Skip to main content
sharethis

อ็อกแฟม เผยรายงาน ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มหาเศรษฐีใหญ่ของโลกมีแต่รวยขึ้น ส่วนคนจนยิ่งจนลง ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเข้าไม่ถึงวัคซีนของคนจน ส่วนคนรวยได้ผลพลอยได้จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ แนะเก็บภาษีจากคนรวยไปหนุนเสริมระบบสาธารณสุข 

ภาพในปี 2004 ที่มีชื่อเสียงของทูกา วิเอรา แสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างสลัมในปาไรโซโปลิสและอะพาร์ตเมนต์ที่หรูหราในย่านโมรัมบีของเซาเปาโล ประเทศบราซิล (ที่มา: ทูกา วิเอรา)

รายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ขององค์กร ‘อ็อกแฟม’ เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 65 ระบุว่า กลุ่มมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก 10 คน ร่ำรวยขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม โดยที่ความเหลื่อมล้ำนี้ได้ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 21,300 คนต่อวัน

อ็อกแฟม เตือนด้วยว่า "พวกเราเข้าสู่ปีที่ 2565 ด้วยความน่าเป็นห่วงมากในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน" ในรายงานที่ชื่อ "ความเหลื่อมล้ำฆ่าคนได้" ระบุว่า สภาพการณ์ที่โลกตกอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำในระดับร้ายแรงถือเป็น "ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ"

รายงานของอ็อกแฟม ระบุว่า ในโลกที่มีความไม่เท่าเทียมอย่างฝังราก นโยบายเชิงโครงสร้างและระบบต่างๆ รวมถึงการตัดสินใจทางการเมืองจะเป็นไปในทางเอาใจกลุ่มคนรวยที่สุด และกลุ่มผู้มีอำนาจสูงสุดเท่านั้น ทำให้สร้างความเสียหายต่อประชาชนธรรมดาทั่วไปส่วนใหญ่ของโลก โดยที่อ็อกแฟม ระบุถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวอย่างสำคัญ

อ็อกแฟม ระบุว่า "ประชากรโลกหลายล้านคนจะยังคงมีชีวิตอยู่หากพวกเขาได้รับวัคซีน แต่พวกเขาก็เสียชีวิตไปแล้ว เพราะถูกปฏิเสธโอกาสจากบรรษัทยายักษ์ใหญ่ที่ยังคงควบคุมผูกขาดเทคโนโลยีเหล่านี้"

นอกจากนี้ อ็อกแฟม ยังระบุอีกว่า กลุ่มชายที่ร่ำรวยที่สุด 252 อันดับแรก มีทรัพย์สินความมั่งคั่งมากกว่าผู้หญิง 1,000 ล้านคนในแอฟริกา ละตินอเมริกา และประเทศแถบแคริบเบียน รวมกัน ขณะที่มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก 10 อันดับแรก มีทรัพย์สินมากกว่าผู้คนทั่วไป 3,100 ล้านคนรวมกัน นอกจากนี้ ในช่วงโรคระบาดจนถึงปัจจุบัน กลุ่มคนรวยเหล่านี้ก็ยิ่งรวยขึ้น โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 99 ขณะที่คนอื่นๆ ต้องดิ้นรนทนทุกข์ทรมานในช่วงโควิด-19

รายงานของอ็อกแฟมเผยแพร่ก่อนหน้าการประชุมประจำปีของเวิลด์อิโคโนมิกฟอรัม (WEF) ที่นครดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนับเป็นการประชุมของกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด และมีอำนาจมากที่สุด แต่การประชุมในปีนี้ต้องเลื่อนออกไปอีกเพราะโรคระบาด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (9-15 ม.ค. 65) WEF เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลกปี 2565 ระบุถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่แต่ละประเทศฟื้นฟูทางเศรษฐกิจได้ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งโดยมากมาจากการที่ประชาชนในแต่ละประเทศเข้าถึงวัคซีนได้ไม่เท่ากัน เรื่องเหล่านี้จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศต่างๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ WEF ยังเตือนว่า ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะผลกระทบจากโรคระบาดหนักยังจะสร้างความตีงเครียด ความขุ่นเคือง และทำให้เกิดปัญหาต่อประเทศต่างๆ ในการโต้ตอบกับวิกฤตเรื่องโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการขาดเสถียรภาพทางสังคม

อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำไม่ได้แค่มาจากปัญหาโรคระบาดเท่านั้น แต่เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ถึงแม้ว่าสหประชาชาติ หรือ UN และรัฐบาลหลายแห่งของโลกจะพยายามส่งเสริมด้านการกระจายเทคโนโลยีและการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม

แต่สิ่งที่ทำให้คนรวยรวยมากขึ้นไปอีกในช่วงโรคระบาดเป็นเพราะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลที่เอื้อต่อคนรวย ทำให้ราคาหุ้น และราคาสินทรัยพ์เพิ่มสูงขึ้น คนรวยยิ่งรวยขึ้น การบริเอลา บูเชอร์ (Gabriela Bucher) ผู้อำนวยการบริหารของอ็อกแฟม กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางให้เงินกระตุ้นตลาดการเงินหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลประโยชน์ต่อความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี "อย่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์" ขณะที่ปัญหาโรคระบาด COVID-19 ทำให้ประชาชนทั่วไปจนลง และคนเหล่านี้ก็ยังคงจนแม้ว่าโรคระบาดจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโลกด้วย จากการที่อ็อกแฟม ระบุว่า มหาเศรษฐี 20 คนที่รวยที่สุดในโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่ากลุ่มคนจนที่สุด 1,000 ล้านคนรวมกันถึง 8,000 เท่า

ภาพสลัมในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อปี 1973 ถ่ายโดย Roger McLassus 

งานวิจัยของอ็อกแฟม ระบุอีกว่า กลุ่มคนที่อยู่ในประเทศรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลางมีโอกาสเสียชีวิตจากโรค COVID-19 มากกว่าประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในประเทศร่ำรวย ในบางประเทศ กลุ่มคนที่จนที่สุดมีโอกาสเสียชีวิตจาก COVID-19 มากกว่า 4 เท่า

รายงานระบุอีกว่า มีผู้คนโดยเฉลี่ยประมาณ 5.6 ล้านคนเสียชีวิตทุกปี เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพได้ในประเทศที่ยากจน และสภาวะความอดอยากทำให้ผู้คนเสียชีวิตโดยเฉลี่ยมากกว่า 2.1 ล้านคนทุกปี

บูเชอร์ กล่าวว่า "คนจำนวนมากสูญเสียงาน หลายล้านคนเสียชีวิต ขณะที่ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ-สีผิว และประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา ได้รับผลกระทบเหล่านี้มากที่สุด"

อ็อกแฟม เสนอว่า รัฐบาลต่างๆ ในโลกสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหา "ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ" ที่เกิดขึ้นได้ ด้วยการเก็บภาษีผลพลอยได้จากกลุ่มคนรวยที่ได้รับผลประโยชน์จาก COVID-19 

ทั้งนี้ กลุ่มมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดเหล่านี้มีความมั่งคั่งสูงขึ้นถึง 812,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 26.9 ล้านล้านบาท 

บูเชอร์ เสนอว่า รัฐบาลควรเก็บภาษีคนรวยเหล่านี้ แล้วเอามาให้กับคนทำงานทางการแพทย์เช่นพยาบาล ให้กับโรงพยาบาลและเพื่อการจัดหาและกระจายวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไป 

 

เรียบเรียงจาก

The poor die from COVID while the rich get richer, Oxfam warns, Aljazeera, 17-01-2022

รายงาน Inequality Kills ปี 2565
chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/viewer.html
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net