Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

6 ตุลา, ปราบเสื้อแดงปี 53, ถีบลงเขาเผาลงถังแดง, ตากใบ, การซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหาร, ตากใบ-กรือเซะ, ฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด มีสาเหตุการฆ่าที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ผู้กำหนดนโยบาย-ผู้สั่งการล้วนไม่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของประชาชน มองไม่เห็นว่าคนที่ตายก็คือคน ที่มีสิทธิในชีวิต มีสิทธิตามกฎหมาย ต่อให้พวกเขาทำผิดจริงตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวหา

พวกเขาก็สมควรได้รับความยุติธรรมตามกระบวนการตามกฎหมาย (due process)

ไม่มีประชาชนคนใดหรือฝ่ายใดสมควรต้องจบชีวิตลงด้วยการถูกซ้อมทรมาน อุ้มหาย หรือสังหารหมู่

หากจะมีการวิสามัญฆาตกรรม ก็ต้องเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง กำลังตกอยู่ในอันตรายเท่านั้น เป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อหยุดความรุนแรงเท่านั้น แต่ประเทศนี้ การวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นรายวัน และเมื่อไรก็ตามที่ผู้มีอำนาจเปิดไฟเขียวให้สังหารได้ การวิสามัญฆาตกรรมก็จะยกระดับเป็นการสังหารหมู่ไปในที่สุด

สิ่งที่เหตุการณ์ข้างต้นเหมือนกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ อภิสิทธิ์ที่จะลอยนวลพ้นผิด (impunity)

เมื่อประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ไม่มีใครต้องรับผิดแม้แต่กรณีเดียว การตัดสินใจใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับศัตรูของรัฐจึงมักเกิดขึ้นง่ายมาก เพราะผู้มีอำนาจมักเชื่อว่าตนมีอภิสิทธิ์ที่จะไม่ต้องรับผิดใดๆ ระบบจะปกป้องตนเอง จะต้องช่วยกันปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ “ทำเพื่อบ้านเมือง” หากปล่อยให้มีการเอาผิด แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ก็จะทำให้ระบบสั่นคลอนในที่สุด และจะกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีส่งผลต่อขวัญกำลังใจของคนทำงาน ส่งผลต่ออำนาจของพวกเขาในที่สุด

สิ่งที่น่าขำแถมขมขื่นก็คือหลังรัฐประหาร 2549 มีความพยายามที่จะเอาผิดทักษิณ ชินวัตร กรณี ตากใบ-กรือเซะ, ฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด เพื่อเป็นข้ออ้างสนับสนุนการรัฐประหาร แต่ทั้งหมดเป็นเพียงการแสดงเพราะบรรดาผู้ก่อการรัฐประหารก็ไม่ต้องการให้มีการเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลให้ระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมสั่นสะเทือนไปด้วย และพวกเขาเองก็มีบาดแผลอยู่ด้วยเช่นกัน

สิ่งที่อยากจะบอกคือ คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันดูจะให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชนกันมากมาย ให้ความสนใจกับเรื่อง 6 ตุลากันมากขึ้น

แต่หากเราคิดจะปกป้องและส่งเสริมคุณค่าสิทธิมนุษยชนในสังคมนี้อย่างจริงจัง 

เราต้องเริ่มจากเคารพสิทธิในชีวิตของคนทุกฝ่ายก่อน เคารพในสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ due process เราต้องไม่เอาด้วยกับการริดรอนชีวิตประชาชนตามอำเภอใจ ไม่ใช่คร่ำครวญถึงคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ไม่แยแสการตายในกรณีอื่น เพราะในที่สุดแล้ว เราก็จะไม่ต่างกับฝ่ายขวาเลย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net