Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนยื่นหนังสือถึง กมธ.ความมั่นคงฯ เพื่อพิจารณาสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ทางการไทยมีมาตรการคว่ำบาตร ธนาคารเศรษฐกิจเมียนมาและบริษัทวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมา ตัดช่องทางรายได้ซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารพม่า ด้าน 'โรม' ยืนยันพร้อมติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

 

25 ก.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก “The reporters” ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (25 ก.ค.) ณจุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ ผู้แทนพันธมิตรชานมแห่งประเทศไทย (Milk Tea Alliance Thailand) และเครือข่ายประชาชนไทยเพื่อคนพม่า เดินทางมายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เรื่อง ‘ขอให้คณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ พิจารณาสนับสนุนข้อเรียกร้องจาก 240 องค์กรภาคประชาสังคมในเมียนมา และองค์กรระหว่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรธนาคารเศรษฐกิจเมียนมา (MEB)  และ บริษัทวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมา (MOGE)’ โดยวันนี้ รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ และคณะ มารับหนังสือด้วยตัวเอง

ตัวแทนเครือข่ายอ่านแถลงการณ์หลังการยื่นหนังสือ ชี้ปัญหาช่วงที่ผ่านมา แม้ว่านานาชาติจะมีมาตรการคว่ำบาตรธุรกรรมระหว่างประเทศ ธนาคารเมียนมา และบริษัทวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซของรัฐบาลทหารพม่า โดยเฉพาะธนาคาร MEB, และ MOGE อย่างมีประสิทธิภาพ และรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า แม้ว่ายังมีปัญหาว่านานาชาติอาจยังใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่สามารถลดธุรกรรมทางการเงินในการจัดซื้อของกองทัพพม่าลงได้จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่ายังสามารถใช้ธุรกรรมระหว่างประเทศซื้ออาวุธได้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยช่องโหว่ในประเทศที่ยังไม่มีการคว่ำบาตรลักษณะนี้ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศซื้ออาวุธ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย  

ตามที่ปรากฏในรายงานผู้รายงานพิเศษสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเมียนมา ขององค์กรสหประชาชาติว่า ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย อย่างน้อย 5 แห่ง ถูกใช้เป็นทางผ่านในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพพม่า โดยปีงบประมาณ 2565 มีการทำธุรกรรมประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในปี 2566 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ แถลงการณ์มีการกล่าวถึง กลุ่มบริษัท ปตท.ของประเทศไทยที่ลงทุนในกิจการก๊าซธรรมชาติและจ่ายเงินให้บริษัทวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมา (MOGE) ทำให้มีข้อกังวลว่า รายได้ส่วนนี้อาจถูกนำไปซื้ออาวุธทำสงครามกลางเมือง และสังหารประชาชนเมียนมา

จากปัญหาดังกล่าว ทางกลุ่มจึงมีข้อเรียกร้องให้ไทยปฏิบัติตามข้อเสนอของผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเมียนมา ของสหประชาชาติ ให้มีการคว่ำบาตรกองทัพพม่าในการเข้าถึงธุรกรรมระหว่างประเทศ และตัดการเข้าถึงรายได้จากก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลทหารพม่า เรียกร้องให้อาเซียนตรวจสอบนโยบายของประเทศไทยที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารพม่า และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบธนาคารพาณิชย์โดยละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้ออาวุธดังกล่าว ตามโมเดลของประเทศสิงคโปร์ที่เคยทำและประสบผลสำเร็จ

บรรยากาศการยื่นหนังสือ (ขวา) ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ และ (ซ้าย) รังสิมันต์ โรม (ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)

แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ธนาคารไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ยุติการทำธุรกรรมทั้งหมดอันเป็นการสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า รวมทั้งเรียกร้องให้บริษัท ปตท. ยุติการมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยการปิดกั้นรายได้ก๊าซธรรมชาติของการรัฐบาลทหารพม่าตามเสียงเรียกร้องจากภาคประชาสังคมเมียนมา และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา (National Unity Government of Myanmar)

แถลงการณ์ระบุท้ายสุดว่า ขอให้ผู้ถือหุ้นของ ปตท.พิจารณาถอนหุ้นออกจากธุรกิจของ ปตท. อย่างที่กองทุนความมั่งคั่งนอร์เวย์ และ Robeco Corp. เคยทำมาแล้ว เนื่องจากมีข้อสังเกตว่ากลุ่มบริษัทของ ปตท. ทำธุรกิจกับบริษัทวิสาหกิจของรัฐบาลทหารพม่า และรายได้ดังกล่าวอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ต่อมา รังสิมันต์ โรม คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวว่า ตอนนี้มีหลายฝ่ายที่กำลังติดตามปัญหาและหาทางออกร่วมกันในเรื่องนี้ รวมถึง สส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อนุกรรมาธิการฯ ที่ดูแลเรื่อง MOGE หรือ Myanmar Oil and Gas Enterprise และในส่วนของ กมธ.ความมั่นคงฯ ได้มีการติดตามและพยายามแก้ไขปัญหาจากกรณีที่มีรายงานของทอม แอนดรูวส์ ผู้เสนอรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งระบุว่าระบบธนาคารไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดหา-ซื้ออาวุธให้กองทัพพม่า  และได้มีการเชิญทอม แอนดรูวส์ และธนาคารไทย มาร่วมประชุม กมธ.ความมั่นคง เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และหารือแนวทางในแก้ไขปัญหาเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา  

โรม ระบุต่อว่า เบื้องต้น คิดว่าได้รับสัญญาณที่ค่อนข้างบวกในเรื่องนี้ เพราะว่าธนาคารไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน และทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงในช่วงการตอบกระทู้ถามสดในรัฐสภาฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (18 ส.ค.) และเมื่อวาน (24 ส.ค.) มีการประชุมกัน ซึ่งกำลังรอผลการประชุมว่าจะมีหลักเกณฑ์เป็นรูปธรรมอย่างไรในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

"ส่วนจุดยืนของผมเองเป็นประธานกรรมาธิการความมั่นคงฯ เราไม่ต้องการเห็นสิ่งที่เรียกว่า Blood Money ไม่ต้องการเห็นการใช้ทรัพยากรของประเทศไทย ไม่ต้องการเห็นระบบธนาคารของประเทศไทย เกี่ยวข้องที่นำไปสู่การซื้อขายอาวุธฆ่าล้างประชาชนในเมียนมา ผมคิดว่านี่ไม่ใช่คุณค่าที่ประชาชนไทยสามารถยอมรับได้ ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับฆ่าล้างใคร" โรม กล่าวถึงจุดยืน

ประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวด้วยว่า วันที่ 2 ส.ค.นี้ จะมีการเดินทางไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และปลายเดือน ส.ค. 2567 จะมีการเดินทางไปที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดตามอย่างเป็นรูปธรรมให้ออกมาอย่างชัดเจนให้ได้ และจะนำหนังสือที่ภาคประชาสังคมนำมายื่นไปแจ้งสมาชิก กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ให้ทราบอีกครั้ง

รังสิมันต์ โรม (ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร))
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net