'วิโรจน์' ชู 4 นโยบายพลิกทางม้าลายทั่วกรุงเทพฯ ใช้เทคโนโลยีแจ้งปัญหาเรียลไทม์

'วิโรจน์' ชู 4 นโยบายพลิกทางม้าลายทั่วกรุงเทพฯ ใช้เทคโนโลยีแจ้งปัญหาเรียลไทม์ กทม. ต้องทำงานเชิงรุก ไม่ต้องรอประชาชนแจ้ง สำนักงานเขตต้องสำรวจทางเท้าทุก 3 เดือน มีการซ่อมบำรุง ตรวจสอบสภาพให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ 

29 ม.ค. 2565 Voice online รายงานว่าวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงนโยบายแก้ไขปัญหาทางเท้า 4 นโยบาย ที่พัฒนาร่วมกับว่าที่ ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางบอน ปาล์ม - นิธิกร บุญยกุลเจริญ ผู้พัฒนาเว็บรายงานน้ำท่วมและแอพลิเคชั่นแจ้งปัญหาอื่นๆ พร้อมยกโปรเจกต์ ‘พบเห็นทางม้าลายมีปัญหาแจ้งวิโรจน์’ ผ่านระบบแจ้งปัญหาฟองดูว์ หลังการเปิดใช้งานได้เพียง 3 วัน มีประชาชนร้องเรียนมาแล้วกว่า 109 จุด โดยมีพื้นที่ที่มีการร้องเรียนซ้ำหลายราย 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ใต้ทางด่วนสาทรเหนือสาทรใต้ ถนนบรรทัดทอง และถนนอ่อนนุช 

พร้อมกันนี้ วิโรจน์ได้แถลงนโยบายหลัก 4 ข้อ ลั่นหากผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์ พร้อมนำเอานโยบายมาปรับใช้ในทันที เรื่องที่หนึ่ง แก้ปัญหาโครงสร้างวิศวกรรม ต้องมีทางม้าลายที่ได้มาตรฐาน มีทางม้าลายชัดเจน มีสัญญาณไฟกด มีกล้องตรวจจับความเร็ว และมีเส้นซิกแซกเพื่อเป็นการเตือนไม่ให้ขับรถด้วยความเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ใช้งบประมาณเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น ในการปรับปรุงทางม้าลาย 54 แห่งจาก 4,160 แห่งทั่วกรุงเทพ สะท้อนให้เห็นปัญหาในการจัดการ บำรุงรักษา ทางม้าลายอย่างชัดเจน

ข้อที่สอง วิโรจน์ยกปัญหาการบังคับใช้กฎหมายจราจร มาเป็นนโยบายหลัก ซึ่งแม้ว่าการบังคับใช้กฎหมายจราจรจะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่จากการสำรวจเมื่อปี 2563 มีใบสั่งจากการกระทำผิดกฎหมายทั้งหมด 13 ล้านใบ แต่กลับเก็บค่าปรับได้เพียง 1% ของใบสั่งเท่านั้น วิโรจน์จึงเสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น การเชื่อมโยงการทำผิดกฎจราจรและสิทธิในการต่อภาษีรถยนต์ เสนอให้มีการตัดคะแนนใบขับขี่ เมื่อทำผิดกฎหมายต้องมีบทลงโทษ เช่น ห้ามขับรถ 30 วัน ไปจนถึงยกเลิกใบขับขี่

ข้อที่สาม เชื่อมสัญญาณไฟคนข้ามกับไฟแดงสี่แยก เนื่องจากถนนเส้นรองของกรุงเทพเป็นถนนที่คนใช้สัญจรและมีความหนาแน่น จึงต้องวางโครงสร้างไฟจราจรและไฟแดงสี่แยกให้เชื่อมกันทุกจุด 

และนโยบายสุดท้าย กทม. ต้องทำงานเชิงรุก ไม่ต้องรอประชาชนแจ้ง สำนักงานเขตต้องสำรวจทางเท้าทุก 3 เดือน มีการซ่อมบำรุง ตรวจสอบสภาพให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ 

ในนโยบายหลักทั้ง 4 ข้อนี้ วิโรจน์และทีม เตรียมนำเอาเทคโนโลยีมาใช้สอดแทรกในแต่ละด้านให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดการฐานข้อมูลเมือง (City Data Platform) ที่จะรวบรวมเอาทรัพย์สินต่างๆ ของกทม. ว่าไว้ในฐานข้อมูล เพื่อทำการตรวจสอบ วันเวลาที่ต้องทำการบำรุงรักษาในระบบออนไลน์ ข้อมูลงบประมาณของเมือง ไปจนถึงเรื่องร้องเรียนของประชาชน พัฒนาระบบจัดเก็บทรัพย์สินของเมือง การใช้กล้องจัดเก็บข้อมูลเมืองแบบ 3D สำหรับการเก็บข้อมูลเมืองและนำไปปรับใช้ พร้อมทั้งเปิดเรื่องร้องเรียน (Open City Complain Platform) เช่น การใช้ระบบรับเรื่องร้องเรียนฟองดูว์ ที่สามารถแจ้งปัญหาแบบเรียลไทม์

นอกจากน้ี วิโรจน์ยังเสนอให้มีการติดกล้องไว้บนรถที่เป็นทรัพย์สินของกทม. เช่น รถขยะ รถฉีดน้ำ เพื่อให้ง่ายกับการตรวจเช็คทางม้าลาย (Streetview Crosswalk Classification) รวมถึงสนับสนุนให้มีการนำเอา AI มาใช้ตรวจจับ การฝ่าฝืนกฎหมาย และการใช้ไฟ LED ฝังบริเวณทางม้าลาย เพื่อตีเส้นเครื่องหมายจราจรให้เด่นชัด (LED Embedded Road Signs) และ มีการใช้เซนเซอร์แทนการจับเวลาข้ามถนน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท