Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมรู้สึกมีพลังเขียนเรื่อง “แนวคิดโลกวิสัย” (secularism) มากขึ้น เมื่อเริ่มมี “พระ” มาร่วม “สนทนาธรรม” แลกเปลี่ยนด้วยอย่างเป็นกิจลักษณะ (นอกเหนือจากที่เข้ามาเถียงประจำทางเฟซบุ๊ก) เช่น บทความชื่อ “ศีลธรรมของ Nietzsche และการแยกศาสนาจากการเมือง” ของพระปลัดสมนึก ธีรปัญโญ เขียนว่า

งานของ Nietzsche ไม่มีข้อความตอนใดที่ Nietzsche กล่าวว่า “ข้อวิจารณ์อย่างหนึ่งของนีทเชอคือ ศีลธรรมเป็นเรื่องของชนชั้น แยกเป็นศีลธรรมแบบนายและศีลธรรมแบบทาส อย่างแรกคือศีลธรรมที่แสดงสถานะอำนาจ อุปนิสัย มารยาทของชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครอง อย่างหลังแสดงความเชื่อฟัง อุปนิสัย มารยาทของชนชั้นผู้ถูกปกครองหรือคนส่วนใหญ่ที่เชื่อฟังและทำตามคำสั่งหรือเชื่อและทำอะไรตามๆ กันโดยไม่ตั้งคำถามและไม่ได้เลือกความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกหรือความต้องการแท้จริงของตนเอง” 

อาตมาเห็นว่าน่าจะเป็นการแปลผิดหรือสรุปความมาผิด โดยรวบเอาศีลธรรมของนายในสมัยโรมันและศีลธรรมของทาสมรสมัยฮิบรู รวมเข้ากับการแบ่งประเภทของมนุษย์ของ Nietzsche อย่างสับสน งานของ Nietzsche ไม่ได้กล่าวถึงชนชั้น (Class) ไว้ ณ ตอนใด และไม่เคยกล่าวว่า “ศีลธรรมเป็นเรื่องของชนชั้น” มีแต่กล่าวว่า “ศีลธรรมนาย” เกิดจาก “ชนชั้นสูง” (nobility) ส่วนศีลธรรมทาสก็เกิดจากทาส

เดาว่าพระปลัดสมนึกคงอ่านงานนีทเชอมาทุกเล่ม ทุกบรรทัดแล้ว (คือคงอ่านมากกว่าที่อ้างจากวิกิพีเดีย) ถึงมั่นใจมากว่าคนอื่นที่ตีความต่างจากตนผิด แต่ที่ผมบอกว่า “ข้อวิจารณ์อย่างหนึ่ง” ของนีทเชอคือ “ศีลธรรมเป็นเรื่องของชนชั้น” ผมอ้างที่มาไว้แล้ว (ดู https://prachatai.com/journal/2023/03/103148) ส่วนที่พระปลัดสมนึกบอกว่าที่นีทเชอพูดถึงคือ “ศีลธรรมนาย” เกิดจาก “ชนชั้นสูง” (nobility) ส่วนศีลธรรมทาสก็เกิดจากทาส”  นั้น ถ้าพระปลัดสมนึกจะคิดว่าข้อความดังกล่าวที่ตนยกมา “ไม่มีมิติใดๆ ที่เป็นเรื่องชนชั้นเลย” หรือจะมองว่า “ระบบสังคมที่มีชนชั้นสูง, ชนชั้นทาส ไม่ใช่สังคมชนชั้น” ก็เป็นการตีความของพระปลัดสมนึกเอง

แต่ผมเห็นต่าง เพราะในยุคของนีทเชอที่เริ่มแนวคิดซึ่งนำมาสู่ปรัชญา Existentialism ที่ยืนยันเสรีภาพจากศาสนาและอำนาจครอบงำใดๆ เป็นไปไม่ได้หรอกครับที่นีทเชอเองผู้วิจารณ์ทั้งศีลธรรมศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ ศีลธรรมแบบปรัชญากรีกโบราณ กระทั่งประชาธิปไตย สังคมนิยม และวิทยาศาสตร์ จะไม่รู้หรือยกเว้นไม่วิจารณ์ศีลธรรมชนชั้นเลย นักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่วิจารณ์และเสนอทางออกจากปัญหานี้กันแทบทั้งนั้น ผมเขียนเรื่องนี้หลายบทความแล้ว ไม่ขออธิบายซ้ำอีก (แน่นอนว่าผมไม่ใช่ผู้รู้แจ้งแนวคิดนีทเชอ จึงไม่เคยพิพากษาว่าใครผิด แค่มองว่าเราตีความต่างกันได้)

ขอพูดสั้นๆ เพียงว่าเมื่อนำกรอบคิด (concept) การวิจารณ์ศีลธรรมแบบนีทเชอมา “ใช้มอง” ศีลธรรมแบบพราหมณ์ฮินดู-พุทธหรือพุทธศาสนาไทย เราจะเห็นศีลธรรมชนชั้นอย่างชัดเจน เช่น ศีลธรรมที่ใช้แยกชนชั้นหรือหน้าที่ในระบบวรรณะสี่ และระบบคิดทางศีลธรรมในไตรภูมิพระร่วงเป็นต้นที่ใช้สนับสนุนระบบศักดินาไทย ที่มีทั้ง “ศักดินาพระศักดินาเจ้า” แน่นอนนีทเชอปฏิเสธศีลธรรมพวกนี้ เหมือนที่พวก existentialists ปฏิเสธ ดังนั้น ที่ตีความว่านีทเชอไม่ได้บอกว่าศีลธรรมเป็นเรื่องชนชั้นเลย (?) จึงไม่สามารถลบล้าง “ประเด็นหลัก” ที่ว่าศีลธรรมแบบพราหมณ์ฮินดู-พุทธ หรือพุทธศาสนาไทยเป็นระบบศีลธรรมชนชั้นได้เลย

 

ประเด็นที่ผมสนใจแลกเปลี่ยนในบทความนี้คือ ที่พระปลัดสมนึกเขียนว่า

“นอกจากนี้ การเรียกร้องให้ศาสนาพุทธของประเทศไทยมีการ secularization นั้น อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง อธิบายไว้ชัดเจนแล้ว ดังนี้

“ในความเข้าใจของผม secularization ทางศาสนา คือ แยกศาสนาจากการเมืองครับ

ผมเห็นว่า มองได้สองทาง คือ ตามกฎหมาย กับ ตามประเพณีวัฒนธรรม

การที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ ก็ถือว่า แยกศาสนาจากการเมือง และเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ค ศ 1953 (ใช้อยู่ในปัจจุบัน)...

ส่วนในทางประเพณีวัฒนธรรม ผมว่า เราเปิดกว้างมาก ซึ่งจะเรียกว่า secular มากก็ได้ครับ

ยิ่งในสามจังหวัดภาคใต้ ศาสนาอิสลามจะ dominant กว่าพุทธ อย่างเห็นได้ชัด

อาตมาจึงเรียนเพื่อการอรรถาธิบาย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อศาสนาพุทธในฐานะที่เป็นศาสนาหนึ่งซึ่งมีคนไทยจำนวนมากนับถือ สรุปสาระสำคัญ คือ Nietzsche ไม่ได้กล่าวว่า “ศีลธรรมเป็นเรื่องชนชั้น” และศาสนาพุทธไทยในปัจจุบันมีการแยกศาสนาออกจากการเมืองมากอยู่แล้ว (ดู https://prachatai.com/journal/2023/04/103507)

ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า เวลา “พระ” บอกว่าใครแปลผิด หรือสรุปความผิด แล้วบอกว่าตนเองคือผู้ที่ “สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อศาสนาพุทธ” นั้น หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าพระแปลความ ตีความ สรุปความแบบเรานั่นแหละครับ แต่ “การสร้างความเข้าใจถูกต้อง” ของพระหรือนักปราชญ์ราชบัณฑิตพุทธไทยคืออะไร?
 

ขอยกตัวอย่างคลาสสิกเลย เช่น พระและนักปราชญ์ราชบัณฑิตพุทธที่นิยมอ้าง “ความถูกต้องตามตัวบท (ในไตรปิฎก)” ได้ “สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพุทธศาสนา” (ในแบบของพวกเขา) ว่า “การมีระบบสมณศักดิ์ฐานันดรพระ ย่อมเป็นไปตามพุทธานุญาตให้อนุวัตรตามราชา และพระพุทธเจ้าก็ทรงแต่งตั้งเอตทัคคะด้านต่างๆ อยู่แล้ว” ความเห็นทำนองนี้พบได้ทั้งในงานวิจัย งานวิชาการ การบรรยาย การถกเถียงในที่ต่างๆ ของพระและนักวิชาพุทธที่ปกป้องพุทธศาสนาไทย

แต่นี่คือการแปลความถูก หรือสรุปความถูกต้องตาม “ตัวบท” ในไตรปิฎกอย่างไรหรือ เพราะเอตทัคคะที่พุทธะตั้ง ไม่ใช่ “ฐานันดรศักดิ์” หรือ “ศักดินาพระ” เลยนะครับ เอตทัคคะเป็นเรื่องภายในระบบสังฆะที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ แต่สมณศักดิ์หรือศักดินาพระเป็นเรื่องของระบบศาสนจักรของรัฐ หรือคณะสงฆ์ที่ถูกปกครอง ตั้งยศ ให้ข้าทาส ที่ดิน เงินนิตยภัตรายเดือนจากกษัตริย์ โดยกษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนยศ มีอำนาจออกกฎหมายเอาผิดพระที่ทำผิดวินัยสงฆ์เป็นต้น แต่การตั้งเอตทัคคะในระบบสังฆะตามธรรมวินัย (ในไตรปิฎก) ไม่ใช่ศักดินาพระ ไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ใดๆ เลย

ผมไม่ได้ “กล่าวหา” ว่าพระปลัดสมนึกอยู่ในกลุ่มพระและผู้รู้พุทธที่ตีความเช่นนั้น แต่ผมมีคำถามว่าเรื่องแบบนี้พระปลัดสมนึกเคย “คิด” ว่าเป็นการ “แปลความผิด” หรือ “สรุปความผิด” และปรับใช้ปฏิบัติผิดจากตัวบทในไตรปิฎกไหม หรือเคยถามอย่างเป็นสาธารณะว่าการสร้างระบบศักดินาพระผิดจากหลักธรรมวินัยของพุทธะไหมครับ หรือไม่กล้าแม้แต่จะคิด?

ถ้าไม่กล้าแม้แต่จะคิด หรือไม่กล้าตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นสาธารณะ เพื่อยกเลิกระบบศักดินาพระให้ระบบสังฆะไทยเป็นระบบสังฆะที่แยกจากอำนาจรัฐ มีอิสรภาพในการปกครองตนเองตามหลักธรรมวินัยแบบเดียวกับระบบสังฆะที่พุทธะก่อตั้งขึ้น ก็แสดงว่า “การสร้างความเข้าใจถูกต้อง” ที่ว่า “ศาสนาพุทธไทยในปัจจุบันมีการแยกศาสนาออกจากการเมืองมากอยู่แล้ว” ก็กลับกลายเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดสิ นี่เป็นคำถามนะครับ ไม่ใช่คำพิพากษาตัดสิน!

หรือถ้าแม้แต่เรื่องของศาสนาพุทธไทยเองแท้ๆ พระเองยังพากันแปลความผิด สรุปความผิด หรือคลาดเคลื่อน “ไม่ตรงตามตัวบทเป๊ะๆ” แล้วทำไมมั่นใจมากว่าตนเองพูดถูกตามตัวบทของนีทเชอเป๊ะๆ เลย พร้อมกับชี้นิ้วว่าคนที่ตีความต่างจากตนผิด เอาอะไรมามั่นใจขนาดนั้น?

ส่วนประเด็น “การทำให้เป็นโลกวิสัยทางการเมือง” (political secularization) และ “การทำให้เป็นโลกวิสัยทางสังคม” (social secularization) ตามแนวคิดโลกวิสัย (secularism) นั้นอย่างแรก หมายถึง การบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญให้รัฐเป็น “รัฐโลกวิสัย” (secular state) ที่ไม่สถาปนาศาสนาประจำชาติ รัฐเป็นกลางทางศาสนา และความเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนา แยกศาสนาออกจากอำนาจทางการเมือง จากสถาบันต่างๆ ของรัฐ ประมุขของรัฐไม่มีสถานะและอำนาจผูกติดกับศาสนา (เช่น ไม่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะแตะต้องไม่ได้ เป็นต้น) รัฐ (โดยรัฐบาลและหน่วยงานราชการทั้งหมด) ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงศาสนาหรือองค์กรศาสนาใดๆ ยกเว้นเพื่อปกป้องสิทธิพลเมือง ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชนหมด ไม่มีอภิสิทธิ์ทางศาสนาใดๆ ในโครงสร้างอำนาจรัฐ หรือในทางกฎหมาย และงบประมาณรัฐ ดังนั้น ที่ยกรัฐธรรมนูญเดนมาร์กซึ่ง “ไม่ใช่รัฐโลกวิสัย” ที่แยกศาสนาจากรัฐมาเป็นตัวอย่างของ political secularization มันจึงเป็นการให้ภาพตัวอย่างที่ไม่ชัดเจนหรือตรงตามตามหลักการ political secularization ตามที่ปรากฏในงาน “Secularism and Freedom of Conscience”  ของ Jocelyn Maclure & Charles Taylor และ “Secularism: A Very Short Introduction” ของ Andrew Copson เป็นต้น

อีกอย่าง การอ้างความเห็นของ “อาจารย์จุฬาฯท่านหนึ่งอธิบายไว้ชัดเจนแล้ว” อาจารย์คนนั้นคือใคร และคนอ่านก็ไม่รู้จะไปค้นหาที่มาของความเห็นนั้นยังไง

ที่ว่า “ศาสนาพุทธไทยในปัจจุบันมีการแยกศาสนาออกจากการเมืองมากอยู่แล้ว” มากอยู่แล้วยังไงหรือครับ เวลาพูดถึง “ศาสนาพุทธไทย” ไม่ได้หมายถึง “พระ” หรือ “สถาบันสงฆ์” เท่านั้นนะครับ มันรวมทั้งอุดมการณ์รัฐ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งรัชกาลที่ 6 ผู้ให้กำเนิดอุดมการณ์นี้ยืนยันชัดว่า “ศาสนาหมายถึงพระไตรรัตน์หรือศาสนาพุทธ” แต่ตามหลักการ political secularization ต้องแยกศาสนาออกจากอุดมการณ์รัฐ หรือความมั่นคงของรัฐด้วย ไทยแยกเสียที่ไหนล่ะ พระปลัดสมนึกกำลัง “สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง” จริงหรือ?

อีกอย่าง ก็ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็น “อุดมการณ์ทางการเมือง” ที่ใช้อ้างในการทำรัฐประหารมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย และใช้อ้างในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายขวามาตลอด แถม “พระฝ่ายขวา” พูดเองเลยว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้บุญมากกว่าบาป” และพระนักปราชญ์ยังเสนอทฤษฎี “เผด็จการโดยธรรม” และ “ธรรมาธิปไตยไม่มาจึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ” ที่ขบวนการ “เสื้อเหลือง” นำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งอีกด้วย

บางคนอาจแย้งว่าเรื่อง “พระฝ่ายขวา” และ “ขบวนการเสื้อเหลือง” เป็นเรื่องตัวบุคคลและกลุ่มบุคคล ไม่ใช่เรื่อง “หลักการ” ของพุทธศาสนาไทย แล้วอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ล่ะ เป็นเรื่องหลักการไหม การปกครองโดยธรรม (ทศพิธราชธรรม) เป็นต้นล่ะ เป็นเรื่องหลักการไหม การใช้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ทำรัฐประหารได้โดยไม่เคยมีความผิดหรือถูกเอาผิดทางกฎหมายได้ การล่าแม่มดด้วย 112 ที่ยึดโยงกับอุดมการณ์ดังกล่าวเป็นปัญหาเรื่องหลักการไหม และบอกได้ไหมว่าไม่เกี่ยวใดๆ กับพุทธศาสนาไทย

อย่างที่บอกไปหลายครั้งแล้วว่า การสร้างอาคารรัฐสภา “สัปปายะสภาสถาน” ก็สร้างตาม “อุดมคติไตรภูมิพระร่วง” โดยอ้างว่า สังคมไทยปัจจุบันวิกฤตศีลธรรม เพราะประชาชน และนักการเมืองขาดศีลธรรม จึงต้องการฟื้นฟูจิตวิญญาณ ศีลธรรม การปกครองโดยธรรมขึ้นมาใหม่ แต่การอ้างศีลธรรมยุคปัจจุบันก็ย้อนแย้งมาก คืออ้างศีลธรรม, ทศพิธราชธรรม, ธรรมาธิปไตยมาวิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองและประชาชน แต่แตะต้องสถาบันกษัตริย์ที่ปกครองโดยธรรมหรือใช้หลักทศพิธราชธรรมตามอุดมคติพุทธไม่ได้ ขณะที่ในยุคสังคมจารีตเขาอ้างหลักทศพิธราชธรรมตั้งคำถามต่อกษัตริย์ เช่น “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” เป็นต้น

ที่สำคัญในทางกฎหมายตามหลักการ political secularization เขาไม่บัญญัติรับรอง “สถานะทางศาสนาที่ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ของกษัตริย์” นะครับ ประชาชนแต่งกายล้อเลียน วิจารณ์ ประท้วงกษัตริย์เดนมาร์กได้ เขาถือเป็น “การใช้เสรีภาพในการแสดงออก” ตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ไปดูสำนวนฟ้องคดี 112 ซิครับ มีการอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตราที่บัญญัติรับรอง “สถานะทางศาสนาของกษัตริย์ตามอุดมคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธ” ที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้...” เสมอ ตกลงไทยแยกศาสนาออกจากการเมืองมากกว่าเดนมาร์กยังไงหรือ

ยิ่งกว่านั้น ตามกฎหมายสงฆ์ กำหนดให้อำนาจการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปตาม “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี” (หมายถึงพระราชอำนาจแบบยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์) กษัตริย์มีอำนาจตั้งสมเด็จพระสังฆราช คณะกรรมการมหาเถรฯ เท่ากับระบบมหาเถรฯ หรือ “ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม” ขึ้นตรงต่อพระราชอำนาจ ในระบบศาสนจักรเช่นนี้ พระมีอำนาจทางกฎหมาย พระสังฆาธิการรับเงินนิตยภัตรายเดือน มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำงานพุทธประจำจังหวัด ทำหน้าที่ทางพุทธศาสนาตอบสนองมหาเถรฯ และดูแล “ความประพฤติ” ของพระ ใช้งบฯ จากภาษีประชาชน ปีละกว่า 5,000 ล้าน แบบนี้คือการแยกพุทธศาสนาจากโครงสร้างอำนาจรัฐหรือสถาบันของรัฐตามหลัก political secularization อย่างไรหรือครับ

หรือมันเป็นการแยกพุทธศาสนาจากการเมืองมากอยู่แล้วยังไงครับ เพราะการเมืองเป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ทางอำนาจ” (power relation) ที่ทำให้พระมีอำนาจทางกฎหมายและผลประโยชน์ ยศ ตำแหน่ง ค่าตอบแทน และอำนาจอื่นๆ และภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบนี้ ก็กำหนดให้พระ “มีหน้าที่ทางการเมือง” ในการสอน การจัดกิจกรรมทางศาสนา การกำหนดนโยบายต่างๆ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และสนับสนุนศักดินา เช่น เน้นการสอนธรรมะสนับสนุนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จิตอาสาพระราชทาน หมู่บ้านศีล 5 การสอนให้ประชาชนจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นต้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนแต่ขัดแย้งกับหลักการ political secularization และ social secularization ทั้งสิ้น

ขณะที่หลักการพื้นฐานของ political secularization คือ การปกป้องเสรีภาพแห่งมโนธรรม, ความคิดเห็น, เสรีภาพทางศาสนา, เสรีภาพในการพูด, การแสดงออก, เสรีภาพทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน แต่ภายใต้ระบบศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม พระเองยังไม่มีเสรีภาพเหล่านี้เลย เพราะอำนาจทางกฎหมายของมหาเถรฯ กำหนดให้พระสอนประชาชนให้จงรักภักดีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ห้ามสอน บรรยาย อภิปราย เคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยของประชาชน นี่คือปัญหาหรือ “ทุกข์” ที่เกิดกับพระเองแท้ๆ เลยนะครับ เพราะพระ “ถูกละเมิดความเป็นมนุษย์” อย่างถึงราก บรรดาพระเองไม่รู้ “ทุกข์” ของตัวเองกันเลยหรือ ไม่คิดจะหา “ทางพ้นทุกข์” กันบ้างเลยหรือครับ

พูดให้ชัดคือ ถ้าพระมี “freedom of conscience” พระก็ต้อง “เลือกได้” สิว่าจะสอน บรรยาย อภิปราย จัดกิจกรรมทางศาสนา สวดมนต์ เคลื่อนไหวสนับสนุนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ศักดินาหรือประชาธิปไตย ไม่ใช่พอมีบางรูปออกมาสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยร่วมกับประชาชนก็ถูกบังคับสึก

ดังนั้น การไม่แยกศาสนาจากรัฐและอำนาจทางการเมือง จึงทำให้พระไม่สามารถจะมีแม้แต่เสรีภาพแห่งมโนธรรมสำนึก เทียบกับการต่อสู้ของพวกโปรเตสแตนท์คือเขาต่อสู้เพื่อที่จะมี “freedom of conscience” แต่พระจำนวนไม่น้อยในพุทธไทยปัจจุบันกลับปกป้องระบบอำนาจที่ทำให้พระเองไม่สามารถที่จะมี freedom of conscience คิดลึกๆ คิดละเอียดแล้วน่าหดหู่มากเลยครับ

ควรเลิก “สร้างความเข้าใจผิดๆ” แก่สังคมได้แล้วว่าว่า “ศาสนาพุทธไทยแยกจากการเมืองมากแล้ว” เพราะศาสนาพุทธไทยเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐ คือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์, ให้หลักการปกครองโดยธรรม, มีการบัญญัติสถานะทางศาสนาของกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ, บัญญัติในรัฐธรรมนูญให้รัฐอุปถัมภ์พุทธเถรวาทและศาสนาอื่นๆ, แถมยังมีขบวนการเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ, มีการขับเคลื่อนให้บัญญัติกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาให้มากขึ้นๆ, มีการบังคับเรียวิชาพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาชาติ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อ “อภิสิทธิ์ทางศาสนา” (religious privileges) ที่มากขึ้นโดยลำดับ มีการฟื้นฟูอุดมคติแบบไตรภูมิมาออกแบบสร้างอาคารรัฐสภาเป็นต้น ซึ่งล้วนแต่สวนทางกับ secularization ทางการเมืองและทางสังคมวัฒนธรรม แล้วจะเอา “ข้อเท็จจริง” อะไรมายืนยันว่าศาสนาพุทธไทยแยกออกจากการเมืองมากแล้ว

การเมืองคืออะไร การที่ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมและพระมีบทบาทหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ “ไม่ใช่การเมือง” ใช่ไหม ถ้าสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยคือ “การเมือง” งั้นสิ การนิยามแบบบิดเบี้ยวเช่นนี้ แล้วอ้างว่าเป็นการ “สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง” ก็ไม่ต่างจากการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพุทธศาสนา ด้วยการอ้างเรื่องเอตทัคคะและอนุวัตรตามราชามาสนับสนุนระบบศักดินาพระเลย ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่เขา “รู้ทัน” กันแล้วครับ จะdominate แบบทื่อๆ ไม่ได้อีกแล้ว

พระปลัดสมนึกอ้าง “อาจารย์จุฬาฯท่านหนึ่ง” บอกว่า “ยิ่งในสามจังหวัดภาคใต้ ศาสนาอิสลามจะ dominant กว่าพุทธ อย่างเห็นได้ชัด” ถามหน่อยครับว่า ถ้าชาวสามจังหวัดภาคใต้แย้งว่า “นอกเหนือจากสามจังหวัดภาคใต้แล้ว พื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยพุทธศาสนา dominant กว่าอิสลามอย่างเห็นได้ชัด” จะตอบเขายังไง เพราะข้อเท็จจริงก็คือในประเทศที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐอย่างประเทศที่คนส่วนใหญ่ถือพุทธหรืออิสลาม เช่น ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศาสนาของคนส่วนใหญ่มันก็มีอภิสิทธิ์ในรัฐและมีอิทธิพลครอบงำสังคมมากกว่าทั้งนั้น ถ้าต้องการแก้ปัญหานี้ “อย่างจริงใจ” ก็ต้องแยกศาสนาจากรัฐครับ

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของนักบวชพุทธไทยคือ การมีวัฒนธรรมชี้ว่าคนอื่น “ผิด” หรือ “ไม่รู้จริง” ผมไม่แน่ใจว่าวัฒนธรรมแบบนี้เกิดจากอิทธิพลคัมภีร์พุทธที่พูดถึงความเชื่อตนเองเป็น “สัมมาทิฐิ” และตัดสินความเชื่อที่แตกต่างว่าเป็น “มิจฉาทิฐิ” หรือไม่ มันจึงทำให้ “ง่าย” ที่พระหรือผู้รู้พุทธจะตัดสินคนคิดต่างแบบนั้นเสมอ

แต่อย่างที่เราเห็น ระบบยศช้างขุนนางพระในพุทธศักดินา-พุทธราชาชาตินิยมที่สถาปนากษัตริย์ให้เป็นสมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ล้วนแปลความ ตีความคำสอนพุทธจากไตรปิฎก อรรถกถา ไตรภูมิพระร่วง การตีความว่าสมณศักดิ์เป็นไปตามหลักอนุวัตรตามราชา และเป็นไปตามหลักเอตทัคคะ ก็ล้วนแต่เป็นการแปลความ หรือการตีความ “เกินเลย” จากตัวบทในคัมภีร์ทั้งสิ้น ไม่ต่างจากศาสนจักรคริสต์ยุคกลางตีความไบเบิลให้โป๊ปและกษัตริย์มี “อำนาจเทวสิทธิ์” ในการปกครอง แต่บรรดานักบวชพุทธและคาทอลิกต่างก็อ้างว่าพวกตนทำหน้าที่รักษา “คำสอนที่ถูกต้อง” ในคัมภีร์ศาสนาตนเอง ทว่าไม่ใช่ “ด้วยการปฏิบัติ” เพราะในทางปฏิบัติศาสนจักรยุดกลางกดปราบพวกคิดต่าง (พวกนอกรีต) อย่างขัดกับหลักคำสอนของเยซูเรื่อง “ความรักและการให้อภัยแก่ศัตรู” อย่างชัดแจ้ง ขณะที่นักบวชพุทธไทยที่อ้างคำสอนในอัคคัญญสูตรว่า “พุทธะปฏิเสธระบบชนชั้นวรรณะ” แต่บรรดานักบวชก็มีศักดินาพระเสียเอง และศาสนจักรพุทธก็คือกำลังหลักในการสนับสนุนค้ำยันระบบศักดินาไทยมายาวนานหลายศตวรรษ จนกระทั่งปัจจุบัน

ต่างแต่ว่า การปฏิรูปคริสต์ศาสนาช่วงปลายยุคกลางทำให้เกิดพวกโปรเตสแตนท์ที่ยืนยัน freedom of conscience และ “ความเสมอภาคในสายตาของพระเจ้า” เพื่อปฏิเสธอำนาจศาสนจักรคาทอลิก จนพัฒนามาสู่การเกิดนักคิดโปรเตสเตนท์ และวัฒนธรรมโปรเตสแตนท์ที่ปฏิเสธอำนาจเผด็จการในนามศาสนา หรือรัฐศาสนา และนำมาสู่การแยกศาสนาจากรัฐ หรือการทำให้เป็นโลกวิสัยทางการเมืองและทางสังคมวัฒนธรรมในที่สุด

พูดใช้ชัดคือ ในทางหลักการ political secularization และ social secularization มันคือหลักการปกป้องศาสนาจากรัฐ ไม่ให้รัฐแทรกแซงเสรีภาพขององค์กรหรือกลุ่มศาสนาต่างๆ ในการศึกษาตีความและเผยแพร่คำสอนและการปฏิบัติพิธีกรรม ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิพลเมือง, หลักการปกป้องรัฐจากศาสนาหรือศาสนจักร ไม่ให้ศาสนา ศาสนจักร หรือกลุ่มศาสนาใดๆ มามีอำนาจรัฐ หรือแทรกแซงอำนาจรัฐเพื่ออภิสิทธิ์ทางศาสนาของกลุ่มตนเอง และเป็นหลักการปกป้องเสรีภาพแห่งมโนธรรม, ความคิดเห็น, เสรีภาพทางศาสนา, เสรีภาพทางการเมือง ของประชาชน จากการที่รัฐและศาสนจักรใช้ “อำนาจที่แตะไม่ได้” ในนามศาสนา (เช่น อำนาจเทวสิทธิ์, การปกครองโดยธรรม, สถานะทางศาสนาเป็นที่เคารพสักการะ ฯลฯ) มาครอบงำกดขี่ประชาชนทั้งแบบเนียนๆ และโจ่งแจ้ง
 

แต่น่าเศร้าที่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว บรรดาพระหรือผู้รู้พุทธไทยยังปกป้องระบบที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐที่ทำให้พระเองไม่สามารถแม้แต่จะมี freedom of conscience ได้จริง และยังมีการบังคับเรียนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาชาติที่ขัดกับ freedom of conscience โดยพื้นฐาน และขัดหลัก “อิสรภาพในการกำหนดตนเองทางศีลธรรม” (mora autonomy) ของปัจเจกบุคคล

การปกป้องระบบแบบนี้ แสดงถึง “ความซื่อสัตย์” ต่อหลักพุทธธรรมอย่างไร และแสดงถึงการ “เคารพ” หลักประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular democracy) อย่างไร นี่ต่างหากที่พระและผู้รู้พุทธไทยควรตอบให้ชัดเจน ผมหวังว่าจะมีการถกเถียงอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น!

 

 

ที่มาภาพ https://secularbuddhistnetwork.org/facing-the-great-divide/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net