Skip to main content
sharethis

อัยการสก๊อตแลนด์ตัดสินใจใช้ทางเลือกอื่น แทนการดำเนินคดีกับชายวัย 22 ปี หลังถูกจับกุมและแจ้งข้อหา 'ก่อความไม่สงบ' จากการตะโกนวิจารณ์ดยุคแห่งยอร์คว่า 'เฒ่าวิตถาร (sick old man)' ระหว่างพระองค์เข้าร่วมพิธีแห่พระราชศพของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565


ที่มาภาพ: uk.knews.media

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา สื่อ Sky News รายงานว่าสำนักงานอัยการสก๊อตแลนด์ตัดสินใจใช้ทางเลือกอื่น แทนการดำเนินคดีกับชายวัย 22 ปี หลังเขาถูกตำรวจจับกุม และแจ้งข้อหา 'ก่อความไม่สงบ' จากการตะโกนวิจารณ์ดยุคแห่งยอร์คว่า 'เฒ่าวิตถาร (sick old man)' ระหว่างพระองค์เข้าร่วมพิธีแห่พระราชศพของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ บนถนนรอยัลไมล์ ในเอดินบะระ สก๊อตแลนด์ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565

โฆษกสำนักงานอัยการของสก๊อตแลนด์ระบุว่า "หลังพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและระมัดระวังแล้ว คดีนี้จัดการด้วยวิธียื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นแทนการดำเนินคดี" แม้ไม่ได้มีการอธิบายเพิ่มเติมว่าทางเลือกดังกล่าวมีรายละเอียดเป็นอย่างไร แต่สื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่าปกติแล้วทางเลือกแทนการดำเนินคดี ได้แก่ การตักเตือน การบำเพ็ญประโยชน์ การจ่ายค่าปรับ และการชดเชยด้วยวิธีอื่น

โฆษกแถลงเพิ่มเติมอีกว่าจะไม่มีการดำเนินการใดๆ กับหญิงวัย 22 ปี ที่ถือป้ายต่อต้านสถาบันกษัตริย์ และถูกจับกุมบริเวณหน้ามหาวิหารเซนต์ไจลส์ ในเอดินบะระ เมืองหลวงของสก๊อตแลนด์ เมื่อ 11 ก.ย. 2565 ก่อนการประกาศครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม "สำนักงานอัยการขอสงวนสิทธิในการดำเนินการในอนาคตหากเหมาะสมและเป็นประโยชน์ของสาธารณะในการทำเช่นนั้น"

เมื่อต้นปีนี้เจ้าชายแอนดรูว์ยอมจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินมหาศาลเพื่อไกล่เกลี่ยคดีล่วงละเมิดทางเพศในสหรัฐอเมริกา หลังเวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ จุฟเฟร ฟ้องพระองค์ว่า ล่วงละเมิดทางเพศเธออย่างน้อย 3 ครั้ง ขณะที่เธออายุ 17 ปี 'และเป็นเหยื่อค้าประเวณีเด็กของเจฟฟรีย์ เอปสตีน นักธุรกิจชาวอเมริกันเจ้าของฉายา ‘นักค้ากาม’ ที่ฆ่าตัวตายในเรือนจำเมื่อปี 2562 ระหว่างรอการไต่สวนข้อหาก่ออาชญากรรมทางเพศ'

ระหว่างพระราชพิธีศพของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 และการแถลงขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เกิดประท้วงขึ้นหลายแห่งในสหราชอาณาจักร แม้มีการจับกุมและถูกวิจารณ์จากกลุ่มสิทธิว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน แต่กรมตำรวจนครบาลของอังกฤษยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิเต็มที่ในการประท้วง และได้แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาความปลอดภัยในพระราชพิธีศพอย่างชัดเจนมาโดยตลอด

บทบาทของสถาบันกษัตริย์อังกฤษมีคะแนนนิยมลดลงในช่วงที่ผ่านมา และถูกตั้งคำถามในช่วงที่เกิดวิกฤติค่าครองชีพในสหราชอาณาจักร เมื่อ ต.ค. ที่ผ่านมา พระราชวังบักกิงแฮมประกาศว่าจะมีการจัดพิธีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ในวันอาทิตย์ที่ 6 พ.ค. 2566 ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ กรุงลอนดอน ขณะที่กลุ่มรีพับบลิก เตรียมจัดประท้วง อย่างสันติเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการจัดพิธีดังกล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก
Prince Andrew heckler will not face court

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net