุญาตให้ทำได้ในชั้นไต่สวนก็ตาม”

“ด้วยเหตุผลที่เป็นไปในทางเดียวกันนี้ ศาลจึงไม่มีอำนาจตัดสินใดๆ ตามกฎหมาย และอันที่จริงแล้ว สัญญายอมความที่ทำขึ้นในปี 2552 ย่อมส่งผลต่อคู่สัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น นั่นคือ โรเบิร์ตส์และเอปสตีน” ผู้พิพากษาแคปแลนระบุ

LawandCrime.com เว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวและบทวิเคราะห์ด้านกฎหมายของสหรัฐฯ ซึ่งก่อตั้งโดยแดน อับรามส์ ทนายความและหัวหน้านักวิเคราะห์กฎหมายของสำนักข่าว ABC News ระบุว่าความเห็นของผู้พิพากษาแคปแลนในคำสั่งรับฟ้อง แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าเขาอนุมานว่าข้อกล่าวหาตามคำฟ้องของโรเบิร์ตส์มีมูลความจริง และประเมินไว้ล่วงหน้าว่าฝ่ายจำเลยจะเตรียมตัวมาสู้คดีได้ดีแค่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ชี้ 'เจ้าชายแอนดรูว์' ต้องขึ้นศาล แต่ไม่ว่าจะสู้คดีอย่างไรก็ทำให้ราชวงศ์เสื่อมเสีย

มิตเชลล์ การาเบเดียน ทนายความชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีล่วงละเมิดทางเพศ และเป็นผู้รับผิดชอบคดีที่นักบวชในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในเมืองบอสตันล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ออกมาให้ความเห็นกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษว่าคดีระหว่างเจ้าชายแอนดรูว์และโรเบิร์ตส์น่าหาข้อยุติได้ในช่วงกลางปีนี้ เมื่อพิจารณาจากกระบวนการในชั้นศาลของสหรัฐฯ ทั้งหมด นอกจากนี้ การาเบเดียนยังมองว่าหากเจ้าชายแอนดรูว์ทรงไม่ยอมมาให้การในชั้นศาล จะถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง

“ถ้าเจ้าชายแอนดรูว์ไม่ขึ้นให้การในศาลสหรัฐฯ ถือเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะเขาคือคู่ความโดยตรงในคดี ถ้าเขาไม่ยอมมาขึ้นศาล ก็ดูจะเป็นการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะยิ่งทำให้คณะลูกขุนสงสัยว่าทำไมเขาถึงไม่ยอมมา” การาเบเดียนกล่าว พร้อมอธิบายว่าถ้าคู่ความในคดีไม่ยอมมาให้การและเผชิญหน้ากันในศาล กระบวนการไต่สวนจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น เพราะศาลจะสั่งให้ทนายความทั้ง 2 ฝ่ายนำพยานบุคคล รวมถึงพยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเจ้าชายแอนดรูว์และโรเบิร์ตส์มาขึ้นให้การแทน

กรณีอื้อฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์ก็เป็นเหมือนการปาระเบิดลงไปกลางใจของราชวงศ์อังกฤษ และมันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของตัวเจ้าชายแอนดรูว์อย่างแน่นอน

“เส้นตายการตัดสินคดีคือแนวทาง ปกติแล้ว ในคดีลักษณะนี้ หากพยานคนหนึ่งให้การพาดพิงถึงพยานที่ไม่คาดคิดอีกคนหนึ่ง และให้การซักทอดต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นพยานของฝ่ายใด ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการไต่สวน และมีเหตุผลจำเป็นที่เพียงพอต่อการขยายระยะเวลาไต่สวน ศาลก็มักจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาไต่สวนต่อไปได้” การาเบเดียนกล่าว พร้อมให้ความเห็นว่าคดีนี้จะใช้เวลาไต่สวนยืดยาวกล่าวกำหนดแน่นอน เพราะฝั่งเจ้าชายแอนดรูว์จะต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักว่าไม่ได้กระทำการล่วงละเมิศทางเพศต่อผู้เยาว์ด้วยการหาพยานบุคคลมาขึ้นให้การ รวมถึงแสดงเอกสารและผลการสอบสวนต่างๆ จำนวนมาก ขณะที่โรเบิร์ตส์ก็ต้องงัดหลักฐานมาสู้ค้านว่าคำฟ้องของเธอเป็นจริง ซึ่งหลักฐานที่โรเบิร์ตส์จะนำมาแสดงต่อหน้าศาลและคณะลูกขุนอาจมีทั้งประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติการเข้ารับการบำบัด ข้อมูลการศึกษาและการทำงาน รวมถึงประวัติอาชญากรรมต่างๆ

มาร์ค สตีเฟนส์ ทนายความชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสื่อมวลชนและสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่าทางเลือกของเจ้าชายแอนดรูว์ในการต่อสู้คดีมี 3 ทางที่แย่พอกัน คือ อุทธรณ์ ชำระค่าเสียหาย หรือสู้คดีต่อด้วยการนำหลักฐานมาค้านในชั้นศาล และไม่ว่าจะเลือกหนทางไหน กรณีอื้อฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์ก็เป็นเหมือนการปาระเบิดลงไปกลางใจของราชวงศ์อังกฤษ และมันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของตัวเจ้าชายแอนดรูว์อย่างแน่นอน อนึ่ง สตีเฟนส์เป็นทนายความของเจมส์ ฮิววิตต์ ที่ถูกกล่าวหาว่าคบชู้กับเจ้าหญิงไดอาน่า ดัชเชสแห่งเวลส์ และเป็นทนายความของจูเลียน อาสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ WikiLeaks

ด้านสำนักพระราชวังอังกฤษตอบคำถามสื่อมวลชนเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้”

ขณะที่คริส ชิป ผู้สื่อข่าวราชสำนักของช่อง itv ในอังกฤษโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่าอีกหนึ่งช่องทางที่ทนายความของเจ้าชายแอนดรูว์จะใช้ต่อสู้คดีในชั้นศาลให้คดีถูกยกฟ้องได้ คือ เจ้าชายแอนดรูว์ถือสัญชาติอังกฤษ ส่วนโรเบิร์ตส์ได้แปลงสัญชาติจากอเมริกันไปถือสัญชาติออสเตรเลียแล้ว การฟ้องร้องทางแพ่งระหว่าง 2 บุคคลนี้จึงไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจศาลสหรัฐฯ แต่เมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว ไม่ว่าอย่างไร เจ้าชายแอนดรูว์ก็ต้องไปให้การในชั้นศาล เพราะหลังจากนี้ ขั้นตอนต่อไปในการสู้คดี ทั้งการไกล่เกลี่ย การชี้มูลให้ศาลยกฟ้อง หรือการสู้จนถึงที่สุด จะต้องกระทำต่อหน้าศาลเท่านั้น นอกจากนี้ ชิปยังรายงานเพิ่มเติมว่าทนายความของโรเบิร์ตส์ระบุว่าเธอรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ศาลไม่สั่งยกฟ้องก่อนเริ่มต้นพิจารณาคดี

คริส ชิป ผู้สื่อข่าวของ itv รายงานความคืบหน้าและรายละเอียดคดีผ่านทางทวิตเตอร์ @chrisshipitv
 

อย่างไรก็ตาม ลูเซีย ออสบอร์น-คราวลีย์ ผู้สื่อข่าวจากเว็บไซต์ Law360 ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่าคดีระหว่างโรเบิร์ตส์และเจ้าชายแอนดรูว์เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ซึ่งโรเบิร์ตส์สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในระดับบุคคลและบุคคลที่ศาลสหรัฐฯ ได้ แม้ว่าการฟ้องคดีแพ่งในศาลสหรัฐฯ จะนำมาซึ่งการเอาผิดในคดีอาญาภายหลัง แต่โรเบิร์ตส์ไม่สามารถฟ้องเอาผิดเจ้าชายแอนดรูว์ในคดีอาญาได้ เพราะข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเหตุผลที่ว่าเจ้าชายแอนดรูว์ไม่ใช่บุคคลในขอบเขตอำนาจศาลอาญาสหรัฐฯ เพราะถือสัญชาติอังกฤษเต็มตัว ซึ่งต่างจากกรณีของกิสเลน แม็กซ์เวลล์ อดีตคนรักของเอปสตีนและผู้ร่วมจัดหาการค้าประเวณี ที่ขึ้นศาลสหรัฐฯ ได้เพราะเธอสมรสกับนักธุรกิจและอดีตทหารอเมริกันเมื่อปี 2559

เจ้าชายแอนดรูว์ เวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ และกิสเลน แม็กซ์เวลล์ ใน พ.ศ.2544
(ภาพจากบีบีซี โดยอ้างอิงจากเวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์)
 

ก่อนหน้านี้ สื่ออังกฤษรายงานว่าเจ้าชายแอนดรูว์ ทรงขายบ้านพักตากอากาศสุดหรูบนเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์ในราคากว่า 17 ล้านปอนด์ (775 ล้านบาท) เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ค้างชำระแก่เจ้าของบ้านคนเก่า และคาดว่าจะนำเงินบางส่วนไปใช้จ่ายในคดีล่วงละเมิดทางเพศที่โรเบิร์ตส์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในคดีดังกล่าว สำหรับที่มาที่ไปของคดีล่วงละเมิดทางเพศ สามารถอ่านได้ที่นี่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ควีนเอลิซาเบธ' ประกาศถอดยศ 'เจ้าชายแอนดรูว์'

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 เวลา 00.06 น. ตามเวลาท้องถิ่นไทย เฟซบุ๊ก The Royal Family ซึ่งเป็นเพจทางการของสำนักพระราชวังอังกฤษ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีของเจ้าชายแอนดรูว์ โดยระบุว่า "สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษทรงมีพระบรมราชานุญาตและทรงเห็นพ้องให้ถอดถอนยศทางการทหารของดยุกแห่งยอร์ก รวมถึงถอดถอนการเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ โดยต้องคืน[ยศทั้งหมด]ให้แก่สมเด็จพระราชินีนาถฯ"

แถลงการณ์ของสำนักพระราชวังอังกฤษยังระบุเพิ่มเติมว่า "ดยุคแห่งยอร์กจะยังคงยุติการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่อไป และจะเดินหน้าต่อสู้คดีในฐานะพลเมืองซึ่งเป็นปัจเจกชนคนหนึ่ง"

ทั้งนี้ สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานเพิ่มเติมโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับวังว่าเจ้าชายแอนดรูว์จะถูกถอดยศออกจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า (His Royal Highness) ส่วนการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์เคยรับผิดชอบอยู่จะถูกถ่ายโอนไปให้พระบรมวงศานุวงศ์คนอื่นๆ

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net