Skip to main content
sharethis

กมธ.ความมั่นคงฯ แถลงผลการประชุมร่วมกับผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิฯ UN รายงานระบบธนาคารไทยถูกใช้ซื้ออาวุธให้ทัพพม่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาสั้น กลาง ยาว เรื่องการระบบธนาคารไทยเอี่ยวซื้ออาวุธพม่า แม้ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน

 

11 ก.ค. 2567 ยูทูบ "The reporters" ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (11 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ห้องแถลงข่าว อาคารรัฐสภา ชั้น 1 แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย รังสิมันต์ โรม ประธาน กมธ. แถลงต่อสื่อมวลชนหลังประชุมกับ ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาขององค์การสหประชาชาติ กรณีรายงานกรณีสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)  "Banking on the Death Trade : How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar" โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ธนาคารในประเทศไทย 5 แห่งเป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลักให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเรื่องของรายงานที่ทอม แอนดรูว์ที่จัดทำขึ้นมา โดยรายงานดังกล่าวเป็นที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะว่าได้แสดงความเชื่อมโยงของธนาคารประเทศไทย เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธต่างๆ ที่ใช้ในการเข่นฆ่าประชาชนชาวเมียนมา เป็นความรุนแรงที่มีส่วนสำคัญต่อความขัดแย้งในเมียนมา ทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพเข้ามาที่ประเทศไทย และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ผลกระทบดังกล่าวทำให้ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ไม่สามารถนิ่งนอนใจ และเชิญ ทอม แอนดรูว์ เพื่อมาประชุม รวมถึง กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารซึ่งปรากฏชื่อในรายงานของทอม แอนดรูว์

ทุกฝ่ายพูดตรงกัน ต้องแก้ปัญหา

โรม ระบุว่า การพูดคุยใช้เวลาตั้งแต่ 9.30-13.00 น. เรายังได้มีการสอบถามหลากหลายคำถาม เช่น ก่อนที่จะมีรายงานฉบับล่าสุด เมื่อปี 2566 ได้มีการเผยแพร่รายงานฉบับนี้มาแล้ว 1 ครั้ง และประเทศไทยมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร เพราะผลของรายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่ามีบริษัท 254 บริษัทเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา แม้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมมากที่สุด แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมบางอย่าง ที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในเมียนมา

"ทุกฝ่ายทั้งภาคส่วนของธนาคาร ภาคส่วนรัฐ อย่างกระทรวงต่างประเทศ และ ปปง. เขาพูดตรงกันว่าไม่อยากให้ระบบธนาคารของเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่จะนำไปสู่การซื้ออาวุธ ซึ่งแน่นอนว่าเรายังไม่ได้มาตรการที่ชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร แต่วันนี้เรามีคำสัญญาจากทุกฝ่ายว่าจะมีมาตรการสั้น กลาง ยาว เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหานี้ต่อไป" รังสิมันต์ โรม กล่าว

โรม กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือการพูดคุยต่อรายงานจัดทำโดย OHCHR ครั้งนี้ไม่มีผู้โต้แย้งเรื่องความถูกต้องของรายงานฉบับดังกล่าว หมายความว่า เราอาจสามารถอนุมานได้ว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในฉบับนี้เป็นรายงานที่ถูกต้อง และจะนำไปสู่การต่อยอดการแก้ไขปัญหาต่อไป รวมถึงข้อเสนอให้ศึกษาจากโมเดลของสิงคโปร์ในการแก้ไขปัญหากรณีนี้ด้วย

โรม ระบุต่อว่า ภาพรวมทั้งหมดคงต้องติดตามกันต่อไป ในมาตรการที่มีความชัดเจน ในการแจ้งไปยัง ปปง. ธปท. สมาคมธนาคารไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ว่าจะต้องมีการรายงานกลับมาที่ กมธ.

โรม กล่าวด้วยว่า ธุรกรรมของธนาคารไทย โดยเฉพาะ ธนาคารทหารไทยธนชาติ (MTB) พบว่ามีบัญชีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายอาวุธต่างๆ ของกองทัพพม่าที่ยังแอ็กทีฟอยู่ แม้ว่าการทำธุรกรรมจะไม่ได้เป็นเงินจำนวนมาก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เงินเหล่านั้นถูกเอากองทัพพม่าเอาไปใช้ซื้ออาวุธเข่นฆ่าประชาชน ซึ่งเป็นเรื่อง กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ รับไม่ได้

ทอม แอนดรูว์ ที่มาร่วมประชุมวันนี้กล่าวชื่นชมว่า การประชุมวันนี้ถือเป็นการประชุมที่สำคัญ และเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหา เพราะมีข้อเสนอที่สามารถจับต้องได้ มีแผนปฏิบัติ และกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้คือการมีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนเช่นกัน” ทอม แอนดรูว์ กล่าว 

ผลวาระการประชุม

เว็บไซต์ รัฐสภา รายงานวันนี้ (11 ก.ค.) ระบุถึงผลการประชุมระหว่าง กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ มีมติดังนี้ 

1. คณะ กมธ.มีความกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลและสถาบันทางการเงินของไทย ต่อรายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีมาตรการตรวจสอบที่ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นท่าทีที่ตรงกันข้ามกับมาตรการตรวจสอบเชิงรุกและการกำกับดูแลของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยสิ้นเชิง

2. คณะ กมธ. เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์  ทอม แอนดูว์ส หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการตรวจสอบเชิงรุกและแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้

3. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และผู้เกี่ยวข้องพิจารณาตรวจสอบโดยละเอียดกับ 254 บริษัท ที่ปรากฏในรายงานพิเศษฉบับดังกล่าว พร้อมด้วยอีก 2 บริษัท ที่ปรากฏชื่อในการขายน้ำมันให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อใช้กับเครื่องบินรบ โดยให้ขอรายงานความคืบหน้ากลับมาภายใน 30 วัน

4. ขอให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พิจารณามาตรการที่สามารถดำเนินการได้เพิ่มเติมร่วมกับการพิจารณาข้อห่วงใยของ คณะ กมธ. พร้อมรายงานความคืบหน้ากลับมาภายใน 30 วัน 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net