สนทนา ครป.house 115 ปีวันสตรีสากล สังคมไทยที่ชายยังเป็นใหญ่

สนทนา 'ครป.house ตอน 115 ปีวันสตรีสากล: สังคมไทยที่ชายยังเป็นใหญ่' ทุกวันนี้ผู้หญิงไทยยังเจอความรุนแรงในชีวิตประจำวัน - ผลศึกษาสถาบันพระปกเกล้าพบ 19% ของคนไทยไม่ยอมรับให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมือง - ผู้หญิงข้ามเพศ-ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HIV ยังเผชิญการถูกตีตรา

ทีมสื่อคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย จัดการสนทนา “ครป.house ตอน 115 ปีวันสตรีสากล:สังคมไทยที่ชายยังเป็นใหญ่” โดยมีผู้สนทนาประกอบด้วย ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง, สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์/อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า/อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, สิรินทร์ มุ่งเจริญ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ allthaiwomen.com/อดีตรองประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการสนทนา วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

ผู้หญิงยังเจอความรุนแรงในชีวิตประจำวัน

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. กล่าวว่า วันสตรีสากล (8 มีนาคมของทุกปี) หากนับจากปี ค.ศ.1907 มาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 115 ปีมาแล้ว ซึ่งประเทศไทยเองก็มีการกล่าวถึง มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันดังกล่าวด้วย ทั้งทุกวันนี้ประเทศไทยเองก็มีภาพลักษณ์ก้าวหน้าของสถานภาพสตรีมากขึ้นจากในอดีต มีผู้หญิงเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำมากขึ้นทั้งในภาคธุรกิจ ภาคการเมือง ภาคสังคม จนถึงขนาดที่มีมุขตลกเล่นกันในวงเหล้าอย่าง “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นควาญช้าง” (ล้อเลียนสำนวนไทยที่บอกว่า ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง) หรืออย่าง “รักชีวิต อย่าคิดสู้เมีย” 

ซึ่งเมื่อตนได้ย้อนดูตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ฝึกงานที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง ก็ได้พบเจอเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นประจำ จนแม้ผ่านมา 14 ปีแล้ว ตนยังเห็นกรณีความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับรวมเรื่องการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในระดับนโยบาย ไปจนถึงในวิถีชีวิตประจำวัน ที่เพศหญิงต้องแบกรับภาระต่างๆด้วยเหตุแห่งความเป็นหญิง ทำให้ตนรู้สึกว่า มุขตลกในวงเหล้าที่กล่าวมา มันไม่ตลกเลย เพราะเป็นการทำให้สังคมมองข้ามภาพความเป็นจริงที่ความไม่เสมอภาคระหว่างหญิง-ชายยังดำรงอยู่ 
    
สิรินทร์ มุ่งเจริญ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ allthaiwomen.com เล่าว่าจากประสบการณ์ที่ตนทำกิจกรรมนักศึกษา เป็นรองประธานสภานิสิต และรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็จะเจอเคสต์การล่วงละเมิดทางเพศ อย่างการเล่นมุขตลกแบบ Dirty Joke จนเมื่อทำกิจกรรมทางการเมือง ก็เจอกับการเหยียดเพศเป็นหลัก เช่นคอมเมนต์ในสังคมออนไลน์ ที่เหยียดหาว่าเราเป็นผู้หญิงขายบริการ วิจารณ์เรื่องการแต่งหน้าแต่งตัว แสดงความเห็นต่อตนในลักษณะคุกคามทางเพศ พอยิ่งเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็ยิ่งโดนโจมตีหนัก คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ คนก็จะเหยียดตนในเรื่องรูปร่างหน้าตา นักกิจกรรมหญิงอีกหลายๆ คนก็เจอคล้ายๆ กัน 

จนปัจจุบันตนได้ทำเว็บไซต์ allthaiwomen.com ก็ได้รวบรวมประสบการณ์ที่หลายคนประสบพบเจอเพราะเหตุแห่งความเป็นผู้หญิงในสถานที่ต่างๆทั้งบ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน สถานที่สาธารณะ โดยที่ให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปกดเลือกสถานที่ที่ทำให้ได้พบเจอประสบการณ์การคุกคามทางเพศได้ เพื่อให้คนทั่วไปได้อ่านแล้วเข้าไปให้กำลังใจได้ สิ่งที่คนเขียนถึงมากที่สุดในเว็บนี้คือการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่พวกเขาพบในที่ที่คิดว่าควรเป็นสถานที่ปลอดภัย เช่นบ้าน โรงเรียน แต่กลับกลายเป็นว่าสถานที่เหล่านี้กลับเกิดเหตุการล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุด มีการคุกคามจากญาติ พ่อแม่ รวมถึงการเหยียดเพศ มีการเลือกปฏิบัติไม่ให้เสรีภาพในเรื่องต่างๆด้วยเหตุแห่งความเป็นหญิง ในโรงเรียนก็มีคนเล่าประสบการณ์เช่นครูห้ามนักเรียนหญิงนั่งติดกับนักเรียนชาย บอกว่ามันดูไม่งาม หรือถูกเพื่อน รุ่นพี่คุกคามทางวาจา มันก็สะท้อนว่าเราอยู่ในสังคมที่การคุกคามเป็นเรื่องที่ผู้หญิงเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์เคยเจอ เคยถูกคุกคามมาก่อน เว็บนี้ก็ทำให้เรื่องราวของผู้หญิงเหล่านี้สามารถเข้ามาเขียนบอกเล่า ระบายให้คนได้รับฟังว่าเราเจอเพราะความเป็นผู้หญิง ทำให้คนตระหนักว่าความรุนแรง อคติทางเพศยังมีอยู่จริงในปัจจุบัน 
    
ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิเพื่อนหญิงได้ก่อตั้งมาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว กิจกรรมอย่างแรกคือมีศูนย์ร้องทุกข์ ประสานการคุ้มครองสิทธิกรณีความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเครือข่ายการค้ามนุษย์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อมโดยผู้ชายไม่รับผิดชอบ ปัจจุบันมูลนิธิมีศูนย์ร้องทุกข์อยู่ที่กรุงเทพฯ ภาคใต้มีที่จังหวัดสงขลา ภาคเหนือมีที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคอีสานมีที่จังหวัดอุบลราชธานี ในศูนย์ฯจะมีนักสังคมสงเคราะห์ นักกฎหมายคอยให้คำปรึกษาเรื่องการคุ้มครองสิทธิ ช่วยประสานให้เข้าถึงสิทธิทางกฎหมาย มูลนิธิเพื่อนหญิงได้ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงเหล่านี้ถัวเฉลี่ยปีละประมาณ2พันคน จากงานที่เราทำก็จะเห็นว่ามี3กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือความรุนแรงในครอบครัว สามีทำร้ายร่างกายเป็นกลุ่มที่มูลนิธิฯได้พบมากที่สุด 

กลุ่มที่สองคือการทำร้ายทางจิตใจจนมีผลทางสุขภาพจิตของผู้หญิงจนอาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า อย่างการที่สามีนอกใจมีผู้หญิงอื่น การไม่รับผิดชอบภาระครอบครัวการดูแลบุตร สามีติดเหล้า ติดการพนัน ยาเสพติด การใช้คำพูดดูถูกทางวาจาอย่างรุนแรง กลุ่มที่ 3 ที่มีแนวโน้มการเกิดขึ้นสูงคือการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งการละเมิดทางเพศในโรงเรียนจากเพื่อนชาย จากครู ในมหาวิทยาลัยก็มีกรณีการคุกคามทางเพศเยอะเช่นเดียวกัน รวมถึงกรณีการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยฝ่ายนักศึกษาชายไม่รับผิดชอบ นักศึกษาหญิงกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และยังกลุ่มมีกลุ่มเด็กหญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องดูแลบุตรตามลำพัง ก็จะมีขบวนการแสวงหาประโยชน์ การค้ามนุษย์มาล่อลวงเข้าสู่การค้าประเวณี 
    
จึงอยากสะท้อนว่าสังคมไทยยังอยู่ในบริบทชายเป็นใหญ่ เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดกับผู้หญิงเหล่านี้ มาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เพศชายเป็นใหญ่ ตั้งแต่ในระดับครอบครัวจะเห็นว่าผู้ชายเป็นผู้มีอิทธิพลมาก มีอำนาจเหนือภรรยามาจนถึงบุตร จะมีกรณีที่ผู้ชายใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเยอะมาก ผู้ชายควบคุมลูกสาว ลูกชาย ภรรยา ใครไม่อยู่ในอำนาจของเขาก็จะมีการใช้ความรุนแรง ยังไม่นับเรื่องการไม่เลี้ยงดูครอบครัว การมีหญิงอื่น ซึ่งเป็นอภิสิทธิ์ของผู้ชาย แต่ในบางครอบครัวที่ผู้ชายมีระดับความคิดที่ก้าวหน้า ปัญหาก็จะเบาบางลง 
     
อีกส่วนถ้าเรามองจากในที่ทำงาน แม้จะมีผู้หญิงเรียนหนังสือ ทำงานนอกบ้านมากขึ้น แต่ตำแหน่งระดับหัวหน้าส่วนใหญ่ยังเป็นเพศชาย ส่วนหนึ่งเพราะเรื่อง “งานบ้าน” ในสังคมเรายังไม่ถูกปรับเปลี่ยน มันจึงเป็นภาระของผู้หญิง แม้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน กลับมาก็ยังต้องรับผิดชอบงานในบ้าน ทำให้ผู้หญิงจึงไม่มีเวลาที่จะพัฒนาศักยภาพหรือหาโอกาสให้ตัวเองเพื่อตำแหน่งที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันภาระความเป็นแม่ก็ทำให้หลายคนต้องเสียสละโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพื่อดูแลลูก เรายังปลดแอกให้ผู้หญิง ปรับฐานคิดให้ผู้ชายช่วยทำงานบ้านไม่ได้ ซึ่งการที่มีผู้หญิงมีภาระตรงนี้ถือเป็นสัดส่วนที่เยอะ เราจึงเห็นว่า แม้ต่อให้มีผู้หญิงที่ก้าวสู่ระดับสูงในหน้าที่การงาน แต่ผู้หญิงในระดับกลางถึงระดับล่าง โอกาสยังเป็นของผู้ชายมากกว่าอีกเยอะ จึงควรส่งเสริมค่านิยมว่างานบ้านต่างๆ ควรเป็นงานของทุกคน ไม่ควรถูกผลักภาระให้ภรรยา หรือบุตรสาวฝ่ายเดียว นอกจากนี้ควรส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของผู้หญิง รวมถึงเรื่องโอกาสในการเลือกอาชีพที่หลากหลายข้ามจากกรอบเพศด้วย 
    
นอกจากนี้เวลาเราเห็นข่าวการข่มขืน ก็มักมีการคอมเมนต์ในสังคมออนไลน์ในเชิงเห็นเป็นเรื่องตลก ที่แย่คือมีผู้หญิงด้วยกันที่เข้าไปร่วมคอมเมนต์ในเชิงเห็นเป็นเรื่องขำขัน เช่น ถ้าผู้ข่มขืนเป็นผู้ชายหน้าตาดี ผู้หญิงก็บอกว่าคนนั้นน่าจะเป็นฉันอะไรทำนองนี้ เป็นวิธีคิดที่อันตรายมาก เพราะการถูกข่มขืนในชีวิตจริงเป็นความทุกข์ทรมานในชีวิตที่ไม่ควรนำมาทำเป็นเรื่องตลก นี่คือความเจ็บป่วยด้านทัศนคติของสังคม 
    
จุดนี้ตนก็คิดว่าอยากให้มีมูลนิธิเพื่อนชายเกิดขึ้นมาบ้าง เพื่อมาปรับทัศนคติของเพศชายที่มีต่อเพศหญิง สร้างฐานคิดกันใหม่ที่ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่อคติทางเพศ เคารพ ให้เกียรติเพศหญิง เข้าใจความเสมอภาค มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ซึ่งทุกวันนี้งานอีกด้านของมูลนิธิเพื่อนหญิงก็คือการทำงานความคิดกับนักโทษชายที่ต้องคดีทางเพศในเรือนจำด้วยเพื่อให้พวกเขาเข้าใจและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของหญิง-ชาย และไม่ออกมาก่อความรุนแรงทางเพศซ้ำอีก และยังต้องพูดถึงรัฐสวัสดิการที่ควรต้องสร้างความมั่นคงให้ผู้หญิงในทางเศรษฐกิจ ถ้าผู้หญิงมีความสามารถพึ่งตนเอง หารายได้เองได้ มีหลักประกันในชีวิตรองรับอย่างดี ผู้หญิงจะเป็นอิสระจากผู้ชายได้มากโดยเฉพาะจากความรุนแรงในครอบครัว

ผลศึกษาสถาบันพระปกเกล้าพบ 19% ของคนไทยไม่ยอมรับให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมือง

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตัวชี้วัดหนึ่งในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ 5 ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง เป็นตัวชี้วัดที่สหภาพรัฐสภานานาชาติได้ตกลงกันว่า ควรมีตัวชี้วัดเรื่องจำนวนสมาชิกรัฐสภาหญิงในประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่ามีสมาชิกรัฐสภาหญิงในจำนวนน้อยและต่ำกว่าประเทศอื่นๆในเอเชียมาโดยตลอด ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะมีการเขียนไว้ชัดว่า พรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญในเรื่องสัดส่วนเพศชายหญิง แต่เมื่อเทียบกับในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตนกับคุณสุภัทราได้มีโอกาสร่วมกันร่าง แล้วก็ถูกโหวตตกไปจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบันนี้ (ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ภายหลัง สปช. ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว) ก็ไม่ได้เอาเรื่อง Gender Quota ที่พวกตนเคยเสนอไว้อย่างยากเย็นเข้ามาใช้ แต่เห็นว่าต้องให้ไปผลักดันในพรรคการเมือง เวลาจะลงบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ ต้องให้คำนึงถึงสัดส่วนหญิงชาย ก็จะเห็นมีบางพรรคใส่ใจมาก ทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบเอาผู้ชายผู้หญิงมาสลับฟันปลากันก็มี บางพรรคก็เอา LGBT+ ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองให้เข้าไปเป็น ส.ส. ด้วย ในลำดับต้น 
    
ตอนที่พวกตน (ดร.ถวิลวดี กับสุภัทรา นาคะผิว และทิชา ณ นคร) เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เสนอเรื่อง Gender Quota (สัดส่วนการดำรงตำแหน่งของหญิง-ชายในระดับต่างๆ) ก็มีคนไม่พอใจ มีคนตำหนิ บอกว่าเป็นภาระให้กับพรรคการเมืองในการหาผู้สมัคร แม้กระทั่งกับผู้หญิงด้วยกันบางคนก็ไม่สนับสนุนเรื่องนี้ ทั้งนี้มีความลับใน สปช. ที่ทำให้เห็นว่าสภาวะสังคมชายเป็นใหญ่มันมีอยู่จริง แม้กระทั่งระดับนโยบาย ปกติเวลาอยู่ในสภา สปช. ร่างนโยบายต่าง ร่างมาตราต่างๆในร่างรัฐธรรมนูญ เราก็จะมีการโหวตเห็นชอบ - ไม่เห็นชอบ ด้วยการยกมือ แต่ประเด็น Gender Quota มีสมาชิก สปช. บางคนขอให้ทำการโหวตแบบลับ ต้องแจกซองแล้วนับกัน เป็นแบบนี้มาถึง6ครั้ง จนกระทั่งสมาชิก สปช. ท่านหนึ่งคือ คุณทิชา ณ นคร รู้สึกรับไม่ได้จึงขอลาออก จนในที่สุดก็เกิดกระแสจนได้ Gender Quota มาอยู่ใน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แต่แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ถูกโหวตตกไปโดยที่ประชุม สปช. อย่างไรก็ดีเรื่องการคำนึงถึงสัดส่วนหญิงชายก็ยังได้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปัจจุบันสำหรับการเมืองระดับชาติ แต่สำหรับการเมืองระดับท้องถิ่นนี่คือไม่ได้เลย 
    
และอีกเรื่องหนึ่งที่พวกตนผลักดันไว้ แล้วได้มาอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย ก็คือเรื่อง Gender Responsive Budgeting (GRB) คือการจัดทำงบประมาณต้องคำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งมาจากงานวิจัยที่ตนได้ทำแล้วพอถึงเวลามีโอกาสก็รวมพวกกันกับภาคประชาสังคมอีกหลายๆ คนในการช่วยกันส่งข้อมูล ซึ่งก็ต้องทำแบบอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ให้ถูกหมั่นไส้อีก 
    
คราวนี้มาที่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เดิม (ก่อนการแก้ไขโดยรัฐสภาในภายหลัง) เราใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวแต่มี ส.ส. 2 ประเภท ก็พบว่า มีผู้หญิงสมัครเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อรวม 622 คน ผู้ชายสมัคร 2,188 คน โอกาสที่ผู้ชายได้ก็มีมากกว่า แต่ถ้าเอามารวมทั้งระบบเขตด้วย สุดท้ายตนเอามาศึกษาดูพบว่า เมื่อรวมกับผู้สมัคร ส.ส. แบบเขตด้วย ผู้หญิงได้ลงสมัคร ส.ส. 2 พันกว่า ผู้ชายได้สมัคร 10,434 คน คำนวณเฉลี่ยแล้ว ผู้ชายสมัคร ส.ส. 100 คน มีโอกาสได้ 4 คน ผู้หญิง 100 คน ลงสมัคร ส.ส. มีโอกาสได้แค่ 2 คน แสดงว่าโอกาสที่ผู้หญิงจะได้เป็น ส.ส. นั้นน้อยกว่า และตนยังศึกษาต่อไปอีกว่าแล้วทำไมผู้หญิงถึงไม่เลือกผู้หญิงด้วยกัน เพราะผู้หญิงเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ ผู้หญิงมาลงคะแนนเลือกตั้งสูงกว่าผู้ชายด้วย จากการเลือกตั้งปี 2562 ผู้หญิงมากเลือกตั้งถึง 53.22 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ชายมาแค่ 46.78 เปอร์เซ็นต์

ฉะนั้นถ้าผู้หญิงเลือกผู้หญิงด้วยกัน เราต้องได้ ส.ส. หญิงเยอะกว่า แต่ปรากฏว่าผู้หญิงบางส่วนไม่เลือกผู้หญิง กลับกลายเป็น First Time Voter (ประชากรคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก) เป็นกลุ่มที่เลือกผู้หญิงถ้าผู้หญิงคนนั้นมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเพศชาย แต่ถ้าเป็นคนสูงวัยจะไม่ได้เลือกแบบนี้ ส่วนผู้ชายก็อาจมีลงคะแนนเลือกผู้หญิงบ้างถ้าคนนั้นมาจากพรรคการเมืองที่ตนชอบ หรือผู้สมัครเป็นผู้หญิงที่มาจากครอบครัวนักการเมืองเก่า จากการศึกษาวิจัยประชาธิปไตยในเอเชีย (Asian Barometer) ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าทำมาหลายปี แล้วเราก็วัดอุณหภูมิประชาธิปไตยในเรื่องการยอมรับผู้หญิง ปรากฏว่า 19 เปอร์เซ็นต์ ของคนไทยไม่ยอมรับให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมือง และตนยังศึกษาต่อไปว่าเมื่อเปรียบเทียบว่าการให้ผู้หญิงเป็นผู้นำด้านการเมือง ด้านธุรกิจ ด้านวิชาการ ด้านที่กลุ่มตัวอย่างในการสุ่มสำรวจเขายอมรับเรื่องการให้ผู้หญิงเป็นผู้นำในด้านธุรกิจและด้านวิชาการ แต่ด้านการเมือง เป็นด้านที่ผู้หญิงจะได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำน้อยที่สุด 
    
ทีนี้เมื่อดูในฝ่ายบริหาร คณะกรรมการที่สำคัญกำหนดนโยบายชาติ ซึ่งมันควรต้องมีการกำหนดสัดส่วนไปเลย มีผู้หญิงเท่าไหร่ให้ชัดเจน ปรากฏว่าอย่างในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (ตามรัฐธรรมนูญ) ที่จะต้องใช้กับคนไทยทั้งประเทศไปถึง 20 ปี ปรากฏว่าคณะกรรมการชุดใหญ่ไม่มีผู้หญิงเลย อีกเรื่องคือสังคมเราไม่มี Gender Communication ให้คนเข้าใจ สื่อสารมวลชนไม่ได้สร้างความเข้าใจในเรื่องความเสมอภาค สื่อมีการเลือกปฏิบัติ เราจะเห็นภาพชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงมีพฤติกรรมตบตีแย่งสามีกัน จึงควรต้องมีการจัดอบรมสื่อให้มีความเข้าใจเรื่องความเสมอภาคทางเพศมากกว่านี้ด้วย

ผู้หญิงข้ามเพศ-ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HIV ยังเผชิญการถูกตีตรา

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่ากระบวนการทางสังคมที่ลดทอนคุณค่ามนุษย์ผู้หญิงโดยเพศกำเนิด แต่วันนี้เราต้องพูดถึงอีกส่วนหนึ่งด้วยคือผู้หญิงข้ามเพศ ซึ่งกำลังเผชิญการถูกตีตราอย่างหนัก และไม่ได้รับการยอมรับตัวตน ส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติ โดยบริบทมี 4 ประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ประเด็นแรกคือความรู้ความเข้าใจ ตำราเรียนก็ยังคงไปในแนวที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกัน รวมทั้งการเข้าใจความหลากหลายทางเพศ 

ประเด็นที่ 2 กระบวนการทางสังคมอยู่บนฐานความกลัวที่จะทำให้คนเท่ากัน เช่นการที่เกรงว่าถ้าให้สิทธิที่เท่าเทียมกัน ใครจะดูแลลูก สถาบันครอบครัวจะเป็นอย่างไร หรือแม้แต่การทำแท้งที่ปลอดภัย ก็กลัวผู้หญิงจะท้องแล้วไปทำแท้งกัน เป็นความกลัวที่ไม่ได้อยู่บนฐานของความเข้าใจ ประเด็นที่ 3 คือ เรื่องทัศคนติเรื่องเพศในสังคมไทยยังแข็ง มันต้องมีกระบวนการบางอย่างเข้าไปทำให้เกิดความคิดทบทวนอันนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ เช่นเรื่องสรีระ ความแข็งแรง ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องสภาพแวดล้อมทางสังคม ซึ่งหมายรวมถึง กฎหมาย นโยบาย ที่มีการแบ่งแยก เลือกปฏิบัติทางเพศ
    
บ่อยครั้งที่เราเห็นทัศนคติจากบุคคลระดับ Policy Maker อย่างในการชุมนุมทางการเมือง หลายคนใช้วิธีการพูดที่สะท้อนอคติ เช่น “มี ส.ส. ของเราทำตัวเหมือนโสเภณี” และแม้ต่ในผู้หญิงก็มีชนชั้นด้วยกันเอง ผู้หญิงที่เข้าสู่การเมืองระดับาติได้ก็เกี่ยวพันกับต้นตระกูล ไม่ใช่ผู้หญิงทั่วๆ ไปที่จะเข้าสู่การเมืองได้ หรือแม้แต่ระดับท้องถิ่น ผู้หญิงที่เข้าสู่การเมืองได้ก็อาจจะต้องมีความเชื่อมโยงกับผู้ชายที่เคยเป็นนักการเมืองในพื้นที่มาก่อน อาจเป็นภรรยา หรือเครือญาติของนักการเมืองที่เป็นผู้ชาย ซึ่งในงานที่ตนทำก็สนใจเรื่องกติกามรรยาท ในการกำหนดสัดส่วนเพศหญิงโดยกำเนิด ซึ่งตนอยากให้รวมผู้หญิงข้ามเพศเข้าไปในระดับนโยบายด้วย แต่ว่าในเชิงเนื้อหาก็ยังเป็นประเด็นใหญ่มาก อย่างสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การได้รับบริการที่จำเป็นอย่างเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ เช่นการทำแท้ง ซึ่งแม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305 ว่าจะต้องมีการแก้ไข เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่กฎหมายที่ได้แก้ไขออกมาใหม่ก็ยังไม่ให้สิทธิในเรื่องการตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายเต็มที่ เช่นถ้าตั้งครรภ์ยังไม่เกิน 12 สัปดาห์ก็ให้ตัดสินใจทำแท้งได้ แต่ถ้าเกินก็ต้องมีคนอื่นเข้ามาร่วมตัดสินใจ สะท้อนความคิดความเชื้อที่ไม่ได้เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง หรือบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ผู้หญิงข้ามเพศควรได้รับบริการผ่าตัดแปลงเพศ ก็ยังไม่ถูกบรรจุเป็นสิทธิในหลักประกันสุขภาพ 

ถ้าเราจะทำให้สถานภาพผู้หญิงในสังคมไทยได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จริงๆ เราก็อยากแค่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ที่ก้าวข้ามเรื่องเพศไป อย่างประเด็นอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงที่ติดเชื้อ (ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV) ที่ถูกบังคับให้ทำหมัน ถึงแม้ว่าพัฒนาการด้านการแพทย์จะพัฒนาไปถึงขั้นที่ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปก็จะไม่ถ่ายทอดเชื้อให้กับบุคคลอื่น แม้จะมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่สวม ถุงยางอนามัยก็ตาม แต่ความรู้ไปถึงคนบางกลุ่มในสังคมแล้วอย่างแพทย์ พยาบาล ทั้งๆ ที่เป็นงานศึกษาวิจัยที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ชัด แต่ทัศนคติเดิมๆ ก็ยังฝังรากอยู่ ก็เลยไม่อยากให้ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HIV ตั้งครรภ์ หรือถ้าต้องการอยากทำแท้งก็ทำไม่ได้อีก ก็คิดว่าการจัดการกับ 4 ประเด็นที่กล่าวไว้ตอนต้น ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจ การลดความกลัว กังวลของคนในสังคม การปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง รวมทั้งการซ่อมสภาพแวดล้อมให้ผู้หญิงได้รับการคุ้มครองดูแลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายนโยบายต่างๆ ที่ว่ามาเหล่านี้ก็ต้องก็ต้องทำไปพร้อมกันทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท