Skip to main content
sharethis

กต.เผยเตรียมตั้งคณะทำงานตรวจสอบธุรกรรมการเงินไทย-เมียนมา ระหว่าง ปปง.และ ธปท. เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า และจะขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนเมียนมา ของ UN

 

25 ก.ค. 2567 เว็บไซต์ เบนาร์นิวส์ และเรดิโอฟรีเอเชีย รายงานวันนี้ (25 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศ หรือ กต. เปิดเผยว่า ไทยจะตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบคัดกรองการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา

นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับว่า เมื่อ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัด กต. ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการป้องกันการสนับสนุนด้านการเงินในเมียนมา

“ที่ประชุมหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานและสถาบันการเงินไทยในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่อาจอำนวยความสะดวกให้กับการจัดหาอาวุธและยุทธภัณฑ์ให้รัฐบาลทหารเมียนมา รวมทั้งแนวทางการดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อให้การตรวจสอบธุรกรรมดังกล่าวเป็นไปอย่างรัดกุมมากขึ้น” นิกรเดช กล่าว

การประชุมของ กต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ไทย กรมศุลกากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สืบเนื่องจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยรายงานในปีนี้ที่ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการทางการเงินซึ่งสนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและยุทธภัณฑ์ของบริษัทจนทะเบียนในประเทศไทยกับรัฐบาลทหารเมียนมา

นิกรเดช ระบุว่า เพื่อสร้างมาตรการป้องกัน และตรวจสอบไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไทยจึงจะดำเนินการหลายอย่างหลังจากนี้

“จะจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Task Force) ระหว่าง ปปง. และ ธปท. เพื่อตรวจสอบธุรกรรมและสอบทานมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่า สถาบันการเงินไทยมีมาตรการในการดำเนินการตามข้อกฎหมายที่รัดกุมจริง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ทั้งนี้ ไทยจะมีหนังสือถึงผู้เสนอรายงานพิเศษฯ ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบต่อไป” โฆษก กต. เปิดเผย

การประกาศตั้งคณะทำงานเกิดขึ้นหลังจาก ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ของสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานเมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา ชื่อว่า "Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar" ของ OHCHR โดยบางส่วนในรายงานระบุว่า ในปี 2565 ธนาคารพาณิชย์ไทยถูกใช้เป็นเส้นทางการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังเมียนมา จำนวนกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือกว่า 2 พันล้านบาท) และเพิ่มเป็น 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4.40 พันล้านบาท) ในปี 2566

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้ตั้งกระทู้สดถึงมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย โดยมาริษ ตอบยืนยันจุดยืนว่าไทยไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเพื่อนบ้าน และไม่สนับสนุนให้มีการกระทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (25 ก.ค.) รังสิมันต์ โรม ได้กล่าวระหว่างรับหนังสือจากกลุ่มพันธมิตรชานมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายประชาชนเพื่อชาวพม่า ด้วยว่า เขามองว่าตอนนี้มีสัญญาณบวกจากหลายฝ่าย อย่างน้อยทางธนาคารไทยไม่มีส่วนรู้เห็นในการจัดซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ของกองทัพพม่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมา นอกจากนี้ในวันที่ 2 ส.ค. 2567 กมธ.ความมั่นคงฯ จะเดินทางไปที่ ธปท. และปลายเดือน ส.ค. เดินทางไปประชุมกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net