Skip to main content
sharethis

ธำรงศักดิ์ เผยคนรุ่นใหม่ในชั้นเรียนวิชาความรู้เบื้องต้นทางการเมืองการปกครองไทย ของคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ทุ่มคะแนนให้ 'ชัชชาติ' เป็นผู้ว่า กทม. 65 ส่วนนายกรัฐมนตรีในดวงใจ เลือก 'พิธา-ทักษิณ-ธนาธร' ชี้คนรุ่นใหม่หลุดจากพื้นที่โน้มน้าวทางความคิดความเชื่อสังคมการเมืองจากผู้ปกครองและโรงเรียนไปอย่างค่อนข้างมาก ส่งผลผู้นำทางการเมืองอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยมแบบเดิมถูกปฏิเสธ ผู้นำทางการเมืองแนวทางเสรีประชาธิปไตยและเป็นคนรุ่นใหม่ได้รับความนิยม

25 มี.ค.2565 เพจ “โฟกัสเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต” เผยแพร่ข้อมูล โดย รศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุว่า การสำรวจนำร่องเพื่อศึกษาทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง คนรุ่นใหม่ในที่นี้คือกลุ่มอายุ 18-25 ปี ซึ่งเป็นคนรุ่นเจน Z ที่นิยามว่าเป็นคนรุ่นเรียนรู้การดำเนินชีวิตในสังคมดิจิตอล ติดต่อสื่อสารแบบไร้สายหรือออนไลน์ งานศึกษาของ ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกคนรุ่นนี้ว่าคนรุ่น “โบว์ขาว” (2564)

ธำรงศักดิ์ ระบุว่า กลุ่มประชากรตัวอย่างมี 104 คน ในชั้นเรียนวิชาความรู้เบื้องต้นทางการเมืองการปกครองไทย ของคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ซึ่งตนเป็นผู้สอน โดยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 อายุระหว่าง 19-20 ปี หรือเพิ่งจบชั้น ม.6 มาได้ราวหนึ่งปี นักศึกษาชั้นปีนี้ยังคงเรียนวิชาศึกษาทั่วไปเป็นสำคัญ โดยเรียนวิชาพื้นฐานของคณะรัฐศาสตร์บางตัวเท่านั้น ปัจจัยสำคัญคือ นักศึกษาทุกคนยังไม่เคยมาเรียนในที่ตั้งมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัญหาภัยโควิด 19 นักศึกษาเรียนออนไลน์ ทุกคนยังอยู่ที่บ้านของตนเอง มีราว 10% อาศัยในกรุงเทพ ที่เหลือ 90% กระจายตัวยังจังหวัดต่างๆ ทุกภาคของประเทศไทย

ในทุกต้นชั่วโมงของวิชานี้ ตนจะมีคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทยและของโลกให้นักศึกษาร่วมแสดงทัศนะในช่องแชทของระบบเรียนออนไลน์ เพื่อสร้างทัศนะต่อการเข้าใจในงานวิจัย หรือ โพลที่สำนักต่างๆ ได้ทำขึ้น เพื่อปูพื้นฐานการทำงานวิจัยทางรัฐศาสตร์ในปีสุดท้าย

ธำรงศักดิ์ ระบุต่อว่า ตนจะให้นักศึกษาอาสาสมัครเป็นผู้ช่วยวิชา ทำการแจงนับเชิงสถิติในแต่ละครั้งว่าเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย เท่าไหร่ และร่วมกันอ่านการให้เหตุผลต่อประเด็นนั้นๆ สัก 5-6 ตัวอย่าง เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติของแต่ละคนต่อเรื่องหนึ่งๆ นั้น มาจากบริบทแวดล้อมทางสังคมและพัฒนาการทางชีวิตของนักศึกษาแต่ละคน ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชนที่อยู่อาศัย กลุ่มเพื่อน สื่อที่ได้รับ หนังสือที่ได้อ่าน เป็นต้น

โดยทัศนคติต่อเรื่องหนึ่งๆ นั้นสามารถคงอยู่และอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ในอนาคต คำถามในชั้นเรียนในสัปดาห์นี้ (21, 23 มีนาคม) ถามว่า หากสมมติว่านักศึกษาทุกคนในชั้นนี้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นักศึกษาจะเลือกใคร ทั้งนี้รายชื่อผู้สมัครเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ ให้มีเฉพาะผู้ที่ประกาศตัวลงสมัครแล้วเท่านั้น ผลการสำรวจนำร่องครั้งนี้ นักศึกษาเลือก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ 88 เสียง หรือร้อยละ 84.61 อันดับที่ 2 เลือก วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล 15 เสียง หรือร้อยละ 14.43 อันดับที่ 3 เลือก สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ 1 เสียง หรือร้อยละ 0.96 รวมผู้โหวต 104 คน เท่ากับ 100%

ผู้โหวตให้คำอธิบายต่อการเลือก ชัชชาติ เช่น เชื่อมั่นว่าทำได้จริง เข้าใจและเข้าหาประชาชนอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี เข้าใจปัญหา มีความทุ่มเท เป็นมืออาชีพ มีประสบการณ์ มีความคิดทันสมัย มีนโยบายดี สำหรับ วิโรจน์ เช่น มีความจริงใจสู้เพื่อประชาชน มุ่งเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดี มุ่งช่วยเหลือประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยและผู้ประกอบการรายเล็ก มีนโยบายดี ส่วน สุชัชวีร์ กล้าทำในสิ่งที่คนหาว่าทำไม่ได้ และทำได้เป็นรูปธรรม

การสำรวจนำร่องในครั้งนี้ แสดงว่า คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในโลกการศึกษาออนไลน์ ได้รับข่าวสารทางสังคมการเมืองอย่างทันสมัยทันเหตุการณ์ ได้รับข่าวสารและเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ แม้จะไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ก็ตาม โดยส่วนใหญ่ได้รับข่าวสารสังคมการเมืองทาง Twitter ตามมาด้วย YouTube

ธำรงศักดิ์ ระบุต่อว่า เมื่อพิจารณาเทียบกับการสำรวจนำร่องประเด็นนายกรัฐมนตรีในดวงใจ หรือจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี (7, 9 กุมภาพันธ์ 2565) ก็สอดรับกับการรับรู้ข่าวสารทางการเมืองของคนรุ่นใหม่นี้ และแสดงให้เห็นว่าการควบคุมครอบงำอำนาจนำทางความคิดความเชื่อของรัฐไทยแบบเดิมนั้น ไม่อาจที่จะใช้ได้เหมือนเช่นในคนรุ่นก่อนๆ โดยเฉพาะแบบคนรุ่นสงครามเย็นหรือคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์อีกต่อไป เพราะนายกรัฐมนตรีในดวงใจของคนรุ่นใหม่นั้นยังสามารถเป็นผู้ที่รัฐไทยตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว และเป็นผู้นำที่ไม่เคยมีตำแหน่งบริหารในรัฐบาลมาก่อน

ทั้งนี้ ประชากรสำรวจนำร่องกลุ่มนี้ได้เลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มาเป็นอันดับแรก ร้อยละ 51.46 ตามมาด้วย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 24.27 ตามมาอันดับสามด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบพรรคและถูกตัดสิทธิทางการเมือง ร้อยละ 21.35 อันดับสี่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 1.95 และไม่เลือกใครร้อยละ 0.97

ผลการสำรวจนำร่องคนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งต่อการเลือกผู้ว่ากรุงเทพฯ และเลือกนายกรัฐมนตรีปี 2565 พบว่ามีผลที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลวิจัยต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ที่นักศึกษารัฐศาสตร์ปี 4 ม.รังสิต ได้ทำวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกพรรคการเมือง : กรณีศึกษานักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562” ครั้งนั้น ข้อมูลชี้ว่า นักศึกษาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.รังสิต เลือกพรรคอนาคตใหม่ 37.14% (ยธนาธร หัวหน้าพรรค) ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์ (อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค) 32.14% อันดับสามเป็นพรรคเพื่อไทย (ทักษิณ) 19.29% อันดับที่ 4 พรรคพลังประชารัฐ (พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี) 9.29%

และเมื่อพิจารณารายชั้นปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 อายุ 19-20 ปี เมื่อปี 2562 เลือกพรรคพลังประชารัฐมาเป็นอันดับแรก 49.43% ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย 19.54% พรรคอนาคตใหม่ 16.09% และพรรคประชาธิปัตย์ 13.79% กล่าวคือ นักศึกษาปี 1 ส่วนใหญ่ยังนิยมในพรรคแบบอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยม แต่ยิ่งชั้นปีสูงขึ้น นักศึกษาจะเปลี่ยนไปนิยมในพรรคเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น

"ผลสรุปของความเปลี่ยนในคนรุ่นใหม่ อายุ 19-20 ปี 2565 นี้คือ คนรุ่นใหม่ได้หลุดจากพื้นที่โน้มน้าวทางความคิดความเชื่อสังคมการเมืองจากผู้ปกครองและโรงเรียนไปอย่างค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองตามแนวทางอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยมแบบเดิมจึงถูกปฏิเสธ ผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองตามแนวทางเสรีประชาธิปไตยและเป็นคนรุ่นใหม่ได้รับความนิยม" ธำรงศักดิ์ ระบุในโพสต์ดังกล่าว 

ธำรงศักดิ์ ยังระบุต่อว่า ปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ด้านหนึ่งอาจเพราะภัยจากโรคระบาดโควิด 19 ทำให้นักเรียนระดับมัธยมต้องเรียนออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้กระบวนการบ่มเพาะความคิดความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมในระบบโรงเรียนเปื่อยยุ่ย อีกด้านอาจเพราะการที่นักเรียนได้ท่องโลกอินเตอร์เน็ตออนไลน์ ทั้ง Twitter และ YouTube มากขึ้น รวมทั้งบรรยากาศของการชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดสองปีที่ผ่านมา ทำให้นักเรียนในวันนั้น หรือนักศึกษาในวันนี้ เปลี่ยนไปแล้ว การสำรวจนำร่องคนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งต่อการเลือกผู้ว่ากรุงเทพฯ และเลือกนายกรัฐมนตรีปี 2565 สามารถพัฒนาเป็นการวิจัยเรื่อง คนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ กับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ปี 2565 และการวิจัยเรื่อง คนรุ่นใหม่ทั่วประเทศกับนายกรัฐมนตรีในดวงใจ หรือคนรุ่นใหม่กับนายกรัฐมนตรีสมัยต่อไปที่มาจากการเลือกตั้ง

สำหรับเพจ “โฟกัสเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต” ระบุวัตถุประสงค์ว่า จะนำความรู้วิชาการด้านรัฐศาสตร์มาศึกษาการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. 22 พฤษภาคม 2565 และเผยแพร่ความรู้วิชาการแก่นักศึกษาและประชาชน และว่า ข้อมูลและทัศนะที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียน/ผู้สัมภาษณ์ ไม่ได้เป็นข้อมูล/ทัศนะของคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต แต่ประการใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net