Skip to main content
sharethis

ศาลรับฟ้องคดี บ.บุญรอดฯ ฟ้องผู้โพสต์กล่าวหาว่าให้ ตร.ใช้พื้นที่ยิงแก็สน้ำตา วิจารณ์ธุรกิจผูกขาด - ฟ้อง 8 ราษฎร ‘โขงชีมูล’ ชุมนุมไม่ให้รัฐใช้ ‘112’ อีก 2 ราย 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่18 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องประชาชน 2 ราย ได้แก่ “งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม” ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุโพสต์ข้อความกล่าวถึงกรณีอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากบริษัทบุญรอดฯ ระหว่างการสลายการชุมนุมของราษฎรบริเวณใกล้รัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 และ “มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์” ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และ “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” กรณีโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ ของบริษัทบุญรอด และการทำธุรกิจแบบผูกขาด ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีกระแสข่าวจากการชุมนุมดังกล่าว โดยศาลเห็นว่าทั้งสองคดีมีมูลตามที่โจทก์ฟ้องจึงได้รับฟ้องไว้ 

ในสองคดีนี้ศาลได้นัดไต่สวนเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 และนัดฟังคำสั่งเป็นวันนี้

เวลา 09.30 น. ในคดีของงามแสนหลวง ศาลอ่านคำสั่งโดยสรุปว่า ในคดีนี้โจทก์เบิกความยืนยันตามฟ้องว่า จำเลยได้นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กว่า “แก็สน้ำตายิงออกมาจากที่นี่ บริษัทนี้ให้ตำรวจเข้าไปข้างในยิงแก๊สน้ำตาออกมาใส่ประชาชน” ซึ่งเป็นข้อความที่บิดเบือนและเป็นเท็จ เพราะบริษัทบุญรอดฯ ไม่เคยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้พื้นที่ในการยิงแก๊สน้ำตา ศาลเห็นว่ามีมูลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จึงประทับรับฟ้องไว้  

ด้านคดีของมนต์ทิพา ศาลอ่านคำสั่งในคดีโดยสรุปว่า ในคดีนี้โจทก์ได้เบิกความยืนยันตามฟ้องว่า จำเลยโพสต์เฟซบุ๊กที่มีข้อความวิพากษ์วิจารณ์น้ำดื่มของโจทก์นั้นเป็นข้อความที่เป็นเท็จ เนื่องจากสินค้าที่เป็นน้ำดื่มของโจทก์นั้นผ่านการกรองที่ทันสมัย ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ไม่ได้ผลิตมาจากน้ำที่เหลือจากกระบวนการกลั่นเบียร์แต่อย่างใด เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่โจทก์ผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ 

จำเลยยังได้โพสต์ข้อความว่า โจทก์ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้พื้นที่ภายในที่ทำการโจทก์สำหรับลอบทำร้ายประชาชนเพื่อการสลายการชุมนุมนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากโจทก์ไม่เคยยินยอมหรืออนุญาตให้บุคคลภายนอกหรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาใช้พื้นที่ภายในของโจทก์เพื่อกระทำการในลักษณะดังกล่าว 

นอกจากนี้จำเลยยังได้โพสต์ข้อความว่าโจทก์เป็นผู้ผูกขาดทางการค้านั้นก็ไม่ได้เป็นความจริง เพราะโจทก์ไม่ได้กระทำการในลักษณะดังกล่าว อีกทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทเบียร์ก็ไม่มีแต่ยี่ห้อของโจทก์แต่เพียงเท่านั้น แต่มีหลากหลายยี่ห้อ และโจทก์ทำธุรกิจแข่งขันไปเป็นตามกลไกของตลาด ศาลเห็นว่ามีมูลตามที่โจทก์ฟ้องจึงประทับรับฟ้องไว้พิจารณา 

จากนั้นศาลนัดคู่ความทั้งสองคดีเพื่อไกล่เกลี่ยและนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 30 พ.ค. 2565 เวลา 09.30 น.

หลังศาลประทับรับฟ้องไว้ ศาลได้ออกหมายขังจำเลยทั้งสองไว้ แต่วันนี้มนต์ทิพาไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งด้วย จึงให้ดำเนินการในนัดต่อไป 

ด้านงามแสนหลวงที่เดินทางมาฟังคำสั่งในวันนี้ ถูกควบคุมตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน 50,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวในชั้นพิจารณาคดีตามคำร้องที่ยื่นไว้ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมอีก

กรณีที่มีการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊กว่า อาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ที่ทำการของบริษัท บุญรอดฯ ขณะที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา ดังกล่าวนี้ สุรสิทธิ์ ทองจันทร์ ได้รับมอบอำนาจจากผู้บริหารบริษัท บุญรอดฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องประชาชน 4 ราย ได้แก่ ธนากร ท้วมเสงี่ยม, งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม, มนต์ทิพา วิโรจน์พันธ์ุ และสรญา ธนพุทธิสิริ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และฟ้องมนต์ทิพาข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอีก 1 ข้อหา โดยศาลได้รับฟ้องแล้ว 3 คดี ยังเหลือคดีของธนากรที่อยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องอยู่ 

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ฟ้อง 8 ราษฎร ‘โขงชีมูล’ ชุมนุมไม่ให้รัฐใช้ ‘112’ อีก 2 ราย 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักศึกษาและนักกิจกรรม “ราษฎรโขงชีมูล” รวม 8 ราย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาชุมนุมอื่นๆ จากกิจกรรมชุมนุม บริเวณสวนเรืองแสง และหน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 ก่อนที่ศาลแขวงขอนแก่นจะรับฟ้องและให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขหากไม่มาตามนัดศาลปรับคนละ 10,000 บาท

สำหรับคดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีถึง 10 ราย เฉพาะที่มาในนัดฟังคำสั่งฟ้องในครั้งนี้ได้แก่ อรรถพล บัวพัฒน์, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ศิวกร นามนวด, พชร สารธิยากุล, นิติกร ค้ำชู, ธนศักดิ์ โพธิเตมีย์, เจตสฤษฎ์ นามโคตร และอิศเรษฐ์ เจริญคง อีก 2 รายคือ กรชนก แสนประเสริฐ และภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์ 2 นักกิจกรรมจากกลุ่มดาวดิน ตัดสินใจไม่เข้าร่วมกระบวนการในคดี เนื่องจากเห็นว่าถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม 

นักกิจกรรม 8 ราย ไปถึงศาลแขวงขอนแก่นในช่วง 13.30 น. แต่ต้องรอทางอัยการแก้ไขคำฟ้องซึ่งเตรียมไว้สำหรับฟ้องจำเลย 10 ราย กระทั่งเวลา 15.30 น. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการนำคำฟ้องมายื่นต่อศาล โดยในระหว่างที่รอศาลสอบถามจำเลยและพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้น เจ้าหน้าที่ศาลจำเลยทั้งหมดขึ้นไปอยู่ในห้องพิจารณาคดีบนชั้น 2 เนื่องจากวันนี้มีประชาชนถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องควบคุมตัวด้านหลังศาลจำนวนมากแล้ว 

สำหรับคำฟ้องที่ ราเชนทร์ วิทยาบํารุง รองอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงขอนแก่น บรรยายฟ้องจำเลยทั้ง 8 ราย ระบุว่า

จําเลยทั้งแปดกับพวกอีกสองคน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมชุมนุมโดยประกาศเชิญชวนนัดหมายประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมกิจกรรม มีการจัดเวทีอภิปราย ติดตั้งเครื่องขยายเสียง ไฟส่องสว่าง แผ่นป้ายและป้ายชื่อกิจกรรม ราษฎรโขง ชี มูล ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น, บริเวณสวนสาธารณะประตูเมืองขอนแก่น (สวนเรืองแสง) และ หน้า สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งมีประกาศให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะแออัดมั่วสุมกัน โดยจำเลยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 

ทั้งนี้เมื่อ 22 มี.ค. 2564 จำเลยทั้งหมดเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้วโดยให้การปฏิเสธ โดยพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอผัดฟ้องจำเลยไว้ต่อศาลแขวงขอนแก่น ต่อมาการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น อัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม จึงไม่ได้ฟ้องจำเลยภายในกำหนดฟ้อง คดีจึงขาดฟ้อง ก่อนที่อธิบดีอัยการภาค 4 ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายได้อนุญาตให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีแล้ว 

โดยอัยการฟ้องนักกิจกรรมทั้ง 8 คน ในฐานความผิด “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในสถานที่แออัด หรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และร่วมกันจัดกิจกรรมในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยไม่จัดให้มีมาตรการตามข้อกำหนด” อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ในชั้นสอบสวนนักกิจกรรมทั้ง 8 ราย ถูกแจ้งอีก 2 ข้อหา ได้แก่ กีดขวางจราจรและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เนื่องด้วยทั้ง 2 ข้อหา มีเพียงโทษปรับ และอัยการไม่ได้ฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปี ทำให้หมดอายุความไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 

ท้ายคำฟ้องอัยการไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งแปดในระหว่างพิจารณาคดี แต่ขอให้ศาลนับโทษจําคุกของอรรถพลในคดีนี้ต่อกับโทษจําคุกในคดีชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ของศาลอาญา และนับโทษจำคุกของวชิรวิทย์ต่อกับโทษจำคุกในคดีชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ” ของศาลนี้ 

ก่อนที่ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ระบุว่า จำเลยทั้ง 8 คน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ในคดีนี้ได้ให้ความร่วมมือมาพบพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตลอดกระบวนการสอบสวน อีกทั้งคดีมีอัตราโทษไม่สูง โดยจําเลยทั้งหมดขอยืนยันว่าจะมาศาลตามนัดทุกครั้ง ทั้งนี้ จำเลยประกอบอาชีพสุจริตและเป็นนักศึกษา ทั้งยังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ศาลยังไม่พิพากษาว่ามีความผิด จะปฏิบัติกับจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดแล้วไม่ได้ 

กระทั่งเวลา 16.35 น. ณัฏฐ์นิชา สุวรรณพงษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงขอนแก่นจึงออกพิจารณา โดยเรียกชื่อยืนยันตัวจำเลยทีละคน สอบถามว่ามีทนายความแล้วหรือไม่ จากนั้นมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 8 ราย โดยแจ้งว่าครั้งนี้จะปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้ทำสัญญาประกัน มีเงื่อนไขให้จำเลยมาตามนัดศาล หากผิดเงื่อนไขปรับ 10,000 บาท นัดพร้อมถามคำให้การในวันที่ 7 เม.ย. 2565

หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว วชิรวิทย์ หรือ ‘เซฟ’ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที ซึ่งถูกฟ้องคดีจากการชุมนุมและทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองคดีนี้เป็นคดีที่ 4 แล้ว กล่าวว่า  ผมรู้สึกว่า 1 ปีผ่านไป นักกิจกรรมหลายคนต่างถูกดำเนินคดีมากมาย พร้อมทั้งไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐไทยเช่นเดิม  เป็น 1 ปีกว่าที่ผมรู้สึกว่าการชุมนุมในวันนั้นมันไม่ได้สูญเปล่าแต่อย่างใด แต่มันกลับเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียกร้องในพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น ในฐานะที่เป็นผู้ที่ถูกฟ้องในคดีดังกล่าวนี้ผมอยากจะยืนหยัดและแสดงเจตจำนงว่าผมใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการชุมนุมที่เกิดความเสียหายเลย ฉะนั้นผมยืนยันว่าประชาชนที่ชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ควรถูกส่งฟ้องในวันนี้

สำหรับการชุมนุมของราษฎรโขงชีมูลและราษฎรขอนแก่นจัดการชุมนุมวันที่ 20 ก.พ. 2564 มีขึ้นเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้รับฟังข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ รวมถึงเรียกร้องให้มีการถอนแจ้งข้อกล่าวหาและถอนฟ้องพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเป็นแกนนำกล่าวปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ก่อนเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นเดินไปยังสวนสาธารณะประตูเมือง และหน้า สภ.เมืองขอนแก่น

วันเดียวกันนี้ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นยังยื่นฟ้อง วิศัลยา งามนา และศรายุทธ นาคมณี 2 นักกิจกรรม ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากการชุมนุม “ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน” ที่หน้าคอมเพล็กซ์ และหน้า สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 หลังในนัดส่งฟ้องเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งสองติดภารกิจไม่สะดวกมาตามหมาย ก่อนที่ศาลแขวงขอนแก่นจะรับฟ้องและให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้สาบานตนแทนการใช้หลักทรัพย์เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่ถูกฟ้องไปก่อนหน้านี้ 

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net