'โรคระบาดใหญ่' (Pandemic) กับ 'โรคประจำถิ่น' (Endemic) ต่างกันอย่างไร

สื่ออัลจาซีรานำเสนออินโฟกราฟิกแยกแยะความแตกต่างว่า "โรคประจำถิ่น" (Endemic) กับ "โรคระบาดใหญ่/โรคระบาดไปทั่วโลก" (Pandemic) ต่างกันอย่างไร หลังจากที่องค์การอนามัยประกาศว่าโรคระบาด COVID-19 กำลังจะกลายเป็นโรคในระดับ "โรคประจำถิ่น" ในขณะที่กรณีระบาดในบางพื้นที่ยังคงสูง และการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่มากพอจะสร้าง Herd Immunity ในการจำกัดการระบาดได้จนเลิกกลายเป็นการระบาดใหญ่ได้จริงหรือ

 

 

27 ม.ค. 2565 ย้อนไปเมื่อช่วงเดือน มี.ค. ปี 2563 ในตอนนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่า COVID-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) ซึ่งหมายถึงโรคใหม่ที่กระจายไปทั่วโลกและส่งผลต่อผู้คนจำนวนมาก

คำว่า Pandemic หรือ "แพนเดมิค" มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คำว่า "แพน" หมายถึง "ทั้งหมด" และคำว่า "เดมิค" ผันมาจาก "เดมอส" ที่แปลกว่า "ผู้คน" เมื่อเทียบกับคำว่า Endemic หรือ "เอนเดมิค" แล้ว คำว่า en- เป็นคำเสริมข้างหน้าที่แปลว่า "ใน หรือ ภายใน" ทำให้มองภาพได้ว่าสื่อถึงโรคที่คงอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ ไปตลอดจนทำให้มีการคาดการณ์การกระจายของโรคได้ง่ายขึ้น

มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนประเมินไว้ว่า COVID-19 จะไม่สามารถทำให้หมดไปได้โดยสิ้นเชิง แต่โรคนี้จะกลายเป็นโรคในระดับ โรคประจำถิ่น หรือก็คือโรคที่อยู่ในประจำพื้นที่ มีอัตราการป่วยคงที่ มีขอบเขตชัดเจน สามารถคาดการณ์ได้ แบบเดียวกับโรคไข้เลือดออกในไทย หรือโรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา อีกทั้งความร้ายแรงของโรค COVID-19 ก็จะลดลง

ในขณะที่ยังไม่มีการนิยามชัดเจนว่าภายใต้สภาพการณ์แบบใดที่จะทำให้ COVID-19 ได้รับการระบุกลายเป็นโรคประจำถิ่น ในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปก็เริ่มมีการยกเลิกข้อจำกัดล็อกดาวน์ต่างๆ แล้ว และเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ช่วงที่จะอยู่ร่วมกับโรคนี้ แต่ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ลดลงด้วย

ในสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี Pedro Sanchez ของสเปนได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปปฏิบัติต่อโรค COVID-19 แบบเป็น "โรคประจำถิ่น" เพราะอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ลดลง

แต่การที่จะเปลี่ยนประเภทของ COVID-19 ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นนั้นก็จะทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรในการต่อต้านโรคน้อยลงไปด้วยและผู้คนก็จะถูกตรวจวินิจฉัยโรคน้อยลงเพราะการที่ไม่ได้ถูกพิจารณาว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอีกต่อไป

ในเรื่องนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยแถลงว่ามันเร็วเกินไปที่จะจัดให้ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่นจากการที่จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง

ในแผนภาพอินโฟกราฟฟิกของอัลจาซีรามีการเปรียบเทียบกรณีโรคประจำถิ่นต่างๆ โดยที่โรคเหล่านี้ยังคงมีคนติดโรคหลายล้านคนต่อปี และมีจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน เช่น โรคหวัดใหญ่ ที่มีกรณีเกิดขึ้น 1,000 ล้านราย มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยตั้งแต่ 290,000-650,000 ราย ต่อปี โรคหัดซึ่งเป็นโรคที่มีวัคซีนแล้วมีกรณีผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 10 ล้านราย มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 140,000 ราย วัณโรคมีผู้ป่วยโดยเฉลี่ยปีละ 10 ล้านราย มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านราย

เช่นเดียวกับไวรัสอื่นๆ ไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อโรค COVID-19 มีการกลายพันธุ์นับตั้งแต่ที่ปรากฏออกมาในปี 2562 การกลายพันธุ์คือการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมในตัวของไวรัสซึ่งจะทำให้โปรตีนหนามของไวรัสตัวนี้มีความสามารถในการทำให้เซลล์ติดเชื้อได้แตกต่างกันออกไป

สำหรับกรณีของสายพันธุ์โอมิครอน ที่พบครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2564 ในตอนนี้พบในอย่างน้อย 165 ประเทศหรืออาณาเขตทั่วโลก โดยที่โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้มากที่สุด

กรณีโอมิครอนทำให้เกิดกรณี COVID-19 สูงที่สุดทั่วโลก มีอย่างน้อย 100 ประเทศที่มีจำนวนตัวเลขผู้ป่วยต่อวันสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ซึ่งในที่นี้เป็นจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจยืนยัน ยังอาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่อาจจะติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแต่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉั

องค์การอนามัยโลกประเมินว่าประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยุโรปอาจจะติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนภายในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ แต่เมื่อบวกกับอัตราการรับวัคซีนที่สูงของกลุ่มประเทศยุโรปแล้วก็อาจจะทำให้เกิดภาวะที่คนที่ติดเชื้อมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้สูงขึ้นไปด้วย เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ก็อาจจะนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า Herd Immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ของผู้คน ที่เกิดจากการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีความต้านทานต่อโรคไม่ว่าจะต้านทานโดยการเคยติดเชื้อ ต้านทานจากวัคซีน สภาวะ Herd Immunity จะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคได้

อย่างไรก็ตามเมื่อไวรัสมีความสามารถในการระบาดได้มากขึ้นก็ทำให้อัตราขั้นต่ำของกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันมากพอจะสร้าง Herd Immunity ได้ มีสูงขึ้นไปด้วย จากเดิมที่สายพันธุ์แรกของ SARS-CoV-2 นั้นต้องการคนมีภูมิคุ้มกันประมาณร้อยละ 60-70 ในการสร้าง Herd Immunity ได้ พอกลายเป็นสายพันธุ์เดลตาก็ต้องการอัตราคนมีภูมิคุ้มกันขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 และเมื่อเป็นสายพันธุ์โอมิครอนก็ต้องการเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90

อย่างไรก็ตามการสร้าง Herd Immunity ก็มีอุปสรรคจากการที่ประเทศยากจนจำนวนมากยังรอวัคซีนอยู่ โดยมีอัตราผู้ได้รับวัคซีนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นจากข้อมูลของ Our World In Data ทำให้การระบาดหนักอาจจะยังไม่จบง่ายๆ ถ้าหากจำนวนผู้มีภูมิคุ้มกันยังไม่มากพอ

เรียบเรียงจาก :

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท