ชายแดนพม่า-บังกลาเทศตึงเครียด คาดกระทบแผนส่งกลับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา

กองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกัน ซึ่งเป็นชนวนทำให้ทหารพม่าอ้างเหตุเข้ามากวาดล้างชาวโรฮิงญาในปี 2560 กลับมาปฏิบัติการในพื้นที่อีกครั้ง พร้อมแทรกซึมเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ล่าสุดมีผู้อาศัยในชายแดนฝั่งพม่าถูกยิงโดยกองกำลังดังกล่าว ชาวโรฮิงญาสองฝั่งชายแดนกังวล เหตุปะทะกันระหว่างกองกำลังกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ อาจส่งผลต่อแผนกลับประเทศของผู้ลี้ภัย ทางรัฐบาลพม่ายังคงลังเลในการรับผู้ลี้ภัยกลับบ้าน ขณะบังกลาเทศยืนยันส่งผู้ลี้ภัยกลับได้ หากบรรลุข้อตกลงทางการทูต 


แฟ้มภาพ: Amnesty International

23 ม.ค. 2565 ชายแดนระหว่างบังกลาเทศและพม่าเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนอย่างมาก เพราะมีกองกำลังปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ถึง 3 กลุ่ม ได้แก่ (1.) กองทัพของคณะรัฐประหารพม่า (2.) กองทัพอะระกันซึ่งเป็นชาวพุทธที่ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ และขณะนี้อยู่ในช่วงหยุดยิงกับกองทัพพม่า (3.) กองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันซึ่งประกาศเข้าร่วมกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า และเคยเป็นชนวนให้กองทัพพม่าอ้างเหตุในการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในปี 2560 

การกลับมาปรากฎตัวอีกครั้งของกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกัน ส่งผลให้สถานการณ์ชายแดนพม่า-บังกลาเทศร้อนระอุขึ้นทุกที 

สำนักข่าว RFA รายงานว่าผู้อาศัยในรัฐยะไข่ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของพม่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการปะทะกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ในเมืองเมิงดอว์ ซึ่งตั้งอยู่ทางชายแดนของพม่าที่ติดกับบังกลาเทศ หลังกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันซึ่งถูกประกาศว่าเป็นกองทัพผิดกฎหมาย มีกิจกรรมเพิ่มขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

กองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกัน ซึ่งเข้าร่วมกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า และกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ หลังการรัฐประหาร 1 ก.พ. 2564 กำลังใช้กำลังบุกเข้าไปควบคุมค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นที่อาศัยของชาวโรฮิงญากว่า 750,000 คน หลังการกวาดล้างโดยกองทัพพม่าในปี 2560 ซึ่งการกวาดล้างดังกล่าวส่วนหนึ่งแล้วเป็นการตอบโต้ต่อกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันที่เข้าโจมตีสถานีตำรวจต่างๆ ในรัฐยะไข่

กองกำลังชาวพุทธแห่งอะระกันซึ่งเป็นคู่แข่งกับกองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอะระกัน ประกาศหยุดยิงกับกองทัพพม่าไปในช่วงปลายปี 2563 ขณะนี้กองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันจึงดูเหมือนจะชิงความได้เปรียบจากภาวะที่ค่อนข้างสงบดังกล่าวในการปฏิบัติการ ตามความเห็นของผู้อาศัยในเมืองมองดอ

เมื่อ พ.ย. เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันกับกองทัพพม่าในเมิงดอว์ เมื่อเดือนที่แล้ว ชายคนหนึ่งจากหมู่บ้านโคนเดียงได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังมือปืนของกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันเปิดฉากยิงประชาชน 20 คนที่เข้าไปเก็บไผ่ในป่า 

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้ว บนโซเชียลมีเดียปรากฎภาพและวิดิโอที่แสดงให้เห็นการซ้อมรบของผู้นำและไพร่พลมากกว่า 50 คนของกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกัน ผู้อยู่อาศัยในมองดอระบุว่าพวกเขากลัวว่าความรุุนแรงในพื้นที่จะกลับมาอีกครั้ง

“นักรบของกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันดูเหมือนกลุ่มนักปฏิวัติในเครื่องแบบจรยุทธ์ และบางครั้งเราเห็นคนเหล่านี้ 4-5 คนในชุดพลเรือนด้วย” มอง ฮละ เจ้าหน้าที่บริหารหมู่บ้านโคนเดียงกล่าว

 “เรากลัวที่จะเข้าไปตรงด้านตะวันตกของภูเขา ถ้าเราจำเป็นต้องไป เราต้องไปเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 20 คน ไม่ใช่ไปเป็นกลุ่มเล็กๆ และเราไม่กล้าเข้าไปในป่าลึก” มอง ฮละ บอกเพิ่มเติม

มอง ฮละ ระบุว่า สาขาหนึ่งของกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันในเมียนมาร์ตั้งฐานอยู่ในหุบเขาเวลา ห่างจากศูนย์กลางของมองดอไปทางเหนือประมาณ 20 ไมล์ และห่างจากหมู่บ้านโคนเดียงของเขาไปเพียง 2 ไมล์เท่านั้น การตั้งกองกำลังในบริเวณนี้ขัดขวางวิถีชีวิตของสมาชิกหมู่บ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต 

ผู้อาศัยในมองดออีกคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามระบุว่าตำแหน่งของกองกำลังปลดปล่อยอะระกันในมองดอ ขวางอยู่ระหว่างหน่วยรบของกองทัพพม่าและหน่วยรบของกองกำลังชาวพุทธแห่งอะระกันโดยตรง

“กองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันไม่สามารถเคลื่อนทัพได้อย่างอิสระเหมือนก่อนหน้านี้ [ที่เกิดการกวาดล้างในปี 2560] เนื่องจากมีศัตรูขนาบอยู่ทั้งสองด้าน ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ชายแดนจะต้องระมัดระวังการสัญจรของตนเองด้วย” ผู้อาศัยในมองดอกล่าว

แผนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศถูกเลื่อนออกไป

แหล่งข่าวอื่นๆ บอกกับสำนักข่าว RFA ว่าแผนการส่งชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศกลับประเทศภูมิลำเนาต้องถูกเลื่อนออกไป หลังมีรายงานว่ากองกำลังปลดแอกชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันกลับมาปฏิบัติการในพื้นที่

ขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศยืนยันว่ากองกำลังปลดแอกชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันไม่ได้ปฏิบัติการอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เมื่อเดือนที่แล้ว ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติในพม่า บอกกับผู้สื่อข่าวว่าเขามีข้อมูล “ที่น่าเชื่อถือ” เกี่ยวกับกลุ่มที่มีส่วนพัวพันในการลักพาตัว ล่วงละเมิด และฆ่าชาวโรฮิงญาด้วยกันในอาคารต่างๆ 

มูฮัมหมัด ชารี ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเมืองมองดอบอกกับสำนักข่าว RFA ว่าขณะที่กองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันยังคงปฏิบัติการอยู่ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศจะไม่มีวันกลับบ้านอย่างแน่นอน

“ตราบที่กลุ่มกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันยังคงอยู่ เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะนำผู้ลี้ภัยจากบังกลาเทศกลับมา และจะไม่มีสันติภาพและความปลอดภัยสำหรับเรา ที่ขณะนี้กำลังใช้ชีวิตอยู่ในรัฐยะไข่ตอนเหนือ” มูฮัมหมัดกล่าว

“ครั้งล่าสุด เราต้องหนีไปบังกลาเทศเพราะคนเหล่านี้ [หมายถึงกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกัน] และปัจจุบัน ด้วยภาพและไฟล์วิดิโอทั้งหมดที่ปรากฎบนเฟสบุ๊คเหล่านี้ เรากังวลว่าเราอาจจะต้องหนีอีกครั้ง” 

นอกจากกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันแล้ว ผู้อาศัยในพื้นที่ยังบอกกับสำนักข่าว RFA ด้วยว่า กลุ่มทหารอื่นๆ เช่น องค์การโรฮิงญาร่วมใจ และกองกำลังโรฮิงญา ก็ได้แทรกซึมเข้ามาในพื้นที่ชายแดนระหว่างพม่าและบังกลาเทศ โดยเข้ามาทางด้านเมืองมองดอในรัฐยะไข่แล้ว 

โฆษกของคณะรัฐประหาร ซอว์ มิน ตุน ยังไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อได้รับการติดต่อจากสำนักข่าว RFA

ดิล โมฮัมหมัด ผู้นำชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ บอกกับสำนักข่าว BenarNews ซึ่งอยู่ในสังกัดของสำนักข่าว RFA ว่าการต่อสู้ปะทุขึ้นแล้วระหว่างกลุ่มกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งรัฐอะระกันและกองกำลังอะระกันในพื้นที่ที่ยังไม่มีใครยึดครองตามแนวชายแดน

“การต่อสู้กันระหว่างกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแหง่รัฐอะระกัน และกองกำลังอะระกันเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุเกี่ยวกับการลักพาตัวชาวโรฮิงญา” มูฮัมหมัดกล่าว

อย่างไรก็ตาม มูฮัมหมัดระบุว่าขณะที่การต่อสู้ปะทุขึ้นในพื้นที่ เหตุผลแท้จริงที่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศยังไม่กลับบ้าน “เป็นเพราะความลังเลของรัฐบาลพม่า” 

“พม่ายังคงลังเลที่จะยอมรับเรา ดังนั้นการย้ายกลับภูมิลำเนาจึงยังไม่เกิดขึ้น” มูฮัมหมัดกล่าว

ชาห์ เรซวาน ฮายัต สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยการช่วยเหลือและการส่งกลับผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ บอกกับสำนักข่าว BenarNews ว่าการปรากฎตัวของกองกำลังปลดแอกชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญแต่อย่างใด

“เราได้ยินจากสื่อและแหล่งข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับการปรากฎตัวของกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันในค่ายผู้ลี้ภัย แต่กลุ่มติดอาวุธทั้งภายในและโดยรอบค่ายเพียงแค่ใช้ชื่อกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันเพื่อทำให้ตัวเองมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น เราจะไม่ยอมให้กลุ่มติดอาวุธใดเข้ามาสร้างความโกลาหลในค่ายเป็นอันขาด” ฮายัต กล่าว

“หากบังกลาเทศและพม่าสามารถบรรลุข้อตกลงทางการทูตได้ ไม่ว่าจะมีการส่งตัวไปยังประเทศที่สามหรือไม่ ความรุนแรงที่ชายแดนจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการส่งกลับประเทศ” ฮายัต กล่าว

พี่น้องของผู้นำกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันถูกควบคุมตัว

การปรากฎตัวที่มากขึ้นของกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันในพื้นที่ชายแดนเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งรายงานว่าพี่น้องของผู้นำกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกันถูกจับในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์ บาซาร์ของบังกลาเทศ

มูฮัมหมัด ชาห์ อาลี อายุ 50 ปี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 16 ที่ผ่านมา หลังตำรวจพบว่าเขาถือบัตรประชาชนบังกลาเทศ และกำลังขนอาวุธและยาเสพติด รายงานนี้มาจากกาซี ซาลาห์ อุดดีน เจ้าหน้าที่สืบสวนและผู้กำกับสถานีตำรวจอูเกีย ที่บอกกับสำนักข่าว BenarNews

เจ้าหน้าที่เขตเลือกตั้งชิตตากง จาฮันกีร์ โฮสเซน บอกกับนักข่าวท้องถิ่นว่า ถ้าบัตรประชาชนเป็นของจริง จะต้องมีการสอบสวน และจะมีการดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนพัวพันในเรื่องนี้ด้วย

ไนมูล เฮก หัวหน้าหน่วยตำรวจติดอาวุธในเมืองคอกซ์ บาซาร์ บอกกับสำนักข่าว BenarNews ว่าชาห์ อาลี อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในคอกซ์ บาซาร์ โดยคำสั่งของพี่น้องของเขาคือ อะโตลเลาห์ อาบู อัมมาร์ จูนูนิ ผู้นำกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งอะระกัน 

ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะส่งผลต่อสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนระหว่างพม่าและบังกลาเทศหรือไม่ 

ที่มา
An outlawed group resurfaces, raising new fears of clashes in Myanmar’s Rakhine state (RFA, 18 January 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท