Skip to main content
sharethis

UN ร่วมประชุม กมธ.ความมั่นคงฯ หลังเผยแพร่รายงาน 5 ธนาคารไทยถูกใช้เป็นเส้นทางผ่านซื้ออาวุธให้กองทัพพม่าใช้สังหาร ปชช. พร้อมเสนอไทยต้องมีจุดยืนชัดเจน ยุติอำนวยความสะดวกด้านธุรกรรม ยกโมเดลสิงคโปร์ ตรวจสอบ ลค.สถาบันการเงินโดยละเอียด ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง นิติบัญญัติ-รัฐบาล

 

13 ก.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก รังสิมันต์ โรม ถ่ายทอดสดออนไลน์เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา อาคารรัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ  ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฎิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โดยมี รังสิมันต์ โรม เป็นประธาน ในวาระสำคัญกรณีรายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ด้านสิทธิมนุษยชนพม่า ซึ่งนำมาสู่ข้อสังเกตว่า ในช่วงปี 2565-2566 ระบบธนาคารไทยกำลังถูกใช้เป็นทางผ่าน เพื่อสนับสนุนการสังหารหมู่ และสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ กมธ.ความมั่นคงฯ เชิญ ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนเมียนมา จากองค์การสหประชาชาติ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจง เพื่อหามาตรการป้องกันและทางออกร่วมกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

เบื้องต้น ทอม แอนดรูวส์ ได้สรุปเนื้อหารายงานว่า สิ่งที่น่ากังวลคือยอดทำธุรกรรมโดยรัฐบาลทหารเมียนมา ที่มีการทำผ่าน 5 สถาบันทางการเงินของไทย เมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2565 เป็น 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2566 หรือ 2 เท่า โดยการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น อาจถูกใช้จ่ายทั้งในการสนับสนุนซื้อเฮลิคอปเตอร์จู่โจม เครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินขนาดเล็ก ซึ่งยุทโธปกรณ์เหล่านี้ถูกนำไปใช้โจมตีเป้าหมายของพลเรือน 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดย ‘มูลนิธิเสมสิกขาลัย’ ซึ่งทำงานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ระบุด้วยว่า นับตั้งแต่การทำรัฐประหารปี 1 ก.พ. 2564 จนถึง 1 ม.ค. 2567 กองทัพพม่าใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศแบบไม่เลือกเป้าหมาย จำนวนรวมกว่า 1,717 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต 940 คน และได้รับบาดเจ็บ 900 คน นอกจากนี้ การโจมตีทางอากาศบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประชาชนชาวพม่าและชาติพันธุ์ต้องอพยพหนีภัยเข้ามาตามตะเข็บชายแดนอีกด้วย

ผู้รายงานพิเศษของ UN กล่าวยืนยันว่ายังไม่พบหลักฐานที่สามารถชี้ชัดได้ว่ารัฐบาลไทยสนับสนุน จุดมุ่งหมาย หรือมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมเหล่านี้โดยกองทัพเมียนมา อย่างไรก็ตาม เขาเข้าใจว่าธนาคารในประเทศไทยต่างมีการรับรู้ว่าถึงลักษณะการทำธุรกรรมที่พวกเขาอำนวยความสะดวก รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าการอำนวยความสะดวกที่ว่า เป็นการอำนวยความสะดวกให้กระทรวงกลาโหมของรัฐบาลทหารพม่าในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จะได้รับผลประโยชน์จากการทำธุรกรรมครั้งนี้

แอนดรูวส์ ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาอาจใช้มาตรการที่ซับซ้อน เพื่อจะหลบเลี่ยงการตรวจสอบในเรื่องนี้ เช่น การตั้งบริษัทนายหน้าขึ้นมาเพื่อประสานงานกับธนาคาร เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาทราบดีว่าเขาอยู่ในลิสต์ของ FATF (คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน) เขาคิดว่าธนาคารในประเทศไทยอาจไม่ได้รับทราบ หรือตระหนักเกี่ยวกับลักษณะของการทำธุรกรรมนี้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือเราจะทำอะไรได้ และอนาคตจะทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกได้

(ขวา) ทอม แอนดรูวส์ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก รังสิมันต์ โรม)

บทเรียนจากสิงคโปร์ ลดการทำธุรกรรมกองทัพพม่า

ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนเมียนมาแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า สิงคโปร์เป็นอีก 1 ประเทศที่ถูกอ้างถึงในรายงานฉบับก่อนหน้านี้เมื่อปี 2566 แต่หลังจากมีการเผยแพร่รายงานมาแล้ว 1 ปี รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการสอบสวนอย่างละเอียด เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพพม่า และผลจากการสอบสวนทำให้มีการซื้อขายอาวุธจากบริษัทที่ลงทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ โอนผ่านธนาคารนานาชาติลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์

จากข้อมูลในรายงานของ UN เห็นชัดเจนว่า ธนาคารของสิงคโปร์เคยอำนวยความสะดวกให้กับรัฐบาลทหารพม่า ถึง 260 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของการซื้อของรัฐบาลทหารพม่า แต่หลังจากการตรวจสอบของสิงคโปร์ ทำให้การจัดซื้อไปยังรัฐบาลทหารเมียนมาลดลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแอนดรูว์ เน้นย้ำว่าบทเรียนจากสิงคโปร์ เป็นตัวอย่างที่ดีในการลดทอนการสนับสนุนธุรกรรมทางเศรษฐกิจของกองทัพพม่า

ประเทศไทยต้องชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนการซื้อ-ขายอาวุธของเมียนมา

แอนดรูวส์ กล่าวว่า เขามีข้อเสนอแนะ 3 ข้อถึงรัฐบาลไทย ประการแรก รัฐบาลไทย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องแถลงจุดยืนที่ชัดเจนในการคัดค้านต่อต้านการที่จะให้การสนับสนุน เอื้ออำนวยธุรกรรมทางเศรษฐกิจ และการซื้อขายอาวุธให้กองทัพพม่า ซึ่งเป็นไปตามหลักการมติสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปี 2564 ที่ระบุว่าจะต้องไม่สนับสนุนการซื้อขาย และการหมุนเวียนอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศเมียนมา และสอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยเฉพาะข้อที่ 1 ที่ระบุว่า จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สืบสวนอย่างละเอียด

แอนดรูวส์ กล่าวต่อว่า ประการที่สองขอเสนอแนะรัฐบาลไทยจัดทำการสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียดรอบคอบ เหมือนกับที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำเมื่อปีที่แล้ว และเขามีกำลังใจหลังเห็นกระทรวงการต่างประเทศที่ระบุว่าจะตรวจสอบรายงานของเขาฉบับนี้ และอาจจะเริ่มต้นจากการตรวจสอบรายชื่อของธนาคารในประเทศไทย หรือว่าบริษัทที่ตั้งในประเทศไทยดังที่ปรากฏในรายงาน และขอให้ กมธ.ส่งสัญญาณในการสนับสนุนรัฐบาลไทยในการสืบสวนสอบสวนรายงานของเขาฉบับนี้

ยุติการอำนวยความสะดวกทางธุรกรรมให้กองทัพพม่า

ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชน เสนอว่า รัฐบาลไทยเรียกร้องไปยังธนาคารของประเทศไทยให้ยุติการเอื้ออำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมให้ทางการทหารพม่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารของรัฐบาลทหารพม่าเป็นผู้ควบคุม ซึ่งจะเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะยุติและการป้องกันอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

แอนดรูวส์ กล่าวว่า ข่าวดีที่จะแจ้งคือตอนนี้ประชาคมโลกได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อโดดเดี่ยว และลดทอนศักยภาพของกองทัพพม่าในการโจมตีประชาชน ส่งผลให้ระบบการธนาคารนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับการซื้ออาวุธของกองทัพพม่า มีจำนวนลดลงถึง 1 ใน 3 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากที่มีมูลค่า 377 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่เหลือเพียง 250 ล้านเหรีญสหรัฐฯ ในปีงบประมาณปัจจุบัน แม้ว่ามีหลายอย่างที่ต้องทำต่อ แต่เขาขอกล่าวยินดีที่เห็น กต.ไทยต้องการตรวจสอบรายงานของเขา และความพยายามของรัฐบาล และธนาคารไทย เชื่อว่าจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญที่จะนำไปสู่การต่อยอดจนบรรลุผล และเขาจะจับตาดูและแบ่งปันข้อมูลข้อเท็จจริงต่อไป

ธปท. รับร่วมมือกับ ปปง. กำกับสถาบันการเงิน ไม่เกี่ยวข้องซื้อ-ขายอาวุธให้กองทัพพม่า

รังสิมันต์ กล่าวว่า เขาไม่ได้ประชุมเพื่อต่อว่าใคร แต่อยากชวนมาหาทางออกร่วมกัน และเชื่อว่าการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและอย่างสร้างสรรค์จะแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันต่อไปในอนาคตโดยผ่านความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ด้านตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของ Financial Action Task Force (FATF) และมาตรการของสำนักงาน ปปง. มาอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันการเงินจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเข้มข้น เช่นการตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่อยู่รายชื่อคว่ำบาตร (Sanction List) โดยพิจารณาจากผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้มีอำนาจลงนามต่างๆ นอกจากนี้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงก็ต้องทบทวนข้อมูลลูกค้าทุกปี การอนุมัติการสร้างความสัมพันธ์ของลูกค้าต้องเป็นระดับผู้บริหาร และหากมีธุรกรรมที่น่าสงสัยต้องรายงานต่อ ปปง..

"ธปท.พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ปปง. ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย" ธปท. ระบุ และกล่าวว่า ธปท. และ ป.ป.ง. ได้ให้สถาบันทางการเงินสอบทานให้เป็นไปตามกระบวนการอย่างเคร่งครัดและอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล และหากว่าไม่เป็นไปตามเกณฑ์ก็ต้องดำเนินการต่อไป

ตัวแทน ธปท. กล่าวด้วยว่า ถ้ามองย้อนกลับไปแล้วหลักเกณฑ์มีช่องโหว่ หรือไม่เพียงพอ ทาง ธปท. และ ปปง.จะมีมาตรการเพิ่มเติม และกรณีที่แอนดรูว์ กล่าวและน่าจะเป็นประโยชน์คือฐานข้อมูลของบริษัทต่างๆ ที่จะทำให้ธนาคารเข้าไปตรวจสอบได้

ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก รังสิมันต์ โรม)

สมาคมธนาคารไทย ยืนยันไม่ยุ่งเกี่ยวทางการทหาร

พงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข ผู้แทนของประธานสมาคมธนาคารไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นสถาบันทางการเงินไทยจำนวน 15 แห่ง ให้ความเห็นต่อรายงานว่ามีข้อกล่าวหาถึงธนาคารไทยที่รุนแรง ซึ่งระบุว่าธนาคารไทยเป็นผู้ให้บริการทางการเงินต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ ซึ่งรายงานไม่มีหลักฐานว่า ธนาคารที่ระบุในรายงานรับรู้ว่าผู้รับประโยชน์สุดท้ายคือรัฐบาลพม่า

สมาคมฯ ขอยืนยันว่าไม่สนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ หรือการสนับสนุนทางการทหารไม่ว่ากองทัพใดก็ตาม เพื่อมาละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นฉันทามติอยู่แล้วว่าสมาคมฯ ไม่ดำเนินการในลักษณะนี้

พงษ์สิทธิ์ กล่าวต่อว่า สมาคมกำลังพิจารณาว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบเพิ่มเติม และเข้าใจว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะพยายามหลบหลีก ไม่มาตรงๆ เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินในไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ‘นอมินี’ (ตัวแทน) การเปิดบัญชีในลักษณะบุคคลธรรมดาทั่วไป โดยปกติถ้าติดคว่ำบาตร หรืออื่นๆ ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการที่ธนาคารตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ถ้ามีนอกเหนือจากนั้น เขาคิดว่าธนาคารต้องให้ความร่วมมือ

รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า ถ้าเราดูแค่พาดหัวมันค่อนข้างรุนแรง แต่จริงๆ แล้วทุกคนเห็นตรงกันว่า ธนาคารไทยไม่มีเจตนาที่จะจัดเตรียม หรือเป็นทางผ่านธุรกรรมทางการเงิน เพื่อนำไปจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพพม่า แต่ตอนนี้เราทราบแล้วว่ามันน่าจะมีหลบเลี่ยง และเราต้องแก้ไขปัญหาต่อไป

ปปง.พร้อมให้ความร่วมมือ ยืนยันภาคธนาคารไม่มีใครอยากตกประเมิน 'FATF'

ด้าน ปปง. กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของธนาคารต่อมาตรการปราบปรามการฟอกเงิน โดยปกติแล้วธนาคารจะรับลูกค้าต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงลูกค้า ประเมินความเสี่ยงของตัวลูกค้า วิธีการประเมินความเสี่ยงลูกค้า ที่ ป.ป.ง. กำหนดไว้ คือให้นำพื้นที่หรือประเทศของลูกค้ามาประเมินความเสี่ยงด้วยว่าประเทศดังกล่าวมีความเสี่ยงเรื่องการฟอกเงินหรือไม่ โดยพื้นที่ไหนที่มีความเสี่ยงสำนักงาน ปปง. จะมีประกาศ หรือว่าถ้าเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางเงินระหว่างประเทศ อย่างองค์กร 'Financial Action Task Force' (FATF) ประเทศไทยก็ต้องอยู่ในมาตรการตรงนี้ด้วย ถ้าประเทศที่ FATF ประกาศว่า มาตรการการฟอกเงินไม่เพียงพอ อันนี้ธนาคารเองต้องนำมาเป็นปัจจัยกำหนดความเสี่ยงลูกค้า

ปปง. ระบุต่อว่า องค์กร FATF ได้ประกาศแล้วเมื่อปีที่ผ่านมาให้ประเทศเมียนมา มีมาตรฐานการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่เพียงพอ แต่ให้มีมาตรการตรวจสอบลูกค้าอย่างเข้มข้น แต่ว่า FATF ระบุว่า ไม่ต้องมีมาตรการโต้ตอบ แต่ต้องมีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น (Enhanced Due Diligence - EDD) และให้ยกเว้นสำหรับการช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม ดังนั้น มาตรการของ FATF ไม่ได้ห้ามทำธุรกรรมกับเมียนมา แต่ถ้าจะทำธุรกรรมต้องมีมาตรการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง

"สำนักงาน ปปง.ออกประกาศให้สถาบันการเงินทราบว่า ประเทศเมียนมามีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงิน ธนาคารจะรับลูกค้า หรือทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับประเทศเมียนมา ต้องทำ EDD ทุกรายการ" ปปง. กล่าว

ป.ป.ง. กล่าวว่า ในปี 2570 ประเทศไทยจะเข้ารับการประเมิน มาตรฐานการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจาก FATF โดยทุกคนทราบว่า FATF ให้ความสำคัญ และมีการแจ้งให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามมาตรการตรวจสอบลูกค้าจากเมียนมาอย่างเข้มข้น ซึ่งภาคธนาคาร เราไม่อยากให้ตกประเมินแน่นอน เพราะว่าจะประสบปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงินติดตามมา ดังนั้น ธนาคารดำเนินการทำตามกฎหมายฟอกเงิน และมาตรฐานของ FATF มาโดยตลอด เพราะทราบอยู่แล้วว่าจะต้องได้รับการตรวจสอบในปี 2570

'พรรณิการ์' ชงบทเรียนสิงคโปร์ลดการใช้ธุรกรรมซื้อขายอาวุธให้กองทัพพม่า

พรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษา กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวว่า ผลของรายงานจากแอนดรูว์ นำมาสู่การตรวจสอบธุรกรรมในสิงคโปร์ และมองว่าสามารถใช้โมเดลจากสิงคโปร์ มาเป็นบทเรียนให้ประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง

พรรณิการ์ กล่าวว่า ในรายงานเมื่อมีการลิสต์รายชื่อธนาคาร และบริษัทของสิงค์โปร์ ทางการสิงคโปร์ได้ให้ธนาคารจัดทำการตรวจสอบอย่างละเอียด (Due Diligence) มีการทำงานเชิงรุก เพื่อตรวจสอบว่าระบบธนาคารถูกใช้เพื่อซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ทำสงครามเมียนมาหรือไม่ ทำให้ลดธุรกรรมการเงินลงไปได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จาก 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ที่ปรึกษา กมธ.ความมั่นคงฯ กล่าวต่อว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ 254 บริษัทที่ถูกลิสต์เมื่อปีที่แล้ว (2566) อาจย้ายมาเป็นลูกค้าธนาคารของไทย เพราะว่าตัวเลขการทำธุรกรรมของไทยจาก 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 120 ดอลลาร์สหรัฐ เราจะตรวจสอบเรื่องนี้ได้หรือไม่

พรรณิการ์ วานิช (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก รังสิมันต์ โรม)

พรรณิการ์ ระบุว่า ตอนนี้มีบริษัทอีก 2 แห่งที่จดทะเบียนในไทย สัญชาติไทย ได้แก่ บริษัท ซีบี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัดและ บริษัท ตะวัน-ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัด ที่จัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงเติมเครื่องบินรบของกองทัพพม่า และมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าทั้ง 2 บริษัทนี้ใช้บริการธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย ในการทำธุรกรรม คำถามคือทั้ง 2 ธนาคารจะมีการดำเนินการต่อทั้ง 2 บริษัท อย่างไร 

ที่ปรึกษา กมธ.ความมั่นคงฯ ยกตัวอย่างกรณี เชฟรอน และโททาลเอเนอร์ยีส์ (Total Enregies) ได้มีการถอนการลงทุนในแท่นขุดเจาะน้ำมันโครงการ 'ยานาดา' อ่าวเมาะตะมะ เมื่อช่วงก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีจรรยาบรรณทางธุรกิจที่ชัดเจนว่าไม่สามารถทำธุรกรรมกับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้ คำถามคือทุกธนาคารในประเทศไทยมีจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) ที่ชัดเจนในแบบเดียวกันหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นท่านย่อมมีพันธะผูกพันกับผู้ถือหุ้นทันที

พรรณิการ์ อยากฝากถึง กต.ว่า แม้ว่ารายงานของทอม แอนดรูว์ อาจไม่มีพันธะผูกพันต่อประเทศไทย แต่มติสมัชชาสหประชาชาติที่ออกเมื่อปี 2564 มีผลต่อชาติที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศ ดังนั้น ไทยมีพันธะในการปฏิบัติตามมตินี้ของสหประชาชาติ และขอเป็นประโยคสุดท้ายว่า เช่นเดียวกับที่เราไม่อยากเห็นระบบธนาคารของเราถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนสงครามและการสังหารหมู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจุดยืนนี้เราเห็นตรงกันหมดไม่มีใครเห็นต่าง

"เราคงไม่พยายามจะกล่าวหารายงานของทอม แอนดรูวส์ เป็นเรื่องเท็จ เพราะฉะนั้น ณ วันนี้รัฐบาลไทย และแบงก์ไทยรู้แล้ว ปัญหาที่เราต้องการตอบในที่นี้ก็คือ เมื่อรู้แล้วท่านทำอย่างไร สามารถจัดการได้อย่างที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำได้ในช่วงปีที่ผ่านมา อันส่งผลอย่างมากในการพยายามสร้างสันติภาพ และยุติการสังหารในเมียนมา เราพร้อมที่จะทำหรือไม่ในฐานะชาติที่ดีของสหประชาชาติ" พรรณิการ์ กล่าว

เสนอ กมธ.ทำงานร่วมกับ รบ.ไทย เพื่อสร้างนโยบายที่ชัดเจน

ประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ กล่าวสรุปว่า ในรายงานฉบับนี้เขามองเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้ปรับปรุงในเรื่องของระบบต่างๆ ภายในประเทศให้ดีขึ้น เชื่อว่าจากที่ทุกท่านได้แสดงจุดยืนคือ จุดยืนเราตรงกันในการทำให้ประเทศไทยไม่ให้เป็นทางผ่านการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนในเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา 

(ขวา) รังสิมันต์ โรม (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก รังสิมันต์ โรม)

ประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ ระบุว่า อย่างน้อยเป็นเรื่องที่ดีว่าไม่มีหลักฐานที่ระบุว่า ธนาคารไทยมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนความรุนแรงในพม่า และไม่มีข้อโต้แย้งว่า ไม่มีธุรกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในเมียนมา หมายความว่าเรารับรายงานฉบับนี้ 

รังสิมันต์ กล่าวว่า ต่อไปนั้นคือมาตรการ หรือแผนปฏิบัติที่ต้องเกิดขึ้น 1. ส่วนที่ทางธนาคารทำได้ เลขาธิการจากสมาคมธนาคารไทยว่าจะมีการหารือเพื่อหาทางแก้ไขเฉพาะหน้า และ 2. ต้องตั้งความหวังที่ ปปง. และ ธปท. ว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่เป็นรูปธรรม เราไม่ควรต้องรอรายงานอย่างเดียว เพราะสิ่งที่เราอยากเห็นคือระบบธนาคารที่โปร่งใส และไม่ถูกใช้เพื่อการส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชน

รังสิมันต์ กล่าวว่า เขาหวังว่าต่อไปจะได้รับฟังจุดยืนของรัฐบาลไทย จะได้มีการสร้างความชัดเจนในเรื่องของนโยบายในเรื่องนี้ต่อไป เพื่อไม่ให้ใช้ธุรกรรมของธนาคารไทยใช้ก่อความรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้าน

สืบเนื่องจากข้อเสนอของ ทอม แอนดรูวส์ เสนอให้ทางกรรมาธิการความมั่นคงฯ ทำงานกับรัฐบาลเพื่อให้มีความชัดเจนทางด้านนโยบายที่ไม่คลุมเครืออีกต่อไปที่จะไม่มีจุดยืนสนับสนุนเรื่องนี้ เหมือนกับที่สิงคโปร์ทำ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ 

รังสิมันต์ กล่าวยืนยันว่าเขาพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย ในลักษณะที่เป็นการทำงานเชิงรุก และมองว่าการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและนิติบัญญัติ จะเกิดประโยชน์อย่างมากในการแก้ไขปัญหาทั้งในวันนี้ และป้องกันปัญหาในอนาคต หลังจากนี้ ให้เวลาในการตรวจสอบต่อไป และในระหว่างที่คุยขอยืนยันว่า ในส่วนของ ปปง. และ ธปท. จะรอคำตอบภายใน 30 วันนับจากวันนี้ และรวมถึง กต.ด้วย 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net